วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

PA610,710: การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวสอบโดยประธานโต

ข้อมูลจากเมล์กลางของพวกเราเอง สรุปโดยประธานโตของพวกเรา
---------------------------
คำถาม (อ.สุชาติ สังข์เกษม) ให้อธิบายคุณลักษณะผู้นำ (นักกลยุทธ์)ที่พึงประสงค์ และที่ไม่พึงประสงค์

ตอบ คุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์
ผู้บริหาร คือ ผู้มีระเบียบกฎหมายแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
ส่วน“ผู้นำ”ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบกฎหมายเพียงแต่เป็นบุคคลที่สามารถชักจูง โน้มน้าวให้คนอื่น มีการเปลี่ยนแปลงตามความเชื่อหรือทัศนคติตามตนเองได้ ฉะนั้น ผู้บริหารที่ดีอันเป็นที่พึงประสงค์จะต้องเป็น “ผู้นำ” ด้วย

ผู้บริหารหรือผู้นำเป็นตำแหน่งที่ทุกคนอยากได้ เป็นไปตามความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งมาสโลว์ได้ระบุไว้คือ ความต้องการด้านร่างกาย ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านสังคม ด้านมีชื่อเสียง และด้านความสำเร็จ ซึ่งเป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้บริหารหรือผู้นำ ถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหน่วยงาน บุคคลที่จะก้าวเป็นผู้บริหารหรือผู้นำ ต้องมีศักยภาพ(Potential)เหนือคนอื่นในหน่วยงานหรือในกลุ่มสังคมของตนเอง

ซึ่งคุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ มีดังต่อไปนี้
1. มีมนุษยสัมพันธ์ ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานทุกคนด้วยความนับถือ และให้เกียรติอย่างจริงใจ มีความสัมพันธ์อันดี ประนีประนอม สามารถดึงเอาศักยภาพของผู้ร่วมงานมาใช้ให้มากที่สุด ทำให้การประสานงาน การขอความร่วมมือปฏิบัติงานที่มอบหมาย ได้รับการตอบสนองด้วยความเต็มใจ และมีขวัญกำลังใจที่ดี อันจะทำให้งานบรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์และมีประสิทธิผล
2. มีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่ฉุนเฉียวง่าย ละซึ่งความโลภ โกรธ หลง ขจัดความขัดแย้งในหน่วยงานของตนเองเป็นเด็ดขาดและอะลุ้มอล่วย พอยอมกันได้ก็ยอม ไม่มีทิฐิ มองส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวกับงาน ไม่แย่งเอาผลงาน รู้ว่างานสำเร็จเป็นผลงานของใครจึงจะให้คุณให้โทษได้อย่างยุติธรรม
3. มีบุคลิกภาพที่ดี หรือภาษาไทยที่ง่าย เข้าใจดี ใช้ว่า “มีมาดดี” คำว่ามาด หมายถึง ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง ที่อยู่ในตัวผู้นำและทุกอย่างที่ผู้นำกระทำ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า การยืน เดิน นั่ง นอน พูด ฟัง การแต่งกาย ฯลฯ บุคลิกหรือมาดเป็นสิ่งที่สามารถฝึกหัดกันได้ แก้ไขและปรับปรุงกันได้ หากหน่วยงานใดมีผู้นำไม่มีมาด บุคลากรก็ขาดความเชื่อมั่น ศรัทธา ไม่ร่วมทำงานหรือให้ความร่วมมือ ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมาย
4. เป็นแบบอย่าง ในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ผู้นำควรเป็นแบบอย่างที่ดี ในการครองตน ครองคน ครองงาน
5. ทำงานเป็นทีม เป็นประชาธิปไตย การวางกฎเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ต้องใช้วิธีแบบมีส่วนร่วม โดยจัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงาน พยายามดึงศักยภาพที่ดีของผู้ร่วมงานออกมาใช้ให้เป็นแนวปฏิบัติในหน่วยงานหรือองค์การของตนเอง อย่าใช้คนๆเดียวเป็นตัวชี้ขาด เพราะการบริหารงานโดยคนเดียวจะมีโอกาสล้มเหลวได้ง่ายกว่าการบริหารโดยกลุ่มบุคคล
6. ทำตัวเป็นครูที่ดี ที่มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉงตลอดเวลา ผู้นำอย่าขี้เกียจ อย่าลืมว่าผู้นำกระทำสิ่งใด ที่ไหน อย่างไร จะมีผู้ร่วมงานคอยจับจ้อง สังเกตอยู่ ถ้าปฏิบัติตนดี งานดี มีประสิทธิภาพ เข้าลักษณะ รวดเร็ว เรียบร้อย ราบรื่น ก็จะเป็นการสอนผู้ร่วมงานโดยทางอ้อม คือเป็นการสอนด้วยการกระทำให้ดู โดยไม่ต้องบอกหรือแนะนำเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด
7. มีความความซื่อสัตย์ สุจริต ผู้นำหรือผู้บริหารจะถูกพิสูจน์โดยใช้ความซื่อสัตย์เป็นเกณฑ์ เป็นเครื่องวัดผู้นำที่ดีมาก เพราะมนุษย์ทุกคนมีความโลภเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าผู้นำมีความซื่อสัตย์จะเป็นผู้นำได้นาน อย่าหมกเม็ด อย่าเก็บความลับเรื่องเงินไว้คนเดียว โอกาสพลาดเรื่องเงินจะเป็นอันตรายมาก ผู้นำอย่าถือเงิน จับเงิน หรือซื้อของ วัสดุ อุปกรณ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่หน้าที่ ควรให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ร่วมงานเป็นผู้ทำในรูปของคณะกรรมการ
8. กล้าตัดสินใจ และให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการคิด รับรู้ รับทราบ ให้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมกระบวนการตัดสินใจ กระบวนการคิด เวลามีคนถามต้องตอบได้ “ต้องเป็นหนึ่งเดียว” เท่านั้น ไม่มีสองในหน่วยงานหรือองค์การ
9. ไม่หวงอำนาจ ให้กระจายอำนาจและมอบหมายหน้าที่ให้พร้อมกับมอบอำนาจในการปฏิบัติงานเป็นฝ่าย/แผนก/หมวด/งาน เป็นการมอบหมายภารกิจหรืองานสำคัญให้ผู้ร่วมงานไปปฏิบัติ โดยผู้นำคอยหมั่นกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ดูแลอยู่ห่างๆ อย่าไปจุ้นจ้าน ชี้โน่นชี้นี่อยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นผลให้ผู้ร่วมงานไม่มั่นใจ ซึ่งต่อไปจะไม่กล้าทำงาน ทำให้งานเสียทั้งระบบได้ “ผู้มอบอำนาจคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง”
10. ให้ขวัญ กำลังใจ แก่ผู้ร่วมงานอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม รู้เห็นถึงความสามารถ และฝีมือของผู้ร่วมงาน เพื่อส่งเสริมขวัญและกำลังใจ ให้ถูกคน ถูกงาน และถั่วถึง
11. เป็นนักแก้ปัญหา เมื่อมีปัญหา และเหตุการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น ผู้บริหารต้องแสดงความรู้สึกที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่โยนปัญหาให้ผู้ร่วมงานไปจัดการกันเอง กล้ารับผิดชอบ กล้าหาญพอที่จะผจญปัญหาอย่าหนีปัญหา ดังคำที่ว่า “ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้แบก” ปัญหามีไว้ทดสอบความสามารถของผู้นำ ต้องเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ร่วมงาน อย่าปล่อยให้ผู้ร่วมงานแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้นแบบไม่มีที่ปรึกษา จะทำให้ได้ “ใจ” ของผู้ร่วมงาน ต่อไปผู้ร่วมงานก็จะทำงานแบบ “ถวายหัว” ให้ได้
12. พัฒนาตนเอง และนำตนเองไปสู่ความสำเร็จที่สูงสุด และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้นำต้องแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพราะหน้าที่สำคัญของผู้นำคือ การตัดสินใจสั่งการ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลข่าวสารถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ความรู้และประสบการณ์เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และมีผลแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวรอคอยอยู่ ผู้นำไม่มีสิทธิตัดสินใจพลาด มีแต่คำว่า “ถูกต้องเท่านั้น” จึงจะทำให้องค์การพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลในที่สุด
13. ต้องยึดระบบระเบียบ รักษาระบบหรือวัฒนธรรมขององค์การให้ดี ทำงานให้ได้ดี ปราศจากปัญหาและเเสวงหาให้เกิดผลผลิตสูงสุด ด้วยการปฏิบัติภารกิจภายในขอบเขตที่กำหนดให้ และ/หรือนอกจากภาระหน้าที่ดังกล่าว ต้องกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์และพัฒนางานในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวย
14. ต้องช่วยเหลือผู้ร่วมงานทุกเรื่อง คอยเป็นห่วงเป็นใยตลอดเวลา ประสานหน่วยงานอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ร่วมงาน และพัฒนาผู้ร่วมงานอย่างต่อเนื่อง มีการให้อภัยผู้ร่วมงานเมื่อทำผิดพลาด เป็นกัลยาณมิตรกับทุกคน เป็น “ผู้นำนักบุญ” มีความเกรงใจผู้ร่วมงาน จัดตั้งกองทุน มูลนิธิ และ สมาคม ไว้คอยสนับสนุนส่งเสริมเป็นสวัสดิการแก่ผู้ร่วมงานหรือหน่วยงานและพัฒนาคุณภาพผู้ร่วมงาน ให้มีความก้าวหน้า มีความสงบสุข
15. มีความสามารถทางด้านศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงาน สามารถใช้คนอื่นให้ทำบางอย่างตามเป้าหมายและแนวทางที่ตนวาดฝันหรือคาดคะเนเองได้ มีอัจฉริยภาพของผู้นำที่ประกอบขึ้นด้วยคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ตั้ง สรุป จะเห็นว่า คุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสวงหาได้ สร้างสรรค์ให้บังเกิดขึ้นได้ “เป็นพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์“ ให้สรรสร้างหาความสุขกับงานในหน้าที่ให้มากที่สุดและดีที่สุด ให้พัฒนาตนเองแล้วนำมาเป็นแนวทางแก้ปัญหา พัฒนาหน่วยงานของตนเอง ผู้นำควรหลีกเลี่ยงการมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในตำแหน่งให้กับตนเอง บนพื้นฐานของความคิดสะสม เบียดเบียน ที่มุ่งสร้างความร่ำรวยทางวัตถุนิยมแต่ “ มีจิตใจที่ยากจน ” เป็นการใช้ภาวะผู้นำที่ไม่ถูกทิศทาง ซึ่งเป็นหนทางเสื่อมสำหรับผู้นำในที่สุด

ผู้นำที่พึงประสงค์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ควรมีลักษณะ ดังนี้
1. Creative Leader ผู้นำฉลาดคิด
2. Effective Leader ผู้นำฉลาดทำ
3. Leader as Coach ผู้นำเป็นผู้ฝึกสอน
4. Change Agent Leader ผู้นำเป็นผู้เร่งการเปลี่ยนแปลง
5. Leader as Spokesman ผู้นำเป็นนักประชาสัมพันธ์
6. Outcome Oriented Leader ผู้นำมุ่งผลลัพธ์
7. Ethical Leader ผู้นำมุ่งคุณธรรมและจริยธรรม

คุณลักษณะของผู้นำที่ไม่พึงประสงค์

หน้ายิ้ม
มือไหว้
ใจอันธพาล
งานไม่พัฒนา
ริษยาเป็นประจำ
คิดแต่ควำองค์การ
เริงสำราญอยู่แต่อามิส
แสวงหาความผิดผู้อื่น
ชมชื่นแต่คำสอพลอ นี่แหละหนอ...ผู้นำไทย(ที่ไม่พึงประสงค์ )

ผู้นำ 11 ประเภท ที่ไม่น่าพึงประสงค์
1. ผู้นำผู้เย่อหยิ่ง (Arrogance) หรือผู้นำที่ข้ามจาก “ความมั่นใจ” ไปสู่ “ความเย่อหยิ่ง” กล่าวคือ เป็นผู้นำที่ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความฉลาดทางสติปัญญาและได้พัฒนาความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลงตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป ความสำเร็จมากขึ้น ความเชื่อมั่นก็มากขึ้นด้วย และเมื่อยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้น มีคนเยินยอมากขึ้น ก็อาจจะเกิดความเชื่อมั่นมากเกินไป (Over-Confidence) เกิดอาการดื้อดึง และมองว่าตนเองเท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูก แต่คนอื่นผิดหมด
2. ผู้นำที่มีอารมณ์อ่อนไหวเกินความเป็นจริง (Melodrama) คือ ผู้นำที่มีการพูด การกระทำ และอารมณ์ที่เกินความเป็นจริง ผู้บริหารที่แสดงออกทางอารมณ์หรือทางการกระทำที่มากกว่าปกติจนเป็นจุดสนใจเสมอเพื่อลดทอนบทบาทของ ผู้อื่นเช่น อวดใหญ่โต พูดถึงสิ่งที่เกินความเป็นจริง เป็นต้น
3. ผู้นำที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย (Volatility) คือ ผู้นำที่เปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่งไปเป็นอีกอารมณ์หนึ่งโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุอย่างรวดเร็ว และเอาแน่อะไรไม่ได้ ไม่สามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้
4. ผู้นำที่รอบคอบจนเกินเหตุ (Excessive Caution) คือ ผู้นำที่ใช้ข้อมูลมากมายในการวิเคราะห์และติดอยู่ในความรอบคอบจนเกินไป จนกระทั่งตัดสินใจไม่ทันการณ์
5. ผู้นำผู้ไม่ไว้ใจใคร (Habitual Distrust) คือ ผู้นำที่สงสัยผู้อื่นอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือมีอคติ หวาดระแวงขี้กลัว และไม่ไว้ใจผู้อื่น สุดท้ายคนรอบข้างก็พลอดหวาดระแวงไปตามๆกัน
6. ผู้นำที่ตัดขาดจากโลก (Aloofness) คือ ผู้นำที่พอเครียดปุ๊ป จะถอยหนีจากสังคมและไม่เอาใครหรืออะไรทั้งสิ้น
7. ผู้นำที่ชอบออกนอกกฎ (Mischievousness) ผู้ที่ไม่ชอบทำตามกฏ เพราะคิดว่ากฏทุกอย่างมีไว้แหก
8. ผู้นำที่ชอบทำตัวไม่เหมือนใคร (Eccentricity) คือ ผู้นำที่รู้สึกสนุกที่จะทำอะไรไม่เหมือนผู้อื่น เพียงเพราะต้องการที่จะไม่เหมือนผู้อื่น จนดูเหมือนจะมีความ creative แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรให้เกิดเป็นรูธรรม
9. ผู้นำที่ชอบต่อต้านด้วยความเงียบ (Passive Resistance) คือ ผู้นำที่ปากบอกว่าชอบ แต่พอลับหลังกลับไปโพนทนาบอกคนอื่นว่าไม่ดี เพราะไม่กล้าบอกตรงๆ
10. ผู้นำจอมสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) คือ ผู้นำที่หมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดเล็กๆ (Micromanager) จนมองไม่เห็นเรื่องใหญ่ๆที่เกิดขึ้นรอบตัว คอยจี้เช้า จี้เย็น คุมทุกขั้นตอนของการทำงานของลูกน้อง
11. ผู้นำปากหวาน (Eagerness to please) คือ ผู้นำที่ชมเป็นอย่างเดียวไม่เคยว่าผู้อืนๆ เพราะไม่ชอบการเผชิญหน้าโดยตรง ไม่กล้าไล่ใครออก ขอเรียนว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำหลายท่านประสบความล้มเหลวมาแล้ว โดยมักปรากฏขึ้นเมื่อ “ผู้นำอยู่ภายใต้ความกดดัน” ไม่มีใครสามารถกำจัดพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างถาวร เนื่องจากมันอยู่คู่กับเรามาตั้งแต่กำเนิด (Wired that way) เพียงแต่ว่าอาจไม่ปรากฏผลกระทบในเชิงลบมาก่อนเท่านั้นเอง

ดังนั้น ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จหลายท่านต่างก็มีพฤติกรรมบ่อนทำลายเหมือนกัน เพียงแต่พวกเขาตระหนักและเรียนรู้จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น และใช้ “ความรู้เท่าทัน” เป็นเครื่องมือจัดการกับบุคลิกภาพเชิงลบของตนเองได้
………………………………………………………….
**** คุณลักษณะผู้นำ (นักกลยุทธ์)ที่พึงประสงค์ และที่ไม่พึงประสงค์ยังมีอีกมากมาย ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถตอบแตกต่างจากแนวคำตอบนี้ได้ แต่ขอให้อธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดแต่ละข้อให้ชัดเจน
------------------
Tai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น