วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

PA601: NPM สู่ NPS

สรุปย่อๆ จากแนวคิด NPM สู่ NPS
----------------------------------------------------
หมายเหตุ: คัดลอกมาจากบางส่วนของ Blog http://share.psu.ac.th/blog/pisan-surat/16628 ว่าที่ ร.ต.ไพศาล บรรจุสุวรรณ์
----------------------------------------------------
... จาก "การศึกษาการบริหารแยกออกจากการเมือง (politics-administration dichotomy)"
สู่ "การเมืองกับการบริหารมิอาจแยกออกจากกันได้"
สู่ "กำเนิดของการบริหารรัฐกิจใหม่ (New Public Administration : NPA)"
สู่ "การจัดการภาครัฐใหม่ (New Public Management : NPM)"
ที่เน้น 6 เรื่องหลัก ได้แก่
1) การปรับใช้หลักการจัดการนิยมของภาคเอกชนมาใช้กับการบริหารงานภาครัฐ
2) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
3) การแตกหน่วยงาน
4) การแข่งขัน
5) การกระจายอำนาจ
6) และการมอบอำนาจให้กับพลเมือง

จนกระทั้งแนวคิด NPM ได้รับการวิพากษ์ เช่น ประเด็นการเปลี่ยนสถานะประชาชนพลเมือง ให้กลายเป็นเพียง "ลูกค้า" ตามวิธีคิดแบบธุรกิจเอกชน โดยมองข้ามความเป็นพลเมืองในฐานะผู้ที่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรับรอง ทั้งในแง่สิทธิ ความคุ้มครอง และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค โดยที่บางกรณีผู้ที่ไม่เสียภาษี รัฐจำต้องให้การยกเว้น เช่น คนชรา เด็ก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม (ผู้พิการช่วยตนเองไม่ได้ เป็นต้น)

ลักษณะดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่วิพากษ์แนวคิดแบบ NPM มองว่า การยึคแนว NPM ก็คือ การลดฐานะของประชาชนเป็นเพียง "ลูกค้า" และในกรณีที่ "ลูกค้า" ไม่จ่ายค่าบริการ/ภาษี เขาก็อาจจะไม่ได้รับบริการ หรือแม้จะได้รับบริการก็อาจเป็นบริการที่ไม่เท่าเทียมเสมอภาค

ในแง่นี้ อาจารย์อัมพร จึงได้นำข้อเสนอของ เดนฮาร์ท (Denhardt) ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการบริหารรัฐกิจที่ควรได้รับการพิจารณา เพราะ "มุ่งเน้นที่พลเมือง" (Citizen - First) เพื่อประโยชน์ในการสร้างชุมชนที่มีความใกล้เคียงกับประชาสังคม (Civil Society) ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยให้ชื่อว่า สู่ "การบริการสาธารณะใหม่ (New Public Service)"

แนวคิดนี้มีหลักสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
1) ให้บริการพลเมืองมิใช่ลูกค้า
2) แสวงหาผลประโยชน์สาธารณะ
3) เห็นคุณค่าของความเป็นพลเมือง (Citizenship) และการบริการสาธารณะเหนือการเป็นผู้ประกอบการ
4) คิดเชิงกลยุทธ์ กระทำอย่างเป็นประชาธิปไตย
5) ตระหนักถึงความยากลำบากในการสร้างความรับผิดชอบได้
6) เป็นผู้นำในการให้บริการโดยยึดคุณค่าทางสังคมมากกว่าจะเป็นผู้กำกับ (steer) หรือควบคุม (control) ทิศทางของสังคม
7) เห็นคุณค่าของ "ประชาชน" โดยการสร้างหน้าต่างแห่งโอกาส และเปิดประตูสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น
----------------------------------------------------

ขยายความต่ออีกนิด...
จากบทความ "ทางสองแพร่งของจริยธรรมการบริหาร" ของ ผ.ศ. เสาวลักษณ์ สุขวิรัช จากการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 7 (พ.ศ. 2549
----------------------------------------------------
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) มีรากฐานจากทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์แนวประจักษ์นิยมมองข้าราชการว่าเป็นนักเทคนิคที่มีเหตุผลเชิงเศรษฐกิจหรือเป็นผู้ตัดสินใจที่ยึดผลประโยชน์ส่วนตัว มองว่าผลประโยชน์สาธารณะเกิดจากผลประโยชน์ของปัจเจกชนหลาย ๆ คนรวมกัน มองประชาชนเป็นลูกค้า มองว่านักบริหารเป็นคนถือหางเสือเรือที่คอยกำหนดทิศทาง (Steering) มองว่าต้องสร้างกลไกและการจูงใจในการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายโดยผ่านหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นที่ไม่หวังผลกำไร ข้าราชการต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าซึ่งเรียกร้องให้ข้าราชการตอบสนองผลประโยชน์ของพวกตน ข้าราชการมีดุลยพินิจได้มากเพื่อให้จุดมุ่งหมายของกิจการ (Enterprise) บรรลุผล มีการกระจายหน่วยงานออกไปโดยอำนาจในการควบคุมหน่วยงานเหล่านั้นยังอยู่ที่ต้นสังกัด แรงจูงใจของข้าราชการหรือนักบริหารอยู่ที่จิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneurial spirit) และการลดขนาดของระบบราชการ

การบริการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Service) ให้ความสำคัญกับ “ประชาธิปไตย” ว่าเป็นคุณค่าหลักที่สำคัญ แนวทางนี้มีรากฐานจากทฤษฎีเกี่ยวกับประชาธิปไตย และแนวทางอื่น ๆ ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งรวมถึงแนวทางแบบประจักษ์นิยม แนวทางการ ตีความ แนวทางเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และแนวทางแบบโพสต์โมเดิร์น มองข้าราชการว่าเป็นคนมีเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เหตุผล ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และองค์การ มองผลประโยชน์สาธารณะว่าเป็นผลจากการพูดคุยเกี่ยวคุณค่าที่มีร่วมกัน มองประชาชนว่าเป็นพลเมืองซึ่งมีทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ นักบริหารหรือข้าราชการมีบทบาทรับใช้ประชาชน (Serving) เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศตัวจริง ข้าราชการต้องมีบทบาทในการเจรจาไกล่เกลี่ย และเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดค่านิยมร่วมกันในหมู่พลเมือง ชุมชน และกลุ่มต่าง ๆ กลไกที่จะทำให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของนโยบายคือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้บรรลุผลที่ตกลงร่วมกัน มองว่ากลไกการตรวจสอบมีหลากหลาย ทั้งด้านกฎหมาย ค่านิยมของชุมชน บรรทัดฐานทางการเมือง มาตรฐานทางด้านวิชาชีพ และผลประโยชน์ของพลเมือง ข้าราชการควรมีดุลยพินิจแต่ต้องมีการควบคุมและตรวจสอบ โครงสร้างองค์การควรเป็นแบบร่วมมือกันโดยมีผู้นำร่วมทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ ส่วนปัจจัยจูงใจข้าราชการและนักบริหารคือการได้รับใช้ประชาชนและการได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม
----------------------------------------------------
หวังว่าคงพอเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะ
Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น