วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

PA612: แนวสอบ รศ.ชลิดา: การพัฒนามนุษย์ในประเทศไทย

โดย กลุ่ม 6
--------------------------------
การพัฒนามนุษย์ (HUMEN DEVELOPMENT) หมายถึง การส่งเสริมให้คนมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ มีสุขภาพดีและมีความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งมีเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ย่อมจำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และสามารถเข้าถึงเครื่องมือสำคัญการเพิ่มสมรรถนะของตนเองได้ ทั้งนี้ แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ สามารถจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่ การพัฒนาระดับชาติ การพัฒนาระดับองค์กร และการพัฒนาระดับบุคคล
การพัฒนามนุษย์ในประเทศไทย
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรอบการพัฒนา
เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ แต่ละแผนฯ มีระยะเวลาประมาณ ๕ ปี ปัจจุบันอยู่ในฉบับที่ ๑๐ (๕๐ – ๕๔) โดยจุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดแนวคิดการพัฒนาคน “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” เกิดจาก ผลการพัฒนาประเทศในช่วงแผนฯ ๑ – ๗ ที่ถึงแม้จะมีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค แต่กลับพบว่าเกิดปัญหาด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ ความเจริญเติบโตกระจุกตัวอยู่ในเมืองไม่กระจายสู่ชนบท รายได้ต่อหัวของประชากรระหว่างคนรวยกับคนจน คนในเมืองกับชนบทต่างกันมาก เกิดการละทิ้งภูมิลำเนาไปรับจ้างในเมือง การบริหารราชการเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจบริหารอยู่ในส่วนกลางไม่มีการกระจายอำนาจ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย สภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดการเสื่อมสลายทางวัฒนธรรม จึงอาจสรุปได้ว่า “เศรษฐกิจก้าว หน้าสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการวางแผนในช่วงแผนฯ ๘ จากการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ มาเป็นการเน้นให้ผลการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อตัวคน หรือ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” พร้อมทั้งเปลี่ยนวิธีการวางแผนจากต่างคนต่างทำเป็นการร่วมมือร่วมใจกัน เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งยึดพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาต่อเนื่องมาถึงแผนฯ ๙ และแผนฯ ๑๐
การพัฒนามนุษย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ มีหลายมาตรที่บัญญัติเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ อาทิ
มาตรา ๔๙ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มาตรา ๕๑ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม (สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย /ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ /พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ) มาตรา ๘๓ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาตรา ๘๗ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
๒. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (๒๕๕๐-๒๕๕๔)
ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการในทุกขั้นตอนของแผนฯ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคน ดังนี้ ให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับตนเองที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย โดยเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเป็น ๑๐ ปี พัฒนากำลังแรงงานระดับกลางที่มีคุณภาพเพิ่มเป็นร้อยละ ๖๐ ของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๕ และเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยเป็น ๑๐ คน ต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน พร้อมทั้งกำหนดให้อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเป็น ๘๐ ปี ควบคู่กับการลดอัตราเพิ่มของการเจ็บป่วยด้วยโรคป้องกันได้ใน ๕ อันดับแรก คือ หัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง และหลอดเลือดสมองและนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และลดรายจ่ายด้านสุขภาพร้อยละ ๑๐
๓. แผนงาน/โครงการด้านการพัฒนามนุษย์ของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงาน
ราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๕๐ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ อาทิ แผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ
ดัชนีตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ที่นิยมใช้ในสังคมไทย เป็นที่ยอมรับเนื่องจากมีการใช้และพัฒนาเครื่องมือคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง มีเกณฑ์และตัวชี้วัดการพัฒนา ประกอบด้วย ดัชนีความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ดัชนีชี้วัดครอบครัวผาสุก ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข ดัชนีชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ดัชนีชี้วัดกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) ทั้งนี้ HDI และ HAI เป็นตัวชี้วัดที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ
แนวคิดการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยในอนาคต
๑. แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน
ประชากรของประเทศนับว่าเป็นปัจจัยหลักสำหรับการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นได้จากนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นล้วนต้องอาศัยทุนมนุษย์ ทั้งนี้ แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน เป็นแนวความคิดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ตามที่ UNFPA ได้รวบรวมคำอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืนดังนี้ “การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่กระจายประโยชน์ของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงตลอดจนเป็นการพัฒนาที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นและในระดับโลกโดยรวมเพื่อชนรุ่นหลัง และเป็นการพัฒนาที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างแท้จริง”
๒. นโยบายของรัฐบาลด้านพัฒนาคน
นโยบายของรัฐบาลควรมีเป้าหมายของการพัฒนาคือการทำให้คนมีความสุข ซึ่งจะต้อง
ประกอบด้วย การมีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวที่อบอุ่น มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสังคมที่สันติและเอื้ออาทร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ รวมถึงอนุรักษ์ส่งเสริมทุนทางสังคมที่เข้มแข็งของประเทศไทยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงและยั่งยืนได้ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเร่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาให้มีความรู้และจริยธรรม และเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการเรียนการสอนทุกรูปแบบ
๓. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑
กรอบแนวคิดของแผนฯ ฉบับที่ ๑๑ เป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุถึงวิสัยทัศน์ระยะยาว โดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง และคำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนา หลักการสำคัญ คือ พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา พัฒนาประเทศสู่ความสมดุลในทุกมิติ ยึดวิสัยทัศน์ปี ๗๐เป็นเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลให้บรรลุ การพัฒนาที่อยู่บนรากฐานของสังคมไทย อยู่บนกรอบแนวคิดของการพัฒนาบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักของความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ ครอบครัวมีความสุขเป็นพื้นฐานที่สร้างคนเป็นคนดี
แผนฯ ๑๑ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันทั้งเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และเสริมรากฐานของประเทศด้านต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประเทศสามารถเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ที่ลำดับความสำคัญสูง ในมิติสังคมเน้นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เชื่อแน่ว่าหากประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนามนุษย์ที่วางไว้ เชื่อว่าการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยจะต้องประสบความสำเร็จ นำไปสู่สังคมที่ดี ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและธรรมชาติที่ดี เป็นไปตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี ๗๐ อย่างแน่นอน

--------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น