วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

PA612: แนวสอบ รศ.ชลิดา :คุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติกับการพัฒนาชาติ

โดย น้องยุ้ย (กลุ่ม 3 - ผิดตกขออภัย)
---------------------------
การที่ชาติจะพัฒนาได้นั้น ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนในชาติซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม เราเห็นชาติเจริญ คุณภาพชีวิตของคนในชาติก็จะเจริญตามไปด้วย การที่จะพัฒนาให้ประชาชนในชาติมีคุณภาพชีวิต ที่ดีย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม สภาวะทางเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยการพัฒนาทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น ถ้าหากว่ามีการพัฒนาคนในชาติได้ผลก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชาติดีขึ้นและพัฒนาแล้วนั่นเอง
คุณภาพชีวิต หมายถึง สภาวะความพร้อมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ ด้านอื่น ๆ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย รายได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมของมนุษย์ตามสภาพความจำเป็นพื้นฐานในสังคมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
องค์ประกอบของคุณภาพชีวิต มีดังนี้
1. มาตรฐานการครองชีพ โดยดูจาก
1.1 รายได้ต่อบุคคล นั่นคือ รายได้เฉลี่ยของประชากรต่อคนต่อปี โดยคิดจากผลรวมของผลผลิตประชาชาติทั้งหมดภายใน 1 ปีต่อจำนวนประชากร ถ้ามีค่าสูงแสดงว่าประเทศนั้นมีการกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจของประเทศดี
1.2 สุขภาพ นั่นคือ ถ้าบุคคลมีสุขภาพดี มีโอกาสทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
1.3 ที่อยู่อาศัย นั่นคือ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ที่อยู่อาศัยมีวัสดุที่มีคุณภาพ ถาวร
1.4 การศึกษา เพราะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ
1.5 การสังคมสงเคราะห์ นั่นคือ ต้องให้บริการแก่คนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น คนชรา คนพิการ คนว่างงาน
2. การเปลี่ยนแปลงประชากร โดยดูจาก
2.1 ขนาดของประชากร ซึ่งจะต้องมีความสมดุลกับทรัพยากรของชาติ
2.2 อัตราการเติบโตของประชากร ถ้าสูงจะเกิดผลกระทบต่อครอบครัว สังคมในด้านเศรษฐกิจและสังคม
2.3 โครงสร้างอายุประชากร นั่นคือ ในช่วงแต่ละอายุจะต้องมีความสมดุล
3. ระบบสังคมและวัฒนธรรม เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ รูปแบบการปกครอง วัฒนธรรมที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม ความเชื่อทางด้านศาสนาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ค่านิยมทางวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของการดำรงชีวิต ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
4. กระบวนการพัฒนา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อันประกอบด้วย
4.1 ลำดับความสำคัญของการพัฒนา 4.4 การพัฒนาสังคม
4.2 ประสิทธิภาพและความสำคัญของบุคคล 4.5 การพัฒนาการค้า
4.3 การพัฒนาเศรษฐกิจ
- 2 -

5. ทรัพยากร นั่นคือ ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ บุคคล อาหาร และทรัพยากร ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
6. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ อากาศ น้ำ ดิน ป่าไม้ ความสวยงานทางธรรมชาติ
ซึ่งจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 แห่งราชอาณาจักรไทย พอสรุปได้ว่า ตัวชี้วัดที่จะใช้วัดคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้น ประกอบด้วย
1. ตัวชี้วัดทางวัตถุวิสัย อันได้มาจากการสำรวจและสังเคราะห์จากข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งรวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลทางด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภค และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัววัดคุณภาพชีวิตของคนไทย
2. ตัวชี้วัดทางอัตวิสัย ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ
2.1 คุณภาพชีวิตด้านการทำงาน หมายถึง ความพึงพอใจในงาน / อาชีพ ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความก้าวหน้าของงานที่ทำอยู่ ความพึงพอใจในรายได้
2.2 คุณภาพชีวิตด้านครอบครัว หมายถึง ความพึงพอใจเกี่ยวกับความผูกพัน การช่วยเหลือ และความรับผิดชอบต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
2.3 คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความเครียด หมายถึง อาการทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่แสดงออกมา อันจะบ่งบอกถึงภาวะของสุขภาพและระดับความเครียดของจิตใจ
2.4 คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความรู้สึกทางกายที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณใกล้บ้าน
2.5 คุณภาพชีวิตด้านความเป็นอยู่ประจำวัน หมายถึง ความพอใจต่อการได้รับการให้บริการที่ดีของรัฐในด้านการศึกษา คมนาคม สาธารณสุข สาธารณูปโภคต่าง ๆ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
การพัฒนาคน คือ การพัฒนาชาติ ความสำคัญของการพัฒนาคนถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ เพราะความสำเร็จทั้งในระดับเล็กหรือองค์กรและในระดับชาติขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคคลเป็นสำคัญ องค์กรใดหากมีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง มีคุณธรรม จริยธรรม ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นำพาองค์กรหรือชาตินั้นไปสู่ความสำเร็จและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้นถือว่า เริ่มมีมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 เรื่อยมาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 ในปัจจุบัน เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนและสังคมให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่สังคมที่เป็นสุขร่วมกัน
ดังนั้น การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารงานของรัฐบาลจะพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ มากน้อยเพียงใด ประเทศจะพัฒนาหรือไม่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั่นเอง เพราะเมื่อมีการพัฒนาคนในชาติได้ผลก็จะทำให้ชีวิตคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศก็จะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั่นเอง
-------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น