วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

PA612: แนวสอบ รศ.ชลิดา :แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน

โดย กลุ่ม 1
----------------------------------
สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย
ผู้เขียนมุ่งนำเสนอว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนได้ดูแลบ้านเมืองมากขึ้นจะเป็นรากฐานใหม่สำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ โดยประชาธิปไตยนั้น ควรแยกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ประชาธิปไตยที่ระดับชาติ – ควรให้ประชาชนใช้อำนาจทางอ้อมผ่านผู้แทน (Representative Democracy)
2. ประชาธิปไตยที่ระดับท้องถิ่น – ควรปรับปรุงให้ประชาชนเข้ามามีบทบาในการดูแลบริหารบ้านเมืองด้วยตนเองให้มากขึ้น (Self-Government Democracy)
ประชาธิปไตยควรเริ่มที่ท้องถิ่น
ควรสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตยระดับชาติ มีนักวิชาการที่เคยเสนอความคิดนี้ เช่น ดาห์ล (Robert Dahl) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันชี้ว่า เมืองซึ่งเป็นท้องถิ่นชนิดหนึ่งนั้นคือ หน่วยการปกครองขนาดพอเหมาะพอดีที่จะอำนวยให้ประชาชนมีส่วนในกิจการของบ้านเมืองได้มากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องผ่านผู้แทนหรือผู้นำเพียงเท่านั้น จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill) ปราชญ์ชาวอังกฤษเสนอความคิดว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นจะฝึกฝนประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในกิจการของบ้านเมืองได้ดีเป็นพิเศษ
ประเทศไทยเราพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาญาณว่า หากจำเป็นต้องเร่งให้รัฐธรรมนูญแก่ประชาชนตามที่ชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษาทั้งหลาย ในช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ร้องขอ ก็ควรจะเร่งสร้างการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เป็นบ่อเกิดของประชาธิปไตยที่ระดับชาติภายหลัง
กล่าวได้ว่าควรจะสร้างประชาธิปไตยที่ท้องถิ่นขึ้นก่อนแล้วพัฒนาให้การปกครองที่ระดับนั้นเป็นที่ฝึกปรือให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในระดับที่สูงขึ้นซึ่งตรงกับ จอห์น สจ๊วต มิล ที่ได้แสดงความคิดไว้
นับแต่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในช่วงปี 2540 นั้นการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยมันคล้ายกับการปกครองระดับชาติ เช่น ผลักดันสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหลายให้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นหรือเปลี่ยนแก้ให้ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นเท่านั้น ประชาธิปไตยเพียงแค่ถูกให้อยู่ในกรอบที่เห็นว่าประชาธิปไตยนั้นมีได้แบบเดียวคือ แบบที่ประชาชนใช้อำนาจผ่านผู้แทนเพียงเท่านั้น

ประชาธิปไตย “ของ” ประชาชน “โดย” ประชาชน
ลินคอล์น กล่าวถึงประชาธิปไตยว่าเป็นการปกครอง “ของ” ประชาชน “โดย” ประชาชน “เพื่อ” ประชาชน
โดยทั่วไปเมื่อให้เลือกระหว่าง “การปกครองโดยประชาชน” กับ “การปกครองเพื่อประชาชน” เราจะเลือก “ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน” ก่อนซึ่งเป็นสิ่งที่อ้างว่าการปกครองแทบทุกระบอบทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น แต่ประชาธิปไตยจริงๆคือ ความเชื่อที่ว่าการปกครองที่ดีนั้นคือ การเอื้อให้ประชาชนเป็นผู้ปกครองเอง มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนในการคิดและทำเพื่อบ้านเมืองด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ท่านผู้เขียนจึงของสรุปว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น “ของประชาชน” และ “โดยประชาชน” สำคัญกว่า “เพื่อประชาชน”
เดอ จูเวเนล (de Jouvenel) กล่าวไว้ว่า หากปล่อยให้ประชาชนอ่อนเขลาและเซื่องซึมจนกลายเป็น “ลูกแกะ” ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รัฐบาลแบบ “หมาป่า” ที่จะจัดการกับ “ลูกแกะ” นั้นได้โดยง่าย ซึ่งข้อสังเกตก็คือ ประชาชนแบบลูกแกะนั้นย่อมไม่มีทางที่จะเลือกได้รัฐบาลแบบลูกแกะด้วยกัน มีแต่จะเลือกได้รัฐบาลแบบหมาป่า คือได้ผู้ปกครองที่สันทัดในการใช้อำนาจ หรือหลอกลวง หรือข่มขู่ประชาชนได้ตลอด หากประชาชนไทยยังเป็นผู้น้อย ผู้พึ่งพิงแล้ว เสียงข้างมากก็จะนำมาซึ่งรัฐบาลหมาป่าไปอีกนาน
การสร้างท้องถิ่นให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนกลายเป็นพลเมือง หรือใช้สำนวนแบบ เดอ จูเวเนล คือ “ให้พ้นจากการเป็นลูกแกะ” ต้องเปลี่ยนท้องถิ่นให้ทุกคนเป็นเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิมีส่วนที่จะจัดการกับบ้านเมืองได้มากขึ้น เสมือนว่าท้องถิ่นนั้นเป็นของตนเองแล้วประชาชนย่อมจะเห็นดีด้วย และย่อมจะแปรตนเองให้เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของการเมือง และเจ้าของประชาธิปไตยได้
ประชาชนจึงไม่ใช่ปัญหาและจุดอ่อนของประชาธิปไตย หากประชาชนคือความหวังและทางออกของการพัฒนาประชาธิปไตยต่างหาก

วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยในยุคแรกเริ่ม (2,500 ปีมาแล้ว)
ในนครอิสระต่าง ๆ ของกรีกโบราณโดยเฉพาะในนครเอเธนส์ ซึ่งนครหรือเมืองเหล่านี้มีการปกครองที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับเมืองอื่นๆ หรือศูนย์กลางอำนาจใดๆ เรียกเมืองหรือนครเหล่านี้ว่า “โพลิส” (Polis) อันหมายถึง นครที่ปกครองตนเอง
ในโพลิสที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น หมายความว่า สามัญชนคนธรรมดาล้วนมีบทบาท มีสิทธิและมีอำนาจที่จะร่วมกันดูแล หรือบริการ หรือพัฒนาบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยชนชั้นปกครองหรือกษัตริย์ จักรพรรดิหรือขุนนางมาเป็นผู้ปกครองชาวกรีกในโพลิสที่เป็นประชาธิปไตยนั้นเห็นว่าการปกครองที่ดีก็คือ การปกครองตนเอง ก็คือการที่พลเมืองทั้งหลายได้ร่วมกันปกครองบ้านเมืองของตนเอง

ประชาธิปไตยในยุคที่สอง (500-1,000 ปี มาแล้ว)
การปกครองตนเองในยุคที่สองนี้ ยังต่างจากยุคแรกเริ่มตรงที่เมือง-นครเป็นประดุจการปกครองส่วนท้องถิ่นของแว่นแคว้น โดยเมือง-นครเหล่านี้มิได้เป็นหน่วยการปกครองอิสระดังเช่นนครโพลิสของกรีกโบราณ คำว่าปกครองตนเองในยุคที่สองนี้จึงมีสองนัยยะด้วยกันคือ เมือง-นครที่ปกครองตนเองโดยได้รับธรรมนูญ (Charter) จากรัฐที่ใหญ่กว่าแต่ในขณะเดียวกันก็ยังหมายความว่า พลเมืองที่อาศัยในเขตกำแพงเมืองมีส่วนในการปกครองตนเองพอสมควรที่เรียกว่าพอสมควร เพราะมีการประชุมชาวเมืองที่พอจะเรียกว่าสภาพลเมืองอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่บ่อยและประจำ เท่านครโพลิสแบบกรีกโบราณ แต่การจับฉลากผลัดกันทำหน้าที่ฝ่ายบริหารมีน้อย หรือแทบไม่มี และยุคนี้เองที่การเลือกตั้งมีความหมายและมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกที่ให้คนชั้นสูงเข้าไปเป็นผู้บริหาร หรือปกครองเมือง
ในยุคที่สองนื้ การปกครองตนเองจึงเป็น “พหุนิยม” อย่างชัดเจน ไม่มีอำนาจใดอำนาจเดียวที่ครอบงำส่วนต่างๆของสังคมได้หมด เมือง-นคร มีการปกครองตนเองที่เป็นอิสระจากแว่นแคว้นหรืออาณาจักรพอสมควร ชาวเมือง-นคร มีส่วนในการดูแลบริหารบ้านเมืองหรือร่วมในกิจการของบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับที่กลุ่มสมาคมหรือสถาบันก็มีส่วน ในการบริหารและพัฒนากิจการของตนได้พอสมควร และนี่คือความสลับซับซ้อนของประชาธิปไตยในยุคที่สอง
ประชาธิปไตยยุคที่สาม (ยุคสมัยใหม่)
สิ่งที่นักคิดและผู้นำยุโรปนำเสนอเพื่อปรับประชาธิปไตยแบบโบราณหรือแบบสมัยกลางให้สอดคล้องกับชีวิตสมัยใหม่ก็คือ เปลี่ยนประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมกันดูแลรับผิดชอบบ้านเมืองขนาดเล็กของตนเองให้กลายเป็นระบอบที่ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเข้ามาทำงานทางด้านนิติบัญญัติหรือบริหารแทนประชาชน ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นการปกครองระดับประเทศหรือระดับชาติแทนที่จะเป็นการปกครองระดับเมืองหรือนครที่มีประชากรเพียงจำนวนเล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้นประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่ยังได้เปลี่ยนการปกครองตนเองของประชาชนมาเป็นการให้ผู้แทนของประชาชนมาปกครองแทน ซึ่งเรียกประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่นี้กันว่า “ประชาธิปไตยที่ประชาชนใช้อำนาจผ่านผู้แทน” (Representative Government or Representative Democracy) นั่นเอง
การเป็นพลเมืองในประชาธิปไตยยุคใหม่จึงไม่ได้เรียกร้องให้เป็นผู้เสียสละ คิดหรือทำเพื่อบ้านเมืองมากมาย หน้าที่ของประชาชนเหลือเพียงทำเรื่องส่วนตนให้ดีที่สุดและเลือกผู้แทนให้ดีที่สุดเป็นพอแต่เรื่องของส่วนรวม เรื่องของบ้านเมืองกลับถือเป็นเรื่องของนักการเมือง และบรรดาข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ (ซึ่งนี่ก็คือสาระปรัชญาเสรีนิยมนั่นเอง)
ชุมปีเตอร์ (Schumpeter) ชี้ว่าความคิดเรื่อง “สาธารณประโยชน์” (Common good) หรือเจตจำนงประชาชน (The wills of the people) ที่นักคิดยุคก่อนๆ กล่าวถึงนั้นเป็น “ปรัมปรานิยาย” เสียมากกว่า เพราะเท่าที่พบเห็นกันมา ประชาชนนั้นไม่อาจคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกๆ เรื่องดังกล่าวได้ หน้าที่ของผู้แทนประชาชนคือการมาคิดและตัดสินใจแทนปวงชนอย่างเป็นระบบนั่นเอง
สำหรับชุมปีเตอร์นั้นประชาธิปไตยสมัยใหม่หาใช่การปกครองโดยตรงของประชาชน หากเป็นเพียงการปกครองที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการเลือกตั้งเป็นพอ ชุมปีเตอร์เห็นว่า “ประชาธิไตย คือการที่โอกาสที่จะรับหรือปฏิเสธคนที่จะเข้ามาปกครองตนเอง” เท่านั้น ซึ่งคิดตามตรรกะของชุมปีเตอร์แล้วประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็คือการเลือก “หัวหน้า” หรือเลือก “นาย” และผู้ที่เลือกนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากนัก
ทว่าในความเห็นของผู้เขียนเองนั้น การที่ประชาชนยังอยู่ใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์และยอมรับสินจ้างรางวัลนั้น เป็นเพราะพวกเขายังไม่ได้เป็นเจ้าของประชาธิไตยอย่างแท้จริงหรือเท่าที่ควรต่างหากความรู้สึกที่ว่าประชาธิปไตยเป็นของเขานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนได้มีส่วนรับผิดชอบในการบริหารและพัฒนาบ้านเมืองได้มากกว่าปัจจุบันนี้เราต้องทำให้ประชาธิปไตยไทยเป็นของประชาชนด้วยการทำให้งานบ้านงานเมืองนั้น ทำได้โดยประชาชนเองมากขึ้นนั่นเอง
นั่นจึงเป็นเหตุให้เราต้องกลับไปใช้ประชาธิปไตยยุคที่หนึ่งและยุคที่สอง ที่ประชาชนมีส่วนดูแลบ้านเมืองด้วยตนเองมาก ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนนั่นเอง แต่ประเทศไทยทุกวันนี้มีอาณาเขตและประชากรที่มากกว่าเมืองและนครมหาศาล ประชาธิปไตยที่ระดับชาติจึงยังคงต้องเป็นประชาธิปไตยทางอ้อมที่ผ่านผู้แทนแม้แต่ประชาธิปไตยที่ใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กทม. อบจ. อบต. หรือเทศบาลก็ยังต้องใช้การเลือกตั้งผู้แทนอยู่ไม่น้อย แต่คงจะเป็นการดียิ่งขึ้นหากจะเสริมประชาธิปไตยแบบผ่านผู้แทนนั้นด้วยประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมกันปกครองที่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น

ข้อเสนอเชิงปฏิบัติให้ท้องถิ่นเป็นการปกครองตนเอง
1. ควรมีการประชุมขอความเห็นและหารือไตร่ตรองกันในหมู่ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด เช่น การประชุมชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน การประชุมชาวเมืองที่มีภูมิลำเนาบนถนนสายเดียวกันหรือในซอยเดียวกัน ทั้งนี้ถือหลักที่ให้ผู้มาประชุมต้องรู้จักคุ้นเคยกันพอสมควรทำให้การประชุมเหล่านั้นเป็นไปอย่างมีมิตรไมตรีและมีการสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยไม่คำนึงว่าความคิดเหล่านั้นจะเป็นความคิดของใครมาจากไหน ควรหลีกเลี่ยงการลงมติตัดสินข้อขัดแย้งด้วยเสียงข้างมาก ควรใช้การโน้มน้าวจูงใจด้วยเหตุผล หลักคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่า
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะต้องจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองผ่านโรงเรียนของท้องถิ่นหรืออาศัยบุคลากรของหน่วยราชการและเอกชนหรือองค์กรพัฒนาต่างๆ เป็นกำลังสำคัญ ปลูกฝังให้ประชาชนมีสำนึกของความเป็นพลเมืองตระหนักในสาธารณะประโยชน์
หลักในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่ควรใช้หลักเดียวกันกับราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีลักษณะคล้ายชาวบ้านหรือชาวเมือง หรือเป็นคนกันเองกับชาวบ้านชาวเมืองให้มาก
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีงบประมาณพิเศษให้กับประชาชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มสมาคม ให้ร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ของกลุ่มเองไม่ใช่คอยรับแต่ความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น ควรจะมีงบประมาณที่ให้กับการศึกษาที่เน้นให้ประชาชนทุกวัยทุกระดับมีความรู้ในประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม จุดแข็ง จุดอ่อนต่างๆ ของท้องถิ่นในการพัฒนาของท้องถิ่น
3. หากท้องถิ่นใดมีขนาดใหญ่ เช่น กทม. หรือ อบจ. ควรจัดให้มีการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองให้อำนาจและทรัพยากรไปอยู่ที่ระดับพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดหลักที่ว่าหน่วยทางการเมืองต้องมีขนาดเล็กพอสมควรจึงจะทำให้เกิดการปกครองตนเองของประชาชนได้มากขึ้น
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสนับสนุนให้เกิดอาสาสมัครในหมู่ประชาชนในเรื่องต่างๆ ให้มากที่สุด อาจถือหลักว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั้นขับเคลื่อนด้วยข้าราชการหรือลูกจ้าง แต่ส่วนท้องถิ่นนั้นควรขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัคร คือประชาชนที่มีสำนึกว่าต้องเข้าร่วมแบกภาระของท้องถิ่นร่วมกัน เช่น อาสาสมัครดูแลสวนหย่อม อาสาสมัครดูแลเด็กและคนชรา อาสาสมัครดูแลห้องสมุด อาสาสมัครดูแลห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะอาสาทำงานให้กับบ้านเมือง สามารถที่จะร่วมคิดร่วมหารือให้งานที่ตนอาสาช่วยนั้นเดินไปสู่ทิศใดได้อย่างอิสรเสรีพอควร ต้องตระหนักว่าอาสาสมัครนั้นมิใช่ลูกน้องหรือผู้ช่วยของช้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่น ทั้งไม่ใช่ผู้ปรารถนาจะทำงานแลกกับเงินเดือน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาให้เฉพาะค่าอาหารและค่าเดินทางเท่านั้น) หากเป็นผู้ที่มองเห็นว่าการเมืองของท้องถิ่นนั้นที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมกันทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นนั่นเอง
5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเสริมงานปลุกประชาคมให้เป็นอาสาสมัครด้วยการตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน คณะที่ปรึกษาให้มากที่สุด แล้วให้บุคคลที่ดีเด่นและมีจิตใจอาสาสมัครเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในคณะต่างๆ ที่กล่าวมาให้มากที่สุด เพื่อให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้เป็นที่รองรับบุคคลที่มิใช่นักการเมืองหรือข้าราชการ-พนักงานประจำให้ได้มากที่สุด
6. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรลดการขยายตัวของข้าราชการ-พนักงานประจำควรใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เป็นงบพัฒนาให้มากที่สุด ไม่ควรเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่าตนมีงบประมาณไม่พอหรือตนมีข้าราชการ-พนักงานประจำไม่พอ เพราะการปกครองที่เป็นการดูแลบ้านเมืองด้วยประชาชนเอง ย่อมอาศัยอาสาสมัครและประชาชนผู้มีความรัก มีความห่วงใยและมีความผูกพันต่อท้องถิ่นเป็นกำลังในการทำงาน ต้องย้ำว่าราชการส่วนท้องถิ่นไม่ควรจะเลียนแบบราชการส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค หากต้องมีความเป็นตัวของตัวเองในลักษณะที่แยกข้าราชการ-พนักงานออกจากประชาชนแทบไม่ได้ ต้องระลึกไว้เสมอว่า จุดแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ ความสามารถในการใช้ประชาชนเป็นกำลังในการแก้ปัญหา
ประชาชนสำหรับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอาจหมายถึง ผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ คอยรับการพัฒนา คอยรับการแก้ไขปัญหา แต่ประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว กลับเป็นผู้เล็งเห็นปัญหา ผู้อยากแก้ไขปัญหาและผู้ที่มีส่วนในการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้มากที่สุด
7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมองชาวบ้านหรือชาวเมืองที่อยู่ในการปกครองของตนเป็นเพียงคนจน คนด้อยโอกาสหรือผู้ลงคะแนนเสียง หากต้องฝึกให้ชาวบ้านหรือชาวเมืองเหล่านั้นมีความภูมิใจในตนเอง ตระหนักว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนหรือบ้านเมือง ท้องถิ่นนั้นต้องช่วยเปลี่ยนชาวบ้านที่อยู่ในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ให้กลายไปเป็นพลเมืองที่มีวัฒนธรรมในการช่วยกันดูแลและพัฒนาบ้านเมือง
ท้องถิ่นที่เป็นองค์กรภาคสังคมด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างหากที่ควรจะเปลี่ยนไปเป็นองค์กรภาคสังคมได้มากขึ้น และนี่ก็คือข้อเสนอเชิงทฤษฎีที่เพิ่มเติม การทำให้ท้องถิ่นมีประชาชนมาดูแลบ้านเมืองด้วยตนเองมากขึ้น เราต้องทำให้ท้องถิ่นลคความเป็นรัฐลงด้วย ท้องถิ่นต้องภูมิใจที่กลายเป็นองค์กรทางสังคมมากขึ้น และพร้อมที่จะลดความเป็นรัฐของตนลงเป็นลำดับ
นั่นหมายความว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ควรคิดว่าการบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐธรรมนูญ หรือจากกฎหมายอื่นๆ นั้นเป็นของตนแต่ผู้เดียว (ลดลักษณะเอกนิยมทางอำนาจลง) ควรให้เห็นว่าบ้านเมืองที่ดีนั้นต้องให้หลายๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นจากรัฐหรือสังคมเข้ามาแบกรับ (เป็นพหุนิยมทางอำนาจ) ท้องถิ่นควรเป็น “เพื่อน” ควรเป็น “มิตร” กับองค์กรภาคสังคมมากกว่า ท้องถิ่นควรเป็นเพียงองค์กรภาคสังคมองค์กรหนึ่ง และอย่าอยู่เหนือองค์กรภาคสังคมองค์กรอื่นๆ โดยไม่จำเป็น (First Among Equals)

ท้องถิ่นที่ยอมรับการเป็น “พหุนิยมแบบอังกฤษ”
ในปลายทศวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่20 มีนักคิดชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเช่น ฟิกกิส (Figgis) ลัสกี้ (Laski) และเมทแลนด์ (Maitland) (เห็นว่า รัฐในอุดมคติหรือรัฐในอนาคตควรจะลดการผูกขาดอำนาจในการบริหารและการจัดการสังคมลง และรัฐเช่นว่านี้ไม่ควรเห็นว่าประกอบไปด้วยบุคคลเท่านั้น หากสังคมอุดมคติควรจะประกอบด้วยสังคมย่อยต่างๆ มากมายซึ่งเป็นองค์กรคั่นกลาง หรือองค์กรเชื่อมระหว่างรัฐกับบุคคล พวกนักคิดพหุนิยมแบบอังกฤษ เชื่อว่าเราต้องไม่อาศัยเพียงบุคคลที่เป็นพลเมืองมาเชื่อมต่อกับรัฐโดยตรงเท่านั้น ไม่ว่าในฐานะผู้รับบริการของรัฐหรือผู้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคม
นักคิดพหุนิยมเหล่านี้เห็นว่าอำนาจในการบริหารหรือจัดการกับบ้านเมือง ควรเป็นอำนาจที่ช่วยกันรับหรือถือเอาไว้โดยกลุ่มต่างๆ ที่มากมายหลากหลายในสังคม รัฐควรให้บทบาทหรือให้อำนาจหน้าที่แก่องค์กรต่างๆ ในสังคมในการแก้ไขปัญหาในเรื่องเฉพาะของแต่ละองค์กรให้มากขึ้น และนั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “พหุนิยม”

เล็ก คือ งาม
กว่า 30 ปีที่แล้ว ชูมาเกอร์ (E.F. Schumacher) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ-เยอรมัน ได้เขียนหนังสือเรื่อง Small is beautiful (เล็กคืองาม) กล่าวถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องย้ำที่ประชาชนเองต้องเป็นตัวของตัวเองได้ก่อนที่จะปกครองตนเอง แต่ประชาชนจะเป็นตัวของตัวเองได้แต่ในเขตการปกครองขนาดเล็กที่ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจกันเท่านั้น ดังนั้นเขตการปกครองขนาดเล็กจึงมีประโยชน์ในการปกครองแบบประชาธิปไตย

แก้ปัญหาประชาธิปไตยต้องเริ่มที่ท้องถิ่น
การอภิวัฒน์ที่ท้องถิ่นก่อนก็ด้วยความมุ่งหมายว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยที่ระดับประเทศ ทำให้มันกลายเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกชนชั้น ทุกระดับ และทุกภาคส่วนของประเทศได้อย่างแท้จริง และเมื่อผู้น้อย ผู้ยากจน ผู้พึ่งพิงตนเองไม่ได้ทั้งหลาย ได้สลัดตนเองออกจากระบบอุปถัมภ์กลายไปเป็นพลเมืองผู้ซึ่งร่วมกันแก้ปัญหาของตนเอง และปัญหาของชุมชนได้ พวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ที่มีฐานะทางการเมืองไม่ด้อยไปกว่าคนชั้นกลางและคนในเมือง และหลักที่ว่าประชาธิปไตยคือเสียงข้างมากก็จะเป็นที่ยอมรับจากคนชั้นกลางและคนในเมืองด้วย ส่วนทหารหรืออภิชนหรือพลังนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดก็ย่อมจะต้องอนุวัตรตามความเห็นและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่มากขึ้นเป็นลำดับอย่างแน่นอน
เมื่อประชาธิปไตยเปลี่ยนจากการเป็นเวทีของระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินทองของนักการเมืองกลับกลายเป็นสนามฝึกซ้อมให้ประชาชนทุกระดับโดยเฉพาะที่ระดับท้องถิ่นได้มีความรับผิดชอบและผูกพันต่อบ้านเมือง เข้าร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองเสมือนหนึ่งบ้านเมืองนั้นเป็นครอบครัวหรือบ้านใหญ่ของตนเองเช่นกัน
กรณีศึกษา อบต.ควนรู จ.สงขลา
พบว่าทำให้เกิดความสมัครสมานร่วมกันทำประโยชน์ให้แก่พื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างดี มีการปรึกษาหารือไตร่ตรองกันเรื่องใครควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งในสภา อบต. หรือเป็นประธานกรรมการบริหาร อบต. ซึ่งสภาผู้นำของตำบลควนรูนั้นเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการซึ่งคัดสรรผู้เหมาะสมมาเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือนายก อบต. แทนที่จะอาศัยแต่เพียงการลงสมัครรับเลือกตั้งตามอำเภอใจของแต่ละบุคคลดังที่เป็นมาช้านาน การคัดสรรผู้รับสมัครเลือกตั้งเช่นนี้จึงเป็นเสมือนฉันทามติของประชาชนใน อบต. ว่าจะลงคะแนนให้เฉพาะผู้ที่สภาผู้นำคัดสรรรมาก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งต่างๆ ของ อบตต. ควนรูจึงเป็นการเลือกตั้งคนดีด้วยกัน ไม่ใช่อามิสสินจ้างเป็นเครื่องล่อใจแต่ประการใด ผู้ลงคะแนนเสียงล้วนมีความเข้าใจและมุ่งมั่นที่จะเลือกผู้แทน-ผู้นำ ที่จะมาพัฒนา อบต. ร่วมกับประชาชนทั้งมวล
อภิวัฒน์ท้องถิ่นเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์สร้างสำนึกและวัฒนธรรมให้คนในชาติเห็นความสำคัญที่จะ “แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน” คือ สร้าง “ท้องถิ่น” ให้เป็นการปกครองที่ดูแลโดยประชาชนเองเพื่อให้เป็น “รากฐาน” ใหม่ของประชาธิปไตย ที่จะมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น


บรรณานุกรม

อเนก เหล่าธรรมทัศน์. (2552). แปรถิ่นเปลี่ยนฐาน สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็น
รากฐานของประชาธิปไตย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
----------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น