วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604,704: กินเปลี่ยนโลก ของฝากจากเวที “ปากท้องและของกินฯ”

กินเปลี่ยนโลก
http://www.food4change.in.th/
ตอนที่ 22 ของฝากจากเวที “ปากท้องและของกินฯ”
เขียนโดย บุณย์ตา วนานนท์
วันพุธที่ ๐๗ เมษายน ๒๕๕๓

หันมาสนใจเรื่องปากท้องที่เชื่อมโยงไปถึง “จริยธรรมและการเมือง” เพื่อให้ผู้คนที่แตกต่างหลายได้เห็นแง่มุมต่างๆ จากอาหารที่เราพบพานและกินมัน โดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษฯ ได้กล่าวในวันแถลงข่าวก่อนการจัดงานว่า อาหารไม่ได้แยกออกจากโครงสร้าง ความคิด และคุณค่า และในปัจจุบันอาหารกลายเป็นอุตสาหกรรมอาหาร มันกลายเป็นการเมืองเพราะไม่ใช่แค่จะขายแต่ทำให้เราต้องเชื่อว่ามันดี มีประโยชน์ แต่อีกทางหนึ่งก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันเป็นสารพิษเคลือบน้ำตาล เพราะไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมทำอะไรกับอาหาร และรัฐไม่มีอำนาจไปตรวจสอบได้

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์อาวุโสด้านมานุษยวิทยาซึ่งเป็นโต้โผใหญ่และดารานำคลิ๊ป “อร่อยแน่..คุณเอ๊ย” สารดีเด่นในการจัดเสวนาครั้งนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเมืองในโลกโลกาภิวัตน์จะสลับซับซ้อนมาก ถ้ามองแค่อาหารในจานก็จะไม่เกิดสติปัญญา ต้องมองย้อนกลับไปยังสายพานการผลิต และถ้าเห็นมากขึ้นเราคงไม่ยอมง่ายๆ ซึ่งพอเราไม่ยอมรัฐก็ต้องไปตรวจสอบ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจริยธรรมการผลิต ถ้าเราเป็นผู้บริโภคที่มีสติ เราจะรู้ทันและเข้ามาต่อลอง และเลิกเป็นผู้บริโภคที่แสนดีที่เชื่อฟังการโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัท ซึ่งการนำเรื่องอาหารมาวางบนโต๊ะแล้วเปิดวงคุยกันจะทำให้คนที่เคยกินเคยชิมมีความรู้และเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นการเลิกล้มการผูกขาดความรู้โดยนักวิชาการเพียงอย่างเดียวมาเป็นการเปิดเสรีทางความรู้ของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

ในวันงานวันแรก หลังการกล่าวเปิดงานและการบรรยายพิเศษเรื่อง “อาหาร บ้านเกิด และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม : เปรียบเทียบระหว่างชาวอเมริกันเชื้อสายลาวในมลรัฐไอแลนด์และอีนูเยค เอสกิโม” โดย ศ.ดร.วรรณี แอนเดอร์สัน ที่นำเราไปพบภาพของเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของวิถีการบริโภคอาหารของผู้คนในอีนูเยคเอสกิโมจากกฎหมายรัฐมีออกมาควบคุมให้ลดจำนวนล่ากวางคาลิบูลงจากเดิม 5 ตัวเป็น 2 ตัว ต่อครัวเรือน และนำเนื้อสเต็กมาแจกจ่ายซึ่งเป็นอาหารที่ชาวเอสกิโมไม่ชอบกิน ขณะที่ชาวอเมริกันเชื้อสายลาวในมลรัฐไอร์แลนด์เองซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกจัดสรรให้เข้ามาใช้ชีวิตและมีวิถีการบริโภคแบบถิ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่นำเอาอาหารตามวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นชิน อย่างข้าวเหนียว และปลาร้า มาสู่ประเพณีงานบุญในวัดที่พวกเขาก่อตั้ง

ซึ่งทั้ง 2 กรณีศึกษานี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญคือ อะไรคืออาหาร และอะไรคืออาหารที่เราจะกิน ซึ่งก็พบว่า วัฒนธรรมเป็นแนวกำหนดว่าอะไรคืออาหารที่มนุษย์ในสังคมชุมชนนั้นนำมาบริโภค ซึ่งวัฒนธรรมอาหารนั้นผันแปรไปตามเงื่อนไขอื่นๆ ดังกรณีศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้นักมานุษยวิทยาได้ลงไปทำงานเก็บศึกษาข้อมูลและจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐในการจัดการความขัดแย้งจากระดับนโยบายที่เกิดขึ้นมาภายหลังการดำรงอยู่ของชุมชนเอสกิโมไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน และการเปิดพื้นที่ของอัตตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองในไอร์แลนด์ที่ตกอยู่ในภาวการณ์พลัดพราก (displace) จากวัฒนธรรมอาหารจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

เวทีสำคัญในหอประชุมใหญ่ต่อจากรายการนี้ คือ “การเมืองโลกว่าด้วยอาหาร” ชื่อเรื่องดูเหมือนใหญ่โตระดับโลกแต่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวชวนขนลุกเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ

เริ่มเข้าเรื่องเศรษฐกิจการเมืองโลกเสรีนิยมใหม่ของอาหาร โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยตระกูล จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่พาเราไปรู้จัก David Harvey (2005) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่นิยามความหมาย “เสรีนิยมใหม่” ว่า

เสรีนิยม ใหม่ (Neo-liberalism) เป็น ทฤษฏีเกี่ยวกับปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เสนอว่าความ เป็นอยู่ของมนุษย์สามารถพัฒนาดีที่สุดได้ด้วยการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบ การมีทักษะและอิสรเสรีภายใต้กรอบการบริหารทางสถาบัน (Institutional framework) ที่มีความ แข็งแกร่งด้านกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตลาดเสรี และการค้าเสรี โดยบทบาท ของรัฐคือการสร้างสรรค์และรักษากรอบการบริหารทางสถาบันที่สอด คล้องเหมาะสมกับการปฏิบัติการเหล่านั้น (แปลจากสไลด์โดยทีมงาน)

อ.สุรัตน์ ได้วิเคราะห์ว่าเสรีนิยมใหม่เป็นฐานความคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกปัจจุบันซึ่งแท้จริงแล้วรัฐมีบทบาทในการเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้บรรษัททำงานได้ง่ายขึ้นในทุกระดับตั้งแต่การเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในรัฐ การเจรจาระดับทวิภาคี พหุภาคี จนไปถึงในระดับภูมิภาค โดยใช้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อคุ้มครองและผูกขาดสินค้าเทคโนโลยีเพื่อระบบการผลิตอาหารอุตสาหกรรม ที่เรารู้จักกันดีในนามของพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)

ระบบทรัพย์สินทางปัญญา เป็น ทุนนิยมขั้นที่สูงที่สุด ว่าด้วยการเป็นเจ้าของ เมล็ดพันธุ์ ซึ่งวัตถุดิบขั้นพื้นฐานในการผลิตอาหาร ที่สร้างผลประโยชน์และกำไรสุทธิให้กับบรรษัทเจ้าของสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์พืช

ภาพสะเทือนใจฉันใน Food inc ตอนหนึ่งผลุบโผล่มาในห้วงนั้น Mo - นักทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ชาวอเมริกันที่ถูกตรวจสอบรายงานการเงินและรายชื่อเพื่อนเกษตรกรที่เขาให้บริการทั้งหมด ราวกับนักโทษอาชญากรซึ่งในที่สุดต้องยอมความเพราะไม่มีเงินจ้างทนายคุ้มครองตนเอง แพ้คคีต่อบรรษัทมอนซานโต้เจ้าของเมล็ดข้าวโพดจีเอ็มโอในที่สุด มอนซานโต้อาศัยกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งถูกสร้างขึ้นมาภายหลังความสัมพันธ์ที่มีมาเนิ่นนานในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตของ Mo และเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไว้ปลูกใช้เองได้มาตลอดชีวิตซึ่งได้รับคุ้มครองสิทธิเกษตรในกฎหมายเดิมทำไม่ได้อีกต่อไปเมื่อจีเอ็มโอ กฎหมายใหม่ คือกฎหมายสิทธิบัตรที่เกษตรกรเองไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิของตนในการปกป้องการปนเปื้อนและแพร่ระบาดยีนที่ปลิวข้ามมากับละอองเกสรข้าวโพดจากที่ไกลนับเป็นไมล์ในเวลา 24 ชั่วโมง

ฉันดูสไลด์ที่ อ.สุรัตน์นำมาอธิบายผลกระทบของจีเอ็มโอด้านการผลิต “ผลทางการศึกษาพบว่าจีเอ็มโอไม่ได้เพิ่มผลผลิตขึ้นได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ในทางตรงกันข้าม ถั่วเหลืองจีเอ็มโอกลับมีผลผลิตลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองธรรมชาติ และความล้มเหลวที่เห็นประจักษ์ชัดจากตัวเลขของเกษตรกรอินเดียนับแสนหลายจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอ ซึ่งนอกจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอที่ทำให้ต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าดินยังเสื่อมสภาพ และลดรายได้ลงจากเดินถึง 40%”

แล้วไง? สุดท้ายเราก็ยังถูกหลอกให้กินน้ำมันถั่วเหลืองทรานส์จีเอ็มโอด้วยเหตุผลทางสุขภาพ หรือแนวโน้มในอนาคตคนไทยเราอาจจะได้กินน้ำมันจากเมล็ดฝ้ายจีเอ็มโอเพราะราคาถูกกว่าและมีวัตถุดิบมากมายอยู่ในประเทศไทยแม้กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้มีการปลกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์! ขณะที่ทางเลือกอื่นที่ยังมีอยู่กลับถูกเบียดขับและไม่ได้เป็นที่รับรู้จากสื่อสารธารณะเข้าไปทุกที!?

นึกถึง Food inc. อยู่ อ.ไพลิน กิตติเสรีชัย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. วิทยากรท่านต่อมาก็เอยถึงมันออกมาดังๆ ว่า ถ้าเราดู Food inc จะเข้าใจการนำเสนอที่นำทฤษฎีเชิงวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศมาอภิปราย

หลังยุคล่าอาณานิคมซึ่งฟากอังกฤษเคยมีบทบาทในการควบคุมอาหารโดยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้าขายวัตถุดิบอาหาร เป็นตัวเร่งให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าในประเทศอาณานิคมโดยผ่านพ้นไป และเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่หลังสงครามโลกฟากอเมริกาเข้ามามีบทบาทและควบคุมระบบการผลิตอาหารได้มากขึ้นทั้งการสร้างกฎกติการะหว่างประเทศและอาศัยเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของผู้คนให้หันมาบริโภคอาหารอุตสาหกรรมมากขึ้น จนพี่โรนัล แมคโดนัล กลายเป็นบุคคลที่เด็กทั่วโลกรู้จักดีเป็นอันดับ 2 รองจากซนตาคลอส เท่านั้น

อาจารย์ไพลินพาผู้คนทั้งห้องประชุมไปดูภาพการอุดหนุนการผลิตอาหารอุตสาหกรรมที่ทำให้เรารู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เพราะสาเหตุนี้เองที่ทำให้อาหารสำเร็จรูปทั้งหลายมีราคาถูกกว่าอาหารสด
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นไปได้เลย

ฉันดูสไลด์ของอาจารย์แล้วเตลิดไปนึกถึงฉากสำคัญใน Food inc. ที่ครอบครัวอเมริกันครอบครัวหนึ่งพยายามเดินหาผักผลไม้สดไปกินแทนอาหารฟาสต์ฟู้ดเพราะความห่วงกังวลในปัญหาสุขภาพจากโรคอ้วนและเบาหวาน แต่พวกเขาไม่สามารถทำได้ ภาพการบำบัดกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนในอเมริกา ที่ทำให้ย้อนคิดกลับไปมากับเด็กๆ ในบ้านเรา ภาพเด็กเล็กที่ตายจากการท้องเสียและถ่ายเป็นเลือดหลังกินเบอร์เกอร์จนแม่ของเขาต้องกลายมาเป็นนักกิจกรรม ...

ฉันถูกดึงออกจากห้วงคำนึงนั้นอีกครั้งเมื่อ อ.ไพลิน เอ่ยถึง ปีเตอร์ ชไมเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกคาโนลาอันโด่งดังจากการณีแพ้คดีมอนซานโต้ เพราะมีคาโนล่าจีเอ็มโอปนเปื้อนในแปลงคาโนล่าอินทรีย์ของเขา ด้วยแนวทางการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐ ว่า “โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกในผืนดินของตน ไม่ว่าจะปลิวมาตกหรือมากับละอองเกสร ยกเว้นในกรณีของเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมอันถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร....”

ขณะที่ผู้คนคนทั่วโลกกลับเห็นว่าชไมเซอร์เองน่าจะเรียกร้องสิทธิที่เสียหายจากการขายผลผลิตตัวเองไม่ได้ แต่ทำไงได้กฎหมายใหม่ของสหรัฐได้คุ้มครองเอกสิทธิ์ของบรรษัทในยีนจีเอ็มโอไว้มั่นคงแล้ว

ฉันพอรู้ช่องทางหาแหล่งอาหารดี ปลอดภัย และขบวนการผลิตยังรักษาสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรเคยไม่แยแสต่อการคุกคามของบรรษัทอาหารอุตสาหกรรมที่นับวันรุกคืบเข้ามากำหนดรูปแบบการกินอยู่และมีอิทธิพลอย่างมากในการออกกฎกติกาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบรรษัทที่ไม่สนใจแม้คำเรียกร้องต่ำสุดในสิทธิผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารจากการพิจารณาจากฉลาก ด้วยข้ออ้างที่ว่า ลูกค้าคนไทยไม่สนใจหรอกว่ามันจะเป็นจีเอ็มโอหรือไม่อย่างไร ขอให้อาหาร (อุตสาหกรรม) ถูกเข้าไว้เป็นใช้ได้นั้น แต่หากเล่นกันในระดับกฎหมายและนโยบายประเทศเรื่องการอนุญาตปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ฉันหวั่นกลัวเพื่อนที่ปลูกข้าวปลูกผักของให้ฉันกินจะตกที่นั่งลำบากอย่าง Mo และชไมเซอร์เข้าสักวัน!
---------------------------------------------------------
ที่มา: http://www.food4change.in.th/index.php/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-22-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5-%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AF.html
---------------------------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น