วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

PA604,704: วิเคราห์วงจรระบบนโยบายสาธารณะ โดยหลวงพี่กอล์ฟ

บทวิเคราะห์วงจรระบบการทำนโยบายสาธารณะ โดยหลวงพี่กอล์ฟ
---------------------------
ผศ. พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

ยกตัวอย่างนโยบายสาธารณะที่มีการทำงานเป็นวงจรระบบ แล้วบอกข้อดี-ข้อเสียของนโยบายสาธารณะประกอบ
---------------------------
(วงระบบ นโยบายที่เข้ากับวงจรระบบ และวิเคราะห์นโยบาย)

[ ปัจจัยนำเข้า ] -----> [ กระบวนการทางการเมือง ] ------> [ ปัจจัยนำออก ]

^...................................[ ผลย้อนกลับ ]...............................^

ระบบการเมือง เกิดจากแนวคิดของ เดวิด อีสตัน ที่ประกอบด้วย สภาพแวดล้อม คือ สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อระบบ

ปัจจัยนำเข้า คือ ข้อเรียกร้องหรือความต้องการของประชาชน เพื่อให้รัฐได้สนองความต้องการ เช่น การศึกษา สาธารณะสุข หรือแม้แต่ความมีส่วนร่วมทางการเมือง

กระบวนการทางการเมือง เป็นการเอา ปัจจัยนำเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองหรือการที่รัฐบาลเอานโยบายต่างของพรรคการเมืองที่ได้สัญญาประชาคมกับประชาชนมาพิจารณาว่าจะกระทำหรือไม่กระทำ การจัดทำนโยบายนั้นหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานต่างๆนั้นจะเป็นผู้นำนโยบายไปปฎิบัติ

ปัจจัยนำออก คือ ผลผลิตของรัฐบาลจากการตัดสินใจที่ออกมาจากกระบวนการทางการเมือง เป็นการบริการนโยบายสาธารณะ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน

ผลสะท้อนกลับ คือ ผลสะท้อนอันเนื่องมาจากการทำงานของรัฐหรือตัวนโยบายของรัฐที่นำไปใช้ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งที่ถูกตัดสินจากประชาชนว่าพอใจมากน้อยเพียงใด รัฐบาลก็ต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

สรุป ระบบการเมืองมีลักษณะเป็นวงจร มีการทำงานเป็นรูปแบบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีการนำเข้าสู่กระบวนการและนำออก โดยไปปฎิบัติเพื่อความต้องการของประชาชนส่วนผลตอบรับนั้นก็มีประชาชนเป็นตัวตัดสิน และวนเวียนไปอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ

ยกตัวอย่าง
นโยบายสาธารณะที่มีการทำงานเป็นวงจรระบบ คือ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายสาธารณะที่เห็นว่าสอดคล้องกับทฤษฎีระบบ มองว่าเป็นการตอบสนองของระบบการเมืองที่ได้รับอิทธิพลต่างๆ จากสภาพแวดล้อม ซึ่งเรียกร้องผ่านระบบ และกระบวนการต่างๆที่มีอำนาจหน้าที่จัดสรรคุณค่าแก่ประชาชนในสังคม

ปัจจัยนำเข้าอาจจะเป็นข้อเรียกร้องต้องการหรือการสนับสนุนจากประชาชน จะถูกนำเข้าสู่ระบบการเมือง เพื่อกลั่นกรองแล้วตัดสินใจออกมาเป็นนโยบายสาธารณะ ดังนั้นนโยบายสาธารณะจึงเป็นผลผลิตของระบบ ผลของนโยบายจะตกอยู่กับประชาชน โดยจะประเมินว่านโยบายดังกล่าวตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงใดจากผลย้อนกลับมา

เริ่มต้นต้องหาผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย ซึ่งจากนโยบายนี้ก็คือ ประชาชนที่จะเข้ารับบริการด้านสุขภาพ บุคลากรทางสาธารณสุข และรัฐบาล

สภาพแวดล้อมของนโยบาย สภาพแวดล้อมของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนอกเหนือจากปัญหาสุขภาพของประชาชน และการที่ประเทศไทยยังขาดระบบประกันสุขภาพที่ดีแล้ว สิ่งแวดล้อมทางการเมืองส่งผลอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดนโยบายนี้ขึ้นมา นั่นคือในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำประชาชนต่างมีรายได้ลดลงหรือมีความเป็นอยู่ที่ด้อยลงเมื่อพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย ประชาชนจึงให้การสนับสนุน

ดังนั้นโดยภาพรวมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญคือชนชั้นนำในรัฐบาล เป็นฝ่ายที่ศึกษาและผลักดันให้เกิดนโยบายนี้ ประกอบกับสภาพแวดล้อมของนโยบายในขณะนั้นคือการมีปัญหาด้านระบบประกันสุขภาพที่ยังไม่ทั่วถึง พร้อมกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เหมาะสมและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ประชาชนมีรายได้ต่ำลงทำให้สนับสนุนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจึงเกิดขึ้น

เมื่อมีนโยบายออกมา นโยบายได้ส่งผลสะท้อนกลับมาที่ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายคือตัวประชาชนเองได้รับการประกันสุขภาพโดยรักษาโรคต่างๆในราคา 30 บาท ขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็ส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับรัฐบาล และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณะสุขต้องปรับระบบการทำงาน และการให้บริการต่อประชาชน

ข้อดี
1.ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ยากไร้ได้มีหลักประกันสุขภาพ อย่างทั่วถึงเท่าเทียม
2.ประชาชนมีสิทธิเลือกบริการที่หลากหลายจากผู้ให้บริการประเภทต่าง ๆ
3.ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน
4.ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น

ข้อเสีย
1. ยังไม่ครอบคลุมคนที่ไม่มีเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก รวมทั้งชาวเขา และคนไร้หลักแหล่ง ซึ่งไม่มีการตั้งงบประมาณไว้
2. ยังมีความแตกต่างระหว่างบัตรทอง (30บาท) กับบัตรข้าราชการ และบัตรประกันสังคม และยังมีความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ในเรื่องสถานพยาบาล จำนวนหมอ พยาบาล ซึ่งยังขาดแคลนในชนบทในระบบ 30 บาทยังไม่มีแรงจูงใจพอที่จะให้หมอกระจายตัวไปอยู่ในชนบท มีระบบบัตรทอง 2 แบบคือบัตรทองแบบจ่าย 30 บาท และบัตรทองไม่ต้องจ่าย (ฟรี) ก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาททุกครั้งที่ไปรับการรักษานั้น เป็นปัญหาสำหรับคนป่วยเรื้อรัง ที่ต้องไปพบหมอเป็นประจำ และสำหรับบางคนเงิน 30 บาทก็เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการได้
3. ยังไม่ครอบคลุมทุกโรค มีการยกเว้นโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต และยาต้านไวรัสเอชไอวี
4. ยังกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนตามเขตการปกครอง แบ่งพื้นที่แบบภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ และผู้ที่อพยพเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
5. ใช้วิธีกำหนดงบประมาณต่อหัวไว้ค่อนข้างต่ำ เป็นเหตุให้ต้องมาจำกัดสิทธิประโยชน์ในการรักษา ทำให้คุณภาพการบริการลดลง
6. ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการดำเนินการเบ็ดเสร็จโดยรัฐ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ หรือมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารงบประมาณ และการบริหารระบบบริการสุขภาพในชุมชนของตนเอง
จากกรอบวงจรระบบจะเห็นได้ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อกำเนิดมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยอาศัยการสนับสนุนในส่วนของประชาชน ข้อเรียกร้อง สภาพทางสังคม และแนวทางพื้นฐานแห่งรัฐ ขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านจากสถานพยาบาล ผู้บริหารระดับสูง พนักงานสายปฏิบัติ หลังจากนั้นรัฐบาลได้นำแนวคิดดังกล่าวสู่กระบวนการทางการเมืองด้วยการแปรรูปออกมาเป็นนโยบาย โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวจักรสำคัญในการสนองตอบนโยบาย และสุดท้ายก็นำมาสู่กระบวนการประเมินผลของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีทั้งข้อดีและเสีย รัฐบาลจะต้องนำข้อมูลมาทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลของนโยบายต่อไปและเข้าสู่กระบวนการเดิม ดังนั้นจะเห็นว่าหากระบบในการบริหารจัดการดี มีทรัพยากรที่พอเพียง การที่จะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลต่างๆก็จะสนองตอบนโยบายได้เป็นอย่างดี แต่หากขาดสิ่งที่มาสนับสนุนดังที่กล่าวมาการที่จะนำพานโยบายให้บรรลุผลก็คงสำเร็จยากแน่นอน
------------------------------------------------
(วิเคราะห์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

สรุป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)
ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายการพัฒนาคน ชุมชน เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในการบริหารจัดการประเทศ การวางแผน และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีประสิทธิภาพสูง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)
จากเนื้อหาสาระโดยสรุปของแผนฯ ฉบับที่ 11 และวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 นั้น ทำให้เห็นมิติของกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประเด็น ที่สำคัญ คือ ในส่วนของสถาปัตยกรรมทางสังคม ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงมิติในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลัก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา ในส่วนของสัญญาประชาคมใหม่ ได้กล่าวถึง กระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment) และนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) ซึ่งเป็นภาพรวมและแนวทางกว้างๆ ในการนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ส่วนใหญ่นั้นได้กล่าวถึงเศรษฐกิจรวมทั้งแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยังมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่ขาดหายไป อาทิเช่น มิติของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นน่าจะมีบรรจุไว้ในแผนฯ 11 ด้วย

ประการสำคัญ คือ ทำอย่างไรจะให้แผนฯ 11 ที่ได้กำหนดไว้มีการพิจารณาอย่างครบถ้วนทุกมิติและรอบด้าน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขโดยให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
-----------------------------
บทวิเคราะห์โดยหลวงพี่กอล์ฟ
-----------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น