วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604,704: ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย และบทวิเคราะห์ FOOD INC

ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย
รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ

โดยภาพรวมแล้วชาวอเมริกันปัจจุบันกว่าสองในสามนั้นมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 โดยที่ราวหนึ่งในสามของผู้ใหญ่มะกันนั้น อ้วน ข้อมูลดังกล่าวได้จาก Pam Belluck ที่กล่าวในบทความเรื่อง Obesity Rates Hit Plateau in U.S., Data Suggest เมื่อวันที่ 13 เดือนมกราคม 2010 ในเว็บ http://www.nytimes.com

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองภาพยนตร์เรื่อง Supersize Me ก็เคยกล่าวว่า หนึ่งในสามของชาวอเมริกัน อ้วน ซึ่งแสดงว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้น โรคอ้วนได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของมหามิตรไปแล้วอย่างไม่มีทางช่วย

ปรากฏการณ์นี้นักข่าวมะกันหลายสำนักข่าวได้เริ่มวิเคราะห์ว่า นโยบายการบริหารประเทศที่เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของประเทศในปัจจุบัน ได้สร้างความขัดแยังกันโดยสิ้นเชิงต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สภาวะโภชนาการและสุขภาพของประชาชน และไม่น่าเกินจริงถ้าจะกล่าวว่า เพื่อนมะกันกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เนื่องจากการที่รัฐบริหารระบบการผลิตอาหารของประเทศผิดเพี้ยนไป

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน และนำมาสู่การคำนวณเชิงประชดประชันว่า เบอร์เกอร์แต่ละชิ้นนั้นประชาชนซื้อได้ในราคาถูกว่าสลัดผักหนึ่งชาม โดยเขียนเป็นบทความบนอินเตอร์เนตชื่อ Shocking Graphic Reveals Why a Big XXX Costs Less Than a Salad (ขออภัยต้องใช้คำว่า xxx แทนชื่อการค้า เพื่อความสงบในชีวิต)

ก่อนจะพูดถึงประเด็นหลักที่เป็นต้นเหตุของการที่ราคาเบอร์เกอร์ถูกกว่าสลัดนั้น แน่นอนที่มันต้องมีเหตุผลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเมื่อคิดดี ๆ จะเห็นว่าเวลาเกษตรกรเก็บผักและผลไม้นั้นเขาต้องลงทุนในกระบวนการจ้างคนและเครื่องจักรในการเก็บที่ขึ้นกับช่วงฤดูกาลของปี เพราะผักและผลไม้นั้นไม่ได้ทำได้ทั้งปี (ประเด็นนี้ต่างกับเกษตรกรไทย) ในขณะที่การเชือดสัตว์ซึ่งทำได้ทุกวันเวลาเพราะสามารถกำหนดตารางได้แน่นอน จึงมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า

นอกจากนี้ ผลผลิตเช่นเนื้อสัตว์ยังสามารถเก็บรักษาระหว่างการขนส่งง่ายกว่าผักผลไม้ เพราะเนื้อสัตว์สามารถแช่แข็งแล้วส่งไปถึงปลายทางได้โดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ต่างกับผักผลไม้ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงระหว่างการส่งไปขายยังสถานที่ที่ไกลจากแหล่งผลิต เช่น ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์อุณหภูมิต่ำไม่ถึงจุดแช่แข็ง และต้องมีก๊าซไนโตรเจนเพื่อชะลอการสุก ซึ่งเป็นรักษาคุณภาพของผลิตผลให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด สาเหตุนี้จึงมีคนแก้ปัญหาด้วยการนำกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมมาใช้ ตัวอย่างคือการผลิตมะเขือเทศที่ไม่เหี่ยว เป็นต้น

ได้มีผู้รู้ที่เป็นเอกชนพยายามหาทางตีแผ่ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐสภาสหรัฐฯ ในเรื่องการอุดหนุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรแบบไม่ควรเป็น ก่อนอื่นขอให้ดูรูปต่อไปนี้


ในรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายคือ ผลที่เกิดจากการอนุมัติงบประมาณอย่างมหาศาลตามรัฐบัญญัติที่เรียกว่า Farm Bill เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอาหารในโรงเรียนของเด็กอเมริกัน ในแง่ของการกระจายงบสู่การผลิตองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นอาหารของเด็กนักเรียน

เห็นได้ว่างบส่วนใหญ่มาก ๆ (73.8%) นั้นหล่นใส่เกษตรกรกลุ่มที่ผลิต เนื้อ นม ไข่ โดยเริ่มจากกลุ่มที่ทำการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมเกษตร (Agrobusiness) คือ ผู้ผลิตข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งใช้เป็นอาหารของสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อนำเนื้อมาบริโภคและนมไปทำผลิตภัณฑ์นม เหลือเพียงเศษเสี้ยวคือ 13.23% ตกกับชาวนาที่ผลิตธัญญพืช และแทบไม่เหลือเลย (0.37%) ให้แก่ลูกเมียน้อยอย่างชาวสวนผู้ผลิตผักและผลไม้ ผู้เขียนไม่ทราบว่าในบ้านเรามีการวิเคราะห์ลักษณะนี้บ้างหรือยัง ถ้ามีการทำแล้วก็อยากทราบว่า ผลออกมาเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร

จากการเอาข้อมูลดังกล่าวมาทำเป็นรูปปิรามิดแล้ววางคู่กับ Food Pyramid (ที่บ้านเรานำมาปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสม แล้วทำการกลับหัวเป็นหาง เรียกว่า ธงโภชนาการ) ก็จะมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยว่าหลายอย่างมันตรงกันข้ามกัน อีกทั้งมีข้อมูลว่า รัฐบาลอเมริกันนั้นได้ซื้อผลิตผลที่อยู่ในนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว ได้แก่ เนย นม เนื้อหมู เนื้อวัว ไปช่วยในโครงการคล้ายกับที่บ้านเราเรียกว่าโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งข้อมูลประการนี้ Physicians Committee for Responsible Medicine (http://www.pcrm.org/magazine) ได้กล่าวประชดว่า รัฐไม่ได้ถูกกำหนดให้ซื้ออาหารครบห้าหมู่แก่นักเรียน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องกำหนดเองว่าองค์ประกอบของมื้ออาหารที่เลี้ยงเด็กควรมีคุณค่าโภชนาการอย่างไรถึงครบ ดังนั้นรัฐจึงซื้อแต่องค์ประกอบของอาหารที่รัฐอุดหนุนส่งให้โรงเรียน

รูปปิรามิดคนละเรื่องนี้อยู่ในเว็บของ The Consumerist (http://consumerist.com) ซึ่งออนไลน์เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ (2510) เอง โดยมีคำอธิบายสั้น ๆ ว่า “นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมคุณ (ชาวอเมริกัน) ถึงอ้วน”

ส่วนในหนังสือพิมพ์ออนไลน์คือ New York Times กล่าวเสริมเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับรูปดังกล่าวว่า “คงต้องขอบคุณพวกหน้าม้ามืออาชีพ (lobbyist) ในความสำเร็จของการโน้มน้าวให้วุฒิสมาชิกอเมริกันอนุมัติงบประมาณให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ผลิตอาหารที่ประชากรอเมริกันควรบริโภคแต่น้อย” เพราะเมื่อดูจาก Food pyramid แล้ว ก็ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมอาหารจานด่วนพวกเบอร์เกอร์นั้นราคาถูกกว่าสลัดผัก

มีภาพยนต์เรื่องหนึ่งซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Academy Award (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยนำมาฉายในเมืองไทย) ชื่อเรื่องคือ Food Inc. ซึ่งสามารถหาซื้อหรือ download มาดูได้ถ้าต้องการ

ผู้เขียนดูภาพยนต์นี้แล้วคร่าว ๆ พอสรุปได้ว่า เป็นภาพยนต์ที่ทำให้อยากกินอาหารมังสวิรัติไปเลย ในภาพยนต์เรื่องนี้ตอนหนึ่งกล่าวถึงครอบครัวอเมริกันที่มีรายได้น้อยว่า เงินที่มีน้อยอยู่แล้วนั้นต้องใช้ซื้อแฮมเบอร์เกอร์กินประทังชีวิต เพราะมันถูกกว่าซื้อผักผลไม้สดมากิน ทั้งที่รู้ว่าผักและผลไม้สดนั้นเป็นของดีเพราะหน่วยงานด้านโภชนาการของสหรัฐก็พยายามกรอกหูประชาชนเรื่อง Food pyramid เหมือนกระทรวงสาธารณสุขไทยบอกให้ประชาชนกิน ผักผลไม้ครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง เช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ราคาอาหารของชาวอเมริกันนั้นผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็น David Leonhardt ได้เขียนบทความเรื่อง What’s Wrong With This Chart ใน http://economix.blogs.nytimes.com เมื่อวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2009 และได้สรุปจากรูปกราฟที่นำมาแสดงต่อไปนี้ว่า นับแต่ปี 1978 อาหารที่ไม่ส่งเสริมให้สุขภาพดีมีราคาถูกลงราว 33% ในขณะที่ผักและผลไม้ซึ่งมีหลักฐานในการส่งเสริมให้สุขภาพดีนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นถึงกว่า 40% ตัวอย่างเช่นราคาส้มเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในปัจจุบัน

หลักฐานว่าราคาที่ถูกลงของอาหารที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะโภชนาการเกินมีผลชัดเจนต่อสุขภาพประชาชนคือ น้ำหนักโดยเฉลี่ยของวัยรุ่นอเมริกันอายุ 18 ปีในปัจจุบันมากกว่าค่าเฉลี่ยของวัยรุ่นอายุเดียวกันเมื่อปลายช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 15 กิโลกรัม ในขณะที่สตรีอายุเกิน 60 ปี ในปัจจุบันมีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มอายุเดียวกันในช่วงปี 1970 ถึง 20 กิโลกรัม และไม่น่าประหลาดใจที่ผู้ชายนั้นแน่กว่าเสมอ เพราะตัวเลขน้ำหนักชายมะกันปัจจุบันที่มากกว่าชายมะกันในอดีตก็อยู่ 25 กิโลกรัม

แน่นอนที่ปัจจัยทำให้แต่ละคนอ้วนนั้นมีหลายอย่าง แต่แน่ ๆ อาหารและโภชนาการก็อยู่ในอันดับต้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นปัจจัยของโครงการอาหารกลางวันที่รัฐหวังว่าจะทำให้สุขภาพของเด็กวัยรุ่นดีคือ น้ำหนักไม่เกิน แต่ความผิดเพี้ยนที่กล่าวข้างต้นนั้นก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว Jill Richardson ได้เขียนบทความเป็นคำถามว่า Are School Lunches Setting Kids Up for Obesity and Poor Nutrition? ในเว็บ http://www.alternet.org/health/145803/ โดยหวังว่าอาจกระตุ้นให้ประธานาธิบดีโอบามาจัดการแก้ไขปัญหานี้ก่อนจะสายมากไปกว่านี้

สำหรับประเทศไทยนั้น คงจะหวังให้ใครมาคิดแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะแค่แก้ปัญหาการขาดแคลนผ้าตัดเสื้อยังแก้ไม่ค่อยได้เลย ประชาชนยังต้องใส่แต่เสื้อที่ใช้ผ้าสีซ้ำซาก ไม่เหลืองก็แดง พอใส่สีน้ำเงินก็หาว่ามีสปอนโง่หนุนหลังอีก เซ็งเป็ดเลย
------------------------------------------------
ที่มา: ที่มา http://www.greenworld.or.th/columnist/gooflife/546 ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย โดย รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ
------------------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น