วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิ้ง (วิชาการ): รัฐสวัสดิการ และ ประชานิยม

รัฐสวัสดิการ
เมื่อพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการให้กับคน กลุ่มต่างๆ ในสังคม นโยบายที่เรียกว่าประชานิยมคงจะเป็นนโยบายที่ติดหูคนไทยมากที่สุดนโยบาย หนึ่ง โดยหากย้อนกลับไปในช่วงของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองต่างพากันชูนโยบายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้กับคนกลุ่ม ต่างๆ ในสังคมกันอย่างกว้างขวาง

แต่ในวันนี้ประเด็นเรื่องการจัดสวัสดิการเหล่านั้นดูจะแผ่วจางลงไปจากกระแส ข่าวตามหน้าจอโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะธรรมชาติของสื่อสารมวลชนที่จะต้องเกาะติดกับสถานการณ์ ความเป็นไปของเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม คงจะไม่เสียหายหากเราจะลองมาทำความเข้าใจกับเรื่องการจัดสวัสดิการแบบรัฐ สวัสดิการกันดู เผื่อบางทีเราอาจจะเกิดความรู้สึกแบบใหม่เวลาได้ยินได้ ฟังนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

รัฐสวัสดิการคืออะไร
พวกเราหลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “สวัสดิการ” โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสประชานิยมและการจัดสวัสดิการโดยรัฐขึ้นอย่างแพร่หลาย เริ่มตั้งแต่ประชานิยมในยุครัฐบาลทักษิณ อย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้เกษตรกรและกองทุนหมู่บ้าน มาจนกระทั่งถึงการจัดสวัสดิการโดยรัฐของรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าไม่ใช่ประชานิยมแต่ก็ไม่รู้ว่าแตกต่างกับประชา นิยมอย่างไร) เช่น โครงการเรียนฟรี 12 ปีและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คำถามก็คือสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการจัดสวัสดิการแบบรัฐสวัสดิการหรือไม่ แต่ก่อนจะมาถึงคำตอบ เราลองมาพิจารณาคำนิยามหรือคำจำกัดความของรัฐสวัสดิการกันก่อน

โดยทั่วไปแล้ว รัฐสวัสดิการหมายถึงระบบทางสังคมที่ รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำ เป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรัฐจะจัดให้มีสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่ สำคัญอันได้แก่ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา หลักประกันด้านการมีงานทำ/ การว่างงานและหลักประกันด้านบำนาญชราภาพ กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรค มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาตามความสามารถ ได้รับการส่งเสริมให้มีงานทำรวมถึงได้รับความช่วยเหลือเมื่อตกงาน และสุดท้าย ได้รับเงินบำนาญเมื่อถึงวัยที่ไม่สามารถทำงานได้

ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงเป็นรูปแบบการจัดสวัสดิการโดยรัฐที่ครบวงจร ดังคำกล่าวที่ว่าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือตั้งแต่บุคคลคนหนึ่งเกิดขึ้นมาจนกระทั่งตายจากไป นอกจากนี้ รัฐสวัสดิการยังเป็นระบบถ้วนหน้า นั่นคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการดังกล่าวจากรัฐโดยรัฐไม่ต้อง พิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่สมควรจะได้รับสวัสดิการ

จากที่กล่าวมา หลายคนคงจะพยักหน้าเห็นด้วยว่าน่าอิจฉาประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบรัฐ สวัสดิการเพราะคนเหล่านั้นจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐตั้งแต่เกิดจน ตาย แต่ว่าสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนได้รับจากรัฐนั้นก็มิใช่ว่าประชาชนจะไม่มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เพราะแน่นอนว่างบประมาณที่รัฐจะจัดสรรให้กับการจัดสวัสดิการที่รอบด้านนั้น คงจะต้องเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลทีเดียว ก็แล้วงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ว่านั้นจะมีที่มาจากแหล่งใดถ้าไม่ใช่จากภาษี ที่ประชาชนต้องจ่าย

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็อาจเกิดคำถามขึ้นว่าถ้าเช่นนั้น เราจะจัดระบบรัฐสวัสดิการกันไปทำไม ก็ในเมื่อแท้ที่จริงแล้ว ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากสวัสดิการก็จะต้องเป็นผู้จ่ายอยู่ดี
เราจะมาลองหาคำตอบกันในส่วนต่อไป

ทำไม ต้องรัฐสวัสดิการ
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเราคงจะรู้สึกได้ถึงความสะดวกสบายและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่า ในอดีต เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่เราอาจหลงลืมประเด็นสำคัญบางประเด็นไป

1. ความสะดวกสบายต่างๆ นั้นล้วนอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ แบบตลาด ซึ่งนั่นหมายความว่าสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตนั้นจะต้องแลกมาด้วยเงิน และเงินนั้นจะได้มาก็ด้วยการทำงาน ซึ่งการทำ งานในระบบทุนนิยมนั้นมีนัยยะถึงการเป็นปัจเจกบุคคล และความไม่แน่นอนของการมีงานทำ (โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ)

2. การพัฒนาประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนของประเทศอย่างกว้าง ขวาง นั่นคือ ในทางหนึ่ง การพัฒนาและความเจริญเติบโตได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความสะดวกสบาย แก่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับภาระของการพัฒนาหรือได้รับผลประโยชน์จาก การพัฒนาน้อยกว่าคนกลุ่มแรก

ดังนั้นแล้ว เพื่อช่วยลดปัญหาจากความไม่แน่นอนอันจะเกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลในตลาดแรงงาน และความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากกระบวนการพัฒนา รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงตลาดเพื่อลดหรือแก้ปัญหาดัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเราพูดกันอยู่เสมอว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นพื้นฐานของ สังคม ดังนั้น พวกเราจึงคุ้นเคยกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบปัญหาในลักษณะของ การช่วยเหลือแบบเป็นรายๆ รวมถึงการสังคมสงเคราะห์ ทั้งในระดับของประชาชนและหน่วยราชการ พวกเราคุ้นเคยกับการร่วมบริจาคอาหารกระป๋องให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม คุ้นเคยกับการบริจาคผ้าห่มให้กับผู้ประสบภัยหนาว คุ้นเคยกับการไปเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กกำพร้าในวันเกิด คุ้นเคยกับรายการประเภท “วงเวียนชีวิต” (ซึ่งมักจะมีเลขที่บัญชีให้คนร่วมบริจาคปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์) รวมถึงการร่วมลุ้นไปกับการติดตามข่าวการช่วยเด็กชายลูกครึ่งญี่ปุ่นตามหาพ่อ

แต่ในทางกลับกัน พวกเราคงจะรู้สึกอัดอัด ไม่สบายใจและอาจถึงขั้นรำคาญใจหากเราได้รับฟังข่าวคนงานโรงงานสิ่งทอรวม กลุ่มกันปิดถนนเพื่อประท้วงนายจ้างที่เลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าและประท้วง กระทรวงแรงงานที่ไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ความรู้สึกทำนองนี้เกิดจากพื้นฐานความคิดแบบอุปถัมภ์และแบบสังคมสงเคราะห์ ของเราที่คิดว่าความช่วยเหลือนั้นเป็นความเมตตากรุณาของผู้มอบให้ ไม่สมควรที่ผู้รับจะมาเรียกร้องหรือต่อรองใดๆ ดังเช่นที่จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต สว.กรุงเทพกล่าวเอาไว้ว่า

"เรา ยังอยู่ในโลกที่มองการแก้ปัญหาทางสังคมเป็นลักษณะการช่วยคนที่เป็นปัจเจก เป็นรายคนไป มากกว่าเป็นระบบ แล้วเรายังมองว่าสวัสดิการเหมือนเป็นความเมตตาที่สังคมมีต่อคน มากกว่าเป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ทุกคน ให้การแบ่งปันทรัพยากรของประเทศนั้นมีความยุติธรรม และรัฐมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีชีวิต อยู่ สิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่คนยังมองไม่เป็นเอกภาพ เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดัน”

จากคำกล่าวนี้ของอาจารย์จอน เราคงจะพอมองเห็นว่าการ ให้ด้วยความเมตตานั้นไม่ได้วางอยู่บนฐานคิดของการให้ความสำคัญกับสิทธิที่ มนุษย์ทุกคนจะพึงมี สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะสามารถแข่งขันในระบบตลาดได้หรือไม่

แนวความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อ การให้ความสำคัญกับสิทธิอันนี้ รัฐสวัสดิการในฐานะที่เป็นรูปแบบการ จัดสวัสดิการให้กับประชาชนในสังคมจะเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้าน ต่างๆ อย่างรอบด้านตั้งแต่เกิดจนตาย โดยถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม โดยงบประมาณในการจัดสวัสดิการนั้นจะต้องมีที่มาจากการเก็บภาษีในอัตราก้าว หน้า ซึ่งก็หมายความว่ารัฐจะทำการเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้มากในอัตราที่สูงกว่า ผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากถือว่าผู้ที่มีรายได้สูงนั้นเป็นผู้ที่สามารถแสวงหาประโยชน์จากการ พัฒนาและการเติบโตได้มากกว่า ดังนั้น การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจึงเปรียบเสมือนเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัด สรรทรัพยากรใหม่เพื่อทำให้การกระจายรายได้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

การจัดสวัสดิการในรูปแบบของรัฐสวัสดิการจึงมิได้มีความหมายเพียงแค่การ พยายามที่จะจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนทุกคนเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงความพยายามในการที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นด้วยการลด ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คน และนี่คงจะเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมจึงต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เราควรก้าวไปสู่รัฐสวัสดิการหรือไม่ มีข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งมาก มายเกี่ยวกับข้อจำกัดและผลที่ไม่ถึงปรารถนาของรัฐสวัสดิการ ซึ่งในที่นี้จะขอยกมานำเสนอในสองประเด็น

หนึ่ง คือข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้ประชาชนขี้ เกียจและไม่รับผิดชอบต่อตนเอง เนื่องจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจะลดแรงจูงใจในการทำงานเพราะทำมากก็จะ ถูกเก็บภาษีมาก ดังนั้น ทำน้อยๆ เพื่อจะได้ถูกเก็บภาษีน้อยๆ แล้วเอาเวลาไปพักผ่อนดีกว่า นอกจากนี้ อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากประชาชนจะไม่กลัวการว่างงานเพราะถึง แม้จะว่างงาน รัฐก็ยังจะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งข้อโต้เถียงหรือข้อโต้แย้งในประเด็นนี้คงไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้ อย่างง่ายๆ และคงจะไม่มีข้อสรุปในลักษณะขาวดำหรือผิดถูก

สอง คือประเด็นเรื่องงบประมาณของประเทศที่ จะต้องใช้ในการจัดสรรสวัสดิการในรูปแบบของรัฐสวัสดิการ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ประมาณการว่ารัฐจะต้อง ใช้งบประมาณจำนวนมากถึงสี่แสนล้านบาทเพื่อการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างของอัตราภาษีในประเทศที่เป็นตัวแบบของรัฐสวัสดิการว่าจะ ต้องสูงถึงร้อยละ 50 หรือมากกว่า คำถามจึงมีว่าคนไทยพร้อมที่จะจ่ายภาษีในระดับที่สูงขนาดนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องตระหนักไว้ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูง ขนาดนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าอัตราภาษีที่จะใช้เป็นอัตราภาษีแบบก้าวหน้า นั่นคือ ผู้มีรายได้สูงจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย

จากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานั้น คงจะต้องมีการศึกษาและข้อถก เถียงอีกมากก่อนที่จะก้าวไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันว่าสังคมไทยสมควรที่จะ ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ แต่ก่อนหน้านั้น อย่าลืมตอบคำถามกับตัวเองว่ารูปแบบสวัสดิการที่ประเทศไทยเรามีอยู่ใน ปัจจุบันนี้มีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ และถ้าหากต้องการที่จะก้าวไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ จะต้องทำอย่างไร

อย่างน้อยก็เพื่อให้รู้ทันบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายที่ชอบใช้คำ ว่ารัฐสวัสดิการมาหาเสียงกับประชาชน
คัดลอกบางส่วนจากบทความ http://downtoearthsocsc.thaigov.net/index.php?option=com_content&task=view&id=203&Itemid=6

ประชานิยม
ในห้วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยของเรานั้นมีข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับการดำเนิน นโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน และในที่สุดแนวความคิดในเรื่องของประชานิยมดังกล่าวได้นำมาซึ่งความแตกแยก อย่างรุนแรงในสังคม การทำความเข้าในเกี่ยวกับแนวคิดประชานิยมจึงเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ น่าที่จะทำความเข้าใจ เพราะโดยแนวคิดพื้นฐานแล้วการดำเนินนโยบายประชานิยมจะมีพื้นฐานความคิดมาจาก การดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าเรารู้ไม่เท่าทันแล้วเรา ๆ ท่าน ๆ ย่อมตกเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมือง

คำว่า “ประชานิยม” นั้นในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Populism” เป็นคำที่มีรากมาจากศัพท์มาจากภาษาลาตินคำว่า “Populus” ซึ่งหมายความว่า ประชาชน โดยแนวคิดประชานิยมนี้จะให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะตรงข้ามกับแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนบางกลุ่มในประเทศ เช่น อติชนนิยม (Elitism) ที่เชื่อในความเป็นผู้นำของคนชั้นสูง อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ที่เป็นการปกครองโดยคนกลุ่มเดียวทำการปกครองเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และ เศรษฐยาธิปไตย (Plutocracy) ที่เศรษฐีเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

การเกิดขึ้นของแนวคิดประชานิยมนั้นมีมานานหลายพันปี ย้อนไปในสมัยอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ การก่อกบฎของทาส เมื่อ 70 ปี ก่อนคริสต์กาลที่เมืองโรม โดย สปาร์ตาคัส ผู้เป็นทาสทำการกบฎ ต่ออาณาจักรโรมันและกองทัพของสปาร์ตาคัส ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในที่สุดกองทัพของสปาร์ตาคัส ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพโรมันที่มีกำลังพลใหญ่กว่ามาก สปาร์ตาคัส จึงกลายมาเป็นสัญญาลักษณ์ของผู้ปลดปล่อย ต่อสู้จากชนชั้นต่ำสุดที่กระทำต่อชนชั้นปกครอง

สำหรับแนวคิดของประชานิยมในยุคแรกตั้งแต่ยุค สปาร์ดาคัส มาจนมาถึงยุคก่อนคริสตศตวรรษที่ 17จะเป็นการดำเนินการโน้มน้าวจิตใจมวลชนให้เคลื่อนไหวยึดคืนอำนาจจากกลุ่ม ผู้นำที่ผูกขาดการปกครองโดยอ้างประโยชน์ของมวลชนในการก่อการยึดคืนอำนาจดัง กล่าว ไม่ว่าจะโดยการชักจูงให้เกิดความห่วงใยทางเศรษฐกิจ สังคมหรือมโนธรรมของส่วนรวม ถัดมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ได้มีการนำแนวความคิดประชานิยมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นชาตินิยม หรือ การเหยียดเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ และในช่วง คริสตศตวรรษที่ 19 ผู้นำในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาได้นำแนวคิดประชานิยมมาใช้ดำเนินการทางการ เมือง ซึ่งถือได้ว่าชนชั้นปกครองได้นำแนวคิดประชานิยมมาเป็นเครื่องมือในการสร้าง ฐานอำนาจทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่ ประชานิยมในยุคแรก ๆ ถูกใช้ไปในการต่อต้านชนชั้นปกครองจากประชาชน

การดำเนินการตามแนวคิดประชานิยมในปัจจุบันจะมุ่งไปที่การสร้างคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ด้วยการทำให้หลุดพ้นจากความยากจน เพิ่มโอกาสทางสังคม ประชาชนทั่วไปมีหลักประกันทางสังคม รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศให้ดีขึ้น การนำแนวคิดประชานิยมมาใช้ ย่อมจะก่อให้เกิดการแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชน (รากหญ้า) และ กลุ่มชนชั้นนำ นอกจากนี้ นักวิชาการอย่าง มากาเร็ต คาโนแวน (Margaret Canovan) ได้แบ่งประชานิยมออกเป็นสองลักษณะ (Margaret Canovan, Populism, Harcourt Brace Jovanovich, 1981 อ้างถึงใน http://en.wikipedia.org/wiki/Populism) ได้แก่

* ประชานิยมสนับสนุนเกษตรกร: เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตกร ที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองในเรื่องต่าง ๆ
* ประชานิยมสนับสนุนการเมือง: เป็นการดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยให้ ประชาชนส่วนใหญ่ (รากหญ้า) เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง

อย่างไรก็ดีได้มีการนำแนวคิดประชานิยมไปใช้ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกากัน อย่างแพร่หลาย รวมถึงระบบที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับรากหญ้า และหลายครั้งหลายครา กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาได้ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอันมีผลมาจากประชาชน นิยม ซึ่งในบางครั้งผู้นำที่ใช้แนวคิดประชานิยมจะถูกยึดอำนาจโดยการปฏิวัติ-รัฐ ประหาร ดังเช่น การทำรัฐประหารต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี ฮวน โดมิงโก เปรอง (Juan Domingo Perón) ของอาร์เจนตินาสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.1976 (2519) หลังจากที่นำแนวคิดประชานิยมไปใช้ หรือแม้กระทั่ง ประเทศไทยเองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ถูกยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ที่ผ่านมา โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ให้ประชาชน (รากหญ้า) สนันสนุนอย่างท่วมท้น จนกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้

การดำเนินนโยบายโดยใช้แนวคิดประชานิยมนั้นสามารถกล่าวได้ว่ามีทั้งด้านบวก และด้านลบ ในด้านบวกนั้นจะเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้กับประชาชน (รากหญ้า) ให้มีโอกาส หรืออาจจะมีรายได้มากขึ้นด้วยการใช้จ่ายเงินของรัฐโดยตรง เน้นการเจริญเติบโตด้วยการกระจายรายได้ระยะสั้น กระตุ้นให้เกิดการบริโภค ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารได้รับการเพิ่มเงินเดือนหรือเงินเพิ่มอื่น ๆ เช่น ข้าราชการทหารในระดับ ผอ.กองขึ้นไปได้รับโบนัส คนละแสนกว่าบาท และข้าราชการทหารในระดับรองลงมาได้โบนัสประมาณ สามพันบาท

ส่วนผลกระทบในด้านลบนั้น การนำนโยบายประชานิยมมาใช้นั้นย่อมที่จะมีการใช้จ่ายเงินในปริมาณที่มาก มีความเสี่ยงในเรื่องของเงินเฟ้อและการขาดดุลงบประมาณ ประชาชน (รากหญ้า) ได้รับการสนับสนุนให้เป็นเสรีนิยม ซึ่งนำไปสู่การบริโภคนิยม นำมาซึ่งทุนติดลบในที่สุด นอกจากนี้การดำเนินนโยบายประชานิยมยังเป็นการตอกลิ่มให้กับสังคม โดย แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มรากหญ้า กลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มชนชั้นนำ ทำให้เสถียรภาพทางสังคมสั่นคลอนในระยะยาว

ดังนั้นการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้น ผมมีความเชื่อว่า ถ้าเรา ๆ ท่าน ๆ ตั้งสติกันให้ดี หันกลับมามองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางแล้ว ผมเชื่อว่าเราน่าจะได้คำตอบเพียงแต่ว่าคำตอบนั้นเราจะโกหกตัวเองหรือไม่เท่า นั้นเอง ความยากจนเป็นปัญหาของชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การแก้ไขที่ถูกต้องนั้นเราคงต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ดังคำกล่าวที่ว่า “สอนให้คนจับปลาเป็นดีกว่าที่เราจะเอาปลาไปให้ เพราะถ้าเราเอาปลาไปให้ เขาก็จะนั่งรอแต่คนที่จะเอาปลาไปให้ แต่ถ้าเราสอนให้คนจับปลาเป็นแล้ว เขาเหล่านั้นสามารถหาปลากินเองได้ และอยู่รอดได้ในที่สุด”

การเห็นแก่ผลประโยชน์ใกล้ตัวโดยลืมหลาย ๆ สิ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำลายเราในที่สุดก็ได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่เคยหันมามอง หรือทำความเข้าใจว่าสิ่งของผลประโยชน์ที่นโยบายประชานิยมนำมาแจกจ่ายให้หรือ อัดฉีดเม็ดเงินลงมานั้น ผู้นำนโยบายนี้มาใช้ก็เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลในทุก ๆ เรื่อง จริงอยู่ที่เรื่องของปากท้องเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าเราคิดถึงแต่ปากท้องของเราโดยไม่คิดจะหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วย ศักยภาพของเราเองแล้วเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไรในอนาคต เพราะเราต้องมานั่งรอโอกาสที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้ตลอดเวลา

มองย้อนไปอดีตที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ของปวงชนชาวไทยทุกคน ในขณะที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯ ยังไม่ทรงชราภาพ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังทุกหนแห่งในประเทศไม่ว่าจะทุรกันดารเพียง ใด ทรงลำบากพระวรกายเพื่อเสด็จ ฯ ไปเยี่ยมเยียนและรับทราบปัญหาของพสกนิกรของพระองค์ท่าน พร้อม ๆ กับทรงนำความรู้ไปให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงดำริแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดทฤษฏีใหม่ และโครงการพระราชดำริอีกนับพันโครงการ เราพสกนิกรนั้นอาจจะลืมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไป การลุกยืนด้วยลำแข้งของเราเองนั้นย่อมที่จะมั่นคงและยืนยาว แต่เมื่อไรก็ตามแล้วเราจะยืนได้ก็ต่อเมื่อต้องมีคนอื่นคอยพยุงแล้ว เราย่อมที่จะตกอยู่บนความเสี่ยงที่จะล้มได้ตลอดเวลา

การก่อร่างสร้างตัวมาเป็นประเทศไทยนั้นย่อมผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายชั่วอายุ คน สามารถกล่าวได้ว่ายาวนานมากว่า 700 ปี เรามีวัฒนธรรมของเราเอง แต่ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ถาโถมเข้าสู่สังคมไทย การหลงใหลในวัตถุนิยมนั้นเป็นเรื่องที่เราได้พบกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ประกอบการขาดโอกาสในสังคมของประชาชนรากหญ้า ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม และยิ่งเราบูชาในวัตถุและเงินแล้ว เราจะพบว่าเรามีเงินเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เพราะเงินซื้อความสะดวกสบายได้ เงินซื้อสถานะทางสังคมได้ และเงินยังนำมาซึ่งหลาย ๆ อย่างในชีวิตที่คนไม่มีเงินไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่เรากำลังลืมไปว่าเงินซื้อจิตวิญญาณของคนเราไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าสังคมไทยของเราหันหน้าเข้าหากัน อยู่กันอย่างสมานฉันท์ เอื้ออาทรต่อกันแล้ว คนที่ขาดโอกาสย่อมจะได้รับโอกาสจากคนที่มีโอกาส เราหันมาทำความเข้าใจรับรู้ถึงความเป็นไปของสมาชิกในสังคมไทยด้วยกันแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจะเป็นชนชั้นไหนคุณก็จะมีความสุขบนแผ่นดินไทยภายใต้พระบรม โพธิสมภาร แห่งองค์พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ อย่างเท่าเทียมกัน ขอน้อมนำพระราชดำรัส “รู้รักสามัคคี” ………………

คัดลอกบางส่วนจากบทความ http://www.tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=95&Itemid=1
-----------------------
Posted by Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น