วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

PA609,709: นวัตกรรมและนวัตกรรมในองค์กร ตอน เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง : ปรัชญาอันทรงค่าจากพ่อของปวงชนชาวไทย
ที่มา : วารสารเศรษฐกิจและสังคม ปีที่ 42 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2548 หน้า 41-47.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ เศรษฐกิจพอเพียง : http://www.sufficiencyeconomy.org/
หรือ E-Learning เศรษฐกิจพอเพียง: http://longlivetheking.kpmax.com/
และข้อมูลจากเว็บนี้ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม: http://www.mtc.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=69:3--2-&catid=35:2010-07-21-11-03-28&Itemid=113

“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการ ดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้น พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำว่าเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจาก ปัญหาต่างๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความ เปลี่ยนแปลงต่างๆ

ทั้งนี้ สศช. จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันระดมความคิดและยกร่างคำนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงโดยประมวลและกลั่น กรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงได้อัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 อีกด้วย

โดยนิยามของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีสาระสำคัญ ดังนี้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวการดำรงอยู่และ ปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดย เฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผล กระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน

ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

“หากพิจารณาพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมายิ่งทำให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากเพียงใด ทรงเชื่อมั่นว่า การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ นั้น ประเทศไทยต้องใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง และน่ายินดีที่ว่า หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้น้อมนำพระราชดำรัสข้างต้นไปยึดถือปฏิบัติ”

เศรษฐกิจพอเพียงสามารถรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ต่างๆ ได้จริงหรือ

อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานและประชาชนที่เริ่มตื่นตัว และต้องการจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แต่ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่หลากหลายและไม่ชัดเจน ถึงความหมายและหลักแนวคิดที่แท้จริงของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ได้จริง มากน้อยเพียงใดตามมา

ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการของเศรษฐกิจพอ เพียงมาใช้อย่างเกิดสัมฤทธิผลกับทุกๆ ฝ่าย โดยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท

ในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลต่อการ พัฒนานั้น ต้องเข้าใจ “กรอบแนวคิด” ว่าเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ตลอดเวลา

และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจคุณลักษณะว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการ ปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

3 ห่วง 2 เงื่อนไข : หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ที่สำคัญที่สุด ทุกคนควรเข้าใจ “คำนิยาม” ว่าความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 ห่วง และ 2 เงื่อนไข โดย 3 ห่วง คือ

ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

ส่วน 2 เงื่อนไข คือการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบไปด้วย

- เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ

- เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

“เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุด กรอบแนวคิดของหลักปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา อันมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าความพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไขความ รู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

“หากทุกฝ่ายเข้าใจกรอบแนวคิด คุณลักษณะ คำนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแจ่มชัดแล้ว ก็จะง่ายขึ้นในการนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ และจะนำไปสู่ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี”


การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

นับตั้งแต่มีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวในปี 2517 เป็นต้นมา พบว่าพระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตน เอง ความพอมี พอกิน พอใช้ การรู้จักความพอประมาณการคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

ทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาทตระหนักถึงการพัฒนา ตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิด เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วน

“วัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนเพื่อสร้าง ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนทุกคน สามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ให้ได้อย่างเหมาะสมและปลูกฝังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำรง ชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนนำไปสู่การปรับแนวทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง”

ก้าวแรกจุดประกาย ก้าวสองตอกเสาเข็ม

หลายฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงควรเป็นปรัชญานำทางในการ พัฒนาประเทศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่หลายคนไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว ได้มีการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2542 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนหลัก และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อน

ได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง 4 ปีในช่วงปี 2547 – 2550 โดยปีแรก เน้นการจุดประกายความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกิดความตื่นตัว ต่อมาในช่วงปีที่ 2 ถือว่าเป็นช่วงสำคัญคือ การตอกเสาเข็ม ที่จะเน้นการสร้าง Case study หรือทำให้ประชาชนเห็นว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำได้และประสบความสำเร็จได้ จริงๆ ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง มิได้จำกัดเฉพาะเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุกคน ทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท

“ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและ บริษัทในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะต้องขยายกิจการก็จะขยายเพราะความเจริญเติบโตจากเนื้อของงาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสมไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือ ที่มั่นให้ยืนอยู่ได้ เมื่อภาวะของเงินผันผวน ประชาชนจะต้องไม่ใช่จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว เกษตรกรก็ทำไร่ทำนา ปลูกพืชแบบผสมผสานในที่แห้งแล้งตามแนว “ทฤษฎีใหม่” หากไม่มีความพอประมาณในใจตน นึกแต่จะซื้อรถปิคอัพคันใหม่ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ อยู่ร่ำไปย่อมไม่ถือว่าประพฤติตนอยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราช ดำริ”

เร่งสร้างเครือข่ายและนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ในช่วงปีที่ 3 เป็นช่วงของการสร้างเครือข่าย โดยการขับเคลื่อนจะเป็นลักษณะการระดมพลังจากทุกภาคส่วนแบ่งเป็น 2 เครือข่ายสนับสนุนตามกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ได้แก่เครือข่ายภาครัฐทั้งหมด เครือข่ายด้านประชาสังคมและชุมชน เครือข่ายธุรกิจเกชน เครือข่ายภาคการเมือง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเครือข่ายสนับสนุนด้านภารกิจต่างๆ ได้แก่ ด้านวิชาการจะมีเครือข่ายวิชาการที่มีนักคิด ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นกำลังสำคัญ ด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จะดึงเครือข่ายระดับโรงเรียนเข้ามาร่วม ส่วนด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จะสร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชน ก่อนที่ในปีที่ 4 หรือปีสุดท้าย จะเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ แกนกลางของกระบวนการขับเคลื่อนมี 3 ระดับได้แก่ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง สศช. ซึ่งจะเป็นหน่วยปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน และจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายการดำเนินงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา ในเดือนธันวาคม 2550


บทบาทของภาคีการพัฒนาในการสร้างสมดุลและภูมิคุ้มกัน

ทุกๆ ภาคีการพัฒนาต้องเข้าใจก่อนว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง 100% โดยไม่พึ่งเงิน ไม่พึ่งการค้า ไม่สมาคมกับใคร ซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง การจะนำเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นปรัชญามาใช้ ทุกฝ่ายต้องมองให้ออกและเข้าใจอย่างถ่องแท้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ปรัชญานี้กับคนทุกระดับ ไม่ใช่ให้กับชาวนาอย่างเดียว ในภาคประชาสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชุมชน ต้องรู้จักความพอดี พอเพียง ความมีเหตุมีผล ระบบภูมิคุ้มกันทั้งปวงต้องโยงกับคุณธรรม และถือเป็นปรัชญาหลัก

ถ้าจะเอาปรัชญาไปปฏิบัติก็ต้องขบคิดให้เหมาะสมกับอาชีพของแต่ ละคน อย่างในภาครัฐหรือภาคราชการ ก็ใช้ชีวิตทำงานให้พอดี มีบ้านแต่พอดี ดำรงฐานะให้เหมาะสม ขยันทำ และทำให้มาก ท่านยังแปลลึกลงไปอีกว่า หมายถึง ถ้าขยัน ยิ่งทำยิ่งพึ่งตนเอง โดยไม่พึ่งคนอื่นมากจนเกินไป ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ฟุ้งเฟ้อ ก็ลดปัญหาการคอร์รัปชั่นมาก”

ขณะที่ในภาคธุรกิจเอกชนนั้น ยังผลักดันในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันน้อย เนื่องจากมองว่าเป็นแนวคิดที่อยู่คนละด้านกับการทำธุรกิจที่มุ่งการสร้าง กำไร ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถปรับใช้เข้าหากันได้ และจะก่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า

“สังคมไทยพึ่งตลาด ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี สมองของคนต่างชาติมากเกินไป พึ่งเงินทุนจากต่างประเทศ สังคมไทยอยู่ได้เพราะยืมจมูกคนอื่นหายใจ ยืมเขาทั่วโลก ทั่วโลกเรียกสิ่งที่ทำกันวันนี้ว่า trade economy คือขายทุกอย่าง ซึ่งแตกตางจากเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ค้าขาย แต่ให้ทำอย่างพออยู่พอกินก่อนที่จะขาย คือการสร้างพื้นฐานของตัวเองให้แน่นซึ่งจะช่วยให้ทำการค้าหรือแข่งกับใครใน โลกก็ได้ ค้าขายไม่ดีก็ไม่ต้องกลัว ธุรกิจไม่ดีก็ไม่ต้องปลดคนงาน การพึ่งพาตนเองแบบนี้มันเอื้อกันหมด”

สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ก็สามรถนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ได้ คือ เน้นการผลิตด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกินไป เพราะหากทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็จะต้องพึ่งพิงสินค้าวัตถุดิบ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้า ต้องคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ในประเทศก่อน จึงจะทำให้ประเทศไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติอย่างเช่นปัจจุบัน

ดังนั้น ต้องทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ได้เป็นผู้จุดประกายระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วนที่นำมาใช้ในการผลิตที่เป็นลักษณะพึ่งพา ซึ่งมีมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ทุกคนมองข้ามประเด็นนี้ไป ตลอดจนได้รับผลจากภายนอกประเทศทำให้ประชาชนหลงลืม และมึนเมาอยู่กับการเป็นนักบริโภคนิยม รับเอาของต่างชาติเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว และรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำ

ที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ทุกภาคีการพัฒนาสามารถร่วมกันผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืน คือการเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังแต่ละฝ่ายโดยปราศจากอคติ หากมีตัวอย่างความสำเร็จใดๆ ที่นำมาเป็นกรณีตัวอย่างได้ ก็ควรนำมาใช้ในการระดมสมอง หรือดึงประเด็นสำคัญๆ ขึ้นมาเป็นแนวทางในการพัฒนา

นอกจากนี้ ความสำเร็จของทุกภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควรจะต้องเกิดจากการ “ระเบิดออกมาจากภายใน” ของแต่ละภาคส่วน เพราะเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ความสำเร็จจะอยู่ที่ใจตนเป็นสำคัญ


เศรษฐกิจพอเพียงกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญาหลักในการจัดทำแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงให้ลึกซึ้ง ไม่ฉาบฉวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฯ ว่าเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง

“เศรษฐกิจพอเพียงไม่เคยชี้ว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งไม่ดี ใครพูดแบบนั้น แสดงว่าเข้าใจหลักการไปคนละทาง เศรษฐกิจพอเพียง คือการสร้างความเชื่อมต่อระหว่างแนวทางการพัฒนาต่างๆ อย่างสอดคล้องและสมดุลกัน เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเหมือนห่วงคล้อง ทั้งเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือเรื่องอื่นๆ เข้าด้วยกัน การจัดทำแผนต่างๆ ที่มีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐาน ต้องระลึกอยู่เสมอว่าในแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ไม่มีแผนที่เหมาะสมกับทุกที่ ภายใต้ความหวังดีของส่วนร่วม”

สรุป

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานให้ประชาชนดำเนิน ตามวิถีแห่งการดำรงชีพที่สมบูรณ์ ศานติสุข โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ และใจตนเป็นที่สำคัญ ซึ่งที่พระองค์ทรงรับสั่งมานั้น แท้ที่จริง คือ วิถีชีวิตไทยนั่นเอง วิถีชีวิตไทยที่ยึดเส้นทางสายกลางของความพอดี เป็นการเสริมพลังให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์

โดยให้ความสำคัญกับการสร้างฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้ม แข็งรักษาความสมดุลของทุนและทรัพยากรในมิติต่างๆ ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทยในที่สุด

ที่มา : วารสารเศรษฐกิจและสังคม ปีที่ 42 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2548 หน้า 41-47.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ เศรษฐกิจพอเพียง : http://www.sufficiencyeconomy.org/
หรือ E-Learning เศรษฐกิจพอเพียง: http://longlivetheking.kpmax.com/
และข้อมูลจากเว็บนี้ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม: http://www.mtc.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=69:3--2-&catid=35:2010-07-21-11-03-28&Itemid=113
-------------------------------------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น