วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

PA604,704: บทความสึนามิ ” เสียงฝาก “ออกจากใจ 2 ฮีโร่ 5 ปีสึนามิ 5 ปีแห่งการสูญเปล่า

” เสียงฝาก “ออกจากใจ 2 ฮีโร่ 5 ปีสึนามิ 5 ปีแห่งการสูญเปล่า
--------------------------------------------
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 รายการทีวีทุกช่องรายว่า เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 9 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางในทะเลนอกชายฝั่งทิศตะวันตกของตอนเหนือ เกาะสุมาตรา ทำให้เกิดการสั่นไหวที่รุนแรงของแผ่นดิน และเกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ตามมาในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้กับจุดเกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไปจนถึงบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา หมู่เกาะมัลดีลฟ์ แม้กระทั่งโซมาเลีย เคนยา แทนซาเนีย

ประเทศไทยก็ไม่ได้รับการยกเว้นจาก “ปีศาจร้าย” ตนนี้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ “สึนามิ” พัดถล่มชายฝั่งเมืองไทยพังวินาศ โทรทัศน์รายงานตัวเลขการสูญเสีย-ตัวเลขการสูญหายของผู้คนมากมาย ท่ามกลาง ภาพความชุลมุนที่ว่า ปรากฏภาพของ 2 คน
ดร.สมิธ ธรรมสโรช
คนแรก เป็นภาพของชายร่างใหญ่ ผมสองสี หน้าตาใจดี ดร.สมิธ ธรรมสโรช นักวิชาการที่ออกมาเตือนเรื่องเมืองไทยจะต้องเผชิญหน้ากับคลื่นยักษ์ วันนั้นไม่มีคนเชื่อ แต่ ณ วันนี้ทุกอย่างพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องจริง

เชื่อหรือเปล่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมาย 5 ปีเต็มแล้ว..ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เริ่มต้นเล่ากับ ไทยรัฐออนไลน์ ด้วยน้ำเสียงผิดหวัง และเหนื่อยหน่ายว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ทั้งหมดเป็น 5 ปีแห่งการสูญเสียโอกาส ซึ่งระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์ได้ว่า

วันที่ผ่านมาประเทศไทยและผู้รับผิดชอบในโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ยัง “โง่งม” และไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย
“ไม่ต้องอะไรอื่นไกล ปัจจุบันผมเพิ่งลงไปดูในพื้นที่ปรากฏว่าทุ่นเตือนภัยเพื่อวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมันจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์พิบัติภัยแห่งชาติว่าความแรงระดับนี้จะเกิดสึนามิหรือไม่ ถ้าเกิดแล้วลูกใหญ่แค่ไหนยังติดไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายแล้ว ทุ่นเตือนภัยที่ติดตั้งเอาไว้เมื่อ 3-4 ปีก่อนนั้น วันนี้แบตเตอรี่ก็หมด ทั้งๆ ที่รู้ แต่คนที่รับผิดชอบก็ยังไม่ได้ไปเปลี่ยน

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการป้องกันการสูญเสียทั้งหมดที่ ดร.สมิธ ได้เคยวางเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เช่น แผนจะต้องติดทุ่นเตือนภัยเพิ่มอีก 2 จุด ที่จะเอาไปวางไว้ระหว่างหมู่เกาะอันดามันกับหมู่เหมาะนิโคบา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณชายฝั่ง จ.ภูเก็ต ไปจนถึง จ.ระนอง 3-4 ปีแล้วก็ไม่ได้ไปติดตั้ง ทั้งๆ ที่งบประมาณมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ได้ทำเรื่องผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

“ผมไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ เพราะที่ผ่านๆ มาเห็นเขามาเซ็นสัญญาประมูลกัน 3-4 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ประมูลให้เสร็จสิ้นเสียที และเมื่อเราเห็นว่าทุกอย่างมันล่าช้า เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาอีก ก็เป็นห่วงว่าจะเกิดการเสียหายอย่างมหาศาล ผมจึงไปที่รัฐสภาเพื่อฟ้องร้องให้ตรวจสอบ ปรากฏว่าโดน ผอ.กลุ่มงานคลังพัสดุ ฟ้องกลับหาว่าหมิ่นประมาท”

อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากเหตุการณ์สึนามิผ่านไป 5 ปี จนถึงวันนี้ในฐานะผู้เคยเป็นหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้นๆ วันนี้ตนก็ยังเจ็บตัวมากขนาดไหน ทั้งที่ที่ผ่านมาทำเพื่อคนอื่นมาตลอด

“วันนี้เข้าปีที่ 5 ปี คุ้มค่ากับการแลกไหม สำหรับตัวผมไม่คุ้มแน่นอน ซึ่งความเสียใจมันทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แต่ถ้าการต่อสู้แล้วประชาชนได้ประโยชน์ผมถือว่าคุ้ม แต่อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ผมจะต้องสู้กับคลื่นยักษ์สึนามิเท่านั้น ยังต้องสู้กับคน ต้องสู้กับความไม่รู้ ต้องสู้กับความเฉยชา บอกให้เขาทำอะไรก็ไม่ทำ บอกให้เขาจัดซื้อก็ไม่ได้ จี้ให้เขาเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุ่นเตือนภัยเขาก็ไม่ใส่ใจ สิ่งที่ผมต้องเผชิญทำให้ผมแทบหมดกำลังใจจะต่อสู้”

ถามว่าความทรงจำตลอดระยะเวลา 5 ปีสึนามิที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ดร.สมิธ บอกว่า วันนี้ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่วัวหายแล้วล้อมคอกเหมือนเดิม 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยราชการก็ไม่มีใครจริงจังเกี่ยวกับเรื่องสึนามิ และก็ 5 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการลงไปให้ความรู้กับชาวบ้าน-นักเรียน กระทั่งชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยว่าเมื่อถึงเวลาที่มีแผ่นดินไหว จะต้องทำและป้องกันตัวหรือหลบหนีสึนามิอย่างไร วันนี้ก็ยังไม่มีความรู้เหมือนเดิม แทนที่ภาครัฐจะจัดการกลับเพิกเฉยในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนานถึง 5 ปีเต็ม
ดร.สมิธ ฟันธงเอาไว้ว่า วันนี้ญี่ปุ่นผู้ศึกษาเรื่องสึนามิบอกว่าอีกไม่นานจะเกิดสึนามิอีกครั้ง ที่สำคัญมันจะเกิดขึ้นใกล้ๆ ประเทศไทย แล้วคลื่นที่ว่ามันจะลูกใหญ่กว่าครั้งก่อนมาก

“ผมพยากรณ์ได้ว่าถ้ารัฐบาลปล่อยปละละเลยเรื่องภัยธรรมชาติอย่างรัฐบาลนี้ อีกไม่นานจะมีการสูญเสีญครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่ง ตั้งแต่จังหวัดระนองไปถึงสตูลจะมีการตายมากมายมหาศาลแน่นอน” อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าว

นี่คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนกับ บทเรียน 5 ปี ซึ่งระบบการจัดการต่างๆ ยังไม่ได้ไปไหน และเป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้ จากปากคำของหนึ่งในฮีโร่ ดร.สมิธ ธรรมสโรช

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
ถ้า ดร.สมิธ ธรรมสโรจน์ เป็นภาค “ฮีโร่” ผู้มีบาดแผล แบบที่คนทั่วไปไม่เคยรู้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็เป็นอีกหนึ่ง “ฮีโร่” ที่มีบาดแผลฉกรรจ์โจ่งแจ้งมากมาย เป็นบาดแผลที่ว่ากันว่า หนักหนาสาหัสมากครั้งหนึ่งในชีวิต แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานถึง 5 ปีแล้ว เธอก็ยังไม่ลืมวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ภาพของผู้หญิงเก่ง ปากกล้า รูปร่างเล็ก แต่งตัวจัด ผมเผ้าซอยสั้นแต่หลากสี กำลังกุลีกุจอจัดการศพกองเท่าภูเขาย่อมๆ หลายลูก พร้อมกับก้มหน้าก้มตาจดบันทึกรายละเอียดลงไปในสมุด ภาพที่สื่อออกไปใครๆ ต่างก็ชื่นชมและยกให้เธอเป็นอีกหนึ่ง “ฮีโร่” ของเหตุการณ์สึนามิ

“..ทุกๆ ครั้งที่มีคนเรียกหมอคำนี้ (ฮีโร่) หมอจะปฏิเสธทันทีว่าหมอไม่ใช่ ฮีโร่…” หมอพรทิพย์ ให้เหตุผลว่า “ฮีโร่” มันมีแต่ในหนัง โดยตลอดระยะ 40 วันไปคลุกกับสึนามิเธอเจอปัญหามากมาย โดนทั้งก้อนอิฐ หิน คำด่า คำครหา หรือแม้โดนตราหน้าว่า “โกงเงินศพ”ทั้งหมดเป็นข้อหาที่หนักหนามากที่สุดในชีวิต

หมอไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนที่เลวร้ายแบบนี้อยู่ในโลก”

คุณหมอพรทิพย์ ย้อนภาพที่ยังติดตามาตลอดระยะเวลา 5 ปี ว่า วันที่เกิดเหตุเธอกำลังอยู่ในงานเลี้ยงฉลองวันปีใหม่อย่างสนุกสนาน แต่ทันทีที่เหลือบไปเห็นตัววิ่งรายงานข่าวว่ามีสึนามิถล่ม และคนไทยตายเกือบพันคน หลังจากรายงานผู้บังคับบัญชาตามละดับขั้นพร้อมกับประสานทีมงานทำงานเสร็จก็ รีบนั่ง C 130 ลงไปทันที

“วันที่หมอไปทุกๆ อย่างสับสนไปหมด ซึ่งพอลงไปยัง อ.ตะกั่วป่า เห็นสภาพศพ 500 คน หมอรู้ทันทีเลยว่านรกมีจริง คือคนกองเต็มวัด แน่นอนว่าในสถานการณ์ไม่มีผู้บัญชาการแบบนั้นทำให้การประสานงานวุ่นวายไปหมด วันนี้กล้าพูดได้ว่าตลอด 40 วันที่อยู่ในพื้นที่ นี่เป็นเคสที่เหนื่อยและโกลาหลมากที่สุดในชีวิต แต่ก็โชคดีที่เรามีอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือก็ดี และนี่คือสิ่งที่ทั่วโลกชื่นชมที่คนไทยยังรักกัน” หมอพรทิพย์กล่าว

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากความภูมิใจข้างต้น หมอพรทิพย์ บอกว่า มันก็ยังมีบาดแผลฉกรรจ์ เป็นเสมือนแผลเป็นที่ไม่มีวันลบเลือนก็คือความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน

“5 ปีแล้วน่าแปลกที่ยังไม่ลืม ยังคิดอยู่ตลอดเลยว่า ทำไมคนอย่างเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ หมอโดนตำรวจกล่าวหาว่าเราโกงเงินบริจาค 60-70 ล้านบาท มันน่าหดหู่ก็คือ ความใจแคบ ปากต่อปากพูดกันไป อันนี้มันเป็นความใจแคบทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีอะไรกันเลย ที่สำคัญเมื่อผ่านเหตุการณ์นี้มาวิจัย ต่างประเทศเชิญไปบรรยายสิ่งที่เราทำลงไป ถูกทุกขั้นตอน ครบถ้วน ซึ่งถ้าเรามองย้อนดูสิ่งที่เราได้รับกับตำรวจ ก็มองว่ามันคือ “มารตัวแรง” ก็ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ซึ่งที่สุดแล้วหมอก็ผ่านมาได้ ที่สำคัญวันนี้เราพิสูจน์แล้วว่าทุกๆ อย่างมันใสสะอาดไม่ใช่หมอชนะ แต่เราเคลียร์สิ่งที่เขากล่าวหาได้หมด ขณะที่คนเป็นตำรวจทั้งยศพันตำรวจตรี พันตำรวจโทมันไม่ได้จับศพสักคน แค่อยากมีอำนาจและมากล่าวหาคนอื่นฝ่ายเดียวอย่างนี้มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย” หมอพรทิพย์กล่าว

อย่างไรก็ดี ความเสียใจตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คุณหมอพรทิพย์ยอมรับว่าทุกๆ ครั้งพอถึงวันครบรอบโศกนาฏกรรมสึนามิ จะพยายามหนีทุกๆ ครั้งที่เขาเชิญไปร่วมงาน เพราะรู้ดีว่าตัวเธอเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งหากลงไปร่วมงานมันจะไปกระตุ้นต่อมรำคาญของตำรวจ อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นยังไงเราก็ไม่เลิกทำดี

“สำหรับหมอแล้ววันนี้เป็นวันที่ครบรอบ 5 ปีแห่งการสูญเสียชีวิตผู้คนมากมายแล้ว แต่น่าแปลกก็คือบทเรียนราคาแพงในวันนั้น วันนี้ประเทศไทยยังหลวมเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการที่ไม่ดี อีกทั้งอำนาจต่างๆ ภาครัฐยังมอบเอาไว้ให้ตำรวจใช้ตามแต่ใจ คำถามก็คือวันนี้พอคุณมีอำนาจอยู่ในมือเชื่อหรือเปล่าว่าทุกๆ อย่างเขาซ้อมกันหมด แต่กับเรื่องศพไม่เคยซ้อม เรื่องการฝึกการบริหารสถานการณ์วิกฤติไม่เคยซ้อม ทั้งๆ ที่เป็นส่วนสำคัญมากๆ ซึ่ง 5 ปีสึนามิก็ไม่เห็นมีการซักซ้อมกับเรื่องการจัดการศพขนาดมากๆ แต่ก็ ไม่มีการทำเลยสักครั้ง จนถึงวันนี้” หมอพรทิพย์ กล่าว

นอกจากสิ่งที่ฮีโร่ทั้ง 2 คน กล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึก กลิ่นศพ ความไม่มีระบบ คนคดโกง ป้ายสีของเมืองไทย ที่ยังตราตรึงทุกๆ ครั้งเมื่อโศกนาฏกรรมสึนามิเวียนมาบรรจบ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นหัวใจหลักไม่อาจมองข้ามไปได้ ก็คือคำถามใหญ่ที่ว่า เมื่อมาถึงวันครบรอบ 5 ปีแห่งการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมายที่ผ่านมา ณ วันนี้คนในพื้นที่ริมชายฝั่ง ชีวิตของชาวบ้านตาดำๆ ก็ยังคงแขวนไว้บนเส้นดาย ต้องเผชิญกับระบบเตือนภัยและระบบการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ทุ่นเตือนภัยที่มีก็เหมือนไม่มี หลุมหลบภัยใกล้กับริมชายฝั่งทะเลก็ไม่มี ที่หลบภัยบนภูเขาก็ยังไม่ไปถึงไหน ของที่ผู้เกี่ยวข้องจัดลงไปในพื้นที่ประสบภัย ก็ไม่เคยตรงกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ…?

แม้กระทั่งการจัดการระบบศพจำนวนมหาศาลอย่างนี้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลับไม่แยแสใส่ใจ นำบทเรียนโศกนาฏกรรมสึนามิมาปรับปรุง แก้ไข และเตรียมทุกๆ ขณะของความพร้อมก่อนเหตุจะเกิดหรือไม่
หรือผู้มีอำนาจจะต้องรอให้มีกองศพสูงเสียดฟ้าอีกมากเท่าใด ประเทศไทยจึงจะเปลี่ยนแปลง…???
------------------------------------
ขอบคุณ ภาพ-ข่าวทีมงานไทยรัฐออนไลน์
ขอบคุณ แฟ้มภาพ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ที่มา: http://www.bankrunu.com/?p=4032
------------------------------------
หวังว่าเพื่อนๆ คงได้ไอเดียเพิ่มเติมนะครับว่า จากเหตการณ์ดังกล่าว
จากข้อมูลฮีโร่ทั้ง 2 ท่าน ดังกล่าว ควรจะกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะได้อย่างไรบ้าง
มองหา keyword ให้เจอ
------------------------------------
ดร.สมิธ ธรรมสโรจ
----------------------------------
ข้อบัญญัติบรรเทาสาธารณภัย 10 ประการ (อีกครั้ง)
1. สังเกตปรากฎการณ์ของชายฝั่ง หากน้ำทะเลลดระดับลงมาก หลังเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้รีบอพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง ให้อยู่ห่างจากชายฝั่งมากๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง
2. ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่า จะเกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าหา เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมากๆ จะมีขนาดเล็ก
3. คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอก จากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากการแกว่งไปแกว่งมาของน้ำทะเล ดังนั้น ควรรอสักระยะหนึ่ง จึงจะสามารถลงไปชายหาดได้
4. ติดตามการเสนอข่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
5. ในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยที่จะเจอคลื่นสึนามิ หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรง
6. วางแผนในการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น กำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด เป็นต้น
7. ในย่านที่มีความเสี่ยงภัยทึ่จะเจอคลื่นสึนามิ ให้หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่ง
8. จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อยู่อาศัย ควรมีระยะห่างจากฝั่ง
9. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชชน ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัย จากคลื่นสึนามิ และแผ่นดินไหว
10. วางแผนล่วงหน้า หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดขั้นตอนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาภัย ด้านสาธารณสุข การรื้อถอน และฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง
------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น