วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604,704: ทำวิจัยเพื่อใคร" สิ่งที่นักวิจัยต้องรู้ สู่นโยบายสาธารณะที่ดีต่อสังคม

"ทำวิจัยเพื่อใคร" สิ่งที่นักวิจัยต้องรู้ สู่นโยบายสาธารณะที่ดีต่อสังคม
----------------------------------------------
นักวิจัยไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในสังคมได้ ด้วยการวิจัยเชิงนโยบาย และการกำหนดนโยบายที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการเสวนาเรื่อง "บทบาทของนักวิจัยไทยต่อการจัดการความรู้และนโยบายสาธารณะ" โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมฟังด้วย

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการทำวิจัยเชิงนโยบายว่าเพื่อศึกษาขนาดของปัญหา งบประมาณที่ต้องใช้ และความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะต้องมีวิธีประเมินที่ไม่ใช่แค่ความคุ้มค่าที่เป็นตัวเงินหรืออิมแพ็คแฟคเตอร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และความยินยอมหรือความต้องการของประชาชนด้วย

การทำวิจัยเชิงนโยบายยังช่วยพิสูจน์สมมติฐานได้ เช่น นโยบายช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจนจริงหรือไม่ หรือทำวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบข้างเคียงจากการดำเนินโครงการตามนโยบาย เช่น การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนการทำวิจัยเพื่อศึกษาว่านโยบายนั้นมีประสิทธิผลหรือไม่ เช่น การเก็บภาษีมลพิษ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ หรือนโยบายการเพิ่มสวัสดิการแก่คนจน แล้วคนจนสามารถเข้าถึงสวัสดิการเหล่านั้นหรือไม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำวิจัย โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือ เราทำวิจัยเพื่อใคร เช่น ถ้าเราวิจัยเรื่องคุณภาพข้าว ถ้าเป็นเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ผลจะตกอยู่กับเกษตรกร ถ้าทำวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดข้าว เครื่องจักร ผู้ได้ประโยชน์คือโรงสี ถ้าวิจัยเรื่องมาตรฐานข้า พ่อค้าหรือกระทรวงพาณิชย์จะได้ประโยชน์ ถ้าทำเรื่องอาหารปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ประโยชน์ ส่วนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์

"นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เมื่อจะทำวิจัยต้องถามก่อนว่าใครจะเป็นคนนำไปใช้ แล้วใครจะได้ประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์จะคืนกำไรสู่สังคมอย่างไร และใครคือผู้เสียประโยชน์ ซึ่งบางครั้งการทำงานวิจัยให้กระทรวงต่างๆ โดยใช้โจทย์ของเขา มันไม่ได้ช่วยสังคมให้ดีขึ้น แต่ช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่หากเราทำงานวิจัยโดยที่โจทย์วิจัยเป็นของเราเอง เราสามารถเลือกทำวิจัยให้แก่คนที่ด้อยกว่าในสังคมได้ดีขึ้น และทำวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชนได้" ศ.ดร.มิ่งขวัญ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ถึงแม้จะไม่ได้วิจัยเชิงนโยบายโดยตรง แต่งานวิจัยที่ได้ก็มีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะการกำหนดนโยบายสาธารณะจำต้องใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก นโยบายด้านโรคระบาด นโยบายด้านความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้จากงานวิจัยเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว

ส่วน ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงบทบาทของนักวิจัยต่อการจัดการความรู้และนโยบายสาธารณะว่า นักวิจัยมีส่วนช่วยในกระบวนการถอดความรู้ ตีความ และอธิบายให้เกิดความเข้าใจแพร่หลายยิ่งขึ้น นักวิจัยเองก็จะได้ความรู้ใหม่ หากมีคำถามหรือความไม่แน่ใจเกิดขึ้น ก็สามารถนำไปวิจัยต่อเพื่อให้ได้คำตอบ และนักวิจัยยังต้องทำหน้าที่จัดการความรู้ และทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม โดยอาจร่วมมือกับนักวิจัยด้านสังคมหรือนักวิจัยในชุมชน ฉะนั้นจึงต้องมีนักวิจัยหลายประเภทและทำงานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำวิจัยนั้นเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงของชาวบ้าน
---------------------------------------------
ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000146302
---------------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น