วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

PA612: แนวสอบ รศ.ชลิดา: ชุมชนเข้มแข็ง : บทบาทในการพัฒนาคนและพัฒนาชาติ

โดย กลุ่ม sup_ant@hotmail.com
------------------------------
สังคมไทยประกอบด้วย ชุมชน หมู่บ้าน ทั้งชุมชนในเขตชนบทและเขตเมืองซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ ของประเทศเป็นชุมชนชนบท จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกชั้นของสังคม ประเด็นเรื่องชุมชนเข้มแข็ง จึงได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นอันมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ตามหลักปรัชญาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยการเพิ่มศักยภาพของคนและชุมชนให้เข้มแข็ง มีความพร้อม ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ชุมชนความเข้มแข็งจึงเป็นฐานสำคัญในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข็มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพและเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี” ซึ่งได้กำหนดพันธกิจของการพัฒนาประเทศ ในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คุณธรรม นำความรอบรู้อย่างเท่าทัน มีสุขภาวะที่ดีอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้ดุลยภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) การจัดเตรียมแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 มีความต่อเนื่องจากแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 - 10 โดยยังคงยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” และ “สร้างสมดุลการพัฒนา” โดยได้ยึดวิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2570 เป็นเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลให้บรรลุการพัฒนาที่อยู่บนรากฐาน ของสังคมไทย อยู่บนกรอบแนวคิดของการพัฒนาบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักของความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ ครอบครัว มีความสุขเป็นพื้นฐานที่สร้างคนเป็นคนดี ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขัน มีการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีกฎระเบียบและกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเป็นธรรม และประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศภูมิภาคและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ความหมายของชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชน หมายถึง กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกัน และมีการติดต่อสื่อสารเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นปกติต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการอยู่ในพื้นที่ร่วมกันหรือมีอาชีพร่วมกันหรือการประกอบกิจการซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันหรือการมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน
(นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) โดยความเป็นชุมชนอาจหมายถึงการที่คนจำนวนหนึ่งเท่าใดก็ได้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสารหรือรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้ร่วมกัน ในการกระทำ มีการจัดการ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน (ศ.นพ.ประเวศ วะสี)
จากความหมายข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนมีความหมายมากกว่าการที่คนแต่ละคนมาอยู่ร่วมกัน แต่ได้สร้างความสัมพันธ์กันโดยมีหลักการ เงื่อนไข กติกา ซึ่งเราเรียกโดยรวมว่าระเบียบบรรทัดฐานของการ อยู่ร่วมกัน ชุมชนจึงมีลักษณะเป็นองค์กรทางสังคมที่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ของสมาชิก และสามารถช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกันได้
ความเข้มแข็งของชุมชน หมายถึง การที่ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของเมืองหรือชนบทรวมตัวกันเป็น “องค์กรชุมชน” โดยมีการเรียนรู้ การจัดการและการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชุมชนแล้วถึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนตลอดจนมีผลกระทบสู่ภายนอกชุมชนที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยจะเรียกชุมชนนี้ว่า กลุ่ม ชมรม สหกรณ์ บริษัท องค์กรชาวบ้าน เครือข่ายหรืออื่น ๆ ที่มีความหมายแสดงถึงการร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและด้วยความเอื้ออาทรต่อชุมชนอื่น ๆ ในสังคมด้วย
ชุมชนเข้มแข็งจึงหมายถึง ชุมชนที่มีลักษณะดังนี้
1) ชุมชนมีการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งดี
2) ชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น
3) ชุมชนพึ่งตนเองได้
4) ชุมชนมีผู้นำตามธรรมชาติ
การส่งเสริมกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤต โดยพัฒนาศักยภาพให้คนในชุมชนรวมกลุ่มกันร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรักษาผลประโยชน์ของชุมชน ด้วยตนเอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานของบุคลากรภาครัฐจากการเป็นผู้สั่งการเป็นผู้สนับสนุนในการจัดการและแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะ “ร่วมคิด ร่วมทำ และ ร่วมเรียนรู้” เพื่อส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบด้วยกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนได้มีการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาสวัสดิการสังคมและสวัสดิภาพของชุมชนการฟื้นฟูอนุรักษ์และจัดการทัพยากรธรรมชาติของชุมชน การค้นหาศักยภาพและ การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน รวมทั้งการสร้างประชาคมภายในชุมชนและการสร้างเครือข่ายของชุมชน
กระบวนการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยสามารถแก้ไขได้ทุกๆ ด้าน ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิตและการบริโภคในชุมชน กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจของชุมชน
ด้านสังคมและองค์กรชุมชน ได้แก่ การจัดการและการบริหารองค์กรชุมชนความสัมพันธ์ภายในองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน
ด้านวัฒนธรรมและการเรียนรู้ ได้แก่ การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน การจัดการตนเองทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระบวนการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมคนหรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดประเด็นปัญหาของชุมชนและการพัฒนาทางเลือกเพื่อดำเนินกิจกรรม
ขั้นตอนที่ 3 การดำเนินกิจกรรมของชุมชน
ขั้นตอนที่ 4 ขยายเครือข่ายความร่วมมือ
กระบวนการจัดการที่สำคัญ 7 ประการ เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพของการพัฒนาชุมชนนำไปสู่ความเข้มแข็งประกอบด้วย
(1) กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
(2) กระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้
(3) กระบวนการการฟื้นฟู ผลิตซ้ำและสร้างใหม่
(4) กระบวนการใช้สิทธิชุมชนและข้อบัญญัติของชุมชน
(5) กระบวนการตัดสินใจร่วมกันของชุมชน
(6) กระบวนการของเครือข่ายการพัฒนา
(7) กระบวนการด้านการจัดการตนเอง
บทบาทของชุมชนเข้มแข็งชุมชนเข้มแข็งที่มีต่อการพัฒนาคน
1. ส่งเสริมด้านการศึกษาและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ในอาชีพ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
2. ด้านบริการสาธารณสุข การป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ และการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้าของคนในชุมชน
3. ขยายศักยภาพเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง โดยการสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยนและสื่อสารข้อมูลของคนในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น วางแผน และร่วมดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน
4. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่คนในชุมชน เช่น การจัดตั้งกองทุนชุมชนทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนสามารถ หรือกองทุนด้านสวัสดิการ เงินทุน ฌาปนกิจ ทุนการศึกษา เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
5. ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตย รวมทั้งการปลูกจิตสำนึก การมีส่วนร่วมและการแสดงออกทางการเมืองของคนในชุมชน
6. บทบาทในการดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็กกำพร้าขาดผู้อุปการะ เป็นต้น ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เคารพในศักดิ์ศรีของตนเอง และรู้จักพึงตนเอง
7. บทบาทในการเฝ้าระวัง สอดส่อง และดูแล เยาวชนในชุมชน ทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
8. บทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการกระจาย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็น
5. บทบาทของชุมชนเข้มแข็งชุมชนเข้มแข็งที่มีต่อการพัฒนาชาติ
ชุมชนเป็นรากฐานของประเทศ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่สำคัญในการสร้าง ความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ถ้ารากฐานเข้มแข็งหรือแข็งแรง ประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วย การพัฒนาชุมชน (Community Frbrlopmrny) แตกต่างกับกับการพัฒนาโดยทั่วไป คือ
1. ปรัชญาการพัฒนาชุมชนมุ่งพัฒนาและให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ เศรษฐกิจ หรือพื้นที่เป็นหลัก
2. การพัฒนาชุมชนเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนอย่างมาก แต่การพัฒนาโดยทั่วไปไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนมากเท่าที่ควร หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พอเป็นพิธี หรือเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
3. การพัฒนาชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองและปกครองตนเอง โดยรัฐคอยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในขณะที่การพัฒนาโดยทั่วไปมีส่วนสำคัญ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐหรือบุคคลภายนอก
4. การพัฒนาชุมชนเน้นขั้นตอนการดำเนินการ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด การตัดสินใจ การวางแผน ลงมือปฏิบัติและการประเมินผล แต่การพัฒนาโดยทั่วไปมุ่งที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก เป็นต้น
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยมุ่งพัฒนาคนเป็นหลักและนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย การพัฒนาที่แท้จริงจะต้องไม่แยกส่วน แต่ต้องมีความเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการเรียนรู้เข้ามาด้วยกันเป็นบูรณาการ การพัฒนาอย่างบูรณาการ ทำให้เกิดความสมดุล พอเพียงและยั่งยืน
ดังนั้น แนวทางการในปฏิรูปประเทศและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกภาคส่วนของสังคมปัจจุบัน จะเน้นไปที่กระบวนการพัฒนาชุมชน และองค์กรชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เป็นกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก ส่งเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ของกลุ่มองค์กรชุมชน ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการพัฒนาประเทศได้โดยอาศัยความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดวิถีทางในการปฏิรูปและการพัฒนาชาติ โดยอาศัยพลังของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน
------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น