วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

PA601: บทสรุป NPS ผ.ศ.เสาวลักษณ์ สุขวิรัช

คัดลอกบางส่วนจากบทความ "ทางสองแพร่งของจริยธรรมการบริหาร" ของ ผ.ศ. เสาวลักษณ์ สุขวิรัช จากการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 7 (พ.ศ. 2549
http://humannet.chandra.ac.th/pa/morals_politic/2way.doc
----------------------------------------------------------------------
สาระสำคัญของแนวทางการบริหารแบบ NPS (3: 549-560) (New Public Services)
1. รับใช้มากกว่าการถือหางเสือ (Serve, rather than steer.)
บทบาทที่มีความสำคัญมากขึ้นของข้าราชการ คือ ช่วยให้ประชาชนได้แสดงความต้องการร่วมกันของเขาออกมา และช่วยเขาให้ได้บรรลุความต้องการนั้น มากกว่าที่จะควบคุมหรือชักนำสังคมไปในทิศทางใหม่ ๆ ที่รัฐต้องการ นโยบายสาธารณะไม่ได้เกิดจากกระบวนการตัดสินใจของรัฐเท่านั้น แต่ในยุคใหม่นโยบายสาธารณะเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มต่าง ๆ และผลประโยชน์ที่หลากหลาย รัฐทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนและภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่ชุมชนต่าง ๆประสบ บทบาทของรัฐเปลี่ยนจากการควบคุมมาเป็นการกำหนดระเบียบวาระ นำผู้เล่น (ภาคเอกชนและภาคประชาชน) มาสู่โต๊ะเจรจา ช่วยอำนวยความสะดวก เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เป็นนายหน้าช่วยขบคิดปัญหา และเป็นอนุญาโตตุลาการ บทบาทข้าราชการจึงไม่ใช่แค่ให้บริการประชาชนเท่านั้น บทบาทใหม่ ๆ เหล่านี้ทำให้ข้าราชการต้องฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เช่น การเจราจาไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาทและความขัดแย้ง เป็นต้น

2. ผลประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายหลักไม่ใช่ผลพลอยได้ (The public Interest is the aim, not the by-product.)
นักบริหารรัฐกิจจะต้องช่วยให้เกิดผลประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนต้องการร่วมกัน (Shared public interest) และช่วยสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่หาทางออกง่าย ๆ โดยการสนองตอบความต้องการของคนใดคนหนึ่ง วิสัยทัศน์ของชุมชนและสังคมต้องเกิดจากการจากพูดคุยกันและมีการกำหนดร่วมกัน ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำ และที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องรับประกันว่าทางเลือกที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานในด้านความยุติธรรม ความเป็นธรรม และความเสมอภาค กล่าวโดยสรุป ทั้งกระบวนการ (Process) นโยบาย และเนื้อหา (Substance) ของนโยบาย ซึ่งเป็นทางออกของปัญหาต้องอยู่บนความถูกต้อง และคำนึงถึงประโยชน์ทั้งในวงกว้างและในระยะยาวของชุมชนและสังคม

3. คิดในเชิงยุทธศาสตร์และปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย (Think strategically, Act democratically.)
นโยบายและแผนการต่าง ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของส่วนรวมได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อที่จะให้บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ร่วมกัน จึงต้องมีการกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่าง ๆ ในทางปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ใช่ภาระของรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงได้ และแสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน และรับใช้ประชาชน การให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติจึงเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนและทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ

4. รับใช้พลเมือง ไม่ใช่ลูกค้า (Serve citizen, not customers.)
เนื่องจากผลประโยชน์สาธารณะเป็นผลมาจากเจรจาการตกลงกัน
เกี่ยวกับค่านิยมที่มีร่วมกันมากกว่าจะเป็นการนำเอาผลประโยชน์ของแต่ละรายมารวมกัน ดังนั้น ข้าราชการไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการของ “ลูกค้า” เท่านั้น แต่เน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ในเชิงความไว้วางใจและความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างพลเมือง

แนวคิด NPS ตระหนักดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองของตนไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจกับลูกค้า ในการบริหารรัฐกิจเรามักจะมีปัญหาว่าใครคือลูกค้า เพราะรัฐบาลไม่เพียงแต่รับใช้ผู้ที่มารับบริการ (Immediate client) เท่านั้น แต่ยังต้องรับใช้คนอื่น ๆ ซึ่งอาจรอคอยบริการอยู่ หรือคนซึ่งอาจต้องการรับบริการแม้เขาจะไม่เข้ามาขอรับบริการโดยตรง เช่น เด็กเร่ร่อน ขอทาน หรือคนในรุ่นอนาคต เช่น เด็กที่กำลังจะเกิด หรืออาจจะเป็นลูกค้าที่ไม่อยากเป็นลูกค้า เช่น พวกที่โดนใบสั่งจราจรเป็นต้น

นอกจากนี้ลูกค้าบางคนของรัฐบาลอาจมีทรัพยากรเหนือกว่า และมีความสามารถมากกว่าในการเรียกร้องบริการ ซึ่งถ้าอยู่ในภาคเอกชนก็อาจจะได้รับบริการที่ดีกว่า แต่จะไม่เป็นการยุติธรรมถ้าเป็นการให้บริการของรัฐ เพราะในภาครัฐนั้น ความเป็นธรรมและความเสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญ

แนวคิด NPS เสนอว่ารัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ แก่ผลประโยชน์ระยะสั้นของลูกค้าและลูกค้าที่เห็นแก่ตัว และมองว่าพลเมืองต้องมองอะไรที่กว้างไกลกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวในระยะสั้น ต้องเห็นแก่ส่วนรวมและเต็มใจที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องสนองตอบต่อความต้องการและผลประโยชน์ของพลเมือง และรวมถึงปัจเจกชนที่อาจไม่ใช่พลเมืองตามกฎหมาย เช่น คนต่างด้าวด้วย โดยการกระตุ้นให้เขาเข้าร่วมในชุมชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมรับผิดชอบในฐานะพลเมือง และรัฐบาลต้องรับฟังเสียงของพลเมือง

5. การถูกตรวจสอบไม่ใช่เรื่องง่าย (Accountability isn’t simple.)
ข้าราชการไม่เพียงแต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ค่านิยมของชุมชน บรรทัดฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มาตรฐานทางด้านวิชาชีพ และผลประโยชน์ของพลเมือง


6. ให้คุณค่ากับคน ไม่ใช่แต่เฉพาะผลิตภาพเท่านั้น (Value people, not just Productivity.)
งานราชการจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมแรงร่วมใจและการให้ความสำคัญกับทุก ๆ คน แนวคิด NPS ให้ความสำคัญกับ “การจัดการโดยผ่านคน” (Managing through people) นักบริหารต้องให้ความสำคัญกับค่านิยมและผลประโยชน์ของสมาชิกในองค์การ ถ้าข้าราชการถูกคาดหวังให้ปฏิบัติต่อพลเมืองด้วยความนับถือ ข้าราชการเหล่านั้นก็จะต้องถูกปฏิบัติด้วยความนับถือจากผู้บริหารของหน่วยงานนั้นเช่นกัน ในแนวคิด NPS นั้นแรงจูงใจในการทำงานของข้าราชการมีมากกว่าค่าตอบแทนและความมั่นคงในงาน แต่ยังหมายรวมถึงความต้องการทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น การร่วมกันนำ (Shared leadership) ความร่วมแรงร่วมใจ (Collaboration) และการเพิ่มอำนาจกลายมาเป็นบรรทัดฐานทั้งภายในและภายนอกองค์การ การร่วมกันนำ (Shared leadership) จะเน้นที่จุดมุ่งหมาย (Goals) ค่านิยม (Values) และอุดมการณ์ที่องค์กรหรือชุมชนนั้น ๆ ต้องการไปให้ถึง ซึ่งจะต้องอาศัยความนับถือซึ่งกันและกัน การอำนวยความสะดวก และการให้การสนับสนุนกัน

7. ให้คุณค่าความเป็นพลเมืองและการบริการสาธารณะมากกว่าความเป็นเถ้าแก่ (Value citizenship and public service above entrepreneurship.)
ผลประโยชน์สาธารณะจะได้รับการตอบสนองโดยข้าราชการและพลเมืองที่เสียสละต่อสังคมมากกว่าโดยนักจัดการแบบเถ้าแก่ที่ทำราวกับว่าเงินหลวงคือเงินของตนเอง

แนวคิดแบบ NPM กระตุ้นให้นักจัดการภาครัฐคิดและทำราวกับว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการหรือเถ้าแก่เสียเอง ดังนั้นจึงทำให้คิดวัตถุประสงค์ได้แคบ ๆ แค่การเพิ่มผลิตภาพให้มากที่สุดและทำให้ลูกค้าพอใจ ยอมรับความเสี่ยงและรีบฉวยโอกาส แต่ในแนวคิด NPS นั้นมีการตระหนักว่านักบริหารรัฐกิจไม่ใช่เจ้าของกิจการและโครงการต่าง ๆ ดังเช่นที่คิงและสไตเวอร์เตือนเราว่า “พลเมืองเป็นเจ้าของรัฐบาล” (Government is owned by the citizens).

ดังนั้นนักบริหารรัฐกิจในแนวคิด NPS จึงต้องรับใช้ประชาชนโดยการเป็นคนเฝ้ารักษาสมบัติสาธารณะ (Stewards of public resources) เป็นคนปกปักรักษาองค์กรภาครัฐ (Conservators of public organization) เป็นคนจัดให้มีเวทีการพูดคุยอย่างเป็นประชาธิปไตยและด้วยความเป็นพลเมือง (Facilitators of citizenship and democratic dialogue) เป็นตัวเร่งให้ชุมชนมีส่วนร่วม (Catalysts for community engagement) และเป็นผู้นำในระดับธรรมดา (Street-level leaders) นักบริหารรัฐกิจต้องไม่เพียงแต่แบ่งปันอำนาจ ทำงานโดยผ่านคน และ เป็นคนกลางในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่นักบริหารรัฐกิจจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่กับบทบาทของตนในกระบวนการบริหารแบบประชาชนเป็นหุ้นส่วน (Governance process)ว่าตนเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น หาใช่เถ้าแก่ไม่

บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของนักบริหารรัฐกิจที่ได้กล่าวแล้วส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบของนักบริหารในประการแรก คือ นักบริหารต้องไม่เพียงรู้และจัดการทรัพยากรของหน่วยงานตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องรู้จักจะที่ติดต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขอความสนับสนุนและความช่วยเหลือ และนำพลเมืองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารด้วย ประการที่สอง นักบริหารไม่ใช่เจ้าของกิจการตัวจริงที่จะตัดสินใจโดยรู้ว่าผลของความล้มเหลวจะตกลงบนบ่าของตนเอง แต่ความเสี่ยงในภาครัฐแตกต่างจากภาคธุรกิจ ในแนวคิด NPS ความเสี่ยงและโอกาสอยู่ภายในกรอบใหญ่ของความเป็นพลเมืองแบบประชาธิปไตยและความรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นเมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ธุรกิจเดียวเช่นในภาคเอกชน นักบริหารรัฐกิจจึงไม่ควรตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวว่าอะไรดีที่สุดสำหรับชุมชน แต่ควรให้พลเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยมีการปรึกษาหารือกัน ร่วมมือกัน และรับผิดชอบร่วมกัน

กล่าวโดยสรุป แนวทางการบริหารแบบ NPS เสนอตัวแบบเชิงปทัสถานที่เน้นจริยธรรมการบริหารแบบประชาธิปไตย โดยการนำเสนอคุณค่าทางการบริหารที่แข่งขันและท้าทายคุณค่าหลักของแนวทางการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) ในการปฏิรูปการบริหารราชการ

แนวทางการบริหารแบบ NPS ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นพลเมือง” (Citizenship)ที่มีทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ และเรียกร้องให้ข้าราชการต้องรับใช้พลเมือง โดยต้องคิดเสมอว่าพลเมืองคือเจ้าของเรือหรือเจ้าของประเทศ ทั้งยังวิจารณ์ว่านักจัดการภาครัฐตามแนวคิด NPM ที่ทำตัวเป็นกัปตันเรือและถือหางเสือเรือ มีอำนาจมากจนอาจลืมตัวไปว่าเป็นเจ้าของเรือเสียเองและอาจคิดถึงผลประโยชน์ของตนมากกว่าของพลเมืองหรือของส่วนรวม แนวคิดนี้จึงเน้นให้ข้าราชการต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของพลเมืองเป็นลำดับแรก และในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการตอบสนองผลประโยชน์ของส่วนรวมนั้น ต้องให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือและร่วมรับผิดชอบ โดยนักบริหารรัฐกิจต้องกระตุ้นให้พลเมืองมีการรวมตัวกันเป็นชุมชน และประชาสังคมและจัดให้มีการพูดคุยตกลงกันโดยข้าราชการทำตัวเป็นคนกลางในการเจราจาไกล่เกลี่ย โดยต้องมองไปที่ประโยชน์ของส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งเพราะพลเมืองไม่ใช่ลูกค้า แนวคิดนี้ยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบจากภาคพลเมืองด้วย ( Democratic accountability) การบริหารราชการจึงไม่ใช่เรื่องของข้าราชการหรือของรัฐแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการร่วมมือกันทั้งฝ่ายรัฐและพลเมืองหรือที่เรียกว่า “การบริหารแบบพลเมืองเป็นหุ้นส่วน” (Governance system หรือ Democratic governance)

ในด้านการบริหารงานภายในองค์การนั้น แนวคิดนี้เรียกร้องให้มี (6:555-558)
1. ความเสมอภาคทางสังคมให้มากขึ้น (Greater of social equity) เช่น โอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกัน ค่าจ้างที่เป็นธรรม และสามารถแข่งขันได้กับภาคเอกชน
2. ให้มีการบริหารภายในระบบราชการที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเพิ่มอำนาจให้แก่ข้าราชการมากขึ้น (Democratization and empowerment) 3. ความสำคัญกับ “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่ทำงานในองค์การมากขึ้น (Humanization of public service) ซึ่งสะท้อนแนวคิดในเรื่องคุณภาพชีวิตในการทำงาน
---------------------------------------------------------------------
คิดว่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่มีประโยชน์...
Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น