วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

PA610,710: แนวข้อสอบการบริหารเชิงกลยุทธ์

เรียน เพื่อนๆ รป.ม. ทุกท่าน
วันนี้ เพิ่งสอบ PA610 ของ 3 ท่านอาจารย์มาหมาดๆ มีแนวข้อสอบ ประมาณนี้ (จริงๆ คำถามยาวมาก)
---------------
1. อธิบายถึง "นายกรัฐมนตรี(ผู้นำ) ที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ อย่างละ 10 ประการ" (แนวตอบ มีในหนังสือที่แจก และในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งในเว็บนี้ ลองหาดูในหัวข้อ วิชาการนะ)
2. (รศ.สมชัยฯ) อธิบาย Stakeholders Analysis เพื่อหาทางแก้ไขสินค้าราคาแพง โดยวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกทั้งโอกาสและภัยคุกคาม และอธิบายให้ชัดเจนว่า Stakeholders ใดคือโอกาสหรือภัยคุกคาม และอธิบายกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนภัยคุกคามให้เป็นโอกาส (แนวตอบมีในตำราที่แจก คือเรื่อง 4M, 4P, Five Forces Model และ Organinzation Stakeholders เป็นต้น
3. (ผศ.วิชัยฯ) วิเคราะห์ SWOT ในองค์การของท่าน เพื่อกำหนดกลยุทธ์หรือทิศทางขององค์การประจำปีนี้ (แนวตอบ ให้เทคนิค SWOT analysis, TOWS Matrix)
----------------
Tai

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

เปลี่ยนแปลงห้องสอบ 24 เม.ย. 2554 ไปที่ อ.นพมาศ ห้อง 502

เรียน เพื่อน รป.ม. หัวหมาก 3/1 และ 3/2
.
ประกาศจากโครงการ เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงห้องสอบ รป.ม.หัวหมาก 3/1 และ 3/2 ในวันพรุ่งนี้(24 เม.ย.54 เวลา 9.00-12.00)โดยให้ไปสอบที่อาคารนพมาศ ชั้น 5 ห้อง 502...**ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ**
--------------
Tai

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวสอบโดยประธานโต

ข้อมูลจากเมล์กลางของพวกเราเอง สรุปโดยประธานโตของพวกเรา
---------------------------
คำถาม (อ.สุชาติ สังข์เกษม) ให้อธิบายคุณลักษณะผู้นำ (นักกลยุทธ์)ที่พึงประสงค์ และที่ไม่พึงประสงค์

ตอบ คุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์
ผู้บริหาร คือ ผู้มีระเบียบกฎหมายแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
ส่วน“ผู้นำ”ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบกฎหมายเพียงแต่เป็นบุคคลที่สามารถชักจูง โน้มน้าวให้คนอื่น มีการเปลี่ยนแปลงตามความเชื่อหรือทัศนคติตามตนเองได้ ฉะนั้น ผู้บริหารที่ดีอันเป็นที่พึงประสงค์จะต้องเป็น “ผู้นำ” ด้วย

ผู้บริหารหรือผู้นำเป็นตำแหน่งที่ทุกคนอยากได้ เป็นไปตามความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งมาสโลว์ได้ระบุไว้คือ ความต้องการด้านร่างกาย ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านสังคม ด้านมีชื่อเสียง และด้านความสำเร็จ ซึ่งเป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้บริหารหรือผู้นำ ถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหน่วยงาน บุคคลที่จะก้าวเป็นผู้บริหารหรือผู้นำ ต้องมีศักยภาพ(Potential)เหนือคนอื่นในหน่วยงานหรือในกลุ่มสังคมของตนเอง

ซึ่งคุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ มีดังต่อไปนี้
1. มีมนุษยสัมพันธ์ ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานทุกคนด้วยความนับถือ และให้เกียรติอย่างจริงใจ มีความสัมพันธ์อันดี ประนีประนอม สามารถดึงเอาศักยภาพของผู้ร่วมงานมาใช้ให้มากที่สุด ทำให้การประสานงาน การขอความร่วมมือปฏิบัติงานที่มอบหมาย ได้รับการตอบสนองด้วยความเต็มใจ และมีขวัญกำลังใจที่ดี อันจะทำให้งานบรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์และมีประสิทธิผล
2. มีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่ฉุนเฉียวง่าย ละซึ่งความโลภ โกรธ หลง ขจัดความขัดแย้งในหน่วยงานของตนเองเป็นเด็ดขาดและอะลุ้มอล่วย พอยอมกันได้ก็ยอม ไม่มีทิฐิ มองส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวกับงาน ไม่แย่งเอาผลงาน รู้ว่างานสำเร็จเป็นผลงานของใครจึงจะให้คุณให้โทษได้อย่างยุติธรรม
3. มีบุคลิกภาพที่ดี หรือภาษาไทยที่ง่าย เข้าใจดี ใช้ว่า “มีมาดดี” คำว่ามาด หมายถึง ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง ที่อยู่ในตัวผู้นำและทุกอย่างที่ผู้นำกระทำ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า การยืน เดิน นั่ง นอน พูด ฟัง การแต่งกาย ฯลฯ บุคลิกหรือมาดเป็นสิ่งที่สามารถฝึกหัดกันได้ แก้ไขและปรับปรุงกันได้ หากหน่วยงานใดมีผู้นำไม่มีมาด บุคลากรก็ขาดความเชื่อมั่น ศรัทธา ไม่ร่วมทำงานหรือให้ความร่วมมือ ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมาย
4. เป็นแบบอย่าง ในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ผู้นำควรเป็นแบบอย่างที่ดี ในการครองตน ครองคน ครองงาน
5. ทำงานเป็นทีม เป็นประชาธิปไตย การวางกฎเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ต้องใช้วิธีแบบมีส่วนร่วม โดยจัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงาน พยายามดึงศักยภาพที่ดีของผู้ร่วมงานออกมาใช้ให้เป็นแนวปฏิบัติในหน่วยงานหรือองค์การของตนเอง อย่าใช้คนๆเดียวเป็นตัวชี้ขาด เพราะการบริหารงานโดยคนเดียวจะมีโอกาสล้มเหลวได้ง่ายกว่าการบริหารโดยกลุ่มบุคคล
6. ทำตัวเป็นครูที่ดี ที่มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉงตลอดเวลา ผู้นำอย่าขี้เกียจ อย่าลืมว่าผู้นำกระทำสิ่งใด ที่ไหน อย่างไร จะมีผู้ร่วมงานคอยจับจ้อง สังเกตอยู่ ถ้าปฏิบัติตนดี งานดี มีประสิทธิภาพ เข้าลักษณะ รวดเร็ว เรียบร้อย ราบรื่น ก็จะเป็นการสอนผู้ร่วมงานโดยทางอ้อม คือเป็นการสอนด้วยการกระทำให้ดู โดยไม่ต้องบอกหรือแนะนำเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด
7. มีความความซื่อสัตย์ สุจริต ผู้นำหรือผู้บริหารจะถูกพิสูจน์โดยใช้ความซื่อสัตย์เป็นเกณฑ์ เป็นเครื่องวัดผู้นำที่ดีมาก เพราะมนุษย์ทุกคนมีความโลภเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าผู้นำมีความซื่อสัตย์จะเป็นผู้นำได้นาน อย่าหมกเม็ด อย่าเก็บความลับเรื่องเงินไว้คนเดียว โอกาสพลาดเรื่องเงินจะเป็นอันตรายมาก ผู้นำอย่าถือเงิน จับเงิน หรือซื้อของ วัสดุ อุปกรณ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่หน้าที่ ควรให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ร่วมงานเป็นผู้ทำในรูปของคณะกรรมการ
8. กล้าตัดสินใจ และให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการคิด รับรู้ รับทราบ ให้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมกระบวนการตัดสินใจ กระบวนการคิด เวลามีคนถามต้องตอบได้ “ต้องเป็นหนึ่งเดียว” เท่านั้น ไม่มีสองในหน่วยงานหรือองค์การ
9. ไม่หวงอำนาจ ให้กระจายอำนาจและมอบหมายหน้าที่ให้พร้อมกับมอบอำนาจในการปฏิบัติงานเป็นฝ่าย/แผนก/หมวด/งาน เป็นการมอบหมายภารกิจหรืองานสำคัญให้ผู้ร่วมงานไปปฏิบัติ โดยผู้นำคอยหมั่นกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ดูแลอยู่ห่างๆ อย่าไปจุ้นจ้าน ชี้โน่นชี้นี่อยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นผลให้ผู้ร่วมงานไม่มั่นใจ ซึ่งต่อไปจะไม่กล้าทำงาน ทำให้งานเสียทั้งระบบได้ “ผู้มอบอำนาจคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง”
10. ให้ขวัญ กำลังใจ แก่ผู้ร่วมงานอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม รู้เห็นถึงความสามารถ และฝีมือของผู้ร่วมงาน เพื่อส่งเสริมขวัญและกำลังใจ ให้ถูกคน ถูกงาน และถั่วถึง
11. เป็นนักแก้ปัญหา เมื่อมีปัญหา และเหตุการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น ผู้บริหารต้องแสดงความรู้สึกที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่โยนปัญหาให้ผู้ร่วมงานไปจัดการกันเอง กล้ารับผิดชอบ กล้าหาญพอที่จะผจญปัญหาอย่าหนีปัญหา ดังคำที่ว่า “ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้แบก” ปัญหามีไว้ทดสอบความสามารถของผู้นำ ต้องเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ร่วมงาน อย่าปล่อยให้ผู้ร่วมงานแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้นแบบไม่มีที่ปรึกษา จะทำให้ได้ “ใจ” ของผู้ร่วมงาน ต่อไปผู้ร่วมงานก็จะทำงานแบบ “ถวายหัว” ให้ได้
12. พัฒนาตนเอง และนำตนเองไปสู่ความสำเร็จที่สูงสุด และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้นำต้องแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพราะหน้าที่สำคัญของผู้นำคือ การตัดสินใจสั่งการ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลข่าวสารถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ความรู้และประสบการณ์เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และมีผลแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวรอคอยอยู่ ผู้นำไม่มีสิทธิตัดสินใจพลาด มีแต่คำว่า “ถูกต้องเท่านั้น” จึงจะทำให้องค์การพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลในที่สุด
13. ต้องยึดระบบระเบียบ รักษาระบบหรือวัฒนธรรมขององค์การให้ดี ทำงานให้ได้ดี ปราศจากปัญหาและเเสวงหาให้เกิดผลผลิตสูงสุด ด้วยการปฏิบัติภารกิจภายในขอบเขตที่กำหนดให้ และ/หรือนอกจากภาระหน้าที่ดังกล่าว ต้องกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์และพัฒนางานในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวย
14. ต้องช่วยเหลือผู้ร่วมงานทุกเรื่อง คอยเป็นห่วงเป็นใยตลอดเวลา ประสานหน่วยงานอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ร่วมงาน และพัฒนาผู้ร่วมงานอย่างต่อเนื่อง มีการให้อภัยผู้ร่วมงานเมื่อทำผิดพลาด เป็นกัลยาณมิตรกับทุกคน เป็น “ผู้นำนักบุญ” มีความเกรงใจผู้ร่วมงาน จัดตั้งกองทุน มูลนิธิ และ สมาคม ไว้คอยสนับสนุนส่งเสริมเป็นสวัสดิการแก่ผู้ร่วมงานหรือหน่วยงานและพัฒนาคุณภาพผู้ร่วมงาน ให้มีความก้าวหน้า มีความสงบสุข
15. มีความสามารถทางด้านศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงาน สามารถใช้คนอื่นให้ทำบางอย่างตามเป้าหมายและแนวทางที่ตนวาดฝันหรือคาดคะเนเองได้ มีอัจฉริยภาพของผู้นำที่ประกอบขึ้นด้วยคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ตั้ง สรุป จะเห็นว่า คุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสวงหาได้ สร้างสรรค์ให้บังเกิดขึ้นได้ “เป็นพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์“ ให้สรรสร้างหาความสุขกับงานในหน้าที่ให้มากที่สุดและดีที่สุด ให้พัฒนาตนเองแล้วนำมาเป็นแนวทางแก้ปัญหา พัฒนาหน่วยงานของตนเอง ผู้นำควรหลีกเลี่ยงการมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในตำแหน่งให้กับตนเอง บนพื้นฐานของความคิดสะสม เบียดเบียน ที่มุ่งสร้างความร่ำรวยทางวัตถุนิยมแต่ “ มีจิตใจที่ยากจน ” เป็นการใช้ภาวะผู้นำที่ไม่ถูกทิศทาง ซึ่งเป็นหนทางเสื่อมสำหรับผู้นำในที่สุด

ผู้นำที่พึงประสงค์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ควรมีลักษณะ ดังนี้
1. Creative Leader ผู้นำฉลาดคิด
2. Effective Leader ผู้นำฉลาดทำ
3. Leader as Coach ผู้นำเป็นผู้ฝึกสอน
4. Change Agent Leader ผู้นำเป็นผู้เร่งการเปลี่ยนแปลง
5. Leader as Spokesman ผู้นำเป็นนักประชาสัมพันธ์
6. Outcome Oriented Leader ผู้นำมุ่งผลลัพธ์
7. Ethical Leader ผู้นำมุ่งคุณธรรมและจริยธรรม

คุณลักษณะของผู้นำที่ไม่พึงประสงค์

หน้ายิ้ม
มือไหว้
ใจอันธพาล
งานไม่พัฒนา
ริษยาเป็นประจำ
คิดแต่ควำองค์การ
เริงสำราญอยู่แต่อามิส
แสวงหาความผิดผู้อื่น
ชมชื่นแต่คำสอพลอ นี่แหละหนอ...ผู้นำไทย(ที่ไม่พึงประสงค์ )

ผู้นำ 11 ประเภท ที่ไม่น่าพึงประสงค์
1. ผู้นำผู้เย่อหยิ่ง (Arrogance) หรือผู้นำที่ข้ามจาก “ความมั่นใจ” ไปสู่ “ความเย่อหยิ่ง” กล่าวคือ เป็นผู้นำที่ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความฉลาดทางสติปัญญาและได้พัฒนาความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลงตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป ความสำเร็จมากขึ้น ความเชื่อมั่นก็มากขึ้นด้วย และเมื่อยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้น มีคนเยินยอมากขึ้น ก็อาจจะเกิดความเชื่อมั่นมากเกินไป (Over-Confidence) เกิดอาการดื้อดึง และมองว่าตนเองเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูก แต่คนอื่นผิดหมด
2. ผู้นำที่มีอารมณ์อ่อนไหวเกินความเป็นจริง (Melodrama) คือ ผู้นำที่มีการพูด การกระทำ และอารมณ์ที่เกินความเป็นจริง ผู้บริหารที่แสดงออกทางอารมณ์หรือทางการกระทำที่มากกว่าปกติจนเป็นจุดสนใจเสมอเพื่อลดทอนบทบาทของ ผู้อื่นเช่น อวดใหญ่โต พูดถึงสิ่งที่เกินความเป็นจริง เป็นต้น
3. ผู้นำที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย (Volatility) คือ ผู้นำที่เปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่งไปเป็นอีกอารมณ์หนึ่งโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุอย่างรวดเร็ว และเอาแน่อะไรไม่ได้ ไม่สามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้
4. ผู้นำที่รอบคอบจนเกินเหตุ (Excessive Caution) คือ ผู้นำที่ใช้ข้อมูลมากมายในการวิเคราะห์และติดอยู่ในความรอบคอบจนเกินไป จนกระทั่งตัดสินใจไม่ทันการณ์
5. ผู้นำผู้ไม่ไว้ใจใคร (Habitual Distrust) คือ ผู้นำที่สงสัยผู้อื่นอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือมีอคติ หวาดระแวงขี้กลัว และไม่ไว้ใจผู้อื่น สุดท้ายคนรอบข้างก็พลอดหวาดระแวงไปตามๆกัน
6. ผู้นำที่ตัดขาดจากโลก (Aloofness) คือ ผู้นำที่พอเครียดปุ๊ป จะถอยหนีจากสังคมและไม่เอาใครหรืออะไรทั้งสิ้น
7. ผู้นำที่ชอบออกนอกกฎ (Mischievousness) ผู้ที่ไม่ชอบทำตามกฏ เพราะคิดว่ากฏทุกอย่างมีไว้แหก
8. ผู้นำที่ชอบทำตัวไม่เหมือนใคร (Eccentricity) คือ ผู้นำที่รู้สึกสนุกที่จะทำอะไรไม่เหมือนผู้อื่น เพียงเพราะต้องการที่จะไม่เหมือนผู้อื่น จนดูเหมือนจะมีความ creative แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรให้เกิดเป็นรูธรรม
9. ผู้นำที่ชอบต่อต้านด้วยความเงียบ (Passive Resistance) คือ ผู้นำที่ปากบอกว่าชอบ แต่พอลับหลังกลับไปโพนทนาบอกคนอื่นว่าไม่ดี เพราะไม่กล้าบอกตรงๆ
10. ผู้นำจอมสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) คือ ผู้นำที่หมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดเล็กๆ (Micromanager) จนมองไม่เห็นเรื่องใหญ่ๆที่เกิดขึ้นรอบตัว คอยจี้เช้า จี้เย็น คุมทุกขั้นตอนของการทำงานของลูกน้อง
11. ผู้นำปากหวาน (Eagerness to please) คือ ผู้นำที่ชมเป็นอย่างเดียวไม่เคยว่าผู้อืนๆ เพราะไม่ชอบการเผชิญหน้าโดยตรง ไม่กล้าไล่ใครออก ขอเรียนว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำหลายท่านประสบความล้มเหลวมาแล้ว โดยมักปรากฏขึ้นเมื่อ “ผู้นำอยู่ภายใต้ความกดดัน” ไม่มีใครสามารถกำจัดพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างถาวร เนื่องจากมันอยู่คู่กับเรามาตั้งแต่กำเนิด (Wired that way) เพียงแต่ว่าอาจไม่ปรากฏผลกระทบในเชิงลบมาก่อนเท่านั้นเอง

ดังนั้น ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จหลายท่านต่างก็มีพฤติกรรมบ่อนทำลายเหมือนกัน เพียงแต่พวกเขาตระหนักและเรียนรู้จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น และใช้ “ความรู้เท่าทัน” เป็นเครื่องมือจัดการกับบุคลิกภาพเชิงลบของตนเองได้
………………………………………………………….
**** คุณลักษณะผู้นำ (นักกลยุทธ์)ที่พึงประสงค์ และที่ไม่พึงประสงค์ยังมีอีกมากมาย ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถตอบแตกต่างจากแนวคำตอบนี้ได้ แต่ขอให้อธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดแต่ละข้อให้ชัดเจน
------------------
Tai

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวสอบฉบับเต็มจาก รป.ม.5 เชียงใหม่

มาดูข้อมูลฉบับเต็มจาก รป.ม. 5 เชียงใหม่
-------------------------------
ข้อสอบวิชา PA.710 การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Administration) แนวข้อสอบที่ผ่านมาของ รปม. 5 เชียงใหม่ ก็มี 4 ข้อ เลือกทำ 3 ข้อ ประมาณนี้นะคะ
ข้อ 1 อาจารย์ วิชัย โถสุวรรณจินดา การวางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอะไรบ้าง ถ้าท่านต้องทำหน้าที่วางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์ในองค์การที่ท่านทำงานอยู่ (หรือองค์การที่ท่านคุ้นเคย ในกรณีที่ท่านไม่ได้ทำงาน) ท่านจะใช้วิธีการอย่างไร ในการวิเคราะห์ โดยให้เลือกวิธีการวิเคราะห์มาเพียงวิธีเดียว ที่ท่านเห็นว่าดีที่สุด (ขอให้ระบุมาด้วยว่าองค์การของท่านเป็นองค์การภาครัฐ หรือภาคเอกชน) และกำหนดเป้าหมายด้านต่างๆในหนึ่งปีข้างหน้า ที่เหมาะสมสำหรับองค์การของท่าน
ข้อ 2 อาจารย์วิโรจน์ ก่อสกุล การปรับองค์การให้มีประสิทธิภาพ ควรปรับในเรื่องใดบ้างให้ยกตัวอย่างและอธิบายมาพอเข้าใจ (เราสอบไปแล้วในห้อง)
ข้อ 3 อาจารย์สุชาติ สังข์เกษม โจทย์ ให้เขียนคุณลักษณะที่ดีและไม่พึงประสงค์ของนักบริหารบ้านเมือง ที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาอย่างละ 10 ข้อ พร้อมอธิบาย
ข้อ 4 อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร Five force คืออะไรและนำมาปรับใช้กับองค์การของท่านอย่างไร

แนวคำตอบ ข้อ 1 อาจารย์ วิชัย โถสุวรรณจินดา การวางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอะไรบ้าง ถ้าท่านต้องทำหน้าที่วางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์ในองค์การที่ท่านทำงานอยู่ (หรือองค์การที่ท่านคุ้นเคย ในกรณีที่ท่านไม่ได้ทำงาน) ท่านจะใช้วิธีการอย่างไร ในการวิเคราะห์ โดยให้เลือกวิธีการวิเคราะห์มาเพียงวิธีเดียว ที่ท่านเห็นว่าดีที่สุด (ขอให้ระบุมาด้วยว่าองค์การของท่านเป็นองค์การภาครัฐ หรือภาคเอกชน) และกำหนดเป้าหมายด้านต่างๆในหนึ่งปีข้างหน้า ที่เหมาะสมสำหรับองค์การของท่าน

ตอบ
การวางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 4 ขั้นตอน คือ
1. การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร
1.1 พันธกิจ หมายถึง การกำหนดขอบเขตของงานหรือบทบาทหน้าที่ที่องค์กรต้องทำในลักษณะอาณัติ เพื่อให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ หรือเป็นภารกิจตามยุทธศาสตร์ (ตามแผนชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล ตามนโยบายของรัฐมนตรี ฯลฯ ) เกี่ยวกับพันธกิจ
1.2 เป้าประสงค์ หมายถึง การกำหนดสิ่งที่ต้องการในอนาคตซึ่งองค์กรจะต้องพยายามให้เกิดขึ้น หรือผลลัพธ์ / ผลสำเร็จที่องค์กรต้องการบรรลุถึง โดยทั่วไปจะเป็นข้อความที่กล่าวอย่างกว้างๆ ถึงผลลัพธ์ของบริการ อันเนื่องมาจากหน้าที่หลักขององค์กร โดยจะต้องสอดคล้องกับพันธกิจที่กำหนดไว้ และหน่วยงานย่อยภายในองค์กรควรมีเป้าประสงค์ของตนเองที่ชัดเจนและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
1.3 เป้าหมาย หมายถึง ข้อความที่สามารถตรวจวัดได้เกี่ยวกับผลสำเร็จของแผนงาน / โครงการที่คาดว่าจะทำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือเป็นผลผลิตที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย

2. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กร
2.1 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ก่อนที่องค์กรจะกำหนดกลยุทธ์ ฝ่ายบริหารจะต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร เพื่อประเมินโอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรค การตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก คือ การประเมิน แจกแจงและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารจากสภาพแวดล้อมภายนอกให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรภายในองค์กรได้รับทราบ
2.2 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์กร การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์กร เป็นการตรวจสอบสมรรถนะของ องค์กรที่จะช่วยบ่งบอกถึงจุดแข็งที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ กับจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไข ถึงแม้ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกอาจเป็นเชิงบวก แต่ถ้าหากภายในองค์กรขาดความพร้อม การดำเนินงานก็ยากที่จะสบความสำเร็จได้
2.3 การวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งขององค์กร หลังจากดำเนินการวิเคราะห์ปัจจัยจากภายนอกและปัจจัยภายในองค์กรจนสามารถสังเคราะห์โอกาสและอุปสรรคกับจุดแข็งและจุดอ่อนได้แล้ว ต่อมาจะต้องประมวลข้อมูลทั้งสี่ด้านเข้าด้วยกัน โดยนำค่าคะแนนรวมของ O (โอกาส), T (อุปสรรค), S (จุดแข็ง), W (จุดอ่อน) มากำหนดจุดหรือวางตำแหน่งลงในแกน SWOT Matrix ทั้งนี้การวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งขององค์กรจะปรากฏออกมาใน 4 สถานการณ์ และมีแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละตำแหน่งขององค์กร

3. การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ จากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้จะแปลงออกเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยกิจกรรมที่ต้องทำ เวลาดำเนินการ ผู้ปฏิบัติ/รับผิดชอบ งบประมาณดำเนินงาน ตัวชี้วัด ทั้งนี้โดยมีโครงการสร้างองค์กร ระบบงาน เทคโนโลยี ฯลฯ รองรับ ซึ่งการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจะประกอบด้วยกระบวนงานย่อย 2 ส่วน ได้แก่ 1. การจัดทำแผนปฏิบัติการ 2. การปฏิบัติการ

4. การควบคุมและประเมินผลแผนกลยุทธ์ ในระหว่างที่นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติในแต่ละช่วงเวลาควรต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานและต้องมีการควบคุม กำกับ ติดตามความก้าวหน้าของงาน หากพบปัญหา อุปสรรคต่างๆ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ตลอดจนมีการประเมินผลสำเร็จของแผนกลยุทธ์เป็นระยะๆ ด้วย อาจเป็น 3 หรือ 5 ปี เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ ไปยังขั้นการวางแผนกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ การควบคุมและประเมินผลกลยุทธ์ที่ดีมิใช่การประเมินผลด้วยความรู้สึก แต่จะต้องประเมินผลด้วยการวัดที่เชื่อถือได้โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จจากการดำเนินงาน (KPI)

สำหรับกระบวนการการควบคุมและประเมินผลแผนกลยุทธ์ จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ 1. การติดตามผลการดำเนินงาน 2. การรายงานความก้าวหน้า 3. การวัดผลและประเมินผล

ถ้าต้องทำหน้าที่วางแผนการบริหารเชิงกลยุทธ์ในองค์กรที่ทำงาน ข้าพเจ้าเห็นว่าจะใช้วิธีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ภายในองค์กรและโอกาส อุปสรรคจากภายนอกองค์กร หรือที่เรียกว่า SWOT Analysis มีความเหมาะสมที่สุดในการใช้วิเคราะห์กับองค์การของข้าพเจ้าซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐคือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวิธีการวิเคราะห์ดังนี้ วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ เทคโนโลยี ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในพื้นที่เขต พันธกิจ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนารูปแบบ และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่เขต และเป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจ
1. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่รับผิดชอบ
2. สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรูปแบบการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
3. ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
4. ประสานและสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
5. สนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคบริเวณชายแดนเพื่อการป้องกันโรคระหว่างประเทศ
6. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันและการควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
7. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

SWOT Analysis วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและขีดสมรรถนะ (โอกาส–อุปสรรค–จุดแข็ง– จุดอ่อน)
S จุดแข็ง (Strengths)

------------------------------------------------
1. ผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินงานป้องกันควบคุม โรคและให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร
2. ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ มีความชำนาญและ ประสบการณ์ ในด้านวิชาการและการบริหารจัดการ
3. มีทรัพยากรที่พร้อมมูลและเอื้อต่อการทำงานทั้งงบประมาณ บุคลากรและสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ
4. บุคลากรมีความรู้ ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญด้าน การควบคุมเฉพาะโรค / เฉพาะทาง กระจายอยู่ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบในเขต
5. มีการศึกษาวิจัย ประเมินผลและพัฒนารูปแบบในการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
6. มีโครงสร้างของหน่วยงานและหน่วยบริการในพื้นที่ ครอบคลุมทั้งเขต

O โอกาส (Opportunities)
------------------------------------------------
1. มีเครือข่ายพันธมิตร ที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากร
2. การปฏิรูประบบราชการ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์กรและบุคลากร
3. นโยบายภาครัฐ (การปรับปรุงกฎหมาย) พรบ.การป้องกันควบคุมโรค พรบ.การกระจายอำนาจ มีส่วนช่วยในการพัฒนาเครือข่าย องค์กรด้านสุขภาพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
4. ลักษณะภูมิประเทศในเขตที่รับผิดชอบ มีลักษณะของปัญหาที่หลากหลาย ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายองค์กร/หน่วยงานเข้ามาดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่
5. นโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมโรคที่เกิดใหม่/ อาวุธชีวภาพ
W จุดอ่อน (Weaknesses)
---------------------------------------------
1. ขาดการทำงานเป็นทีม/ขาดการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ในองค์กรไม่ทั่วถึง
3 . ขาดทักษะการประสานงาน ภายใน/ภายนอกองค์กร
4. ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ/อุปกรณ์ด้าน IT ที่ทันสมัย
5. การสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจจากหน่วยงานสนับสนุนภายในไม่คล่องตัว ล่าช้า
T ภัยคุกคาม (Threats)
---------------------------------------------
1. นโยบายปฏิรูประบบราชการ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและผู้รับผิดชอบในการทำงาน
2. นโยบายการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกรมยังไม่ชัดเจน
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดฐานข้อมูลในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค
4. ความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสูง
5. ระเบียบงบประมาณและระเบียบราชการส่งผลต่อการปฏิบัติและดำเนินงาน

ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์
1. พัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ การวิจัย เทคโนโลยี และการทำงานเป็นทีมโดยอาศัยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อหารูปแบบการควบคุมโรคในพื้นที่พิเศษ
2. พัฒนา และส่งเสริมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
3. พัฒนาคุณภาพผลงานทางวิชาการ
4. สร้างแรงจูงใจและเจตคติที่ดีให้กับบุคลากรในการทำงาน
5. สร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและวิชาการ ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
6. สร้างและพัฒนาระบบการปฏิบัติงานและการสืบค้นข้อมูลโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในด้านวิชาการควบคุมและป้องกันโรค ให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
7. พัฒนาระบบการบริหารตามแนวทางของ Balanced Scorecard การบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์(RBM)/กพร./QM
8. เน้นการพัฒนาระบบการควบคุมภายใน

เป้าหมายที่เหมาะสมกับองค์การ คือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านต่างๆ ใน 1 ปีข้างหน้า
1. ด้านลูกค้า /ผู้รับบริการ · หน่วยงานลูกค้าในเขตให้การยอมรับผลงานทางวิชาการและนำไปประยุกต์ใช้ได้ · หน่วยงานลูกค้าสามารถป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพด้วยตนเอง · ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้/ข้อมูลทางวิชาการและบริการด้านป้องกันควบคุมโรค/ภัยสุขภาพที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์คุณภาพอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

2. ด้านการบริหารจัดการ · องค์กรมีมาตรฐานในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ · เป็นศูนย์การถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาวิชาการในเขต · ระบบการบริหารงานบุคคลมีความโปร่งใสและเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และมีการกระจายบุคลากรตามข้อมูล GIS และบุคลากรของสคร.สามารถเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการแก่หน่วยงานลูกค้าได้ · มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในการบริหารและพัฒนางานด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ด้านการเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม · ร่วมกับภาคีสื่อมวลชน ด้วยการสร้างเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่ระดับปฏิบัติการในทุกส่วนของชุมชนและท้องถิ่นโดยการเชื่อมโยงการสื่อสารไปสู่สาธารณะร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนในท้องถิ่นในการมีบทบาทและมีส่วนร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารโรคและภัยสุขภาพ ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งในการเขียนบทความและข่าว เพื่อเพิ่มทักษะเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหาในพื้นที่ และส่งผ่านไปยังเครือข่าย ก่อนส่งเข้าสู่ช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารที่ก่อให้เกิดความตระหนักและมีพฤติกรรมการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ด้านงบประมาณ · สถานบริการสุขภาพทุกแห่งมีการจัดทำบัญชีเกณฑ์คงค้าง และวิเคราะห์สถานการณ์การเงินการคลัง เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามมาตรการประหยัดงบประมาณอย่างเคร่งครัด
---------------------------------

ข้อ 2 อาจารย์วิโรจน์ ก่อสกุล การปรับองค์การให้มีประสิทธิภาพ ควรปรับในเรื่องใดบ้างให้ยกตัวอย่างและอธิบายมาพอเข้าใจ
(เราสอบไปแล้วในห้องแล้ว จึงไม่ขอจัดรูปแบบนะ ไว้ว่างๆ จะจัดให้สวยงาม)
ตอบ Instrumental Theory ในการปรับองค์การให้มีประสิทธิภาพ ควรปรับในเรื่องดังต่อไปนี้ 1. ทฤษฎี 7’S ของแมคคินเซ 2. New Public Management (NPM) องค์การมีประสิทธิภาพ 3. การรื้อปรับระบบ Reengineering ทฤษฎี 7’S ของแมคคินเซ ทฤษฎี 7’S สามารถนำมาปรับองค์การให้มีประสิทธิภาพได้ โดยทฤษฎี 7’S ของแมคคินเซ ถูกนำมาเป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบราชการไทย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ผสมผสานระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์และปัจจัยในองค์การเอาไว้ในการบริหารงานภาครัฐเพื่อให้เกิดองค์การที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย Strategy Structure System Skill Style Staff Shared Value ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน เปรียบเสมือน Strategy ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เปรียบเสมือน Structure ยุทธศาสตร์ที่ 3 การรื้อปรับระบบการเงินและงบประมาณ เป็นเหมือน System ยุทธศาสตร์ที่ 4 การรื้อปรับระบบบริหารงานบุคคลและสร้างระบบค่าตอบแทนใหม่ เป็นเสมือน Staff และ Skill ยุทธศาสตร์ที่ 5 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการทำงาน หมายถึง Share Value ยุทธศาสตร์ที่ 6 การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัยและการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม หมายถึง Style ในการปฏิบัติราชการแบบใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนกระบานการและวิธีการทำงาน ยึดวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตอบสนองความต้องการของประชาชน และประเมินผลการปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย สามารถตรวจสอบได้ โดยนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์การด้วยมิติอะไรบ้างแต่ละหน่วยมีตัวอะไรเป็นตัวชี้วัดผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ นอกจากจะวัดว่า ทำอะไรได้บ้างแล้ว ยังจะวัดว่าประชาชนได้อะไรด้วยระบบราชการลักษณะนี้จะไม่ทำงานเพียงให้เป็นตามกฎระเบียบที่วางไว้เท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบที่มีผลงานที่วัดได้ประเมินได้ ระบบราชการที่ดีต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต้องทำ หรือทำเรื่องที่เป็นภาระหน้าที่หลักของรัฐในยุคปัจจุบัน ภารกิจ หน้าที่และกระบวนการทำงานต้องกระชับ เข้าใจง่าย ชัดเจน ถูกต้อง ประหยัด คุ้มค่า คงเส้นคงวา เชื่อถือได้ มีข้อมูลที่ดี ถูกต้อง ทันการณ์ มีการวิเคราะห์และนำผลการวิเคราะห์มาใช้ปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง ทำงานเชิงรุก และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จะต้องปรับปรุงบทบาทและภารกิจของรัฐไปสู่ความทันสมัยเพื่อนำไปสู่ระบบราชการยุคใหม่ที่เป็นยุคของ e-government นอกจากนั้นภารกิจของภาครัฐจะมีการแปรสภาพให้เอกชนเข้ามาดำเนินการมากขึ้น (Privatization) เนื่องจากศักยภาพความพร้อมของภาคเอกชนที่มีเหนือภาครัฐ รวมทั้งความแตกต่างในด้าน ประสิทธิภาพของการให้บริการ ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำบริการสาธารณะประเภทต่างๆ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับเปลี่ยนภาคราชการให้มีขนาดเล็กลง (Down Sizing) ทั้งนี้เนื่องจากบทบาทและ ภารกิจของรัฐจะได้รับการทบทวน ประกอบกับความอุ้ยอ้ายขององค์กรภาครัฐที่มีขนาดใหญ่โตเกินไปทำให้ การบริหารงานขาดความคล่องตัว ตลอดจนภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านกำลังคนอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้เล็กลง และมีขนาดกำลังคนที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้มีขีดสมรรถนะและความยืดหยุ่น คล่องตัวสูง ดำเนินการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของการบริหารราชการในทุกระดับให้เหมาะสม เป็นเอกภาพ สามารถบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงการทำงานในมิติและส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นลดการควบคุมจากภาคราชการมากขึ้น (Deregulation) บทบาทของภาครัฐในการปฏิบัติตามภารกิจด้านต่าง ๆ จะมิใช่อยู่ในลักษณะของการ ควบคุมบังคับบัญชาแต่จะเป็นการส่งเสริมกำกับดูแลการบริหารงาน หน่วยปฏิบัติจะมีบทบาทและมีอิสระในการดำเนินงานด้วยตัวเองมากขึ้น ทั้งในด้านการบริหารแผนงาน แผนเงิน และแผนคน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การรื้อปรับระบบการเงินและการงบประมาณ เป็นเรื่องการพัฒนาระบบการจัดทำงบประมาณที่เน้นการควบคุมการใช้จ่ายเงินเป็นหลักเพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายและเน้นเป็นเครื่องมือในการวางแผน ดังนั้นงบประมาณจะชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หรือยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน คือทำให้ผู้พิจารณางบประมาณสามารถทราบได้ว่าการจัดสรรงบประมาณนั้นช่วยให้องค์การบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ และเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานและผลสัมฤทธิ์ มีการกำหนดเป้าหมายของงานอย่างเป็น รูปธรรม มีดัชนีชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงาน. ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ มีการทบทวนออกแบบใหม่ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล มีความหลากหลายรูปแบบในการจ้างงาน ยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานและสามารถรองรับการแข่งขันในตลาดแรงงานภายในประเทศได้ ปรับปรุงระบบการประเมินผลบุคคลที่ไม่มีสมรรถภาพออกจากราชการ และเปิดโอกาสให้บุคคลจากภายนอกเข้าสู่ระบบราชการได้โดยง่ายให้การสรรหาทำได้อย่างโปร่งใสเปิดกว้างและยึดหลัก "ความสามารถ" มากกว่า "อำนาจนิยม" และจะมีการดูแลขนาดกำลังคนให้กระทัดรัดเหมาะสมกับภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 5 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม จะมุ่งที่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและทัศนคติของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จากความคิดความเชื่อเดิม ๆไปเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีค่านิยมรักศักดิ์ศรี มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อผลงาน ยุทธศาสตร์ที่ 6 การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัย การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานภาครัฐและการบริการประชาชนให้เป็นรูปแบบของรัฐบาล อีเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด การยึดประชาชนเป็นหลัก และสามารถบริการได้ตลอดเวลา ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการยอมรับ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น ร่วมปฏิบัติงาน และตรวจสอบผลการดำเนินงาน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้ข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายของรัฐและระบบการบริหารงาน การให้บริการ การวางแผนงาน/โครงการ และการกำหนดตัวชี้วัด ตลอดจนการให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใสและดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชน 3. การรื้อปรับระบบ Reengineering คือ การพิจารณาหลักการพื้นฐานของกระบวนการทางธุรกิจ และการออกแบบขึ้นใหม่อย่างถอนรากถอนโคน เพื่อมุ่งบรรลุผลลัพธ์ของการปรับปรุงอันยิ่งใหญ่ โดยใช้มาตรวัดผลการปฏิบัติงานที่ทันสมัย และที่สำคัญได้แก่ ต้นทุน คุณภาพ การบริการ และความรวดเร็ว ขั้นตอนสำคัญในการรื้อปรับระบบหรือทำรีเอ็นจิเนียริ่ง อาจจำแนกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ · RETHINK (OLD PHISICAL >>>> OLD LOGICAL) · REDESIGN (NEW LOGICAL >>>> NEW PHISICAL) · RETOOL · RETRAIN 1. RETHINK หรือ การคิดใหม่ เป็นการเริ่มต้นขั้นตอนของการทำรีเอ็นจิเนียริ่งโดยการศึกษาสภาพทางกายภาพ (Physical) หรือโครงสร้าง (Structure) ของกระบวนการทางธุรกิจหรือกระบวนการทำงานที่เป็นอยู่เดิม เพื่อให้ทราบว่ามีกิจกรรมอะไรหรือมีขั้นตอนการดำเนินงานของกระบวนการนั้น ๆ อย่างไร นับแต่เริ่มต้นจนงานสำเร็จ ก่อนที่จะศึกษาและทำความเข้าใจถึงพื้นฐาน ความเป็นมา สมมุติฐาน หรือกฎเกณฑ์ที่รองรับกระบวนการทำงาน และแฝงเร้นอยู่ในแนวทางปฏิบัติที่กำหนดขึ้นในการทำงานหรือการดำเนินงาน เช่น กิจกรรมหรือขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการ ติดตามสินเชื่อของธนาคาร อยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ผู้ให้สินเชื่อแก่ลูกค้า จะต้องเป็นผู้ติดตามสินเชื่อนั้นคืน กิจกรรมหรือขั้นตอนของกระบวนการกำหนดตำแหน่งในส่วนราชการต่าง ๆ โดย ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. อยู่บนสมมุติฐานว่า ส่วนราชการต่าง ๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการกำหนดตำแหน่งที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน และเป็นธรรม เป็นต้น 2. REDESIGN หรือ การออกแบบใหม่ ในขั้นตอนการออกแบบใหม่นี้ เริ่มจากคณะผู้ทำการรีเอ็นจิเนียริ่งจะต้องพิจารณาและนำเสนอพื้นฐานความคิด สมมุติฐาน หรือกฎเกณฑ์ใหม่ (New Logical) ที่เหมาะสม ทันสมัย และเป็น ที่ยอมรับร่วมกันเสียก่อน ก่อนที่จะคิดหรือพิจารณากำหนดกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงานใหม่ หรือกระบวนการใหม่ (New Phisical or New Structaure) ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างหรือเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวง เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดว่า ส่วนราชการ อ.ก.พ. สามัญ หรือผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ ต่างมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถที่จะกำหนดตำแหน่งหรือปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของส่วนราชการให้เหมาะสม ตรงตามสภาพ ปัญหา และความต้องการเกี่ยวกับชนิด ลักษณะ และจำนวนตำแหน่งสำหรับการดำเนินงานตามกลยุทธ์ แผนงาน โครงการ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านบุคคลหรือความคุ้มค่าเป็นอย่างดี ก่อนที่จะมีการพิจารณาจัดทำแนวทางการมอบอำนาจการกำหนดตำแหน่งของ ก.พ. เดิม ให้เป็นอำนาจของส่วนราชการ ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งในแต่ละส่วนราชการ แทนที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องจัดทำคำขอให้ ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. เป็นผู้พิจารณา ดังเช่นที่ผ่านมา 3. RETOOL หรือ การจัดเครื่องมือใหม่ เมื่อมีการปรับแนวคิด สมมุติฐาน หรือกฎเกณฑ์ใหม่ รวมทั้งปรับกิจกรรมหรือขั้นตอนของกระบวนการดำเนินงานใหม่แล้ว ย่อมจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับกระบวนการในการดำเนินงานตามที่ออกแบบใหม่ด้วย ทั้งนี้ หมายรวมถึงหลักเกณฑ์ ข้อพิจารณา คู่มือการปฏิบัติงาน แบบฟอร์ม เอกสารที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ หรือคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศที่ใช้ในการดำเนินงาน 4. RETRAIN หรือ การจัดการอบรมใหม่ ในขั้นตอนสุดท้าย ภายหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐาน สมมุติฐาน หลักการ หรือหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ มีการออกแบบกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งวิธีการทำงานตามกระบวนการดำเนินงานขององค์การแล้ว ได้แก่ ขั้นตอนของการจัดการอบรมหรือพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดใหม่ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานใหม่ ซึ่งอาจหมายรวมตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมา เหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการรื้อปรับระบบหรือการทำรีเอ็นจิเนียริ่ง กิจกรรม ขั้นตอน วิธีการ รวมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ รูปแบบ เอกสาร ตลอดจนแบบฟอร์มที่ใช้ในการดำเนินงานตามที่ได้ปรับปรุงใหม่ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ การให้การยอมรับ และการมีส่วนร่วมหรือการให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามกระบวนการใหม่ร่วมกันต่อไป ตามกิจกรรมหรือขั้นตอนหลักในการดำเนินการรื้อปรับระบบ ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนของการคิดใหม่ และการออกแบบใหม่ ธุรกิจหรือองค์การจะต้องดำเนินงานโดยยึดถือตามคำนิยามและคำศัพท์หลักของการรื้อปรับระบบ การเน้นที่ กระบวนการ การมุ่งปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง อย่างถอนรากถอนโคน โดยค้นหาถึงพื้นฐาน สมมุติฐาน หลักการ หรือหลักเกณฑ์ที่เป็นรากฐานความคิดของการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานตามกระบวนการเดิมก่อน หลังจากนั้น จึงคิดและพิจารณากำหนดแนวคิดพื้นฐาน สมมุติฐาน หลักการ หรือหลักเกณฑ์ใหม่ที่เหมาะสม ทันสมัย โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่มุ่งให้ได้รับผลลัพธ์จาก การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะมีการกำหนดกิจกรรม ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงานใหม่ หรือกระบวนการทางธุรกิจที่ออกแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงการศึกษากิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงานเดิม และดำเนินการปรับปรุงกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงาน โดยอาศัยหลักการกำจัด (Eliminate) การทำให้ง่าย (Simplify) การรวม (Combine) หรือการจัดใหม่ (Rearrange) ซึ่งเป็นหลักการและวิธีการปรับปรุงงาน (Work Simplification) นอกจากนี้ การรื้อปรับระบบ โดยเฉพาะการจัดเครื่องมือใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงความพยายามที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ หรือการ Computerization แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีบทบาทค่อนข้างสูงในการทำรีเอ็นจิเนียริ่งทางธุรกิจก็ตาม แต่การทำกระบวนการเดิมให้เป็นระบบอัตโนมัติอาจเป็นเพียงการทำให้กระบวนการทำงานที่ผิด ๆหรือไม่เหมาะสมนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือทำให้กระบวนการทำงานที่ล้าสมัยนั้นเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติเท่านั้น
----------------------

ข้อ 3 อาจารย์สุชาติ สังข์เกษม
โจทย์ ให้เขียนคุณลักษณะที่ดีและไม่พึงประสงค์ของนักบริหารบ้านเมือง ที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาอย่างละ 10 ข้อ พร้อมอธิบาย
ก.

คุณลักษณะที่ดีของนักบริหาร 10 ประการคือ

1. เป็นผู้นำที่ดี คือ มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่ แยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว
2. รอบรู้งานในหน้าที่ คือ สามารถให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้
3. มีวิสัยทัศน์ คือ มีความคิดที่กว้างไกล มีเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
4. เลือกคนให้เหมาะกับงาน คือ มอบหมายงานให้ตามกำลังความรู้ ความสามารถ
5. มีความอดทน คือ สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ
6. สร้างแรงจูงใจ คือ สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
7. มีความยุติธรรม คือ มีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
8. ทำงานเป็นทีม คือ สามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
9. มีความกล้าหาญ คือ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าลองผิดลองถูก
10. มีความรับผิดชอบ คือ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น

ข. คุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของนักบริหาร 10 ประการคือ
1. บ้าอำนาจ คือ ชอบใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ไม่พอใจใครก็ดุด่า
2. ไม่มีเหตุผล คือ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่
3. เป็นคนไม่แน่นอน คือ โลเล เปลี่ยนใจง่าย วันนี้เอาอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เอาอีกอย่างหนึ่ง
4. หวาดระแวง คือ ไม่ไว้ใจใคร ไม่เชื่อฝีมือใคร หวงงานหวงอำนาจ
5. มีอคติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา คือ คอยจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา ไม่พอใจใครก็จะหาทางกลั่นแกล้ง
6. ชอบรับสินบน คือ ชอบใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น
7. หลงตัวเอง คือ คิดว่าตัวเองรู้มากกว่า ทำงานดีกว่า และเก่งกว่าคนอื่น
8. เห็นแก่ตัว คือ เป็นคนที่ไม่มีน้ำใจ เอาแต่ได้ ไม่เคยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
9. รับแต่ชอบไม่รับผิด คือ เอาแต่ความดีใส่ตัว ชอบโยนความผิดให้คนอื่น
10. ไม่สนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ กลัวว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะเก่งกว่า ได้ดีกว่า
--------------------

เพิ่มเติมคุณลักษณะที่ดีและไม่พึงประสงค์ของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ มาอย่างละ 10 ข้อ พร้อมอธิบาย (เผื่ออาจารย์อาจออกไม่เหมือนกันคะ)

คุณลักษณะที่ดีของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ 10 ประการคือ
1. มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่รวดเร็ว เพื่อสอดรับกับสภาวการณ์ตัวแทนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หมายถึง การเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือมีหน้าที่ในการจัดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การเพื่อพัฒนาองค์การและสร้างโอกาสในการเอาชนะคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุดแต่ได้ผลผลิตสูงสุดหรือการสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวต่อเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ใช้ความถนัดขององค์การให้เกิดประโยชน์ในการแข่งขัน เป็นต้น ในบางครั้งผู้บริหารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะมองข้ามหรือขาดความเอาใจใส่เพราะคิดว่าคู่แข่งก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน ดังนั้นนักบริหารต้องรู้จักกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ ความคิดที่ออกนอกกรอบหรือกฎเกณฑ์เดิม เพื่อประยุกต์งานให้เกิดความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยผู้นำที่มีความกล้าหาญ และอาศัยความเสี่ยง ผู้นำจะต้องวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งนับเป็น "ยาขม" ทั่วไปของกิจการที่มีขนาดใหญ่ และประสบความสำเร็จจากการแข่งขันมานาน แม้ว่ากิจการเหล่านี้จะเผชิญกับความหนืดทางกลยุทธ์ เพราะได้ผ่านความสำเร็จมามาก ทำให้บุคลากรไม่ค่อยอยากปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้ออกนอกแนวทางดั้งเดิม เนื่องจากเกรงว่า หากไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่เคยเป็นมา จะกลายเป็นความผิดพลาดไป จึงทำให้ผู้บริหารหลายกิจการไม่กล้าที่จะปรับตัวออกนอกกรอบความสำเร็จเดิม ความยืดหยุ่น กล้าที่จะปรับเปลี่ยน เช่น โดยในแต่ละปีผู้บริหารของเป๊ปซี่ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าทั่วโลกมากกว่าสองร้อยผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ของขบเคี้ยวชื่อดัง "ฟริโต เลย์" เครื่องดื่มให้พลังงาน "เกเตอเรด" รวมถึงสินค้าชูธงความสำเร็จมาเนิ่นนานนั่นคือ น้ำอัดลมชนิดต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ แม้ทางเป๊ปซี่มองว่า จะต้องมีการปรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับตลาดในภูมิภาคต่างๆ ด้วย รวมถึงการที่แนวโน้มของการดูแลสุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้ต้องปรับส่วนผสมของสินค้าให้สอดรับกับแนวโน้มดังกล่าวมากขึ้น โดยนำเสนอเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพออกมาทันท่วงที มิได้ยึดติดกับความสำเร็จของน้ำอัดลมเดิมที่เคยมีมา ซึ่งถือว่ารวดเร็ว และยืดหยุ่นกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงทำให้ได้รับผลประกอบการที่ดีมาก นอกจากนั้นนักบริหารนั้นต้องมีความคิดแบบ Active มีความกระตือรือร้นคิดทำโน้นทำนี้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันไม่ว่าจะมีเทคนิคหรือแนวทางอะไรที่ “มาใหม่ถอดด้าม” โดยเฉพาะจากกูรูการบริหารชื่อดังจากต่างประเทศที่มักจะมาทุก 3-4 ปี ไล่ตั้งแต่ยุค In Search Of Excellence หรือตามล่าหาความเป็นเลิศ มาถึง Six Sigma มาถึง Balance Score Card และล่าสุด กลยุทธ์ Blue Ocean หรือทะเลสีคราม นักบริหารที่ดีจะต้องพยายามนำมาประยุกต์ใช้เพื่อไม่ให้ “ตกเทรนด์” ผู้บริหารที่ดีนั้นต้องรู้บางสิ่งในทุกสิ่ง (ความรู้ทั่ว ๆ ไปต้องรู้กว้างและรู้ไกล) และรู้ทุกสิ่งในบางสิ่ง (รู้งานในหน้าที่ที่ต้องรู้ลึก)และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอการเป็นผู้รู้จักการวิเคราะห์หาเหตุและผลและมีวิจารญาณที่ดีในการตัดสินใจ

2. มองทุกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าอย่างลึกซึ้ง คิดถึงที่ไป ที่มา ไม่ใช่แค่ที่เห็น · มองทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลึกถึงเหตุปัจจัย และสามารถคาดคะเนผลที่เกิดตามมาในปัจจุบัน และในอนาคตได้ · เป็นผู้ที่ตั้งคำถามตลอดเวลา "ใคร(Who)? ทำอะไร(What)? ที่ไหน(Where)? เมื่อไร(When)?ทำไม(Why) อย่างไร (HOW)? ” (5-W 1 H) · เข้าใจถึงหลักการ "อริยสัจ” (ปัญหา,เหตุของปัญหา,การแก้ปัญหาได้จบ,วิธีแก้ปัญหาโดยชอบ)ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี · เป็นผู้ที่ช่างสังเกต ให้ความสนใจในรายละเอียดเพื่อเก็บมาเป็นข้อมูล · มองพฤติกรรมบุคคล (Person) เหตุการณ์ (Event) สามารถโยงถึง หลักการ (Principle) ได้ และ ใช้หลักการ (Principle) สร้างวิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา และป้องกันปัญหา เพื่อให้เกิดเหตุการณ์ (Event) ที่ต้องการ และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล (Person) ให้อยู่ภายไต้การควบคุมได้ ในกรณีมอบหมายงานให้ลูกน้อง ผู้บริหารจะต้องมีวิจารณญาณที่ดีในการเลือกงานให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกน้อง และถ้าหากเกิดความผิดพลาดไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม จะถือว่าเป็นความล้มเหลวในการตัดสินใจของหัวหน้าอย่างแท้จริง ฉะนั้น ก่อนการตัดสินใจที่จะมอบหมายงานใด ในฐานะผู้บริหารควรถามตนเองก่อนว่า ต้องการคนประเภทไหน หลังจากนั้นให้รวบรวมข้อมูลและคัดเลือกลูกน้องที่มีความสามารถตรงตามที่ตั้งไว้มาประมาณ 4-5 คน แล้วจึ่งค่อยประเมินจุดแข็ง และจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคน รวมถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีมด้วย ผู้บริหารควรให้ความสำคัญที่จุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน ฉะนั้น พนักงานที่สมควรถูกคัดเลือกคือคนที่มีจุดแข็งมากที่สุด และมีจุดอ่อนน้อยที่สุด และจุดอ่อนดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่องานที่ได้รับมอบหมายด้วย เมื่อได้ทีมงานที่ต้องการแล้ว ผู้บริหารที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถโดยการให้ลูกน้องประเมินและวิเคราะห์งานที่ตนได้รับมอบหมายว่า ปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้งานประสบผลสำเร็จ และอะไรคืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น และควรแก้ไขอย่างไร และสิ่งใดคือสิ่งที่เขาต้องการจากหัวหน้า เมื่อลูกน้องได้ข้อสรุปแล้วนำมาเสนอ หากเราเห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว หัวหน้าควรทำความตกลงกับลูกน้องว่า งานชิ้นนี้ควรส่งเมื่อไร และถ้างานไม่เสร็จตามเวลา หรือผลงานที่ออกมาไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ลูกน้องจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง นอกจากนั้น ในกรณีที่ลูกน้องพึ่งเข้ามาทำงานใหม่ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีความสามารถแค่ไหนก็ตาม ผู้บริหารไม่ควรมอบหมายให้เขารับผิดชอบงานชิ้นสำคัญ เพราะเนื่องจากเข้ามาทำงานได้ไม่นาน จึงยากที่เขาจะได้รับความร่วมมือจากพนักงานหน้าเดิม ๆ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มสูงว่า งานชิ้นนั้นจะล้มเหลว ฉะนั้น ในช่วงแรกควรให้พนักงานหน้าใหม่ศึกษางานไปก่อน ให้เกิดความคุ้นเคย และควรแนะนำเขาเหล่านั้นในเรื่องการวางตัวให้เหมาะสม ไม่ควรทำตัวเย่อหยิ่งหรือแข็งกร้าว แต่ก็ไม่ควรเกรงใจจนเกินงามจนกลายเป็นความอ่อนแอไป

3. การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดกาล มีความรู้สึกว่าตนไม่รู้อะไรอีกมาก และตระหนักถึงความเป็นผู้ใฝ่รู้ตลอดเวลา เข้าใจดีกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้สิ่งที่เคยรู้เมื่อวันวานอาจไม่ใช่ในวันนี้อีกต่อไป มองเห็น สิ่งของ ผู้คน เหตุการณ์ เป็นสื่อสอนตนได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี หรือสิ่งเลว และสามารถเลือกเก็บมาจดจำ และหยิบออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ใฝ่ค้นหา ติดตาม ความรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และการดำรงชีวิต มุ่งเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและจริงจังให้เป็นผู้รู้และเข้าใจในแต่ละเรื่องอย่างแท้จริง สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา และเหมาะสม การเรียนรู้มี 2 อย่าง เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้และเรียนรู้สิ่งที่เรารู้ให้รู้มากขึ้น นักปราชญ์บอกไว้ว่า ความรู้ที่แท้จริง คือการ "รู้ว่าเรารู้อะไร” และ "รู้ว่าเราไม่รู้อะไร” เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้น ให้ค้นหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ กระบวนการเรียนรู้ของบุคคล เริ่มจาก ความปรารถนาของตน (Personal Vision) ถูกตั้งไว้ และกำหนดเป็นเป้าหมายในขั้นตอนของชีวิต เรียนรู้รูปแบบ ความคิดแห่งตนและผู้อื่น (Mental Model) อย่างเข้าใจให้ความสำคัญกับ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน (Shared vision) อย่างเปิดใจกว้าง และรับฟังร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน (Team Learning)รู้จักการคิดเชิงระบบ (System thinking) มีทักษะการวิเคราะห์ มองเหตุผล และมองเห็น คาดการณ์ ผลลัพธ์ในอนาคตได้ และสามารถสังเคราะห์กระบวนการที่สามารถนำไป สู่ความสำเร็จที่ต้องการ ได้ ความรู้ดังกล่าวของบุคคลในกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน สามารถ นำไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) ได้ในที่สุด อันเป็น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมโลกยุคใหม่ (New Society) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวดเร็ว และไม่สิ้นสุด ความเข้าใจในจิตวิทยาการบริหาร ในการบริหารงาน คงจะไม่ผิดนักหากจะพูดว่าพูด "คือการบริหารคน” นั่นเอง เพราะ คน เป็นผู้กำหนด วิธีการหรือระบบ (System) การได้มาและการบริหารการใช้ไปของทรัพยากร(Resource Management) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผลสำเร็จของงาน การที่จะบริการคนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ มีอารมณ์ และการแสดงออกที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา และมักมี "เป้าหมายซ่อนเร้นแห่งตน (Hidden Agenda)" อยู่ภายในเสมอ ทำให้การบริหารยาก และไม่อาจกำหนดผลลัพธ์อย่างตรงไปตรงมาได้ ผู้นำที่เข้าใจจิตใจ ของมนุษย์ หากสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของเหตุการณ์ต่อจิตใจของคนได้ ก็จะสามารถคาดเดา พฤติกรรม แสดงออกของคนคนนั้นได้ไม่อยาก และสามารถที่จะสร้างสถานการณ์รองรับไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกัน ผลเสียหายจากปฏิกริยาตอบโต้ของคนได้

4. การเป็นคนดี (มี) คุณธรรมจริยธรรม คุณธรรมประดุจดั่งโลหิตที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของผู้บริหารให้เป็นผู้ คิดดี พูดดี ทำดี และสามารถ ครองตน ครองคน และครองงาน ได้อย่างสง่างาม ผู้บริหารที่ดีจะต้องหมั่นตรวจสอบตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมอยู่เสมอการเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมนั้นจะทำให้ผู้บริหารได้รับความรัก ความเคารพ ความเชื่อถือ และความศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลทั่วไป คนเก่ง และคนดีเป็นของคู่กัน แต่บางครั้งไม่ไปด้วยกัน "คนเก่ง” สร้างได้ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่เฒ่า โดยการเรียนรู้ทุ่มเท แต่ "คนดี" สร้างได้ยากกว่านักจนบางครั้งก็สร้างไม่ได้เลย คนเรามีการพัฒนา Super ego ซึ่งได้แก่ มโนธรรม และอุดมคติแห่งตนในช่วงวัยเด็ก 5-10 ขวบ จากนั้นสิ่งที่ได้รับ มาจะกลายเป็น โครงสร้างพฤติกรรม ของคนๆ นั้น(Frame of Reference)เขาจะใช้มัน ปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ที่สัมผัสโดยใช้ กระบวนการ ที่ซับซ้อนมากขึ้น การเป็นคนดีจะต้องมี การพัฒนาส่วนของ Super ego ของคนๆนั้น มาแล้ว เป็นอย่างดีโดย พ่อแม่ครูอาจารย์ ในช่วงปฐมวัย เมื่อเติบใหญ่ จะเป็นคนที่สามารถ ปรับสมดุล ในตนเองให้ได้ระหว่าง "กิเลส” จาก จิตเบื้องต่ำขับเคลื่อน ด้วย สัญชาติญาณแห่ง ความต้องการ ที่รุนแรงที่ไม่ต้องการเงื่อนไขและข้อจำกัดไดๆ กับ "มโนธรรม” ที่ขับเคลื่อนด้วย ความปารถนา ในอุดมคติแห่งตนที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดคนดี ควรมีคุณสมบัติดังนี้ มีความรู้ ไหวพริบ เฉลียวฉลาด (IQ= Intelligence Quatient) รู้แจ้งถึงความดีความชั่ว รู้ที่จะเอาตัวรอด จากเล่ห์อุบายของตัณหา คนชั่ว และนำพาตนเองและผู้คนให้เห็นแจ้งในทางที่ดีควร ประพฤติปฏิบัติได้ มีความอดกลั้น สติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุ (EQ= Emotional Quatient) จนตกอยู่ในห้วง"กิเลส” คือ โลภะ โทสะ และโมหะ และเกิดปัญญาในการแก้ไข สร้างสรรค์ และเล็งเห็น ผลเลิศในระยะยาวได้ มีความอดทน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (AQ= Adversity Quatient) พร้อมที่จะเสียสละแรงกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งอุดมคติแห่งตน และความดีที่ยึดมั่น ไม่หวั่นไหว ต่อความลำบากและอุปสรรคใดๆ ไม่เป็นผู้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินพอดี(VQ= Void Quatient) รู้ที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างเหมาะสม เป็นผู้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม (MQ= Moral Quatient) มีสำนึกของ "ความผิดชอบชั่วดี” มีความละอายใจต่อบาป ไม่ประพฤติชั่ว มุ่งทำแต่ความดี มีจิตใจที่ผ่องใส

5. ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ การมุ่งเน้นที่ลูกค้าเป็นหลัก หมายความว่า การกำหนดกลยุทธ์การเคลื่อนไหวของ องค์กรจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้ามาก่อน และก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ ต้องผ่านการวิจัย สำรวจ และประเมินความต้องการของลูกค้ามาก่อนเป็นอย่างดี เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และสร้างความพึงพอใจความผูกพันในตราสินค้าให้เกิดแก่ลูกค้าได้ เช่น ในกรณีของบริษัท เจเนอรัล อิเล็กทริกส์ ซึ่งก็ให้ความสำคัญกับการสำรวจความพึงพอใจ และความต้องการของลูกค้าสม่ำเสมอ และมีการจัดทำที่เป็นระบบ มีการทุ่มทุนสูงให้กับกิจกรรมเชื่อมโยงทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริหารถือว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนคุ้มค่ามาก มิใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองหมดไปเท่านั้น การตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลถูกต้อง ย่อมจะนำมาสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะ กับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดอย่างมาก ซึ่งทำให้การนำเสนอสินค้า และบริการใหม่ประสบความสำเร็จมากกว่ากิจการอื่น ฮุนได ในปีที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์ที่ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด โดยทุ่มเทการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เข้าสู่ "ระดับเดียวกับโตโยต้า" ตามที่สัญญากับลูกค้าได้รวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด ฮุนไดสามารถบรรลุผลในการตอบสนองลูกค้าตามที่สัญญาไว้ได้อย่างดี และนำพากิจการไปสู่ความสำเร็จ

6. ผู้บริหารที่มุ่งเน้นที่ "นวัตกรรม" เพราะนวัตกรรมคือ การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการที่ชัดเจน ทำให้คู่แข่ง ยากจะตามทัน และสามารถหลีกเลี่ยงการก่อเกิดสงครามราคาได้ ในกรณี บริษัท ดรีมเวิร์คส์ ของพ่อมดวงการบันเทิง สตีเว่น สปิลเบิร์ก ได้รับการขนานนามในเรื่องการนำนวัตกรรมสู่ความสำเร็จของกิจการ โดยบริษัทได้มีการสอดแทรกเทคนิคใหม่สร้างภาพยนตร์มากมาย ภาพยนตร์ของดรีมเวิร์คส์นั้น ได้รับกล่าวขานว่าเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของฮอลลีวู้ด ซึ่งเคล็ดลับก็คือ การกระตุ้นนวัตกรรมผ่านทางวัฒนธรรมที่ไม่ปิดกั้น บุคลากรทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียแปลกใหม่กับผู้บริหารได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกฎระเบียบมากมายอย่างองค์กรขนาดใหญ่ทั่วไป อีกทั้งยังมีระบบจูงใจเพื่อสร้าง "สปิริตของการเป็นผู้ประกอบการ" ให้เกิดกับบุคลากร

7. ผู้บริหารที่มีความกล้าเสี่ยงกล้าตัดสินใจ ทั้งทางด้านของการไขว่คว้าโอกาส หรือกล้าที่จะ "Cut loss" หรือยอมสูญเสียหากมีความ จำเป็น เช่นกรณีของผู้บริหารเป๊ปซี่ ที่ตัดสินใจรวดเร็วเหนือคู่แข่งในการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัท Quaker Oats เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีครบถ้วนตามนโยบาย ที่ต้องการจะเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกของอาหารและเครื่องดื่ม โดยเน้นให้มีผลดีต่อสุขภาพด้วย มิใช่เป็นเพียงอาหารขยะที่เขาเรียกกัน ซึ่งดีลดังกล่าวแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากมูลค่าที่มหาศาล แต่ก็นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ให้โอกาส และประโยชน์กับเป๊ปซี่ อีกกรณีหนึ่งเป็นการกล้าตัดสินใจที่จะ Cut loss ออกไปฉับพลัน โดยเจเนอรัล อิเล็กทริกส์ ได้ทำการตัดธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนรายได้ต่ำกว่าที่ต้องการ คือ ธุรกิจทางด้านการเงินและประกันภัย ที่แม้ว่าจะมีการลงทุนไปมาก แต่ก็ยอมตัดสินใจลดการลงทุนรวดเร็ว เพื่อลดการสูญเสียและถ่ายโอนทรัพยากรไปยังธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าทันที ผู้นำคุณภาพจะต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีและใช้ ข้อมูลสถิติในการวิเคราะห์และตัดสินใจ ลักษณะผู้นำนวัตกรรมมีความสามารถในการจัดการกับความรู้และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ข้อมูลทางสถิติและงานวิจัยมาประกอบในการตัดสินใจ นักบริหารนั้น มักชอบสิ่งที่ “ท้าทาย” ชอบต่อสู้แก้ปัญหา นักบริหารที่ประสบความสำเร็จสูง ๆ ทั่วโลกต่างก็เป็นคนที่เคยฝ่าฟันอุปสรรค ต่อสู้กับคู่แข่ง และฟื้นฟูกิจการที่มีปัญหาให้กลับมาดีขึ้นได้ นักบริหารไม่ชอบทำอะไรง่าย ๆ ที่ดูเหมือน “ไม่ต้องใช้ฝีมือ” แต่จะชอบทำอะไรที่สลับซับซ้อนที่ดูแล้ว “น่าทึ่ง” ธุรกิจอะไรที่ดูแล้ว “น่าเบื่อ” ไม่ต้องใช้หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางของนักบริหารไฟแรงที่มีความทะเยอทะยานสูง ตรงกันข้าม นักลงทุนนั้น ไม่ชอบที่จะต่อสู้กับใคร นักลงทุนนั้น เมื่อเจออุปสรรค นั่นก็คือ เจอหุ้นที่ “เลวร้าย” หรือบริษัทที่ลงทุนอยู่มีปัญหา เรามักจะ “หนี” คือขายหุ้นทิ้ง ว่าที่จริง สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอกับอุปสรรคตั้งแต่แรก นั่นก็คือ เลือกลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคต วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดว่า ความสำเร็จของเขานั้น ไม่ใช่การฆ่ามังกรแต่เป็นการหลบหลีกมันให้พ้น ผู้บริหารนั้น มักจะเป็นคนที่ “ชอบเสี่ยง” หรือกลัวความเสี่ยงน้อยกว่านักลงทุน ประเด็นก็คือ ผู้บริหารจะตัดสินใจทำอะไรต่าง ๆ โดยมักจะ “เล็งผลเลิศ” ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเขามักจะมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าความเป็นจริง อีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าเขาประสบความสำเร็จ เขาก็จะได้ผลตอบแทนมาก แต่ถ้าเกิดความเสียหาย ผลก็มักจะตกอยู่กับบริษัทและเขามักจะ “โทษ” สถานการณ์หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ได้ไม่ยาก ตรงกันข้าม นักลงทุนนั้นกลัวความเสี่ยง เพราะถ้าเขาพลาด ความเสียหายทั้งหมดจะตกอยู่กับเขา และเขาไม่สามารถโทษใครได้เลย

8. ผู้บริหารที่(มี) วิสัยทัศน์ ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล วิสัยทัศน์ของบุคคลเกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ประสบการณ์ และการเรียนรู้เกิดจากการได้อ่าน ได้ฟัง ได้ ดู และได้ปฏิบัติ คนที่มีประสบการณ์และการเรียนรู้มาก ๆ คือ คนที่ได้อ่าน ได้ดู ได้ฟัง และได้ปฏิบัติมามากย่อมมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล วิสัยทัศน์จะต้องควบคู่กับการปฏิบัติเสมอ "Vision with action" จึงบรรลุผล ถ้ามีวิสัยทัศน์ แต่ขาดการนำสู่การปฏิบัติ "Vision without action" ก็เท่ากับการเพ้อฝันเท่านั้นเอง ผู้บริหารจึงต้องเป็นผู้นำวิสัยทัศน์และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคล ต่าง ๆ ได้ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จึงต้องมีความรู้และประการณ์ในการบริหารเป็นอย่างดี ต้องรู้จักสะสมความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องมองการณ์ไกล สามารถวางแผนระยะยาว สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด เปลี่ยนวิกฤติสู่โอกาสได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญ สามารถวางแผนกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงองค์การให้เจริญก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย สามารถต้านทานต่อวิกฤติการณ์ที่มากระทบได้อย่างมั่นคง ผู้นำต้องกำหนดวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ ไปยังบุคคลากรอื่นเพื่อให้เกิดการยอมรับ สามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกับบุคคลากรได้อย่างชัดเจน สามารถเป็นผู้นำร่วมกับบุคคลากรกำหนดพันธกิจร่วมกัน เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินงาน และเป็นผู้นำ เป็นผู้นำวิสัยทัศน์ และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคลต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ ผู้นำต้องกำหนดวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน สามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกับบุคลากรได้อย่างชัดเจน รวมทั้งผู้นำร่วมกับบุคลากรกำหนดพันธกิจร่วมกันและกำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น ใช้หลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม ผู้นำคุณภาพรู้จักทำงานเป็นทีม และส่งเสริมให้บุคลากรทำงานเป็นทีม ในขณะเดียวกันผู้นำต้องหยั่งรู้ลักษณะบุคลากรว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถในด้านใดเพื่อมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคน สามารถกระจายงาน กระจายอำนาจให้ทั่วถึงและเป็นธรรม มีหลักเกณฑ์การพิจารณา และที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการทำงาน เป็นการผูกมัดใจให้ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเท นอกจากนี้ ผู้นำคุณภาพต้องใช้ความสำคัญกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการฟังความคิดเห็น รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกับบุคคลากร กำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น

9. ผู้บริหารที่บริหารจัดการ (ดี) ประสิทธิภาพขององค์กรขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของผู้บริหาร ผู้บริหารที่ดีจะต้อง "See throough" ในงานที่ รับผิดชอบ สามารถมองภาพของงานได้ตลอดแนวรู้จักการวิจัยและพัฒนางาน (Research and Development) และรู้จักนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการบริหารมาใช้ในการพัฒนางานอยู่เสมอ มีผู้กำหนดประเภทของผู้บริหารเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 งานก็ไม่สน คนก็ไม่สร้าง (ไม่ได้ทั้งงานและไม่ได้ทั้งคน) ประเภทที่ 2 งานสน แต่คนไม่สร้าง (ได้งาน แต่ไม่ได้คน) ประเภทที่ 3 งานไม่สน แต่คนสร้าง (ได้คน แต่ไม่ได้งาน) ประเภทที่ 4 งานก็สน คนก็สร้าง (ได้ทั้งคน และได้ทั้งงาน) โดยปกติทั่ว ๆ ไป เรามักจะพบเห็นผู้บริหารประเภทที่ 1หรือ 2 หรือ 3 ส่วนประเภทที่ 4 นั้นหายากแต่อยากจะเรียนว่า ถ้าบริหารแล้วได้ทั้งงานและได้ทั้งคน คือสุดยอดของนักบริหาร

10. ความสามารถในการสื่อสาร ผู้นำจะต้องสามารถสื่อสารกับบุคลากรทั้งภายในและ ภายนอกองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยหลักการประชาสัมพันธ์ ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและหน่วยงาน การสื่อสารที่ดีที่สุด คือ การพูดคุยเจรจา การใช้หนังสือในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ ผู้นำจึงต้องมีบุคลิกภาพที่ดี มีวาทศิลป์ ควรมีลักษณะอ่อนน้อมอ่อนโยน ผู้บริหารที่ดีเมื่อพนักงานทำผิดพลาดไม่ได้มีบทบาทแค่ตำหนิหรือลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีบทบาทในการชี้แนะ แนะนำแนวทางแก้ไข หรือแนวทางการทำงานที่ถูกต้องให้แก่พนักงานอีกด้วย เพราะถ้าตำหนิแต่ไม่บอกแนวทางแก้ไขก็อาจจะเกิดความผิดพลาดซ้ำซากทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ และบางครั้งลูกน้องอาจคิดว่าสาเหตุที่เจ้านายไม่แนะนำเพราะเจ้านายก็ไม่รู้จริงก็เป็นได้ ผู้บริหารที่ดีต้องไม่ละเลยเรื่องเล็กๆแต่มีผลต่อการทำงาน เช่น เรื่องของการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลทางด้านต่างๆมีมากมายจึงจำเป็นต้องรวบรวม จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และเข้าใจหลักของการจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะกับงาน เพราะถ้าพนักงานจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีการแยกหมวดหมู่หรือจัดระบบ ทำให้เสียเวลาในการค้นหา ข้อมูลสำคัญอาจสูญหาย ข้อมูลที่ใช้ประกอบกันหรือข้อมูลประเภทเดียวกันแต่แยกกันจัดเก็บ ทำให้การทำงานขาดความคล่องตัว ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการจัดเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้บริหารที่ดีต้องมีจิตสำนึกของการเป็นเจ้านายที่ดี มีความยุติธรรม เห็นความสำคัญของพนักงาน รวมทั้งต้องไม่ละเลยการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานอีกด้วย เช่น ให้รางวัลพนักงานที่ทำงานอย่างทุ่มเท ชมเชยพนักงานที่ทำงานเก่ง เลื่อนตำแหน่งให้พนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น และสร้างความมั่นใจและความรู้สึกมั่นคงในการทำงานแก่พนักงานในองค์กร ถ้าผู้บริหารมีความสามารถทั้งการบริหารงานและบริหารคนที่ลงตัว ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

11. การบริหารที่ดีผู้นำจะต้องสามารถบริหารคนและสร้างแรงดลบันดาลใจให้ลูกน้องได้ ผู้บริหารที่เก่งฉกาจจะต้องสามารถกระตุ้นให้ลูกน้องมีความรักในงานที่กระทำ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และมีความกระตือรือร้นในการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในที่นี้ได้แก่ การเพิ่มผลกำไร การลดรายจ่าย การเน้นย้ำวัฒนธรรมในองค์กรให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และการมีความริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ นอกจากนั้น ผู้บริหารที่ดีจะต้องชี้ให้ลูกน้องเห็นว่าเขาเหล่านั้นมีจุดแข็งอะไร และจุดแข็งเหล่านั้นสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้แก่องค์กรได้บ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ หัวหน้าจะต้องตอกย้ำถึงจุดแข็งเหล่านั้น จนลูกน้องเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่หัวหน้าจะต้องตอกย้ำให้ลูกน้องจดจำจนขึ้นใจ คือ เป้าหมายขององค์กร สิ่งที่องค์กรต้องการได้รับจากพวกเขา งานที่พวกเขาได้รับมอบหมายนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ในองค์กรอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ งานเหล่านั้นส่งเสริมให้องค์กรมีความก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง ผู้แต่งได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ทุก ๆ หกเดือน ผู้บริหารควรมี Manager’s letter เพื่อประเมินและเป็นแนวทางให้ลูกน้องได้ทราบว่า ในขณะนี้องค์กรกำลังก้าวไปในทิศทางใด งานที่หัวหน้าได้รับมอบหมายจากผู้นำระดับสูงคืออะไร สิ่งที่หัวหน้าต้องการได้รับจากลูกน้องคืออะไร และตัวหัวหน้าเองสามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการประเมินขีดความสามารถของพนักงานเพื่อใช้ในการเลื่อนขั้นได้ด้วย เพราะถ้าพนักงานสามารถทำงานตรงตามเป้าหมายขององค์กร อันได้แก่ การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงจะสมควรได้รับการเลื่อนขั้น การประเมินตามมาตรฐานนี้จึงจะถือได้ว่า ยุติธรรมเพียงพอ เพราะเน้นที่ผลของงานเป็นหลัก

12. ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือลูกน้อง ผู้นำคุณภาพต้องสนับสนุนและช่วยเหลือ ลูกน้องทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม ในด้านหน้าที่การงาน ผู้นำต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องทำงานและสนับสนุนให้ความก้าวหน้าเป็นลำดับ และต้องตัดสินใจด้วยความยุติธรรม โดยวางมาตรฐานเปรียบเทียบไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนไปสู่มาตรฐานนั้น 13. ความสามารถในการใช้แรงจูงใจ ผู้นำจะต้องศึกษาผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าเขาต้องการสิ่ง ใดและตอบสนองความต้องการในเรื่องนั้น เพราะการที่คนจะทำงานเต็มศักยภาพนั้น ต้องมีแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้ทำงาน

คุณสมบัติของผู้บริหารที่ทรงประสิทธิผล ได้แก่
1. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร (Contribution)
1) ผู้บริหารที่ดีควรถามตนเองอยู่เสมอว่า เราได้ทำประโยชน์อะไรให้องค์กรที่เป็นรูปธรรมแล้วบ้าง เพียงพอหรือไม่ และ เราสามารถทำสิ่งอื่นได้อีกหรือเปล่า ซึ่งผลประโยชน์ขององค์กรในที่นี้ได้แก่ การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร และการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ผู้แต่งแนะนำว่า พนักงานที่ดีควรสนใจว่า ตัวเรานั้นได้ทำประโยชน์ให้แก่องค์กรเพียงพอแล้วหรือยัง มากกว่าการสนใจว่า เรามีลูกน้องน้อยไปหรือไม่ ภาพพจน์เรายังดีอยู่หรือเปล่าในสายตาของหัวหน้า หรือหัวหน้าจะรู้หรือไม่ว่าเราทุ่มเทให้กับงานมากแค่ไหน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ผู้แต่งเห็นว่า เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และควรเลิกทำพฤติกรรมเช่นนี้เสีย และหันไปเน้นที่ผลงานจะดีกว่า
2) ผู้บริหารที่ทรงประสิทธิผลควรสร้างคุณค่าของสินค้า หรือชิ้นงานที่เรากำลังทำ ในที่นี้คือการสร้างสินค้าหรือผลงานที่ มีประโยชน์ต่อลูกค้า ต่อสังคม หรือต่อประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรแล้วยังเป็นส่วนช่วยให้ลูกน้องมีความภูมิใจในงานที่กระทำ ภูมิใจในตนเอง เมื่อนั้นความกระตือรือร้นในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ส่งผลให้องค์กรได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย
3) ในฐานะผู้นำจะต้องมองหาพนักงานที่เป็นคนดีมีความสามารถ มีความจงรักภักดีต่อองค์กร เพื่อเตรียมฝึกบุคลากร เหล่านั้นให้มีทักษะความสามารถสูงสุด และมอบหมายงานให้เขาเหล่านั้นตามความถนัด ให้รู้จักการทำงานเป็นทีม เพื่อให้องค์กรเกิดการประสานงานอย่างต่อเนื่องเป็นระบบต่อไป

2.บริหารเวลาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด (Time)
1) ควรทบทวนว่า วันหนึ่ง ๆ เราเสียเวลาไปกับการทำอะไร และมีสิ่งใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร งานบางอย่างที่กิน เวลามากแต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก เราควรปฏิเสธที่จะทำหรือหาคนมาช่วย เช่น ควรมีเลขานุการมาช่วยรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมลล์ หรือในกรณีการออกงานสังคมหรือเข้าประชุม ให้เลือกไปเท่าที่จำเป็น และควรติดตามผลการประชุมในนัดที่เราไม่ได้เข้าร่วมด้วย นอกจากนั้น การเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเสียเวลาไปกับการค้นหาข้อมูล และที่สำคัญการมีพนักงานที่มากเกินไปก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานล่าช้าและเสียเวลา เพราะมัวแต่เกี่ยงงานกันทำ
2) เลือกทำงานที่สำคัญในช่วงเวลาที่ตัวเรามีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดในแต่ละวัน เราชอบที่จะทำงานใน สิ่งแวดล้อมแบบใด หรือเราสามารถจดจำข้อมูลได้เป็นอย่างดีด้วยวิธีการใด เช่น การอ่านหรือการฟังนอกจากนั้น ในการทำงานแต่ละครั้งควรทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1-2 ชม. เพื่อให้จิตใจมีสมาธิสามารถนำไปขบคิดตัดสินใจในงานที่สำคัญ ๆ ได้
3) กำหนดระยะเวลา (Deadline) ในการทำงานแต่ละชิ้น เพื่อป้องกันการผัดวันประกันพรุ่ง

3. รู้จักใช้จุดแข็งให้เกิดประโยชน์ (Strength) ผู้บริหารที่ดีจะต้องเลือกทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของจุดแข็ง หรือความถนัดของตนเอง และจะต้องรู้จักทำงานเป็นทีม เพื่อ นำจุดแข็งของผู้อื่นมาช่วยให้งานเกิดประสิทธิผลสูงสุด อย่างไรก็ตาม การจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้นั้น เพียงแค่มีความรู้ความสามารถนั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีคุณธรรมและบารมีด้วย บารมีในที่นี้คือ การเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทุกคนที่ได้ยินชื่อของคุณจะต้องระลึกและแสดงออกด้วยความชื่มชม และเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจำเป็นจะต้องสร้างขึ้นมา นอกจากนั้น ผู้นำที่เก่งจริงจะต้องกล้าประเมินตัวเอง โดยการเปรียบเทียบระหว่างผลที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดคะเนไว้ว่าตรงกันหรือไม่ หากผลที่ออกมาตรงตามที่คาดไว้แสดงว่า งานที่คุณเลือกทำนั้นอยู่บนพื้นฐานของความถนัดของคุณอย่างแท้จริง แต่ถ้าคลาดเคลื่อน ให้วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเหตุใด และต้องไม่ลืมที่จะมองย้อนมาที่ตนเองด้วย เพราะในการทำงานนั้น หากมีความอวดดี ไม่พึ่งใคร การทำงานเป็นทีมย่อมไม่เกิด เมื่อนั้นแม้ว่าจะเป็นงานที่ถนัดก็ล่มได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในการทำงานย่อมมีความขัดแย้งบ้างไม่มากก็น้อย แต่ให้เน้นความสำคัญที่งานมากกว่าเรื่องส่วนตัว

4.สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Effective decision making) ผู้บริหารที่ดีจะต้องกล้าคิด กล้าทำ และกล้าตัดสินใจ และควรเลือกตัดสินใจเฉพาะเรื่องที่สำคัญ เรื่องส่งผลต่อองค์กร ซึ่ง ในที่นี้ก็คือ การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุน การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนอื่นช่วยตัดสินใจ นอกจากนั้น ผู้นำที่ดีควรมองว่า การตัดสินใจที่ดีไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนเสมอไป เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ การรอให้ข้อมูลครบอาจจะทำให้เราตัดสินใจล่าช้า หรือกลายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจไปเลยเพราะยึดติดอยู่กับข้อมูลมากจนเกินไป แต่ที่สำคัญให้ระวังการมีอคติ เพราะก่อนการตัดสินใจ ทุกคนมักมีคำตอบอยู่ในใจแล้วเสมอ ฉะนั้น เพื่อป้องกันการมีอคติ ก่อนตัดสินใจให้ถามตนเองก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือความยุติธรรม และให้ตัดสินใจไปตามความเป็นจริงที่ถูกต้องที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ท้ายที่สุด ผู้แต่งได้ให้แง่คิดไว้ว่า การตัดสินของผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะองค์กรใดก็ตามที่ผู้นำไม่ได้ให้ความยุติธรรม ไม่ได้ทำตามความเป็นจริง เห็นพวกพ้องเป็นหลัก องค์กรนั้นจะต้องล่มสลายอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมและความถูกต้อง

5. เป็นนักสื่อความ (A Good Communicator) คนที่เป็นผู้สื่อความที่ดีจะต้องสามารถสื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจและปฏิบัติตาม ฉะนั้น ในการพูดโน้มน้าวจิตใจลูกน้องให้ ยินดีให้ความร่วมมือนั้น ผู้บริหารจะต้องพูดในสิ่งที่ลูกน้องอยากฟัง แต่จะต้องมีประเด็นที่เราต้องการเสนอด้วย และเมื่อต้องการขอความร่วมมือจากลูกน้อง เราไม่ควรใช้วิธีการบังคับ แต่ควรชี้ให้อีกฝ่ายหันกลับมามองอีกด้านถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ และในการพูดนั้น หัวหน้าไม่ควรแสดงกริยาข่มขู่ลูกน้อง หรือแสดงอำนาจว่าเราเป็นเจ้านาย แต่ควรพูดคุยเสมือนว่าเราเป็นพวกเดียวกับลูกน้อง พูดด้วยความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจในความลำบากในงานที่เขากระทำ และพยายามเสนอสิ่งที่ดีเพื่อช่วยเหลือเขา แต่ทุกอย่างที่พูดจะต้องมีสาระ มีประเด็น ก่อนพูดเราต้องรู้ว่าเราพูดไปเพื่ออะไร แต่หากลูกน้องมีข้อโต้แย้ง ผู้นำที่ดีจะต้องรับฟังและคุยกันด้วยเหตุผล เน้นที่เนื้องานเป็นหลัก การกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกน้องรู้สึกตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เมื่อแสดงความเห็นก็มีคนรับฟัง สิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้ลูกน้องกล้าที่จะแสดงความคิดที่แตกต่างแต่ไม่แปลกแยก เพื่อพัฒนาให้องค์กรมีความก้าวหน้าและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป
------------------------------

คุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ 10 ประการ คือ
1. ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานประจำวันมากกว่าการคิดถึงแผนกลยุทธ์หรือการบริหารกลยุทธ์ของหน่วยงาน มีผู้บริหารเป็นจำนวนมากในองค์กรธุรกิจแบบไทยๆที่ไม่สามารถจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างถูกต้องคือมักจะเคยชินกับการสั่งงาน มอบหมายงาน ควบคุมงาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าประจำวันของงานและชอบทำงานในเรื่องที่ตนเองชอบทำมากกว่าการใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลข่าวสารทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเพื่อกำหนดทิศทางของหน่วยงานว่า ในแต่ละปีหรือแต่ละเดือนหรือแต่ละสัปดาห์หน่วยงานของตนเองหรือองค์กรของตนควรทำเรื่องอะไรและทำอย่างไร ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง บริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลงานในทิศทางที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปดูงานภายในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีผู้จัดการแผนกซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลางจำนวนมาก และได้มีโอกาสถามคำถามผู้บริหารเหล่านั้นว่า “ในฐานะที่ท่านเป็นผู้จัดการแผนกนี้และทำงานนี้มานานหลายปีแล้ว ท่านพอจะบอกได้ไหมว่าในปีหน้า แผนกของท่านควรจะทำงานเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์และเพราะอะไรจึงควรทำงานเรื่องนั้น” คำตอบที่ได้รับทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมากคือผู้จัดการแผนกหลายคนตอบว่า “ยังไม่ทราบเพราะผู้ใหญ่ยังไม่ได้สั่งการลงมาว่าปีหน้าจะให้หน่วยงานนี้ทำเรื่องอะไร” ข้าพเจ้าก็ย้อนถามกลับไปว่า “คุณทำงานอยู่กับข้อมูลทุกวัน คุณเห็นปัญหาทุกวัน ทำไมคุณไม่เสนอผู้ใหญ่ละครับว่าในฐานะที่คุณทำงานอยู่ตรงนี้ คุณเห็นว่าควรทำเรื่องอะไรก่อนหลัง เพราะอะไร ทำไมคุณไม่นำเสนอผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมาทราบข้อมูลในรายละเอียดได้ดีกว่าคุณได้อย่างไรในเมื่อผู้ใหญ่ไม่ได้มานั่งทำงานตรงนี้” ฉะนั้นเราจึงควรเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ ดำเนินกลยุทธ์ ประเมินและติดตามผลกลยุทธ์ต่างๆได้

2. ขาดทักษะในการสื่อสาร คือ ทักษะการพูดจูงใจ การฟัง การอ่าน การตีความข้อมูลข่าวสารและการเขียน ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจแบบไทยๆส่วนใหญ่จะขาดโอกาสที่จะได้รับการฝึกฝนเรื่องทักษะการสื่อสารอย่างครบถ้วน แต่ทักษะการ สื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญ ปัจจุบันนี้ทักษะการสื่อสารถือเป็นสมรรถนะที่สำคัญข้อหนึ่งที่เป็นดัชนีชี้วัด(KPI) ว่าผู้บริหารท่านนั้นจะสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับที่สูงกว่าเดิมได้หรือไม่ ผู้บริหารสไตล์แบบไทยๆส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุกคน) มักจะถนัดการดุด่าลูกน้องหรือการพูดแบบทำร้ายจิตใจลูกน้องมากกว่าการพูดเพื่อบำรุงรักษาขวัญกำลังใจลูกน้อง เช่น การแจ้งผลการปฏิบัติงานของลูกน้องประจำปี เมื่อหัวหน้าแจ้งผลงานลูกน้องเสร็จแล้ว ลูกน้องหลายคนหมดกำลังใจในการทำงานเพราะรู้สึกว่าตนเองหมดคุณค่าต่อองค์กรนี้ หัวหน้าไม่เคยมองเห็นความดีของตนเอง เห็นแต่ความผิดพลาดทำให้หมดกำลังใจทำงานและถ้าหนักกว่านั้นคือ มาขอลาออกจากงานไปทำงานที่อื่น ตรงนี้ทำให้เกิดความสูญเสียพนักงานที่ดีๆในองค์กรไปให้คู่แข่งจำนวนมาก เรื่องของการฟังก็เป็นปัญหามากคือหัวหน้างานเป็นจำนวนมากชอบพูดมากกว่าชอบฟัง และไม่ตั้งใจฟังปัญหาของลูกน้อง หรือฟังไม่ยังจบก็ด่วนสรุปและสั่งให้ลูกน้องแก้ไขปัญหาตามความคิดเห็นของตนทำให้เกิดช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เรื่องของการฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเหมือนทักษะการพูด ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพราะทักษะเหล่านี้จะเกิดจากการฝึกเท่านั้น ผู้บริหารที่มีอายุมากขึ้นจะไม่มีพัฒนาการเรื่องการฟังได้เองถ้าหากว่าไม่ได้รับการฝึกฝนที่ถูกวิธีและในแง่การสื่อสารที่ดีนั้นหัวหน้างานควรฟังมากกว่าพูด เรื่องการอ่านและการตีความข้อมูลข่าวสารก็เป็นเรื่องใหญ่ในแง่การสื่อสารเช่นกัน หัวหน้างานหลายคนฟังผู้บริหารพูดพร้อมๆกันหรืออ่านประกาศ อ่านคำสั่งหรืออ่านนโยบายเรื่องเดียวกัน มีตัวอักษรเหมือนกันทุกอย่างแต่แปลความหมายแตกต่างกัน เข้าใจไม่ตรงกันทำให้ปฏิบัติไปคนละทิศทาง ปฏิบัติในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกันซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้อาจจะมาจากผู้สื่อสารสื่อสารไม่ดีก็ได้แต่อีกทางหนึ่งอาจจะมาจากการอ่านจับใจความที่ไม่ถูกต้องและวิธีคิดในการตีความหมายของข้อมูลที่ไม่เหมือนกันก็ได้ หลักการตีความข้อมูลเป็นเรื่องที่หัวหน้างานต้องฝึกไว้ ที่สำคัญคืออย่าตีความโดยอาศัยประสบการณ์ตนเองหรือเปรียบเทียบกับประสบการณ์ตนเองเท่านั้นแต่ต้องดูว่ามีหลักฐานหรือข้อมูลที่ระบุชัดเช่นนั้นหรือไม่ สุดท้ายคือเรื่องการเขียน การเขียนเป็นเรื่องใหญ่เพราะคนไทยไม่ชอบการเขียนเพราะการเขียนที่ดีต้องใช้หลักภาษา สำนวน คำพูดให้เหมาะสมและการเขียนมีลักษณะของการสื่อสารทางเดียวสูงเพราะผู้อ่านไม่ได้อยู่ต่อหน้าเราจึงไม่รู้ว่าผู้อ่านจะคิดอย่างไรทำให้ง่ายต่อการตีความผิดได้ เช่น มีหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโรงงานแห่งหนึ่งเขียนจดหมายรายงานผู้จัดการโรงงานเรื่องที่เกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้าเมื่อคืนที่ผ่านไปว่า “จากการสอบถามพนักงานทุกคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุในคืนที่ไฟไหม้โกดังเก็บสินค้า ปรากฏผลเป็นที่น่ายินดีว่าพนักงานส่วนใหญ่ให้ ข้อมูลตรงกันว่าไฟเริ่มไหม้เมื่อเวลาประมาณตี3 เศษๆ จากห้องเก็บพัสดุที่ 2 หรือ 3 ซึ่งเก็บพวกกระดาษแข็งและผ้า น่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่ก็พบว่าพนักงานบางคนพกพาบุหรี่และไฟแช็คติดตัวมาด้วย ทุกคนช่วยกันดับไฟอย่างเต็มที่โดยใช้เครื่องดับเพลิงจนสามารถดับไฟได้ตอนตี 4 โกดังถูกไฟไหม้ไปครึ่งหนึ่ง” ท่านผู้บริหารที่อ่านข้อความนี้แล้วคงจะเกิดคำถามมากมายว่าจะเป็นที่น่ายินดีได้อย่างไรในเมื่อเกิดไฟไหม้แต่พนักงานคนเขียนต้องการสื่อว่าน่ายินดีตรงที่ไฟไหม้เพียงครึ่งเดียวไม่ได้ไหม้ทั้งหมด และที่สันนิษฐานว่าสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรนั้นมีเหตุผลอะไรที่ทำให้สันนิษฐานเช่นนั้นและข้อความก็ขัดกันเองตรงที่ว่ามีพนักงานบางคนพกพาบุหรี่และไฟแช็คติดตัวมาด้วย ทำให้คนอ่านไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้นเกิดจากคนหรือไฟฟ้าลัดวงจรกันแน่ และการเขียนที่บอกว่าเกิดจากโกดัง 2 หรือ 3 ก็ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากโกดังไหนก่อน คนเขียนไม่ได้รายงานว่ามีพนักงานคนไหนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหรือไม่เขียนรายงานแต่เรื่องของที่ถูกไฟไหม้แต่ไม่รายงานเรื่องคน ตลอดจนไม่รายงานเรื่องวัน เวลาที่แน่นอนด้วย การเขียนจึงเป็นทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารหรือหัวหน้างานควรฝึกฝนให้ชำนาญและถูกวิธี

3. ขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม มีคำกล่าวว่าคนไทยนั้นถ้าให้ทำงานแบบที่ทำคนเดียวแล้วจะไม่แพ้ชาติไหนแต่ถ้าให้ทำงานแบบเป็นทีมแล้วมักจะสู้ชาติอื่นไม่ได้ ถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริงแปลว่าเราขาดทักษะในการทำงานเป็นทีมอย่างมาก ทำไมเป็นเช่นนั้น ทักษะการทำงานเป็นทีมที่สำคัญนั้นต้องเริ่มจากทุกคนในทีมต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกันและทุมเทให้งานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างสุดความสามารถ เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานต้องถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในทีมและต้องให้ทุกคนในทีมมีส่วนช่วยกันคิดหาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการทำงาน ในการปรับปรุงหรือหา วิธีการทำงานที่ดีขึ้น ควรมีการสื่อสารในทีมแบบสองทางคือเปิดโอกาสให้ซักถามได้ถ้าไม่เข้าใจหรือสงสัย และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือทุกคนต้องเรียนรู้งานของคนอื่นๆในทีมด้วยว่าเขามีขั้นตอน การทำงานอย่างไร เวลาเกิดปัญหาในการทำงานควรหันหน้ามาปรึกษากันว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาและจะป้องกันอย่างไร แก้ไขอย่างไรให้มากกว่าการตำหนิว่าใครเป็นคนทำผิด

4. มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีอัตตาสูง เป็นที่น่าเสียดายว่าระบบการศึกษาในเมืองไทยเราแต่ก่อนนั้นเน้นสร้างคนให้เป็นคนเก่งมากกว่าเน้นสร้างคนให้เป็นคนดี คนเก่งหมายถึง สอบได้ที่หนึ่งของห้อง ได้เหรียญทอง เรียนจบมาได้ปริญญาหลายใบ ได้เกียรตินิยม จะเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่และเพื่อนฝูง ค่านิยมแบบนี้ทำให้คนเก่งหลายคนมีโลกทัศน์ว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่นมาตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็ก และมองคนอื่นว่าด้อยกว่าตนเอง ตนเองอยู่ในระดับที่สูงกว่าคนอื่น เวลาที่ตนเองพูดอะไร หรือทำอะไร คนอื่นๆควรฟังและทำตาม ไม่ควรเถียงหรือแย้งเพราะตนเองประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง โลกทัศน์แบบนี้ทำให้ขาดการรับฟังเพื่อนร่วมงาน คิดว่าตนเองรู้ในทุกเรื่องดีกว่าคนอื่นและไม่เปิดใจกว้างให้คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของตนเองวิจารณ์ตนเองได้ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกับคนอื่น คนเก่งๆหลายคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้เพราะความคิดเช่นนี้ ถ้าหากไปเจอลูกน้องหรือคนใกล้ชิดที่หวังจะประจบประแจงเพื่อเอาดีใส่ตัวเองด้วยแล้วยิ่งทำให้ผู้บริหารแบบนี้หลงทิศทางไปกันใหญ่เพราะผู้ใกล้ชิดจะให้ความเห็นว่า “ดีแล้วครับท่าน ถูกต้องแล้วครับ ดีทุกอย่างครับ” ผู้บริหารที่ดีควรมีความเฉลียวใจไม่รับฟังข้อมูลด้านเดียวควรคิดแบบหลายๆด้านและไม่ควรเชื่อคนที่ให้ข้อมูลด้านเดียวโดยเฉพาะคนใกล้ชิด เพราะในโลกความเป็นจริงไม่มีใครที่ทำงานอะไรโดยไม่ผิดพลาดหรือสมบูรณ์แบบ ผู้บริหารที่ดีควรพยายามค้นหาข้อผิดพลาดของตนและนำมาปรับปรุงแก้ไข ดีกว่าการที่ชื่นชอบในคำชมเชยของคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน

5. ตัดสินใจจากสัญชาติญาณมากกว่าข้อมูล ผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางหลายคนเวลาจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆต่างๆนั้นจะอาศัยประสบการณ์ตนเองเป็นหลัก ตัดสินใจจากความเชื่อและทัศนะของตนเอง เพราะที่ผ่านมาตนเองตัดสินใจได้ถูกยังไม่เคยผิด การคิดเช่นนี้อันตรายมากต่อการทำธุรกิจเพราะจะขาดการปรึกษาผู้อื่นที่เกี่ยวข้องและขาดการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบทของสังคม เงื่อนไขต่างๆในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป เราอาจะเป็นคนที่เก่งที่สุด ตัดสินใจไม่เคยผิดพลาดในอดีตหรือพลาดน้อยมากแต่อย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว วิธีคิดในอดีต ข้อมูลที่เรามีอยู่อาจจะไม่เหมาะกับสมัยนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับความจริงในสมัยนี้ บางอย่างอาจจะยังใช้ได้แต่หลายๆอย่างอาจจะเปลี่ยนไป การตัดสินใจของผู้บริหารสมัยใหม่ควรอาศัยข้อมูลเป็นหลักและปรึกษา ขอความคิดเห็นร่วมกันจากทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกคน ควรคิดเป็นทีมและตัดสินใจเป็นทีมจะเหมาะสมกว่า เช่น สมมติว่าเราต้องการขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพราะยอดขายใน 3 ปีที่ผ่านมามียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ ท่านคิดว่าน่าจะมียอดขายสูงขึ้นไปเรื่อยๆอีกในอนาคต อยากจะซื้อเครื่องจักรเพิ่มหรือพัฒนาคุณภาพเครื่องจักรให้ทันสมัยกว่าเดิมจะได้ผลิตสินค้ามากขึ้นได้ ความจริงท่านอาจจะตัดสินใจเองได้เพราะท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ มีอำนาจอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้รอบคอบขึ้นท่านควรศึกษาข้อมูลว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สินค้าของท่านขายได้ดีใน 3 ปีที่ผ่านมา ท่านอาจจะพบว่าจริงๆแล้วเป็นเพราะว่ามีคู่แข่งบางรายที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกับท่านปิดกิจการลงหรือประสบปัญหาบางอย่างที่ทำให้เขาผลิตสินค้าน้อยลง ในขณะที่กำลังความต้องการของตลาดขณะนั้นเพิ่มขึ้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าของท่านขายดีใน 3 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าไม่มีทางเลือกอื่นจึงต้องมาซื้อกับท่านแต่ถ้าท่านจะขยายกำลังการผลิตในปีนี้หรือปีหน้า สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปเพราะเกิดมีคู่แข่งรายใหม่ในตลาดเพิ่มขึ้นหลายรายทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มและความต้องการในตลาดลดลง ฉะนั้นถ้าผลิตเพิ่มอีกกำลังการผลิตจะเกินกว่าความต้องการของตลาด ทำให้ท่านอาจจะต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งใหม่ๆและทำให้บริษัทของท่านมีรายได้ลดลง ถ้าหากท่านท่านรับฟังข้อมูลจากทีมงานของท่านอย่างรอบด้านท่านจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าการตัดสินใจโดยลำพังคนเดียว

6. ขาดความสนใจรายละเอียดของขั้นตอนและเนื้อหาของงาน มีผู้บริหารเป็นจำนวนมากในหลายองค์กร รู้ว่าเขาต้องการผลลัพธ์อะไรจากการสั่งงานและมอบหมายงานในแต่ละเรื่องให้ลูกน้องและมักจะกำชับกับลูกน้องว่าต้องทำงานให้ได้ตามผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ตนเองต้องการ ภายในเวลาที่กำหนด แต่คนสั่งงานหรือมอบหมายงานไม่สนใจเลยว่าลูกน้องจะไปทำวิธีไหนเพื่อให้ได้ผลงานตามที่หัวหน้าต้องการ หัวหน้ากำหนดแต่ผลลัพธ์ที่ต้องการแต่หัวหน้าไม่ได้เป็นคนลงมือไปทำ แบบนี้เป็นอันตรายมากเพราะหัวหน้าหรือคนสั่งจะไม่ทราบขั้นตอนของการทำงานของลูกน้อง ปัญหาที่ลูกน้องพบในขณะปฏิบัติงาน จึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ลูกน้องได้และอาจถูกลูกน้องหลอกได้โดยเสนอข้อมูลที่ผิดๆรายงานให้ทราบ หัวหน้าที่ไม่รู้ข้อมูลและขั้นตอนการปฏิบัติงานของลูกน้องก็อาจจะเชื่อข้อมูลที่ลูกน้องรายงาน ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีต้องศึกษาขั้นตอนการทำงานทั้งหมดที่ลูกน้องทำผลงานมาส่งตนว่าเขามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง เราจะช่วยเขาได้อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าให้ท่านผู้บริหารต้องลงไปล้วงลูกทุกเรื่องอย่างละเอียดนะครับ แต่ผมกำลังบอกว่าให้ท่านสนใจศึกษาขั้นตอนการทำงานต่างๆในงานทุกงานที่ท่านสั่งให้ลูกน้องทำและศึกษาข้อจำกัดหรือปัญหาต่างๆที่ลูกน้องพบในการทำงานเพื่อการระดมความคิดหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่างหาก

7. ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ข้อนี้ผู้บริหารแบบไทยๆเป็นกันมากโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการ(ไม่ใช่ทุกคน) ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงมากในองค์กรจนไม่มีใครกล้าพอที่จะไปวิพากษ์ท่านเหล่านั้นได้เพราะกลัวจะถูกทำโทษ ความจริงแล้วผู้บริหารเหล่านี้เป็นคนที่น่าสงสารมากเพราะเวลาทำอะไรผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม พวกเขาจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นคนที่มองไม่เห็นตนเองคือไม่รู้ว่าภาพลักษณ์ของตนเองในสายตาคนอื่นเป็นอย่างไร เวลาเกิดความไม่พอใจในเรื่องใดก็จะแสดงอารมณ์โกรกออกมาให้คนอื่นหรือลูกน้องรู้เช่น ด่าลูกน้องด้วยคำที่ไม่สุภาพ สีหน้าแดง มือสั่น กำมือแน่นเหมือนจะชกกับใครสักคน พูดจาเสียงดังมากกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่ส่งมาให้คนอื่นเห็นว่ากำลังโกรธแล้วนะ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าจะไม่พอใจนะอย่าทำแบบนั้นอีกนะ ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเขากำลังแสดงพฤติกรรมไปตามอารมณ์ อารมณ์กำลังควบคุมพฤติกรรมของเขา เขาควบคุมตนเองไม่ได้แต่เขาถูกอารมณ์ควบคุม การเป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นไม่ต้องมีความโกรธแต่คนที่เป็นนักบริหารที่ดีจะแตกต่างกับนักบริหารทั่วไปตรงที่เมื่อเขามีความโกรธแล้วเขาสามารถควบคุมความโกรธนั้นได้โดยไม่แสดงออกมาให้คนอื่นรู้แต่ในขณะที่กำลังโกรธอยู่นั้นเขายังสามารถเลือกใช้พฤติกรรมที่ดีแสดงออกกับคนที่เขากำลังโกรธต่างหาก ท่านจะทำเช่นนี้ได้ต้องมาจากการฝึกฝนไม่ใช่ปล่อยให้อายุมากขึ้นแล้วมันจะทำได้เอง การฝึกฝนที่ว่านี้คือการฝึกสติให้รู้เท่าทันในอารมณ์ตนเองและในขณะที่กำลังโกรธให้คิดพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนว่าถ้าหากแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกไปผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร เราควรเลือกใช้พฤติกรรมที่เหมาะสมแสดงออกต่อผู้อื่นแม้ว่าเราจะกำลังโกรธก็ตาม ถ้าหากเราฝึกสติและคิดพิจารณาเลือกใช้พฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสมบ่อยๆ ต่อไปอารมณ์จะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของคุณได้แต่ตัวคุณต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมตนเองไม่ใช่อารมณ์สื่อสารที่ไม่ชัดเจน การสั่งงานที่สับสน หรือคำสั่งที่ไม่กระจ่างชัด เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและคำสั่งอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการประชุมที่บ่อยเกินความจำเป็น หรือวาระการประชุมไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทำให้เสียเวลาทั้งการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนและเสียเวลาในการประชุมโดยใช่เหตุ ดังนั้นผู้บริหารจึงควรมีการสั่งงานที่ชัดเจนทุกครั้ง มีรูปแบบและมาตรฐานในการทำงานที่แน่นอน รวมทั้งตัดการประชุมที่ไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญออกไปบ้าง หรือเรียกประชุมเฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือหัวหน้างานเพื่อไม่ให้เสียเวลางานของพนักงานส่วนใหญ่

8. บ้าอำนาจ คือ ชอบใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ไม่พอใจใครก็ดุด่าการใช้อำนาจในการบริหารงานของผู้บริหารบางคนใช้แบบ "พระเดช" คือการใช้คำสั่ง วางอำนาจ สร้างภาพผู้บริหารให้ลูกน้องเกรงกลัว การสั่งงาน คำสั่งต่างๆก็ใช้อำนาจบังคับเพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริหารบางคนคิดว่าการสร้างภาพให้ตนเองมีอำนาจ ลูกน้องเกรงกลัวนั้นจะเกิดผลดีในการทำงานมากกว่า แต่ที่จริงแล้วการสร้างความเกรงกลัวให้ลูกน้องมากเกินไปจะเกิดผลเสียในการทำงาน เนื่องจากพนักงานจะเกิดอาการลนลาน ขาดความมั่นใจ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความคิดสร้างสรรค์ และทำงานเฉพาะเมื่อมีคำสั่งทำงานเพื่อไม่ให้เจ้านายไม่พอใจเท่านั้น แต่ไม่มีจิตสำนึกที่จะทำงานให้สำเร็จด้วยตัวเอง หรือเพื่อความสำเร็จขององค์กร ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีต้องใช้อำนาจในการบริหารทั้งการใช้ "พระเดช" และ "พระคุณ" ให้เหมาะสม ต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด เพื่อพนักงานจะมีความสบายใจในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยกันพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จร่วมกัน

9. เป็นคนไม่แน่นอน คือ โลเล เปลี่ยนใจง่าย วันนี้เอาอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เอาอีกอย่างหนึ่ง

10. รับแต่ชอบไม่รับผิด คือ เอาแต่ความดีใส่ตัว ชอบโยนความผิดให้คนอื่น

ข้อ 4 อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร (ไม่ได้ทำข้อนี้คะ ไม่มีแนวคำตอบให้นะคะ)Five force คืออะไรและนำมาปรับใช้กับองค์การของท่านอย่างไร
-------------
เนื่องจากข้อมูลเยอะมาก จึงไม่ได้จัดให้สวยงาม แต่ก็พยายามอ่านให้มากที่สุดนะ
Tai

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวสอบ รศ.สมชัยฯ

แนวทางในการทำข้อสอบอาจารย์สมชัย จาก รป.ม. 5 ระยอง
--------------------------------------
1. Balanced Scorecard Balanced Scorecard คือ เป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรมีความชัดเจนในเรื่องวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมาย และการนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมขององค์กรทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. เงิน (ประสิทธิผล) เช่น - การลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ การเพิ่มผลผลิต -งบประมาณ ประหยัดค่าใช้จ่าย
2. ลูกค้า (คุณภาพบริการ) เช่น - รักษาลูกค้าเก่า เพิ่มลูกค้าใหม่ ส่วนแบ่งตลาด -ความพึงพอใจของลูกค้า ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม
3. กระบวนการทำงาน (ประสิทธิภาพ) เช่น การพัฒนาระบบงาน ลดขั้นตอนการทำงาน ใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
4. การเรียนรู้ (การพัฒนาองค์กร) เช่น การพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน ความพึงพอใจของพนักงาน การพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย - ความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ระยะสั้น (เงิน) กับวัตถุประสงค์ระยะยาว (ลูกค้า กระบวนการทำงาน การเรียนรู้) - ความสมดุลที่เป็นเหตุ (Lead) คือ 1.กระบวนการทำงาน 2.การเรียนรู้ และผล (Lag) 1.เงิน 2.ลูกค้า

สรุป Balanced Scorecard เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดและควบคุมการบริหารองค์กรทั้ง 4 ด้าน เพื่อไม่ให้ด้านใดน้อยกว่าหรือมากว่าด้านใด เช่น องค์กรมีรายได้เพิ่มมีกำไรสูง แต่ลูกค้าไม่ได้รับความพึงพอใจ ไม่มีการพัฒนาทักษะของพนักงาน ดังนั้นเมื่อองค์กรมีกำไรเพิ่มขึ้น ลูกค้าต้องเกิดความพึงพอใจ กระบวนการทำงานจะต้องมีประสิทธิภาพ และพนักงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย โดยมี KPI เป็นเครื่องมือในการควบคุมซึ่งภายใต้มุมมองทั้ง 4 ด้านนั้น จะมีช่องทาง 4 ช่อง ซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์ (Objective) ตัวชี้วัด (Measures หรือ Key Performance Indicator) เป้าหมาย (Target) แผนงานหรือกิจกรรม (Initiatives) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการกำหนดเป้าหมายของตัวชี้วัดแต่ละตัวให้ชัดเจนมากขึ้น


2. SWOT ประกอบด้วย
1. เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ S กับ W (จุดแข็ง และจุดอ่อน) ได้แก่

ระบบราชการใช้ 4M 1. คน คือ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ 2. เงิน คือ ความเพียงพอ สภาพคล่อง 3. เครื่องมือ คือ ความเพียงพอ ความทันสมัย 4. การบริหารจัดการ คือ วิสัยทัศน์ ระบบงาน ระเบียบ กฎเกณฑ์การปฏิบัติงาน

เอกชนใช้ 4P 1. ราคา คือ การตั้งราคา 2. สถานที่ คือ สถานที่ตั้ง ช่องทางการจัดจำหน่าย 3. ผลิตภัณฑ์ คือ คุณภาพของสินค้า การบรรจุภัณฑ์ 4. การส่งเสริมการขาย คือ การจัดโครงการพิเศษ

2. เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ O กับ T (โอกาส และภัยคุกคาม) ได้แก่ - Organizational Stakeholders (ระบบราชการ) 1. สังคม 2. การเมือง 3. รัฐบาล 4. สื่อสารมวลชน 5. ชุมชน 6. ลูกค้า 7. คู่แข่ง 8. ผู้ถือหุ้น 9. สหภาพแรงงาน 10. ลูกจ้าง การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ตัด 1. ผู้ถือหุ้น 2.สหภาพแรงงาน 3.ลูกจ้าง เพราะเป็นภายในองค์กรไม่ใช่ภายนอก ประสิทธิผล คือ การทำงานให้สำเร็จตามเป้าประสงค์ ใช้เปรียบเทียบระหว่าง Output กับ Goal ประสิทธิภาพ คือ การทำงานให้คุ้มค่า ใช้เปรียบเทียบระหว่าง INPUT กับ Output
------------------------
อ่านเพื่อให้ไม่ลืมและจำคีย์เวิร์ดให้ได้
Tai

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวข้อสอบ ดร.สุชาติฯ

แนวข้อสอบของอาจารย์สุชาติ จาก รป.ม. 5 ระยอง
--------------------------------
โจทย์ ให้เขียนคุณลักษณะที่ดีและไม่พึงประสงค์ของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ มาอย่างละ 10 ข้อ พร้อมอธิบาย

ก. คุณลักษณะที่ดีของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ 10 ประการคือ 1. เป็นผู้นำที่ดี คือ มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่ แยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว
2. รอบรู้งานในหน้าที่ คือ สามารถให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้
3. มีวิสัยทัศน์ คือ มีความคิดที่กว้างไกล มีเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
4. เลือกคนให้เหมาะกับงาน คือ มอบหมายงานให้ตามกำลังความรู้ ความสามารถ
5. มีความอดทน คือ สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ
6. สร้างแรงจูงใจ คือ สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
7. มีความยุติธรรม คือ มีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
8. ทำงานเป็นทีม คือ สามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
9. มีความกล้าหาญ คือ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าลองผิดลองถูก
10. มีความรับผิดชอบ คือ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น

ข. คุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของนักบริหารเชิงกลยุทธ์ 10 ประการคือ
1. บ้าอำนาจ คือ ชอบใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ไม่พอใจใครก็ดุด่า
2. ไม่มีเหตุผล คือ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่
3. เป็นคนไม่แน่นอน คือ โลเล เปลี่ยนใจง่าย วันนี้เอาอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เอาอีกอย่างหนึ่ง
4. หวาดระแวง คือ ไม่ไว้ใจใคร ไม่เชื่อฝีมือใคร หวงงานหวงอำนาจ
5. มีอคติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา คือ คอยจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา ไม่พอใจใครก็จะหาทางกลั่นแกล้ง
6. ชอบรับสินบน คือ ชอบใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น
7. หลงตัวเอง คือ คิดว่าตัวเองรู้มากกว่า ทำงานดีกว่า และเก่งกว่าคนอื่น
8. เห็นแก่ตัว คือ เป็นคนที่ไม่มีน้ำใจ เอาแต่ได้ ไม่เคยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
9. รับแต่ชอบไม่รับผิด คือ เอาแต่ความดีใส่ตัว ชอบโยนความผิดให้คนอื่น
10. ไม่สนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ กลัวว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะเก่งกว่า ได้ดีกว่า
------------------------
ข้อมูลนี้แค่แบบย่อๆ นะ เดี๋ยวจะลงฉบับเต็มให้ต่อไป
Tai

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวสอบ ผศ.วิชัยฯ

แนวข้อสอบอาจารย์วิชัย จาก รป.ม. ระยอง 5
---------------------------------
โจทย์ ถ้าต้องการสร้างโรงแรมในจังหวัดระยอง ท่านจะสร้างที่ไหน ใช้วิสัยทัศน์อะไร ไปในทิศทางไหน เป้าหมายกลุ่มลูกค้ากลุ่มไหน มาจากไหน ใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายอะไร (วิเคราะห์อนาคต)

สถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งของโรงแรมคือ หาดดวงตะวัน ตำบลแกลง อำเมืองระยอง จังหวัดระยอง บรรยากาศเงียบสงบ เป็นส่วนตัว อยู่ห่างจากตลาดบ้านเพประมาณ 5 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกสบาย เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่มาประชุมสัมมนา และต้องการใช้เวลาในการพักผ่อนด้วย

วิสัยทัศน์ เป็นโรงแรมที่ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ด้วยราคาที่เป็นธรรม และโปร่งใส

ภารกิจ 1. เป้าหมายระยะสั้น เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คือ การสร้างรายได้ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โรงแรมมีความคล่องตัวในการบริหารงาน ซึ่งจะทำให้สามารถหาลูกค้ามาเข้าพัก และใช้บริการต่าง ๆ ของทางโรงแรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำรายได้มาใช้ในการบริหารกิจการให้ดียิ่งขึ้น 2. เป้าหมายระยะยาว เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี คือ การพัฒนาโรงแรมสู่ความเป็นเลิศในด้านของการให้บริการ ความสะอาด และความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้กิจการสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอนาคตเพราะธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่เน้นในเรื่องของการให้บริการ

กลุ่มเป้าหมาย 1. กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวต่างประเทศ 2. กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวไทย 3. กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ หน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน

ต้นทุนค่าใช้จ่าย งบประมาณในการก่อสร้างโรงแรม ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท โดยจัดหาแหล่งเงินทุนจากการรวบรวบรวมเงินทุนส่วนตัว และการกู้ยืมเงินจากธนาคาร เพื่อใช้ในก่อสร้างห้องพัก ห้องประชุม สปา ห้องอาหาร สถานบันเทิง สระว่ายน้ำ ลานจอดรถ ศูนย์กีฬาในร่ม และร้านค้าต่างๆ

วิเคราะห์ SWOT
จุดแข็ง (S) 1. ผู้บริหารมีความรู้ความสามารถ 2. เป็นโรงแรมที่ทันสมัย สะอาด และปลอดภัยสูง 3. นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารงาน 4. ราคาห้องพักเป็นไปตามมาตรฐานสากล 5. มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแบบ One Stop Services
จุดอ่อน (W) 1. อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองระยอง สถานที่ตั้งยังไม่เป็นที่รู้จัก
โอกาส (O) 1. รัฐบาลให้การสนับสนุนในเรื่องการท่องเที่ยว 2. จังหวัดระยองมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง 3. มีคู่แข่งขันน้อย
ภัยคุกคาม (T) 1. ภัยทางธรรมชาติ 2. สภาวะเศรษฐกิจ

จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก โดยใช้ SWOT Analysis พบว่า การจัดตั้งโรงแรมในจังหวัดระยองยังมีโอกาสและมีความเป็นไปได้สูง เพราะมีจุดแข็งและโอกาสมาก ประกอบกับจังหวัดระยองมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรการท่องเทียว มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงและมีความสวยงาม เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประชาสัมพันธ์และให้การสนับสนุนในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดระยองเพิ่มมากขึ้น จึงเหมาะที่จะใช้กลยุทธ์เร่งรุกบุกเร็ว
-----------------
จากการสอบถามรุ่นพี่ที่นนทบุรี อาจารย์จะให้วิเคราะห์ในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่แทน แล้วลองประยุกต์จากตัวอย่างข้างต้น Tai