วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แผนที่อาคาร สอบ PA601: แนวข้อสอบ 1

เรียน เพื่อน รป.ม. 3 หัวหมาก ห้อง 1 ทุกท่าน
ขอนำเสนอแนวข้อสอบ PA601 โดยคร่าวๆ (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมเองนะ)
ได้มาจาก internet ของรุ่นพี่ รป.ม. ผู้ใจดี

พบกันวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. 2553 ณ อาคารนพมาศ ชั้น 5 ห้อง 501

-----------------------------------------------------
แนวข้อสอบ รศ.ดร.สุพิณ เกชาคุปต์
- การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) คืออะไร
- แตกต่างจากแนวเก่าอย่างไร
- มีลักษณะพิเศษอย่างไร
- มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
- มีเครื่องมือและหลักการอย่างไร
- มีสาระสำคัญอย่างไร
- มีหลักปฏิบัติและสามารถจะนำไปใช้ได้อย่างไร

แนวตอบ
การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) NPM เป็นการลดบทบาทภาครัฐ ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในจัดทำผลิตสินค้าและ บริการ เพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาจ้างให้ผลิตสินค้าและบริการบางประเภทเพื่อยุติการผูกขาดในภาครัฐ อันเป็นสาเหตุสำคัญของการไม่มีประสิทธิภาพ

ยกระดับการปฏิบัติงานในการผลิตสินค้าและบริการ ปรับปรุงการจัดการทรัพยากร มนุษย์ เช่น รับบุคลากรที่มีคุณภาพ ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงาน การพัฒนาบุคคล การให้อำนาจแก่พนักงานในการตัดสินใจ ให้ความสนใจที่ผลของการปฏิบัติงาน (Output) มากกว่าวิธีการ

ความแตกต่างจากแนวเก่า
แบบเดิม INPUT ---> กระบวนการ ---> OUTPUTS
แบบใหม่ INPUT <--- กระบวนการ <--- OUTPUTS + OUTCOMES กล่าวคือการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) เป็นหลักการบริหารที่เน้น input และ process หรือกระบวนการ และเน้น output และ outcome ลักษณะพิเศษของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management)
องค์ประกอบของ การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) มี 7 ประการ ที่ให้ความสำคัญประเด็น “การจัดการ” ดังนี้
1.ใช้มืออาชีพมาจัดการ
2.กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการประเมินผลงาน
3.ควบคุมผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ
4.แบ่งองค์กรให้เล็กลง เพื่อให้มีอิสระในการจัดการตนเองทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
5.ใช้การแข่งขันผลักดันให้เกิดมาตรฐานที่ดีขึ้นและต้นทุนต่ำลง
6.ใช้วิธีการเอกชน คือมีความยืดหยุ่นในการจ้างคน และให้รางวัลขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงาน
7.เน้นวินัยและความประหยัดในการใช้ทรัพยากร พิจารณาความคุ้มค่า ยึดหลัก “ทำให้มากขึ้นแต่ใช้น้อยลง”

ข้อดีและข้อเสียของการใช้ การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management)
ข้อดี
1. ประชาชนในฐานะผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น
2. โครงสร้างองค์การมีขนาดที่เล็กลง มีความคล่องตัว มีความอิสระสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. มีระบบบริหารราชการที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
4. มีระบบกฎหมายที่เป็นธรรมและวางใจได้
5. การนำการบริหารแบบเอกชนมาใช้ในเรื่องการเงิน บุคลากร เทคโนโลยี ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า
6. ช่วยให้มีการประสานวัตถุประสงค์ทั่วทั้งองค์การ
7. การมีแผนปฏิบัติที่มุ่งเป้าหมายดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า
8. ทำให้บุคลากรทุกคนรู้ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรอยู่ส่วนไหนขององค์กรมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จขององค์กรอย่างไร
9. บุคลากรมีอิสระพอสมควรในการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานะของตนเอง
10. ช่วยให้บุคลากรรู้ถึงข้อบกพร่องของตนเองและปรับปรุงตนเองให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา
11. ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการประเมินผลงาน
12. มีระบบข้อมูลที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้
13. ทำให้องค์กรได้ปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ

ข้อเสีย
- จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อรัฐให้เอกชนมาดำเนินการจะไม่แสวงหากำไรเข้าตนเอง
1. มองข้ามความสำคัญของปัจจัยโครงสร้างที่เป็นความสัมพันธ์ของอำนาจหน้าที่
2. การให้อำนาจผู้บริหาร อาจก่อให้เกิดการทุจริต
3. ปัญหาการวัดผลงานต้อง โดยละเอียดและด้วยความระมัดระวัง
4. ปัญหาด้านเวลาและการจัดทำเอกสาร
5. ปัญหาเรื่องความร่วมมือประสานงาน

เครื่องมือและหลักการของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management)
1.การบริหารเชิงกลยุทธ์
2.การจัดการไม่ใช่การบริหาร
3.เน้นผลสัมฤทธิ์
4.การปรับปรุงการบริหารงบประมาณ
5.ความยืดหยุ่นในการจ้างงาน
6.ความยืดหยุ่นในการจัดองค์การ
7.การใช้สัญญาจ้าง
8.การใช้วิธีการจัดการแบบธุรกิจ
9.การแยกแยะระหว่างผู้ซื้อกับผู้จัดหา
10.ความสัมพันธ์กับประชาชน
11.ความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมือง
12.การแปรสภาพเป็นเอกชน

หลักการของการจัดการภาครัฐแนวใหม่
NPM จะใช้การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ RBM เป็นเครื่องมือในการบริหาร RBM เป็นการเปรียบเทียบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง กับเป้าหมายที่กำหนด โดยการประเมินผล อาศัยตัวชี้วัดสะท้อนผลงานออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลคุ้มค่า รวมถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้รับบริการ

RBM เป็นเครื่องมือการบริหารที่มาพร้อม NPM ที่คำนึงถึงประชาชนและผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้การทำงานภาครัฐ เน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่าเน้นปัจจัย กระบวนการทำงาน และกฎระเบียบที่เคร่งครัดวัดผลเป็นรูปธรรม

RBM ให้ความสำคัญกับการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานชัดเจน วัดความก้าวหน้าได้ และต้องคุ้มค่าในการใช้ภาษี และงบประมาณแผ่นดิน สาระสำคัญของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) NPM (Pollit, 2001 โดย โอเว่น พิวท์)

1.การเปลี่ยนแปลงหลักการบริหารที่เน้น ผลผลิตและผลลัพธ์ แนวเก่าเน้นที่ทรัพยากรนำเข้า หรือทรัพยากรที่ใช้ในการบริหาร หรือกระบวนการทำงาน
2.การสร้างระบบการวัดผลงาน การกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐาน
3.มีโครงสร้างองค์การที่กะทัดรัด แบนราบ เป็นอิสระ แทนความใหญ่โต รุ่มร่าม
4.สร้างสายสัมพันธ์แบบสัญญา (จ้าง) มากกว่าสายการบังคับบัญชา
5.ใช้กลไกการตลาดในการจัดทำบริการสาธารณะ
6.เส้นแบ่งระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่ชัดเจน เนื่องจากความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนมีมากขึ้น
7.ค่านิยม เช่น หลักสากล เสมอภาค มั่นคง ลดความสำคัญลงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ

หลักปฏิบัติตามการจัดการภาครัฐแนวใหม่ และการนำไปใช้ใช้จริง แนวทางการปฏิรูประบบราชการไทย
เหตุผลความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการไทย จากสถานการณ์และสภาพปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน เกิดปัญหาสังคมอ่อนแอ แรงกดดันจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก (เสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและปกครองประเทศ) ประชาชนมองระบบราชการเป็นระบบที่ล้าหลัง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคราชการมีขนาดใหญ่เกินไป ทำงานในลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ทำงานโดยยึดติดกับวิธีการมากกว่าผลลัพธ์ของงาน

จุดมุ่งหมายในการปฏิรูประบบราชการ
เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ดี มีความสุข สังคมไทยมีเสถียรภาพ ประเทศชาติมีเกียรติภูมิ มีความสามารถสูงในการแข่งขันกับเวทีโลก

ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาระบบราชการ ในการปฏิรูประบบราชการไทย มีดังนี้
1.การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและวิธีการทำงานนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้อย่างแท้จริง
2.มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเน้นการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเชิงบูรณาการ ทำงานประสานร่วมมือกัน
3.การรื้อปรับระบบการเงินและงบประมาณ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบและประเมินผลได้ทุกระดับ
4.การสร้างระบบการบริหารบุคคลและค่าตอบแทนใหม่ พัฒนาและปกป้องระบบคุณธรรมในวงราชการ
5.การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ความรู้สึกผูกพันต่อพันธกิจ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม คิดอย่างเป็นระบบ
6.การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ในการบริหารงานราชการ
7.การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม การเสนอความคิดเห็น ร่วมปฏิบัติงานและตรวจสอบผลการดำเนินงาน

แนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราชการให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและการจัดการภาครัฐแนวใหม่ มีดังนี้
1.ทำหน่วยงานให้เล็กลงโดยการลดภารกิจ และกระจายงานให้เอกชน ให้ท้องถิ่น
2.รัฐบาลมีวิสัยทัศน์และความยืดหยุ่น กำหนดวิสัยในอนาคต ไม่ยึดติดสายการบังคับบัญชาเพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินงาน
3.มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบและให้ตรวจสอบ
4.สร้างความยุติธรรมในสังคม กำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

ผลของแนวคิดในการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มีต่อการบริหารงานภาครัฐของไทย พิจารณาได้ 3 มิติดังนี้
1.มิติของผู้บริหารของรัฐ คำนึงถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชน
2.มิติการปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของรัฐ และสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน
3.มิติของการบริหารกำลังคนภาครัฐ วางแผนการใช้กำลังคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยสรุป การนำธรรมาภิบาลและหลักการจัดการภาครัฐแนวใหม่มาปรับใช้ในการปฏิรูประบบราชการไทย เป็นการมุ่งสู่ทิศทางที่จะปรับปรุงการจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานโดยยึดหลักการเน้นผู้รับบริการจากรัฐ เน้นการปรับลดบทบาทภารกิจ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาครัฐ และปรับวิธีการบริหารกำลังคนให้สามารถเทียบเคียงได้กับเอกชน ความสำเร็จของการปรับใช้หลักการจัดการภาครัฐแนวใหม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายในภาคราชการในการทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดและวิธีการทำงานให้ไปสู่เป้าประสงค์ร่วมกัน ในกรณีของประเทศไทยที่ปฏิรูประบบราชการยึดแนวทาง NPM ท่านคิดว่าประสบความสำเร็จเพียงใด มีอะไรบ้างที่ควรปรับปรุงเพื่อทำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับประชาชนมากที่สุด

ในกรณีของประเทศไทยใช้ได้กับ
1.การออกกฏหมายทำให้เพิ่มกระทรวงจาก 14 เป็น 20 กระทรวง
2.เกิดคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

-----------------------------
แนวข้อสอบ รศ.ดร.ภิรมย์ จั่นถาวร
- งบประมาณของรัฐบาล คืออะไร
- รายรับคืออะไร ใช้อย่างไร
- วิธีการงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ใช้อย่างไร (ให้ดูงบขาดดุล สมดุล เกินดุล ให้เราเขียนมาว่าใช้ตัวไหน)
- กรณีศึกษาเงินเฟ้อในขณะนี้มีเครื่องมืออะไร การแก้ไขในหลักการควรทำอย่างไร

แนวตอบ ความหมายของ “งบประมาณของรัฐบาล”
งบประมาณของรัฐบาล หมายถึงการแสดงรายการรับและรายการจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในส่วนของรัฐบาลนั้น โดยพื้นฐานแล้วรายรับจะเกิดจากการเก็บภาษีและการกู้ยืม ส่วนรายจ่ายจะประกอบด้วยการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายต่าง ๆ ในตลาดผลผลิตและการใช้จ่ายในลักษณะเงินโอน การจัดทำงบประมาณจะจำแนกได้ 3 ลักษณะ
1.งบประมาณเกินดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดรายรับสูงกว่ารายจ่าย เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง รัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายอันเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจน้อยลง และในขณะเดียวกันก็จะเก็บภาษีให้มากกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการลดความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ลง
2.งบประมาณสมดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดให้รายรับเท่ากับรายจ่าย เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับค่าใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยปล่อยให้ให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติขึ้นอยู่กับระดับการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น
3.งบประมาณขาดดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดให้รายรับน้อยกว่ารายจ่าย และรัฐบาลจะต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลนั้น จะเกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ระบบเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง จึงต้องกระตุ้นให้มีการจ้างงาน การผลิตสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น การจัดงบประมาณขาดดุลจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็จะเก็บภาษีให้ต่ำกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ

รายรับของรัฐบาล คือ รายได้ที่นำส่งคลังในแต่ละปีงบประมาณซึ่งประกอบด้วย รายได้จากภาษีอากร รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น ๆ รายรับของรัฐบาลจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ รายรับจากรายได้ และรายรับจากเงินกู้ ดังนี้คือ
1. รายรับจากรายได้ ได้แก่ รายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ รายได้อื่น ๆ
2. รายรับจากเงินกู้ ได้แก่ การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยใช้วิธีออกตั่วเงินคลัง พันธบัตร ตราสารอื่น หรือทำสัญญากู้

วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
รายจ่ายของรัฐบาล คือ รายจ่ายจริงจากเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณนั้น ๆ และรายจ่ายจากปีงบประมาณก่อน ๆ ซึ่งเป็นรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี รายจ่ายของรัฐบาล อาจจำแนกโดยวิธีการนำไปใช้ เช่นการใช้จ่ายตามโครงสร้างแผนงาน ตามลักษณะงานและอื่น ๆ กล่าวคือ

รายจ่ายจำแนกตามโครงสร้างแผนงาน ได้แก่
1.การเกษตร
2.การอุตสาหกรรมและเหมืองแร่
3.การคมนาคมขนส่งและสื่อสาร
4.การพาณิชย์และท่องเที่ยว
5.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม
6.การศึกษา
7.การสาธารณสุข
8.การบริการสังคม
9.การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
10.การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
11.การบริหารงานทั่วไปของรัฐ
12.การชำระหนี้เงินกู้

รายจ่ายจำแนกตามลักษณะงานและลักษณะเศรษฐกิจ เป็นการแสดงงบประมาณรายจ่าย ตามวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล จำแนกตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของรัฐบาลอย่างกว้างขวางอกกเป็นด้านต่าง ๆ 14 ด้าน ภายใต้ลักษณะงาน 4 ประเภท คือ
1.การบริหารทั่วไป การบริหารทั่วไปของรัฐ การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน
2.การบริการชุมชนและสังคม การศึกษา การสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การเคหะและชุมชน การศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ
3.การเศรษฐกิจ การเชื้อเพลิงและพลังงาน การเกษตร การเหมืองแร่ ทรัพยากรธรณี การอุตสาหกรรมและการโยธา การขนส่งและการสื่อสาร การบริการเศรษฐกิจอื่น 4.การดำเนินงานอื่น ๆ

วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยใช้วิธีการทางงบประมาณแบบ งบประมาณขาดดุล ตัวอย่างเช่น

ในสมัยรัฐบาลของท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง จึงได้มีการกระตุ้นให้มีการจ้างงาน การผลิตสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้น และได้มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นโดยเพิ่มเงินเดือนในรูปแบบเงินเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายและกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นต้น

กรณีศึกษาเงินเฟ้อในขณะนี้มีเครื่องมืออะไร การแก้ไขในหลักการควรทำอย่างไร
มาดูความหมายของเงินเฟ้อกันก่อน
เงินเฟ้อ คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไปโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้เราไม่สามารถใช้เงินจำนวนเท่าเดิมในการซื้อสินค้าและบริการนั้นได้ หรืออาจจะซื้อได้แต่ในปริมาณที่น้อยลง ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป หมายถึง ราคาสินค้าและบริการหลายอย่างโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นแก่การครองชีพ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าทุกชนิด เช่น ก๋วยเตี๊ยวเคยชามละ 20 บาท ก็เพิ่มมาเป็น 30 บาท หมายความว่าเงิน 1 หน่วย ซื้อสินค้าได้น้อยกว่าเดิมเป็นต้น

เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ความต้องการถือเงิน การสะสมทุน การคลังของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขเงินเฟ้อ ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมลง ภาวะเงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นภาวะเงินเฟ้อแลอย่างอ่อน ๆ ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างปานกลางและอย่างรุนแรงแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศชาติ การแก้ไขไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแล้ว ประชาชนในประเทศจะต้องร่วมมือด้วย เพราะประเทศชาติเป็นเรื่องของคนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในชาติควรร่วมมือช่วยกันแก้ไข

เครื่องมือในการศึกษาเงินเฟ้อ
นักเศรษฐศาสตร์ได้หาทางคิดเครื่องมือบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้วัดภาวะเงินเฟ้อในภาพรวม ซึ่งเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์คิดว่าเหมาะสมที่สุดในการใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ คือ “ค่าดัชนีราคา” โดยค่าดัชนีราคา หมายถึง ค่าทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ และมีหน่วยวัดเป็นร้อยละ หรือ % เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่อย่างไร ก็ตาม ดัชนีที่ใช้วัดระดับราคาสินค้าก็มีมากมายหลายดัชนี เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภครายได้น้อย ดัชนีราคาผู้บริโภคเขตชนบท ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด และดัชนีราคาผู้ผลิต เป็นต้น

จะขออธิบายถึงความหมายของ “ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป” และ “ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน” อันเป็นดัชนีที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและได้ยินกันอยู่เป็นประจำ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เป็นดัชนีที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นตัวแทนค่าเงินเฟ้อกลางในสังคมว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน ดัชนีนี้ใช้วัดค่าครองชีพของผู้บริโภค โดยแบ่งการบริโภคออกเป็นหมวดต่าง ๆ แล้วให้น้ำหนักเงินเฟ้อในแต่ละหมวดมาเฉลี่ยโดยถ่วงน้ำหนักตามความสำคัญของประเภทสินค้าในการดำรงชีวิต เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดเคหสถาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเป็นดัชนีที่คำนวณโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำ

ดัชนีราคาผู้บริโภคพึ้นฐาน เป็นดัชนีมีการคำนวณคล้ายกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป แต่หักรายการสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงาน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวตามฤดูกาลออกไป ดัชนีนี้มีความสำคัญในแง่การใช้อ้างอิงในการวางกรอบนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะประกาศทุกต้นเดือน โดยกระทรวงพาณิชย์ และมีตัวเลข 2 ตัว ที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน และ ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ย ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนจะเป็นการเปรียบเทียบเงินเฟ้อของเดือนนั้นเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะเป็นการเปรียบเทียบเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนล่าสุดที่รายงาน ตัวอย่างเช่น เดือนธันวาคมปี 2550 กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนธันวาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับ 3.2% หมายความว่า ในเดือนธันวาคมปี 2550 ของแพงขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับระดับราคาในเดือนธันวาคม 2549 ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยปี 2550 เท่ากับ 2.3% หมายความว่าเฉลี่ยทั้งปี ของแพงขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับระดับราคาในปี 2549 เป็นต้น

ขนาดของภาวะเงินเฟ้อ
1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน ( Mild Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการผลิตมากขึ้น เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้การจ้างงานขยายตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยังพอมีกำลังซื้อ
2. เงินเฟ้ออย่างปานกลาง ( Moderate Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นระหว่าง ร้อย 5 – 20 ต่อปี สินค้ามีราคาสูงขึ้นประชาขนได้รับความเดือดร้อน
3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ( Hyper Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงเกินร้อยละ 20 ภายใน 1 เดือน มักเกิดในภาวะสงคราม การจลาจล

สาเหตุของเงินเฟ้อ
1. ต้นทุนผลัก กล่าวคือต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้นเช่น ราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน วัตถุดิบ
2. อุปสงค์ตึง กล่าวคือความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคมีมากกว่าจำนวนสินค้า หรืออุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ทำให้สินค้าขาดแคลน ราคาจึงสูง

ผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ
ผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ
1.ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
2.ประชาชนไม่อยากเก็บเงินเพราะเกรงว่าค่าเงินจะลดลงเรื่อย ๆ
3.การบริการงานของรัฐบาลมีปัญหา เช่น การคอรัปชั่น

กลุ่มบุคคลเสียเปรียบ
1.ผู้มีรายได้ประจำ - สินค้ามีราคาแพง
2.ผู้มีเงินออม ค่าเงินลดลง
3.เจ้าหนี้ - ค่าเงินลดลง

กลุ่มบุคคลได้เปรียบ
1.ผู้ประกอบการ– สินค้ามีราคาสูงขึ้น
2.ลูกหนี้ - ค่าเงินลดลง
3.ผู้ถือหุ้น - สินค้าขายได้ราคาดี

การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ คือการพยายามลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อลด อุปสงค์มวลรวมลง ทำได้โดย
1.นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินเข้าสูระบบเศรษฐกิจโดย
1.1 ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อประชาชนนำเงินมาฝากธนาคาร
1.2 ธนาคารแห่งประเทศไทยดำรงเงินสดของธนาคารพาณิชย์อัตราสูงกว่าปกติ
1.3 ธนาคารแห่งประเทศไทยขายพันธบัตรรัฐบาลให้แก่สถาบันการเงินหรือประชาชน
1.4 ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ลดแรงจูงใจในการลงทุนโดยรัฐบาล เพื่อลด อุปทานของเงิน
1.5 ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ใช้งบประมาณเกินดุล

2.นโยบายการคลัง
2.1 เก็บภาษีเงินได้เพิ่ม ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นการลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นการควบคุมการบริโภคของประชาชนโดยตรง
2.2 ควบคุมหนี้สาธารณะที่รัฐบาลเป็นผู้กู้ จากสถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
2.3 เก็บรายได้ส่วนหนึ่งจากการส่งออกให้ออกไปเสียจากระบบเศรษฐกิจชั่วระยะเวลาหนึ่ง

3.นโยบายของรัฐบาล
3.1 รัฐบาลเข้าควบคุมระดับราคาสินค้าโดยตรง เช่นการเข้าควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ารถเมล์ เป็นต้น
3.2 เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าอย่างเสรีสำหรับสินค้าบางชนิดที่ขาดแคลน

-----------------------------------

อย่าลืมอ่านเพิ่มเติมจากเว็บเมล์กลาง www.yahoo.com นะ เพื่อนๆ เราส่งไฟล์ที่จำเป็นๆ รวมไว้ที่นั่นให้แล้ว
หากจำ user และ PW ไม่ได้ก็ส่งเมล์มาขอใหม่ที่ admin ได้นะ แต่ต้องแจ้งชื่อและรหัสประจำตัวเข้ามาด้วยนะ

พบกันวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. 2553 ณ อาคารนพมาศ ชั้น 5 ห้อง 501
โชค D แต่ขอให้ได้ A ทุกคนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น