วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

PA609,709: แนวข้อสอบ นวัตกรรมและนวัตกรรมในองค์การ

PA609,709: แนวข้อสอบ นวัตกรรมและนวัตกรรมในองค์การ
สรุปโดย ครูตาล
--------------------------------
คำถาม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการบริหารที่เหมาะสมกับระบบราชการไทย
พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวการตอบ
สำหรับการเลือกใช้นวัตกรรมการบริหารให้มีความเหมาะสมกับระบบราชการไทยสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ลักษณะพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยให้เห็นเป็นรูปธรรม นั่นคือ พฤติกรรมของคนไทย ลักษณะโดยภาพรวมของพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่จะชอบวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบ ไม่ชอบการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ ทางสายกลาง
เมื่อพิจารณาจากบุคลิกลักษณะพื้นฐานของคนไทยที่เน้นทางสายกลาง ทำให้สามารถเลือกนวัตกรรมทางการบริหารที่เหมาะสมกับระบบราชการไทย นั่นคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy) กับ ยุทธศาสตร์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) ซึ่งทฤษฎีทั้งสองมีกรอบแนวคิดที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย โดยขอเริ่มอธิบายจาก
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยโดยพระองค์ทรงคำนึงถึงสภาพสังคมไทยเป็นสำคัญ ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เป็นนวัตกรรมในการบริหารระบบราชการไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
กรอบแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
3 ห่วง คือ 1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจอย่างรอบคอบ
3. ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง สร้างแนวทางป้องกันตนเองและเตรียมตัว
รับมือกับการเปลี่ยนแปลง
2 เงื่อนไข คือ 1. ความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง
2. คุณธรรม หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความขยันอดทน ความสามัคคี
หากพิจารณาจากกรอบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะพบว่าเสาเข็มหลัก คือ ความรู้ และ คุณธรรม นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้มีในตัวบุคคล เพราะถ้าบุคคลไม่มีความรู้และคุณธรรมย่อมไม่สามารถปฏิบัติตนให้เป็นผู้รู้จักพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันได้อย่างแน่นอน



สำหรับกรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กรภาครัฐของประเทศไทย มีแนวทางดังนี้
1. การตัดสินใจเชิงนโยบายควรมุ่งไปที่ผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอนโยบายสาธารณะ โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบคอบ
2. เน้นพัฒนาคน ในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับดังนี้
2.1 ระดับประชาชนทั่วไป รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาคุณธรรม ตามแนวทางทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
2.2 ระดับข้าราชการ องค์กรภาครัฐต้องพัฒนาศักยภาพของข้าราชการให้มีคุณภาพเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสนองความต้องการประชาชนได้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างคุณธรรม
3. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
4. ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ตลอดจนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
5. ให้ความสำคัญกับการจัดการองค์ความรู้ โดยการนำหลัก KM และ LO มาประยุกต์ใช้ในองค์กร
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารระบบราชการไทยได้อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนจะขอยกตัวอย่างการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ดังนี้
(กรณีที่นำมายกตัวอย่าง ควรนำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการภายในหน่วยงานของท่าน โดยชี้ให้เห็นความสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ)
--------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น