วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604,704: FOOD INC บทวิเคราะห์ โดย NONSOUND2009

หลังจากดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องFOOD,Inc. ท่านจะประเมินนโยบายว่าด้วยเรื่องอาหารและเรื่องสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ว่าอย่างไร โดยใช้เกณฑ์อะไรในการประเมิน
----------------------------------
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ก่อนการวิเคราะห์และประเมินฯ

Food, Inc. กลายเป็นสารคดีที่ ?อื้อฉาว? ที่สุดในรอบปี 2009 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากแรงกระเพื่อมในหมู่คนดูที่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่หนังนำเสนออย่างเผ็ดร้อน เสียงสนับสนุนจากนักโภชนาการอาหาร นักเศรษฐศาสตร์ และการฟ้องร้องใหญ่โตของบริษัทผลิตอาหารกว่า 5 ราย ก็กลายเป็นแรงหนุนสำคัญให้ Food, Inc. เป็นหนังสารคดีที่ ?ทุกคน? ควรเข้ามาชมร่วมกันโดยพร้อมหน้า

เนื่องจากผู้กำกับ โรเบิร์ต เคนเนอร์ กำลังจะพาคุณเข้าไปสัมผัสเบื้องลึกเบื้องหลังของธุรกิจอาหาร (ทั้งเนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้) แบบเจาะลึก ลึกขนาดที่เห็นความฟอนเฟะ ไม่น่าอภิรมย์ และชวนให้น้ำย่อยหายไปง่ายๆ

มีการพูดกันมากว่าหลายทศวรรษแล้วว่า ธุรกิจการผลิตอาหารในสหรัฐอเมริกานั้น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล มันถูกกำหนดและวางกรอบโดย ?ตัวเงิน? เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นบริษัทผลิตอาหารเกือบทุกบริษัทจึงให้ความสำคัญกับ ?ปริมาณ? มากกว่า ?คุณภาพ? แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น พวกเขายังคำนึงถึง ?กำไร? มากกว่า ?ความปลอดภัย? ของผู้บริโภค

แต่ Food, Inc. จะไม่ได้บอกกล่าวแค่ว่า อาหารที่เรารับประทานกันอยู่นั้น ไม่ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว หากแต่มันยังตั้งอยู่บนความเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว ยังรวมไปถึงการกระทำที่ผิดศีลธรรม โดยที่เราๆ ท่านๆ อาจไม่รู้ตัว

เกร็ดภาพยนตร์
- สารคดีเรื่องนี้จะมีผู้บรรยายหลักๆ อยู่ 2 คน หนึ่งคือ เอริค ชลอสเซอร์ นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดี Fast Food Nation (ริชาร์ด ลิงคเลเตอร์ เคยนำไปสร้างเป็นหนังเมื่อ 4 ปีก่อน) และสองคือ ไมเคิล พอลลัน นักข่าวและนักเคลื่อนไหวว่าด้วยธุรกิจอาหารที่ไม่เป็นธรรม ทั้งชลอสเซอร์, พอลลัน หรือแม้แต่ผู้กำกับโรเบิร์ต เคนเนอร์ ไม่มีใครเป็นมังสะวิรัติ เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเผ็ดร้อนในหนังจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากอคติใดๆ ทั้งสิ้น

- โรเบิร์ต เคนเนอร์ ผู้กำกับของสารคดีเรื่องนี้ เกิดในปี 1971 เข้าวงการด้วยการทำหน้าที่ผู้ช่วยตากล้องในหนังหลายเรื่อง แต่ตัวเขากลับสนใจการทำหนังสารคดีมากกว่า จึงหันเหเข้าไปทำรายการและหนังสารคดีที่ออกฉายทางโทรทัศน์ เขาเคยได้รับรางวัลเอมมี่จากสารคดีชุด The American Experience ในปี 2005 สำหรับ Food, Inc. นั้นเป็นสารคดีที่ออกฉายทางโรงภาพยนตร์เรื่องแรกของเคนเนอร์ และพูดได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด

- Food, Inc. เป็นหนังสารคดีขวัญใจนักวิจารณ์ มันได้คะแนนบวกจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ถึง 97% และจากเว็บไซต์ที่รวบรวมผลของนักวิจารณ์อย่าง Metacritic ถึง 80 เต็ม 100 โดยนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า Food, Inc. เป็นหนังที่เปิดข้อมูลที่เชื่อมั่นว่าไม่มีใครเคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับธุรกิจอาหาร มันเป็นหนังสารคดีที่ทั้งตื่นเต้น น่ากลัว แบบเดียวกับที่คุณรู้สึกขณะนั่งดูหนังสยองขวัญ, นักวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า Food, Inc. เป็นหนังที่ทุกคน ?ควร? เข้าไปดู เพราะนี่คือข้อเท็จจริงที่ประชาคมโลกควรได้มีโอกาสรับรู้ ว่าทุกวันนี้เรากำลังบริโภคอะไรกันอยู่

- มีบริษัทผลิตอาหาร 5-6 บริษัทที่ยื่นฟ้องโรเบิร์ต เคนเนอร์ว่า นำเอาข้อมูลที่บิดเบือนไปเผยแพร่ และมีการหมิ่นประมาทบริษัทเหล่านั้น แต่ตัวเคนเนอร์แก้ต่างว่า ตนไม่ได้บิดเบือนข้อมูลใดๆ และหนังสารคดีเรื่อง Food, Inc. ไม่ได้ทำไปเพื่อต้องการดิสเครดิตใคร เขาเพียงแต่ต้องการความโปร่งใสเท่านั้นเอง

- Food, Inc. ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีล่าสุดในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (แต่ก็ไม่ได้รางวัลอยู่ดี) ก่อนหน้านี้หนังได้คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมมาจาก สมาคมนักวิจารณ์ทางวิทยุและโทรทัศน์ และยังได้เข้าชิงรางวัลสารคดียอดเยี่ยมกว่า 20 สถาบัน
ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องผ่าน “ไมเคิล พอลแลน” และ “อีริค ชโลสเซอร์” บุคคลสองคนที่ติดตามวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมการผลิตอาหารของสหรัฐฯมาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน โดยพวกเขาได้ทำการตรวจสอบอุตสาหกรรมการผลิตอาหารภาคเกษตรกรรม ก่อนจะสรุปว่าเนื้อสัตว์และพืชผักที่ถูกผลิตขึ้นจากอุตสาหกรรมดังกล่าว มีที่มาจากการเอารัดเอาเปรียบและผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อม

หนังสารคดีชื่อดังเรื่องนี้มีโครงเรื่องที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนแรก ทำการตรวจสอบอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ (ไก่,เนื้อวัว และหมู) ซึ่งหนังเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม รวมทั้งปราศจากความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ส่วนที่สอง ทำการสำรวจอุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์และพืชผัก ซึ่งหนังเห็นว่ามีความไม่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ส่วนที่สามและส่วนสุดท้าย หนังพูดถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและกฎหมายของเหล่าบรรษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ ซึ่งขายอาหารราคาถูกแต่เจือปนไปด้วยสารพิษ, ใช้สารเคมีอย่างมากล้น โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงและปุ๋ย รวมทั้งทำงานประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนอเมริกันมีนิสัยในการบริโภคอาหารที่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ข้าพเจ้าใช้เกณฑ์ในการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา ในภาพยนตร์ เรื่องFOOD,Inc. ดังนี้ คือ ประสิทธิภาพ(Efficiency) ความเป็นธรรม(Equity) ความยุติธรรม(Justice) เสรีภาพส่วนบุคคล(Individual Freedom) ซึ่งสามารถประเมินนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกาจากภาพยนตร์ได้ดังนี้

1.ประสิทธิภาพ(Efficiency) คือ การใช้ทรัพยากรอันพึงมีอยู่อย่างจำกัด เช่น เงิน เครื่องมือ คน เวลา เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์อย่างมีประโยชน์สูงสุดแล้วใช้ต้นทุนต่ำที่สุด นโยบายสาธารณะด้านการผลิตอาหารของสหรัฐฯในภาพยนตร์เรื่องนี้หากมองในมุมของบรรษัทหรือในเชิงธุรกิจจะ มีลักษณะ การจัดการ เพื่อ ผลประโยชน์สูงสุดของบรรษัท คือกำไรสูงสุด มีการใช้วิธีการทางธุรกิจ ตามหลักแนวคิดเสรีนิยมใหม่ โดยมองว่าทุกคน มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ก็เป็นความสามารถของแต่ละคน รัฐไม่ควรมีนโยบายเข้าไปก้าวก่ายหรือ แทรกแซงแต่อย่างใด ซึ่งนโยบายสาธารณะด้านการผลิตอาหารของสหรัฐฯในภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งบนหลักการที่กลไกตลาดต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะ ทำการแข่งขันกัน ซึ่งการแข่งขันในตลาดเสรีนิยมใหม่นี้ เป็นการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ เพราะการแข่งขันที่สมบูรณ์นั่นคือการที่มีบรรษัทหลายๆบรรษัทเสนอทางเลือกให้กับลูกค้า หรือว่าผู้บริโภค ให้ได้รับสินค้าหรือบริการ ที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสม เปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็นคอยจัดสรรสร้างดุลยภาพให้ทั้งทางด้านผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้มีความสมดุลกัน ให้หลายๆบรรษัทเสนอหลายๆทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เป็นผู้ตัดสินใจที่จะเลือกสินค้าหรือบริการของใคร ที่เหมาะสมกับตน ผลประโยชน์ทั้งหมดก็ตกสู่ผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์นี่เอง เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่เน้นทุนนิยมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ โดยเป็นการขับเคลื่อนของตลาดทุน จากการระดมสะสมทุนเป็นบรรษัทขนาดใหญ่และกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติเพื่อเป็นการระดมทุนและแบ่งกำไรสร้างอำนาจการต่อรองโดยมีอำนาจทางด้านเงินทุนสูงเพื่อสนับสนุนวิธีการตลาดเสรี(free-market) ที่ใช้เงินทุนเป็นตัวชี้ขาดประสิทธิภาพในการอยู่รอดของบรรษัท กลายเป็นระบบปลาเล็กกินปลาใหญ่ บรรษัทที่อยู่รอดได้กลายเป็นบรรษัทที่มีเงินทุนสูง เกิดการผูกขาดโดยธรรมชาติของเงินทุน กลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งจากในภาพยนตร์ได้แสดงให้เราเห็นว่า เมื่อกลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ มีเงินทุนสูง สามารถที่จะเปลี่ยน วิธีการในการผลิตอาหารจากระบบฟาร์มให้มาอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก โดยไม่สนใจวิธีการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงคุณภาพ เพราะสามารถ ลดต้นทุนการผลิตโดยเปลี่ยนการผลิตให้อยู่ในระบบ สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่นในภาพยนตร์จะเห็นได้ว่า การปลูกข้าวโพดในปัจจุบัน มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการพัฒนาด้านเมล็ดพันธ์ การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ยาฆ่าแมลง การเลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวที่สามารถเลี้ยงให้โตเร็ว และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นการขับเคลื่อนโดยนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลสามารถ ทำให้ผลิตต่ำกว่าต้นทุนได้ เช่นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดจำนวนมาก เหตุที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมากเพราะบรรษัทยักษ์ใหญ่หนุนหลัง โดยมีผลประโยชน์จากการที่รับซื้อข้าวโพดที่ต่ำกว่าทุน นโยบายเกษตรของสหรัฐฯมักโฟกัสไปยังพืชที่เป็นวัตถุดิบ เพราะสามารถกักตุนมันได้ เป็นการบิดเบือนต้นทุนการผลิต ให้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลง และมีการบิดเบือนกระบวนการผลิตอาหาร ทำให้วัตถุดิบเช่นเนื้อสัตว์ที่ใช้ประกอบอาหารมีราคาต่ำลง เป็นผลให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตอาหารในสหรัฐฯผลิตอาหารได้เป็นจำนวนมาก ในราคาที่ต่ำลง ทำให้ขายได้ในราคาถูก เป็นการจูงใจผู้บริโภคในสหรัฐฯ

จากการประเมินนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา หากมองในมุมของทางด้านธุรกิจของเอกชน เป็นการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพกล่าวคือ สามารถผลิตได้มาก ในระยะเวลา และต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยต่ำลงและขายได้มากขึ้น จึงเกิดกำไรอย่างสูง แต่หากมองในมุมกลับกัน การผลิตทางด้านธุรกิจอาหารในสหรัฐฯที่ได้มาซึ่งประสิทธิภาพนั้น ไม่คำนึงหรือสนใจกระบวนการผลิตโดยใช้วิธีการบิดเบือนกลไกทางด้านการตลาด ลดคุณภาพ บิดเบือนกระบวนการผลิตที่ผิดธรรมชาติให้อยู่ในระบบที่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพ เป็นการผลิตที่ไม่มีประสิทธิผล และไม่คำนึงถึงคุณภาพ เป็นการดำเนินนโยบายที่เน้นทุนนิยมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นนโยบายที่สร้างประสิทธิภาพและประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนแต่ไม่สร้างประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยขาดความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

2.ความเป็นธรรม(Equity) จากการที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการดำเนินนโยบายด้านอาหารและสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาในภาพยนตร์เรื่องFood,Inc.ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะเมื่อขาดหลักการดังกล่าวแล้วนโยบายจึงไม่มีความเป็นธรรม ในภาพยนตร์ได้แสดงให้เราได้เห็นโดยเริ่มตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธ์และการเพาะปลูก เกษตรกรถูกครอบงำและกีดกันโดยบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทุน (ซึ่งในเรื่องคือบรรษัทมอนซานโต้) ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยม ผ่านทางเทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมและนำไปจดสิทธิบัตร แล้วส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยการครอบงำผ่านทางนโยบายของรัฐบาล เมื่อเกษตรกรเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วไม่สามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ใช้เพาะปลูกในรุ่นต่อไปได้อีก จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธ์จากบรรษัทเท่านั้น หากเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ก็จะถูกบรรษัทฟ้องร้องว่าละเมิดสิทธิบัตรซึ่งเกษตรต้องสู้คดี กับบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางด้านเงินทุนสูงสามารถที่จะไปจ้างทนายมืออาชีพที่เก่งๆ รวมไปถึงทีมงานสอบสวนของบรรษัทเองที่มีความเชี่ยวชาญในคดีประเภทนี้อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ต้องใช้เงินส่วนตัวในการสู้คดีเอง โดยในท้ายที่สุดเกษตรก็ต้องเป็นฝ่ายยอมความโยจ่ายค่าปรับเองและพ่ายแพ้เนื่องจากสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ไม่ใช่เฉพาะกรณีของเกษตรกรที่เก็บเมล็ดพันธ์ของบรรษัทเท่านั้นบรรษัทขนาดใหญ่ยังเล่นงานเกษตรกรที่ใช้เมล็ดพันธ์ของตนเอง แต่มีการปนเปื้อนของเมล็ดพันธ์ผ่านทางละอองเกสรจากไร่ใกล้เคียง จนเกษตรกรต้องไปจ้างบุคคลที่รับจ้างทำความสะอาดเมล็ดพันธ์ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าไม่ได้เก็บและมีการปนเปื้อนเมล็ดพันธ์ของบรรษัทขนาดใหญ่นั้น ไม่เพียงเท่านั้นบรรษัทขนาดใหญ่นั้นยังตามไปเล่นงานกับผู้ที่ทำความสะอาดเมล็ดพันธ์ให้เกษตรกรโดยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเกษตรกรไม่ได้ความเป็นธรรมและโดนกีดกันจากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยมีบรรษัทขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

จากการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกานอกจากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายด้านการเกษตรของสหรัฐฯดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้บริโภคของสหรัฐเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเกิดจากนโยบายที่อำนาจรวมไปสู่ศูนย์กลาง และมีกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจนั้น กีดกันผู้ผลิตอาหารในระบบที่แท้จริงนั่นคือเกษตรกร กดขี่คนงานที่ทำงานให้กับบรรษัทเอกชนนั้น และปิดบังผู้บริโภค เพราะพวกเขาไม่สามารถรู้เลยว่าอาหารที่พวกเค้ากินถูกผลิตมาจากแหล่งไหน มีปริมาณสารอาหาร และสารเคมีเจือปนอย่างไร ผู้บริโภคถูกปิดหูปิดตา ไม่รู้ว่าอาหารที่พวกเค้ากินนั้นส่งผลยังไงต่อร่างกาย โดยไม่ให้ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร กรณีเช่นนี้เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในการออกระเบียบ หรือพิจารณาความนั้นมีสายสัมพันธ์หรือเคยทำงานอยู่ในบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์จากการกระทำเหล่านั้นเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในองค์กรต่างๆที่เกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุขของสหรัฐฯเมื่อเกิดข้อพิพาทหรือกรณีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเหล่านั้นก็จะพิจารณาในลักษณะที่เป็นคุณกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งไม่เพียงปิดบังว่ามีอะไรในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ยังพยายามทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เป็นการดำเนินนโยบายที่เข้าข้างบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทั้งที่เป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นเอง และเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐบาล

3.ความยุติธรรม(Justice) เมื่อความเป็นธรรมถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบว่าบรรษัทเอกชนในสหรัฐเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ความยุติธรรมจึงไม่เกิด กล่าวคือบรรษัทขนาดใหญ่ใช้ข้อกฎหมายเป็นการกีดกันทางการค้า เพื่อประโยชน์ของบรรษัทเอง หลบเลี่ยงข้อกฎหมาย และบิดเบือดกระบวนการในการพิจารณากฎ อุตสาหกรรมอาหารได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการหมิ่นประมาทผลิตภัณฑ์ของบริษัทเอกชน แต่ประชาชนผู้บริโภคกับไม่ได้รับการคุ้มครอง จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทเอกชนนั้น ผู้บริโภคกับต้องเรียกร้องความยุติธรรมเอง โดยองค์กรภาครัฐกับเพิกเฉย ผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเอง ทั้งที่บริษัทปิดบังข้อมูลในฉลาก ต้องรอให้เกิดเรื่องจากการกินอาหารก่อน จึงมีการเก็บผลิตภัณฑ์ เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ องค์กรเกี่ยวกับอาหารของสหรัฐฯ(USDA) ก็ได้ออกกฎในการตรวจหาเชื้อปนเปื้อนที่เป็นอันตรายในโรงงานผลิตอาหาร โดยโรงงานไหนไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะสั่งปิดบริษัทผลิตอาหารนั้น เพราะโรงงานยังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอยู่ แต่ก็มีกลุ่มองค์กรเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ เช่นสมาคมผู้ค้าเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง USDA ทันที โดยเบื้องต้นศาลกล่าวว่าUSDA ไม่มีอำนาจในการสั่งปิดโรงงาน เรื่องนี้ก็หมายความว่ายังมีผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนวางขายอยู่ในท้องตลาด โดยที่USDAไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรมเลยสำหรับผู้บริโภค จนผู้บริโภคในสหรัฐผลักดันกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโต้ที่รู้จักกันในชื่อว่ากฎหมายของ เควิน (Kavin’s Law) ที่ให้อำนาจUSDAสั่งปิดโรงงานที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนในอาหารซ้ำๆซากๆ ซึ่งกฎหมายนี้เมื่อพิจาณาแล้วก็สมเหตุสมผลดี แต่จนแล้วจนรอดร่างกฎหมายก็ยังไม่ผ่านสภาฯเลย

จากการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา นโยบายไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน เมื่อประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วการดำเนินนโยบายจึงไม่เกิดความยุติธรรมกับประชาชน

4.เสรีภาพส่วนบุคคล(Individual Freedom) เสรีภาพส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นมิได้หากปัจเจกไม่ได้รับความยุติธรรม ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Food,Inc. ได้แสดงให้เห็นในหลายเรื่องถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายด้านอาหารและสาธารณะสุขของสหรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทเอกชน ประชาชนผู้บริโภคถูกลิดรอนและจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานแม้กระทั้งการบริโภคอาหารยังถูกจำกัดวงในการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารให้แคบลง เหลือเพียงไม่กี่บรรษัท ทีเป็นตัวเลือกในการบริโภค ซึ่งบรรษัทที่เหลือก็เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่งกับรัฐบาล รัฐบาลจะออกนโยบายอะไร บรรษัทเหล่านั้นก็ได้รับการคุ้มครอง ผิดกับเสรีภาพของประชาชนในการเลือกรับประทานอาหาร ที่ถูกบรรษัทเหล่านั้นละเมิด โดยการผลิตอาหารที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารแล้ววางขายตามท้องตลาด แล้วผู้บริโภคกลับไม่ได้รับการคุ้มครองกับภาครัฐ กลายเป็นว่าประชาชนผู้บริโภคกับต้องเลือกที่จะดูแลและคุ้มครองตนเอง เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับผลิตภัณฑ์อาหาร รัฐกับผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นคนเลือกที่จะจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายยังมีวางขายในท้องตลาด โดยไม่สั่งปิดโรงงาน ทางโรงงานก็แก้ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคโดยการใส่สารเคมีฆ่าเชื้อโรคผสมเข้าไปในทุกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีเชื้อ โดยโรงงานไม่ได้แจ้งในฉลากว่ามีการเจือสารเคมีฆ่าเชื้อโรค ถือเป็นการปิดบังและละเมิดสิทธิในการรับรู้ของประชาชน ประชาชนไม่มีทางรู้เลยว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่พวกเขาซื้อนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นไร

ไม่เพียงแต่ประชาชนผู้บริโภคเท่านั้นที่ถูกละเมิดและจำกัดเสรีภาพ เกษตรกรเองยังได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายด้านอาหารของสหรัฐฯ ในเรื่องสิทธิบัตรในการเก็บเมล็ดพันธ์ ซึ่งเมล็ดพันธ์ที่เกษตรกรปลูกเองและเป็นของเขาเอง กับถูกกีดกันไม่ให้เก็บเพื่อนำไปปลูกในรุ่นต่อไป ทั้งๆที่ปลูกในที่ของตนเอง แต่หากมีละอองเกสร พันธ์ของบรรษัทมาปนเปื้อน บรรษัทก็จะฟ้องหาว่าเกษตรกรละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งนโยบายเช่นนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพของสาธารณะ แทนที่เมล็ดพันธ์ทางการเกษตรจะเป็นของสาธารณะ ที่เกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึง ได้และรัฐให้การคุ้มครองและเก็บรักษาพัฒนาเมล็ดพันธ์ กลับกลายเป็นว่าบรรษัทเอกชนได้ฉกฉวยโอกาสนี้ ไปพัฒนาเมล็ดพันธ์และจดสิทธิบัตรป้องกันไม้ให้เกษตรกรเข้าถึงโดยเสรี และรัฐก็เข้าไปคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นซึ่งเป็นประโยชน์กับบรรษัทแต่ไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรเลย

คำตาม บทความดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น เฉพาะของผู้เรียบเรียง ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่อยากได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติม จากผู้อ่านบทความนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มเนื้อหาในส่วนที่ผู้เรียบเรียงยังมองไม่เห็น และเป็นทางเลือกสำหรับทุกคนที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
----------------------------------
เรียบเรียงโดย
NONSOUND๒๐๐๙
----------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น