วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604: แนวสอบ 2 นโยบายสาธารณะ

แนวข้อสอบ วิชา นโยบายสาธารณะและการนำนโยบายไปปฏิบัติ
ดร. ศศิชา สืบแสง น.อ.วรวุธ เรียบเรียง )
-----------------------------------------
คำจำกัดความที่สำคัญ

1. ความหมายและแนวความคิด
นโยบายสาธารณะคือ สิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ (Dye) ในส่วนที่จะกระทำครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดของรัฐบาล ทั้งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบางโอกาส การกระทำของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือรัฐบาลภายใต้สิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ปัญหาอุปสรรคและโอกาส และนโยบายที่นำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนประกอบด้วย goal/objective/purpose (Friedrich)

2. องค์ประกอบของนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
- กิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ
- การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรกิจกรรมเพื่อตอบสนองค่านิยมของสังคม
- ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
- การกระทำที่มีแบบแผน ระบบ และกระบวนการอย่างชัดเจน
- มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายเพื่อประชาชนจำนวนมาก
- เป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำให้ปรากฏเป็นจริง
- มีผลลัพธ์ในการ แก้ไขปัญหาที่สำคัญของสังคม
- เป็นการตัดสินที่จะกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก
- การต่อรองหรือประนีประนอมระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
- ครอบคลุมทั้งกิจกรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ
- ก่อให้เกิดผลทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคม
- เป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

3. ความสำคัญของนโยบายสาธารณะ
ประการแรก ต่อผู้กำหนดนโยบาย : จะได้รับความเชื่อถือและความนิยมจากประชาชน ส่งผลให้รัฐบาลดังกล่าวมีโอกาสในการดำรงอำนาจในการบริหารประเทศยาวนานขึ้น

ประการที่สอง ต่อประชาชน : เมื่อมีการนำนโยบายไปปฏิบัติและได้ผลตามเป้าประสงค์ ก็จะทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ประการที่สาม ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศของรัฐบาล ประกอบด้วย :การพัฒนาประเทศ ตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาที่สำคัญของประชาชน จัดสรรค่านิยมทางสังคม ความเป็นธรรมในสังคม สร้างความเสมอภาคในโอกาสแก่ประชาชน การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน การกระจายความเจริญไปสู่ชนบท การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงของประเทศ การเจริญสัมพันธภาพระหว่างประเทศ รักษาผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคและทั่วถึง การพัฒนาชุมชนเมือง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และการพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพมั่นคง

4. นโยบายสาธารณะกับระบอบการเมือง
4.1 ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม
การตัดสินใจในนโยบายขึ้นอยู่กับความเห็นชอบหรือความพอใจส่วนตัวของผู้ปกครองเป็นสำคัญ
4.2 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ในการปกครองแบบประชาธิปไตยจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย

5. แนวทางการศึกษานโยบายสาธารณะ
5.1 การศึกษานโยบายตามแนวทางรัฐศาสตร์
จุดมุ่งเน้น คือเนื้อหาสาระของนโยบาย, ข้อเสนอแนะสำหรับนโยบาย เช่นเรื่อง นโยบายสิ่งแวดล้อม สวัสดิการการศึกษา หรือการพลังงาน ความโดดเด่นคือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะนั่นเอง
5.2 การศึกษานโยบายตามแนวทางรัฐประศาสนศาสตร์
ให้ความสนใจเกี่ยวกับความคิดเชิงทฤษฎี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายและความสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเรื่องการวิเคราะห์ผลผลิตนโยบาย และผลกระทบของนโยบายสาธารณะว่าสอดคล้องกับเป้าประสงค์หรือไม่

6. แผน (Plan) คือ รูปธรรมของนโยบายที่ประกอบด้วยมาตรการและกิจกรรมต่างๆที่ทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติปรากฏเป็นจริง และเป็นผลผลิตของการวางแผน มีความสัมพันธ์ตามภาพ ต่อไปนี้

7. การวางแผนโดยมุ่งความพอใจระดับหนึ่ง (Satisfying Planning)
7.1 ทำการเปลี่ยนแปลงจำนวน และขนาด จากนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นอยู่ให้น้อยที่สุด
7.2 เพิ่มการใช้ทรัพยากรเพื่อการวางแผนให้น้อยที่สุด
7.3 ทำการวางแผนโดยให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์การให้น้อยที่สุด เพื่อลดการต่อต้านจากบุคลากรภายในองค์การ

8. การวางแผนโดยมุ่งผลตอบแทนที่ดีที่สุด(Optimizing Planning)
8.1 ใช้ทรัพยากรน้อยในการบรรลุเป้าประสงค์ขององค์การ
8.2 ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด
8.3 เพื่อให้ได้รับความสมดุลระหว่างผลประโยชน์และต้นทุน ให้มากที่สุด

9. การวางแผนโดยมุ่งการปรับตัวขององค์การ (Adaptivizing Planning)
มุ่งเน้นการวางแผนแบบนวัตกรรม ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยมุ่งการปรับตัวขององค์การอย่างสร้างสรรค์ คือ
9.1 ความสำเร็จของแผนขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของนักบริการในกระบวนการวางแผน มิใช่การใช้แผน
9.2 มุ่งเน้นการออกแบบองค์การและการจัดการเพื่อลดความต้องการในอนาคตที่จะต้องวางแผนซ้ำรอยอดีต 9.3 นักวางแผนเกี่ยวกับอนาคต จำแนกได้ 3 ลักษณะคือ ความแน่นอน ความไม่แน่นอน และการเพิกเฉย ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้ ต้องมีการวางแผนที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ตามสภาพการณ์ของอนาคต

10. ความหมายของการวางแผน
การวางแผน หมายถึง กระบวนการในการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและวิธีการเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ทีกำหนดไว้ วัตถุประสงค์ขององค์การคือ ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์จะให้บังเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของเวลาในอนาคตที่ต้องการ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ 3 ประการ คือ
10.1 เป็นการตัดสินใจที่กระทำล่วงหน้าก่อนที่การกระทำตามแผนจะเกิดขึ้นจริง
10.2 เป็นการตัดสินใจที่พึ่งพาซึ่งกันและกันและเป็นชุดของการตัดสินใจที่เป็นระบบ
10.3 เป็นกระบวนการตัดสินใจเพื่อการบรรลุสิ่งที่พึงประสงค์ในอนาคต

องค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญของการวางแผน

11. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
หมายถึง การวางแผนระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ข้อมูลในการวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ และการกำหนดชุดของกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อให้องค์การอยู่ในฐานะที่ดีที่สุด มีความพร้อมและสมรรถนะที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักการพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนกลยุทธ์ คือ
11.1 การกำหนดเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ขององค์การให้ชัดเจน
11.2 การกำหนดฐานคติสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
11.3 การคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต
11.4 การเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม

12. การวางแผนบริหาร (Managerial Planning)
หมายถึง การนำแผนกลยุทธ์มากำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ในแต่ละปีต้องบรรลุวัตถุประสงค์อะไรบ้าง กระทำอย่างไร สามารถวัดระดับความสำเร็จได้ โดยครอบคลุมเรื่องงบประมาณที่ใช้ตามแผน โดยมีเป้าหมายรวมขององค์การที่ทุกหน่วยงานจะต้องยึดถือร่วมกัน
13. การวางแผนปฏิบัติการ (Operational Planning)
หมายถึง เป็นการวางแผนระยะสั้น ทุกขั้นตอนจะต้องสามารถประเมินหรือวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน
กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและของหน่วยงานแต่ละส่วน พร้อมทั้งรายละเอียดในการใช้ทรัพยากรและขั้นตอนการปฏิบัติทุกั้นตอนอย่างชัดเจน

14. ความสัมพันธ์ระหว่างภารกิจการวางแผนกลยุทธ์ การวางแผนบริหาร และการวางแผนปฏิบัติการ

15. กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลของนโยบายสาธารณะ
มุ่งการอธิบาย (Explain) มากกว่าการแสวงหาข้อเสนอแนะ (prescribe) ค้นคว้าสาเหตุของการกำหนดนโยบายและต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และเป็นการทดสอบเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุและผลของนโยบายสาธารณะ ซึ่งระบบสังคม ระบบการเมือง และนโยบายสาธารณะ ต่างมีความสัมพันธ์แบบโต้ตอบซึ่งกันและกัน

ระบบสังคม ระบบการเมือง นโยบายสาธารณะ

16. กรอบการวิเคราะห์ระบบนโยบาย
ความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้งหมดในระบบมีลักษณะเป็นวิภาษวิธีโดยธรรมชาติ กล่าวคือ ในทางปฏิบัติแล้วทั้งมิติวัตถุวิสัย และอัตวิสัย ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบาย และระบบนโยบายก็เป็นวัตถุวิสัย ที่สังเกตได้จากการกระทำและผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

17. กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงระบบ
การเมืองดำรงอยู่เป็นระบบเสมือนหนึ่งชีวิตการเมือง มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางการเมืองกับสิ่งแวดล้อมเป็นพลวัตร และก่อให้เกิดผลผลิตที่สำคัญ คือ นโยบายสาธารณะ

ความสัมพันธ์เชิงพลวัตรระหว่างสิ่งแวดล้อม ระบบการเมือง และนโยบายสาธารณะ

18. นโยบายมุ่งเน้นขอบเขตเฉพาะด้าน (Sectoral Policies)
หมายถึง การจำแนกนโยบายตาม sector ต่างๆ มีลักษณะสำคัญคือ มีครอบคลุม มีความชัดเจนของมาตรการในแต่ละด้าน การแสดงเจตจำนงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และมีองค์การที่จะรับผิดชอบโดยตรง เช่น
ด้านการเมือง ผลักดันการปฏิรูปการเมือง การจัดตั้งศาลปกครอง ด้านการบริหาร ปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

19. นโยบายที่มุ่งเน้นสถาบันที่กำหนดนโยบาย (Institutional Policies)
จะพิจารณาจากสถาบันที่กำหนดนโยบายเป็นสำคัญ โดยสถาบันที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสามารถแบ่งได้เป็น

สถาบันนิติบัญญัติ ในรูปของพระราชบัญญัติ
สถาบันบริหาร เสนอนโยบายในรูปกฎหมาย หรือ มติคณะรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติ
สถาบันตุลาการ อยู่ในรูปของการพิพากษาคดีของศาลฎีกา

20. นโยบายมุ่งเน้นเนื้อหาสาระ (Substantive Policies)
เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะกระทำ หรือตัดสินใจกระทำ อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ (Benefits) หรือต้นทุน
(Costs) ต่อประชาชน หรืออาจทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียเปรียบ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีส่วนได้ส่วยเสียเป็นสำคัญ เป็นนโยบายที่รัฐบาลกระทำอยู่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น นโยบายการสร้างทางด่วนในเขตกรุงเทพและ และการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

21. นโยบายมุ่งเน้นขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedural Policies)
เกี่ยวข้องกับวิธีการในการดำเนินนโยบาย ว่าจะดำเนินการอย่างไร (how) และใครจะเป็นผู้ดำเนินการ (who) จะครอบคลุมองค์การที่จะต้องรับผิดชอบ ขั้นตอน การบังคับใช้ กระบวนการ และระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มาตรการบรรลุเป้าประสงค์ เช่น นโยบายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

22. นโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับโดยรัฐ (Regulatory Policies)
มุ่งเน้นการกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล ก่อให้เกิดผลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และจะมีลักษณะจำกัดการใช้ประโยชน์ของประชาชนบางกลุ่ม เช่น การควบคุมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ไฟ การพนัน ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุการขับขี่รถจักรยานยนต์

23. นโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับตนเอง (Self-regulatory Policies)
คล้ายกับนโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับโดยรัฐ แต่ที่ต่างกันคือ จะมีลักษณะของการส่งเสริมการปกป้องผลประโยชน์ และความรับผิดชอบของกลุ่มตน จากการที่รัฐบาลอนุญาตให้รวมกลุ่มเพื่อทำหน้าที่ในการ
ควบคุมตนเอง เช่น สภาทนายความ แพทยสภา จากนั้น รัฐบาลจะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละกลุ่มไว้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พระราชบัญญัติทนายความ เป็นต้น
24. นโยบายมุ่งเน้นการกระจายผลประโยชน์ (Distributive Policies)
เกี่ยวข้องกับการจัดสรรบริการ หรือผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนบางส่วนอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้รับผลประโยชน์อาจเป็นระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล องค์การ หรือระดับสังคมบางส่วนก็ได้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม ธุรกิจบางประเภทที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผลผลิตทางการเกษตร ลำไย ลองกอง ปัญหาราคาน้ำมันการทำประมง

25. นโยบายมุ่งเน้นการกระจายความเป็นธรรม (Redistributive Policies)
ความพยายามของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรความมั่งคั่ง รายได้ ทรัพย์สิน และสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม ระหว่างคนที่มั่งมี (the haves) และกลุ่มที่คนยากจน (the have-nots) หรือระหว่างกรรมกรและนายทุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี เกิดการกระจายรายได้ หรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ธนาคารเพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและ สหกรณ์การเกษตร การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

26. นโยบายมุ่งเน้นเชิงวัตถุ (Material Policies) การจัดหาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มบุคคล หรือเกิดข้อเสียเปรียบแก่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบ เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงชุมชนแออัด

27. นโยบายมุ่งเน้นเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Policies) เสริมสร้างคุณค่าทางจิตใจ ให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายสันติภาพ (peace) ความรักชาติ (patriotism) และความเป็นธรรมทางสังคม (social justice)

28. นโยบายมุ่งเน้นลักษณะเสรีนิยม (Liberal Policies) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มความคิดก้าวหน้า เห็นคุณค่า ความเสมอภาค ยุติธรรม ขจัดความยากจน ยกระดับการศึกษา เปิดเสรีข่าวสาร/การเงิน/โทรคมนาคม

29. นโยบายมุ่งเน้นลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservative Policies) แนวคิดนโยบายมุ่งเน้นลักษณะอนุรักษ์นิยมมักอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม (Elites) เกรงสูญเสียประโยชน์หรืออภิสิทธิ์ (privileges)

30. นโยบายมุ่งเน้นสินค้าสาธารณะ (Policies Involving Public Goods)
การกำหนดสินค้าที่ไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มผู้รับประโยชน์ออกจากนโยบายได้ เพราะสินค้าสาธารณะประโยชน์จะตกกับประชาชนทุกคน เช่น การควบคุมการจราจร มลพิษ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการเมกะโปรเจ็ก

31. นโยบายมุ่งเน้นสินค้าเอกชน (Policies Involving Private Goods)
สินค้าเอกชนแบ่งแยกกลุ่มผู้รับประโยชน์ลงเป็นหน่วยย่อยได้ สามารถเก็บค่าใช่จ่ายอันเนื่องมาจากผู้รับประโยชน์โดยตรงได้ เช่น ค่าเก็บขยะของเทศบาล บริการไปรษณีย์ ประกันสังคม
ตัวแบบนโยบายสาธารณะ

32. ตัวแบบชนชั้นนำ (Elite Model)
ชนชั้นปกครองที่มีอำนาจการตัดสินใจนโยบายสาธารณะอย่างเด็ดขาด จะยึดถือความพึงพอใจหรือค่านิยมของตนเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจนโยบาย โดยประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เช่น นโยบายการเปิดเสรีทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511ดังแผนภาพ

33. ตัวแบบดุลยภาพระหว่างกลุ่ม (Group Equilibrium Model)
ผู้กำหนดนโยบายจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อความกดดันของกลุ่ม ได้แก่ การต่อรอง (Bargaining) การประนีประนอม (Compromising) ระหว่างความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอิทธิพลและผลประโยชน์ โดยนักการเมืองจะพยายามที่จะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเสียงข้างมากเพื่อให้การประนีประนอมประสบผลสำเร็จโดยง่าย เช่น พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518ดังภาพ

34. ตัวแบบเชิงระบบ (System Model)
สิ่งมีชีวิตต้องทำงานอย่างเป็นระบบ (System function) ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เฉพาะและจะต้องสอดประสานกัน ชีวิตการเมืองประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมือง (Political System) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่อยู่ล้อมรอบระบบการเมือง นโยบายสาธารณะ ตัวผลผลิตของระบบการเมือง (Political Outputs) ซึ่งเกิดจากอำนาจในการจัดสรรค่านิยมหรืออำนาจ ของระบบการเมือง เช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนผลสะท้อนกลับ คือ มาตรการปราบปรามผู้ละเมิดกฎหมาย ดังภาพ

35. ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model)
นโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการปกครองท้องถิ่น และสถาบันพรรคการเมือง นโยบายจะไม่มีผลเป็นนโยบายสาธารณะ จนกว่านโยบายนั้นจะได้รับความเห็นชอบ ถูกนำไปปฏิบัติ โดยใช้บังคับโดยสถาบันราชการที่รับผิดชอบ และสถาบันทางการเมืองมีบทบาทในการกำหนดแบบแผน เช่น การปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น นโยบายการเงินการคลัง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

36. ตัวแบบกระบวนการ (Process Model)
กระบวนการและพฤติกรรมทางการเมือง คือ ศูนย์กลางของการศึกษานโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ถูกกำหนด และนำไปปฏิบัติภายใต้กรอบความคิดตัวแบบกระบวนการทั้งสิ้น แต่จะมีความครอบคลุมแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของสังคม โดยจะเริ่มจาก การจำแนกลักษณะปัญหา เช่น นายกญี่ปุ่นประกาศยุบสภา จากการไม่ผ่านกฎหมายการแปรรูปการไปรษณีย์

37. ตัวแบบหลักเหตุผล (Rational Model)
เป็นการวิเคราะห์ในฐานะที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม ที่ยึดหลักเหตุผล คือ นโยบายที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม โดย จะไม่มีการใช้นโยบายที่ต้นทุนสูงกว่าผลประโยชน์ ผู้ตัดสินใจนโยบายควรเลือกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด ความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่บรรลุและคุณค่าที่ต้องเสียไป มีค่าเป็นบวก และมีค่ามากกว่าทางเลือกนโยบายอื่น

38. ตัวแบบการเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน (Incremental Model)
การกระทำกิจกรรมของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากอดีตโดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพียงบางส่วน หรือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีลักษณะ อนุรักษ์นิยม ยอมรับความชอบธรรมของนโยบายที่มีมาก่อน เหมาะสมทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง กรณีที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของสังคม จะเป็นการง่ายสำหรับรัฐบาลในสังคมพหุ ที่จะดำเนินโครงการที่มีอยู่เดิมมากกว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนงานใหม่ๆ เช่น การบริหารองค์การต่างๆของภาครัฐ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

39. กระบวนการก่อรูปนโยบายสาธารณะ
• การก่อรูปนโยบาย (Policy Formation)
• การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจ (Policy alternative development & Policy decision-making)
• การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy implementation)
• การประเมินผลนโยบาย (Policy evaluation)

40. การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย
ทราบถึงลำดับความสำคัญของนโยบายที่ต้องจัดทำ และการเลือกใช้นโยบายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของทางเลือกนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติให้ประสบผลสำ ควรมีคุณลักษณะ ความครอบคลุมประเด็นปัญหานโยบาย สอดคล้องกับค่านิยมของสังคม ชัดเจนและความเป็นไปได้ สมเหตุสมผลสอดคล้องกับทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ สอดคล้องทางการเมือง และกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสม

ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนโยบาย
41. ทฤษฎีหลักการเหตุผล (rational/comprehensive theory) ประกอบด้วย
1) ปัญหาที่สามารถจำแนกออกจากปัญหาอื่นได้ หรือเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นได้อย่างมีความหมาย
2) มีความรู้ความเข้าใจ เป้าประสงค์(goals) ค่านิยม(values) หรือวัตถุประสงค์(objectives) และจัดลำดับตามความสำคัญของแต่ละกรณี
3) การตรวจสอบทางเลือกต่างๆในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน
4) การตรวจสอบผลลัพธ์ทั้งทางด้านต้นทุน ผลประโยชน์ ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง
5) การเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นของทางเลือกแต่ละทาง
6) เลือกทางเลือกและผลลัพธ์ที่จะต้องตอบสนองต่อ เป้าประสงค์ ค่านิยมหรือวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์การ

42.ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน (the incremental theory) ประกอบด้วย
1) พิจารณาเป้าประสงค์และวิเคราะห์เชิงประจักษ์ร่วมกัน มากกว่าการที่จะแยกพิจารณาในแต่ละประเด็น
2) พิจารณาเฉพาะบางทางเลือกที่จะใช้ ซึ่งจะแตกต่างไปจากนโยบายเดิมเพียงเล็กน้อย
3) การประเมินผลทางเลือก จะกระทำเฉพาะเพื่อพิจารณาผลลัพธ์ที่สำคัญของทางเลือกบางทางเลือกเท่านั้น
4) ปัญหาที่เผชิญอยู่นั้น ผู้ตัดสินใจจะต้องทำการนิยามปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง
5) ไม่มีการตัดสินใจเพียงครั้งเดียวหรือทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเพียงทางเดียว
6) เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากวิธีการอื่นๆ และนำไปสู่สภาพปัจจุบันที่ดีกว่า รวมทั้งช่วยแก้ไขความไม่สมบูรณ์ทางสังคมให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการพิจารณาเป้าประสงค์ของสังคมในอนาคต

43.ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก(mixed scanning)
Etzioni เห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินใจสามารถใช้ประโยชน์จากทั้ง ทฤษฎีหลักการเหตุผล และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เหมาะสมสำหรับผู้ตัดสินใจนโยบายที่มีขีดความสามารถต่างกัน และเหมาะสมกับธรรมชาติที่แตกต่างกันของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

44. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบาย ดังนี้
1) ค่านิยม องค์การ วิชาชีพ บุคคล นโยบาย และอุดมการณ์
2) ความสัมพันธ์กับนักการเมือง การมีอิสระในการออกเสียง กฏระเบียบในการควบคุมสมาชิกพรรค
3) ผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้ง ประชาชนมีอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของนักการเมืองในเขตของตนโดยตรง
4) มติมหาชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ
5) ประโยชน์ของสาธารณะชน ความขัดแย้งกลุ่มผลประโยชน์ การแบ่งสรรผลประโยชน์

45.รูปแบบของการตัดสินใจนโยบาย
1) การต่อรอง (Bargaining) เป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ทำการเจรจาเพื่อปรับเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกันให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับในการนำนโยบายไปปฏิบัติแบ่งเป็น 3 ประการคือ การต่อรองทางลับ การให้รางวัล และการประนีประนอม
2) การโน้มน้าว (Persuasion) ความพยายามที่จะทำให้กลุ่มการเมืองเชื่อมั่นในความถูกต้องต่อข้อเสนอนโยบายของตน และแสวงหาการสนับสนุนโดยปราศจากการปรับเปลี่ยนข้อเสนอของตน
3) คำสั่ง (Command) เป็นความสัมพันธ์ตามลำดับขั้น ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา แสดงถึงการใช้อำนาจของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า เพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาจใช้การให้รางวัล และการลงโทษเป็นเครื่องมือในการสั่งการให้ได้ผล
การนำนโยบายไปปฏิบัติ

46. ความหมายของการนำโยบายไปปฏิบัติ
หมายถึง การนำการตัดสินใจนโยบายที่ได้กระทำไว้ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ หรือ การนำนโยบายหรือแผนงานไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ

47. ความสำคัญของการนำนโยบายไปปฏิบัติ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ
1) จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ตัดสินใจนโยบาย
2) ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
3) จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยปฏิบัติ
4) มุ่งเน้น ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร เนื่องมาจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
5) ความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
6) เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

48. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ
1) แหล่งที่มาของนโยบาย (source of policy) แถลงการณ์หรือคำสั่งของฝ่ายบริหาร การประกาศใช้กฎหมาย ข้าราชการระดับสูง ผู้มีหน้าที่ในการริเริ่มการก่อรูปนโยบาย คำวินิจฉัยของศาล
2) ความชัดเจนของนโยบาย (Clarity of policy) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะส่งเสริมให้มีความสอดประสานกัน และมีประสิทธิภาพ โดยความชัดเจนของวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับ การระบุสภาพปัญหาครบถ้วน กำหนดผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการประเมินทรัพยากรที่ต้องใช้อย่างเหมาะสม
3) การสนับสนุนนโยบาย (support for policy) เป็นสิ่งจำเป็น แต่มิใช่เงื่อนไข ที่เพียงพอสำหรับการที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ โดยมีปัจจัยคือ ความสนใจของผู้ริเริ่มนโยบายและกลุ่มผลประโยชน์
4) ความซับซ้อนในการบริหาร (complexity of administration) จะทำให้นโยบายเบี่ยงเบนจากเดิม มีการประเมินผล การกำหนดเป้าประสงค์ ปัจจัยกระตุ้น สิ่งจูงใจผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ
5) สิ่งจูงใจสำหรับผู้ปฏิบัติ (incentives for implementers) ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ
6) การจัดสรรทรัพยากร (resource allocation) ทรัพยากรอย่างจำกัด การใช้ต้องคำนึงถึงการจัดลำดับ ความสำคัญของแผนงานและโครงการ รวมถึงกลยุทธ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตระหนักถึงประโยชน์หรือต้นทุนที่ไม่ได้คาดไว้ หรือ ที่เรียกว่า “ผลกระทบภายนอก” ด้วย
ตัวแบบการนำนโยบายไปปฏิบัติ

49. ตัวแบบสหองค์การในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดย Carl E.Van Horn และ Donald S. Van Meter สนใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ การวัดผลการปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนสำคัญในการวิเคราะห์

50. ตัวแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัย นำเสนอโดย George C. Edwards (1980)
ปัจจัยดังในแต่ละด้าน ทั้งส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นอุปสรรคต่อกัน เป็นกระบวนการพลวัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆมากมาย

51. ตัวแบบการกระจายอำนาจ พัฒนาโดย G. Shabbir Cheema & Dennis A.Rondinelli (1983)
สามารถทำการประเมินผลการกระจายอำนาจได้ 2 แบบคือ พิจารณาจากพื้นฐานของวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนโยบายของรัฐบาล และการประเมินผลงานจากผลกระทบทางสังคมและผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น

52. ตัวแบบกระบวนการ(The Policy-Program-Implementation Process, PPIP) Ernest R. Alexander
ตัวแบบกระบวนการจะแสดงความต่อเนื่องของกระบวนการตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นตอนปัจจัยกระตุ้น(เป้าประสงค์) จนถึงการพัฒนานโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ แต่ละขั้นตอนเชื่อมโยงด้วย “จุดเชื่อมโยง” ซึ่งเป็นตัวประสานความซับซ้อนของปัจจัยเชิงปฏิสัมพันธ์

53. ตัวแบบทั่วไปของ Daniel A Mazmanian และ Paul A. Sabatier (1989)
1) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับความยากง่ายของปัญหา ปัญหาเชิงเทคนิค พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย สัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ขอบเขตของความต้องการในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับสมรรถนะของกฎหมาย คือ ความชัดเจนและแน่นอน ความสอดคล้องกับทฤษฎีเชิงสาเหตุและผล งบประมาณ การบูรณาการ ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ โอกาสเข้าถึงโครงการโดยบุคคลภายนอก 3) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ดังนี้ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี การสนับสนุนจากสาธารณชน
ทัศนคติ ทรัพยากร การสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ความผูกพันและทักษะเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
4) ขั้นตอนในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนี้
(1) ผลผลิตนโยบาย (การตัดสินใจ) เกี่ยวกับหน่วยงานที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ
(2) การปฏิบัติตามของกลุ่มเป้าหมายตามการตัดสินใจนโยบาย
(3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการตัดสินใจของหน่วยปฏิบัติ
(4) การรับรู้ผลกระทบของผู้ตัดสินใจ
(5) การประเมินผลของระบบการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อการปรับปรุง

54. การนำนโยบายไปปฏิบัติและการประเมินผล
1) ระดับมหภาค จะครอบคลุมองค์ประกอบระหว่างองค์การและผู้กำหนดนโยบาย
2) การประเมินผลโครงการระดับมหภาค ให้ความสนใจในการตีความหมายการนำนโยบายไปปฏิบัติในด้านความเห็นร่วมกันและการปฏิบัติความว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
3) ระดับจุลภาค ให้ความสนใจต่อหน่วยปฏิบัติ

55. ปัญหาและอุปสรรคในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
หลักการที่นำนโยบายไปปฏิบัติประสบผลสำเร็จ
1) ถ้ามีทรัพยากรใหม่แต่แนวทางปฏิบัติคลุมเครือ ต้องมีการตีความนโยบายให้ชัดเจน
2) ถ้ามีทรัพยากรใหม่และมีแนวทางปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง เป้าประสงค์ของบุคคลภายในองค์การจะลดความสำคัญลง
3) ถ้าทรัพยากรไม่เพียงพอ และแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน ต้องสร้างกิจกรรมให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสมัครใจที่จะปฏิบัติ เป็นการสร้างพลังความมุ่งมั่น

ความล้มเหลวในการนำนโยบายไปปฏิบัติอาจเกิดจาก
1) การเลือกกลยุทธ์การนำนโยบายไปปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
2) การเลือกหน่วยปฏิบัติและกลไกในการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
3) การเลือกเครื่องมือและวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ที่มา: http://www.geocities.ws/worawut47/policyshort.doc
-------------------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น