วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

PA603: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รศ.ดร.มนตรีฯ

ในกรณีที่ถามว่า "ประชาชนเป็นอย่างไร รัฐบาลเป็นอย่างนั้น"
ให้อ่านที่นี่่
http://mparu3hm.blogspot.com/2010/09/pa603.html

ในกรณีที่ รศ.ดร.มนตรีฯ ถามดังนี้
---------------------------------------
1. ติดตามเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
2. ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยง (LINKAGE) ระหว่างเหตุการณ์ต่างประเทศกับการเมืองในประเทศไทย
3. วิเคราะห์ผลกระทบต่อการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และบทบาทตัวบุคคล โดยอาศัยเหตุการณ์ระหว่างประเทศ
4. เสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหา มิให้การเมืองระหว่างประเทศสร้างความแตกแยกภายในประเทศ
5. เลือกกรณีศึกษาที่เหมาะสม นำเสนอเป็นตัวอย่าง
---------------------------------------
แนวตอบ
ข้อมูลจากท่าน อ.บุญเกียรติฯ
---------------------------------------
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
1.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สถานการณ์ที่เป็นปัญหามีอยู่ 2 ประเด็น
1.1 ปัญหาเรื่องม้งที่เป็นผู้อพยพในประเทศไทย
1.2 ปัญหาการปักปันพรมแดน

2.สหภาพพม่า
2.1 สถานการณ์ที่เป็นปัญหาคือปัญหาชนกลุ่มน้อยของพม่าที่ใช้ประเทศไทยเป็นที่พักพิง
2.2 ปัญหายาเสพติดในประเทศที่มีแหล่งผลิตในประเทศสหภาพพม่า
2.3 ปัญหาระบบการเมืองพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก

3.สหพันธรัฐมาเลเซีย
3.1 ปัญหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในทะเลแต่ไม่ใช่ผลกระทบที่รุนแรง
3.2 ปัญหาการแก้ไขความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ราชอาณาจักรกัมพูชา
4.1 ปัญหาการปักปันพรมแดน
4.2 ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหาร
4.3 ปัญหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย

กรณีศึกษาเฉพาะกัมพูชา
กัมพูชาและไทยมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดนที่ใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าปริมาณมาก (สินค้าเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภค) อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาผกผันบ่อยครั้ง สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การเมืองภายใน การปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน และปัญหาเขตแดน

กัมพูชาเคยประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2501 (สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนในเดือนกุมภาพันธ์ 2502) และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2504 (สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนในปี 2509 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร) โดยทั้ง 2 กรณี มีสาเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 จากกรณีที่มีรายงานข่าวในกัมพูชาว่า นักแสดงชาวไทย (กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง) กล่าวดูหมิ่นชาวกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลไทย ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลง

ไทยมีการค้ากับกัมพูชาในปี 2552 มีมูลค่า 56,578.4 ล้านบาท (1,658.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 51,258.4 ล้านบาท การค้าชายแดน ปี 2552 มีมูลค่า 45,374.6 ล้านบาทไทยได้เปรียบดุลการค้าชายแดน 40,384.1 ล้านบาท และประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชาเป็นอันดับ 5 มีจำนวนเงินลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ต่างประเทศกับการเมืองภายในประเทศ
1.ปี 2551 องค์การ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหตุการณ์นี้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในที่สุด

2. วันที่ 12 พ.ค. นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศแจ้งว่า จะเดินทางไปยังเกาะกง กัมพูชา ในวันที่ 14 พ.ค. เพื่อร่วมเปิดถนนสายที่ 48 กับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และวาระนี้จะหารือถึงการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าให้มีการบริหารและจัดการร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องรีบคุยกันเพราะเวลาเหลือน้อย เนื่องจากเรื่องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา

- 14 พ.ค. นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศแถลงว่า การปักปันเขตแดนทางบกหรือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และเรื่องพื้นที่ทางทะเลบริเวณไหล่ทวีปที่กัมพูชาและไทยอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน เป็นการเจรจา 2 กรอบที่แยกออกจากกัน ทั้งในเรื่องคณะกรรมการที่รับผิดชอบและในสาระของแต่ละเรื่อง นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ร่วมในการเจรจาด้วย

- 14 พ.ค. หลังร่วมพิธีเปิดถนนสายที่ 48 ที่เกาะกง นายนพดล หารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จากนั้นเปิดเผยว่า กัมพูชามีท่าทีที่อ่อนลงและผ่อนปรนมากขึ้นในเรื่องเขาพระวิหาร หลังจากไทยและกัมพูชาเห็นต่างกันมานาน ในคำวินิจฉัยของศาลโลกเมื่อปี 2505 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ตัดสินว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ทางกัมพูชาจึงตีความ ว่าเส้นเขตแดนน่าจะเป็นไปตามคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส แต่ไทยอ้างสิทธิ์ของไทยว่า เส้นเขตแดนนั้น ศาลโลกระบุว่าไม่มีเขตอำนาจ

นายนพดล ย้ำว่า การแบ่งพื้นที่ทับซ้อนทางบกและการแบ่งพื้นที่ทางทะเลกับเขาพระวิหารแยกออกจากกันสาระสำคัญอยู่ที่ไทยไม่เคยคิดจะเอาเขาพระวิหารไปแลกเปลี่ยนกับก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และปฏิเสธว่าเรื่องการเปิดถนนสาย 48 ไม่เกี่ยวกับการลงทุนในกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเริ่มสร้างมา 3-4 ปีแล้ว

- 22 พ.ค. นายนพดล กับ นายสก อาน หารือที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส โดยมีผู้แทนระดับสูงของยูเนสโกเข้าร่วมด้วย ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ดังนี้

1.ไทยจะสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกซึ่งเสนอโดยกัมพูชา
2.กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหาร โดยฝ่ายกัมพูชาจะจัดทำแผนที่ฉบับใหม่แสดงขอบเขตปราสาทเขาพระวิหารเพื่อใช้แทนแผนที่ฉบับเดิมที่กัมพูชาใช้ประกอบคำขอขึ้นทะเบียน
3.การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม
4.ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระดับสากล เพื่อเสนอคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาภายในวันที่ 1 ก.พ.2553
- 30 พ.ค. กรณีที่ถูกวิจารณ์ว่า แผนที่ที่ทางกัมพูชายื่นให้ฝ่ายไทยรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทยประมาณ 200 เมตร นายนพดล ชี้แจงว่า ไทยถือแผนที่คนละฉบับกับกัมพูชา ไทยใช้แผนที่ แอล 7017 มาโดยตลอดตั้งแต่ศาลโลกมีคำวินิจฉัยและทุกหน่วยงานของไทยใช้แผนที่ฉบับดังกล่าวเช่นกัน
- 5 มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศได้รับแผนที่ฉบับใหม่จากฝ่ายกัมพูชาที่จะใช้แทนแผนที่เดิมที่ยื่นไว้เมื่อปี 2549 และได้ขอความร่วมมือกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ตรวจสอบข้อมูลในภูมิประเทศจริงเพื่อความถูกต้องชัดเจน
- 16 มิ.ย. แผนที่ฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- 17 มิ.ย. แผนที่ฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยมติครม. มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อยืนยันข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายตามที่ตกลงกันไว้ในการหารือที่กรุงปารีสด้วย
- 18 มิ.ย. นายนพดลลงนามในข้อตกลงร่วมกับกัมพูชาเมื่อ 22 พ.ค.2551 จากนั้นเปิดแถลงข่าวแสดงแผนที่ยืนยันว่า ไทยไม่เสียดินแดน

3.ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา เพื่อสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา เพื่อสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ลงนามในคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งผู้ร้อง และแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องต่อไป

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ตุลาการฯ 1 เสียงที่เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น คือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ซึ่งให้ความเห็นว่า เป็นหนังสือสัญญาแต่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

4.แม้ว่าปมปัญหาพิพาทไทย-กัมพูชาในเรื่องเขตพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรที่ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิก MOU 2543 ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดนั้นจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เรื่องดังกล่าวนั้นมีความสำคัญนอกเหนือจากอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทดังกล่าว อีกด้วย

เนื่องจากปมดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปิดประตูขุมทรัพย์ทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยกัมพูชาพยายามที่จะผลักดันการแบ่งเส้นเขตแดนด้วยแผนที่ 1: 200,000 ที่แนบตาม MOU 2543ซึ่งจะทำให้ พื้นที่ทับซ้อนของเขตแดนทางบกเชื่อมโยงไปถึงเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่มีมูลค่าอภิมหาศาล ตั้งแต่ปราสาทพระวิหาร ไปทางจังหวัดสระแก้ว-สุรินทร์-อุบลราชธานี-จันทบุรี และตราด

จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ล้วนจับจ้องขุมทรัพย์นี้ตาเป็นมันโดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่พยายามเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากขุมทรัพย์ใต้ทะเลที่มีการประเมินว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งที่ 2 ของโลกที่ยังเหลืออยู่ และจุดนี้เองที่นักการเมืองไทยและสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่างรู้ดี และได้กลายเป็นแหล่งที่เตรียมผลประโยชน์รองรับไว้แล้วก่อนหน้า

ดังนั้น หากกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา จบลงที่ไทยไปเสียท่ายอมรับแผนที่ 1: 200,000 ก็จะส่งผลกระทบต่อหลักหมุด 73ซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสจัดทำขึ้น ตั้งแต่ปี 2451 ซึ่งมีการปักหลักหมุดทั้งหมด 73 หมุด ตั้งแต่หมุดหลักที่ 1 บริเวณช่องสำงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มาถึงหลักหมุด 73 ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยที่ผ่านมาไทย-กัมพูชามีปัญหาเรื่องหลักหมุดต่อกันมาตลอด โดยเฉพาะมีหลายหลักหมุดในบางพื้นที่ที่สูญหายไป

หลักหมุด 73 นี้เองที่เป็นที่รู้กันดีว่าหากมีการคลาดเคลื่อนแม้เพียง 1-2 ลิปดาแล้ว พื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยที่มีอยู่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรจะกลายเป็นของกัมพูชาทั้งหมด นอกเหนือจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 กิโลเมตรแล้ว หลักหมุด 73 นี้ก็เป็นจุดที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญ และยืนกรานว่าจะยอมไม่ได้เด็ดขาด

ขุมทรัพย์มหาศาลใต้ทะเลอ่าวไทย
ในส่วนของขุมทรัพย์ทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตรที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชานี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งมีการประเมินว่ามีมูลค่าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสูงถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรและถ้ามีการขุดเจาะจริงอาจพบในปริมาณมากกว่าที่ประมาณเบื้องต้นมากกว่าด้วย

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงาน เปิดเผยว่า ล่าสุดองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา หรือ Cambodian National Petroleum Authority (CNPA) ได้ว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจและขุดเจาะและพัฒนาทรัพยากรจากแหล่งพลังงานในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นจำนวน 10 หลุม และพบว่าบริเวณไหล่ทวีปของกัมพูชามีปริมาณก๊าซธรรมชาติกว่า 4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันกว่า 200 ล้านบาร์เรล ขณะที่บริเวณไหล่ทวีปฝั่งไทยก็มีการสำรวจและขุดเจาะพบว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกว่า 7 แสนล้านบาร์เรล

"การขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงานใต้ทะเลทั้งของไทยและกัมพูชาบริเวณใกล้เคียงกับแอ่งพลังงานที่อยู่ใจกลางพื้นที่ทับซ้อน ที่ถือว่ามีอยู่ในปริมาณมากซึ่งพูดง่ายๆว่านี่เป็นเพียงชายขอบของแอ่งพลังงาน ซึ่งหากมีการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนใต้ทะเลก็ประมาณการได้ว่าจะมีพลังงานมหาศาลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก”

สอดคล้องกับข้อมูลรายงานของบริษัทเชฟรอนที่ทำไว้เมื่อปี 2548 ว่า ได้มีการค้นพบบ่อน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ ในพื้นที่ 2,427 ตารางกิโลเมตรทางตอนใต้ของกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่สัมปทานแปลงเอ เนื้อที่ 6,278 ตารางกิโลเมตร ที่คาดว่าจะมีน้ำมันสำรองถึง 700 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 3-5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่าแหล่งพลังงานในกัมพูชาน่าจะมีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไหล่ทวีป ขณะที่เขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา นั้นลักษณะทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่าเป็นแอ่งกระทะที่มีการประเมินว่าคุณภาพของทรัพยากรใต้ทะเลมีคุณภาพระดับดีหรือใกล้เคียงกับแหล่งพลังงานของประเทศมาเลเซียเนื่องจากการทับถมในยุคเดียวกันนั่นเอง

แต่การที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงนั้น จำเป็นต้องสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ปริมาณเท่าใด จำเป็นจะต้องมีการขุดเจาะขึ้นมาก่อนจึงจะประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้ แต่ขณะนี้แม้ว่าทั้งรัฐบาลไทย-กัมพูชาจะมีการให้สัมปทานบริษัทต่างๆ เพื่อทำการสำรวจแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครที่สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาได้จริง เนื่องจากยังติดปัญหาข้อขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา

ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่ทางทะเลของกัมพูชา บริษัท เชฟรอน ได้รับสัมปทานอนุญาตขุดเจาะ และยังมีบริษัทจากไทยคือบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ได้ร่วมทุน 30% กับอีก 2 บริษัท คือ บริษัท Resourceful Petroleum Ltd. และ SPC Cambodia Ltd. อีก 10% เป็นของ CE Cambodia B Ltd. ทั้งนี้ ปตท.สผ.อ.ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ นอกชายฝั่ง ในบริเวณอ่าวไทย แต่ยังมีพื้นที่แหล่งนี้ที่กัมพูชาเรียกว่า “บล็อก B” และ ปตท.สผ. ตั้งรหัสว่าโครงการจี 9/43 มีการพบเบื้องต้นว่ามีน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก แต่ในหนังสือรายงานประจำปี 2550 ได้ระบุว่าเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา และกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเล หรือเป็นหนึ่งในพื้นทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาอีกพื้นที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตามเรื่องของการให้สัมปทานบริษัทต่างๆ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคนในแวดวงพลังงานรู้กันดีว่า ผลประโยชน์ด้านพลังงานกับภาคการเมืองของไทยนั้นมีสัมพันธ์อันแนบแน่น ซึ่งนักการเมืองไทยมักจะได้ประโยชน์จากการให้สัมปทาน และสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นยุคสมัยที่ได้ชื่อว่ามีการแลกผลประโยชน์ด้านสัมปทานมากที่สุดด้วย

---------------------------------------
โห อาจารย์... ขอบพระคุณมากครับ แต่ว่า ใครจะไปจำได้เนี่ยยยยยยยยย
---------------------------------------
Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น