วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

PA603: แนวสอบประเมินผล

ข้อมูลแนวการสอบประเมินผล จาก เพื่อนๆ กรรมการ ร.ปม. 3 ห้อง 2
---------------------------------------------
1. อ.เจษฎาฯ
--------------------------------------
กรณีคำถามว่า...
การบริหารราชการสมัยใหม่ให้สัมฤทธิ์ผล ต้องนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารราชการ เห็นด้วยหรือไม่ เพราะอะไร จงอธิบายและยกตัวอย่างให้ชัดเจน

แนวการตอบ อธิบายหลัก Good Governace หรือ HEADICE แล้วยกตัวอย่างงานสองคล้องกับหลักการ ที่หนวยงานดำเนินการ

กรณีคำถามเกี่ยวกับระบบราชการไทย

แนวการตอบ

1. ระบบราชการไทยเป็นอย่างไร
แบบย่อๆ ละกันนะ

ในสมัยก่อนระบบราชการของไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ( Patronage System) ซึ่ง David E. Hussey กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Corporate Planning; Theory and Practice หน้า 124 ว่า ระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้นในประเทศจีนโบราณ มีวิธีปฏิบัติกัน 3 แบบ คือ

1. สืบสายโลหิตจากบิดาถึงบุตร
2. แลกเปลี่ยนสิ่งของแลกตำแหน่ง
3. สนับสนุนผู้รับใช้ใกล้ชิดให้ได้ตำแหน่ง

โดยที่ไทยได้มีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กล่าวคือ ในป พ.ศ. 1825 กุบไลข่าน จักรพรรดิของจีนได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระองค์เองก็ได้เสด็จประพาสเมืองจีนถึง 2 ครั้ง คือใน ปี พ.ศ. 1837 และ พ.ศ. 1843 จึงน่าจะได้รับวัฒนธรรมระบบราชการมาจากจีน เพราะมีรูปแบบแห่งการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรงศรีอยุธยา (ตอนต้น) ได้ทรงปรับปรุงการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ก็ได้ใช้ระบบอุปถัมภ์ในราชการมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน และระบบนี้ได้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทรงวางรากฐานการเข้ารับราชการตามระบบคุณธรรมคือมีการสอบแข่งขันตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

ระบบอุปถัมภ์ ไม่มีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่แน่นอน จะรับใครเข้าทำงานถือเอาความใกล้ชิด หรือพรรคพวกเป็นหลัก จึงมีชื่อเรียกระบบนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ระบบพรรคพวก” ซึ่งเป็นผลให้การบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการคำนึงถึงความเป็นพรรคพวกเป็นสำคัญ มิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ส่วนราชการต่างๆ จึงเต็มไปด้วยข้าราชการที่ไม่มีความรู้ความสามารถ เพื่อแก้ปัญหานี้จึงได้มีการนำ “ระบบคุณธรรม” (Merit System) มาใช้

ระบบคุณธรรม จึงเข้ามามีบทบาทในการเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการ เพราะระบบนี้ถือหลักความเสมอภาคแห่งโอกาส หลักความสามารถ หลักความมั่นคง และหลักความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ระบบคุณธรรมยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ส่วนแบบยาวๆ ก็เปิดตามหนังสือ อ.เจษฎาฯ ว่ากันเองนะ

2. ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนามีอย่างไรบ้าง
1. ปัญหาด้านนโยบาย
1.1 ปัญหาด้านสมรรถนะของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
1.2 ปัญหาด้านการควบคุม
1.3 ปัญหาด้านความร่วมมือและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
1.4 ปัญหาด้านอำนาจและความสัมพันธ์กับองค์การอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.5 ปัญหาด้านความสนับสนุนและความผูกพันขององค์การหรือบุคคลสำคัญในกระบวนการของการนำนโยบายไปปฏิบัติ

2. ปัญหาด้านโครงสร้าง
2.1 รวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
2.2 กระทรวง กรม และกอง ไม่รู้หน้าที่หลักและรองของตน
2.3 มีระบบการประเมินผลแบบปิด
2.4 มีกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าหลัง
2.5 ระบบงบประมาณไม่ได้ผล

3. ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล
3.1 ระบบเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อสร้างเครือข่ายเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเกิดอย่างกว้างขวางในระบบราชการทำให้ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งหลักการของระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง
3.2 ต่างคนต่างทำ ข้าราชการส่วนภูมิภาคดำเนินงานตามนโยบายของ กระทรวง ทบวง กรม เป็นหลักมากกว่าตอบสนองปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่
3.3 การแก้ไขปัญหา ขาดการประสานงานของเจ้าหน้าที่
3.4 ข้าราชการพึ่งพาการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางเป็นหลัก ยากที่จะทำงานเชิงบูรณาการ
3.5 สายงานที่จำแนกไว้มีเป็นจำนวนมาก หลายสายงานมีลักษณะซับซ้อนใกล้เคียงกันมาก ยึดคุณวุฒิทางการศึกษาของข้าราชการจนทำให้ไม่คล่องตัวในการสรรหา โยกย้าย
3.6 มาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่กำหนดไว้มีขอบเขตกว้างหรือคลุมเครือ
3.7 มีมาตรฐานกลางเพียงมาตรฐานเดียว (Single Scale) ทำให้ไม่ยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนที่มีหลากหลาย
3.8 การกำหนดทางก้าวหน้าของแต่ละสายงานยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม
3.9 ขาดแคลนและสูญเสียบุคลากรในตำแหน่งทางวิชาการ
3.10 ค่าตอบแทนภาครัฐต่ำกว่าการจ้างงานในตลาด
3.11 การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเงินเดือนยังคงอิงระบบอาวุโส
3.12 ผู้บริหารระดับต่างๆ ไม่สามารถบริหารกำลังคนและกำกับดูแลผลงานของบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการในการทำงานขององค์กรในแต่ละระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.13 ระบบบริหารงานบุคคลไม่เอื้อต่อหลักประกันด้านคุณธรรม (Merit based system) ได้อย่างจริงจัง ข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม

4. ปัญหาด้านเทคโนโลยี
4.1 ปัญหามาตรฐานและรูปแบบในการจัดสร้างและจัดเก็บข้อมูล
4.2 ปัญหาการกระจายของข้อมูล
4.3 ความซ้ำซ้อนและความเข้ากันได้ของข้อมูล
4.4 ความเป็นปัจจุบันของข้อมูล
4.5 ความถูกต้องและความแม่นยำของข้อมูล
4.6 การเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูล
4.7 ปัญหาการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมของบุคลากรภาครัฐ

5. ปัญหาทางกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน
5.1 รัฐตรากฎออกมาควบคุมการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพของเอกชนโดยไม่จำเป็นและซ้ำซ้อนกันมาก
5.2 รัฐเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ดำเนินการทางเศรษฐกิจและสังคมมากเกินไป
5.3 ระบบราชการมีศูนย์รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป มิได้มีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่าที่ควร
5.4 โครงสร้างของการบริหารแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศได้
5.5 กฎหมายให้อำนาจดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไปโดยปราศจากการควบคุมการใช้ดุลยพินิจที่ดี มีขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมากเกินไป
5.6 กฎหมายจำนวนมากล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
5.7 กระบวนการนิติบัญญัติล่าช้าทำให้ไม่สามารถแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยหรือตรากฎหมายขึ้นใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้
5.8 นักกฎหมายของฝ่ายบริหารส่วนใหญ่ยังมีความสับสนในแนวความคิดทางกฎหมายและขาดความเชี่ยวชาญในกฎหมายที่ตนเองต้องรับผิดชอบ

3. แนวทางการพัฒนาควรกระทำอย่างไร
แนวทางการพัฒนาระบบราชการไทยโดย วรัชยา ศิริวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://www.polpacon7.ru.ac.th/download/article/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%2040.doc
----------------------------------------------------------------------------------------
เสนอแนวทางไว้ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการ (Management)
1.1 รัฐบาลควรส่งเสริมการปฏิรูประบบราชการอย่างต่อเนื่องและจริงจังโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
1.2 ควรนำการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้อย่างกว้างขวาง
1.3 การนำแนวคิดและเทคนิคการบริหารจากภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ เช่น Balanced Scorecard, Re-engineering, Kaizen, Total quality Management ฯลฯ
1.4 การลดอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการปฏิบัติราชการ
1.5 นำหลักการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) มาใช้อย่างกว้างขวางและปฏิบัติอย่างจริงจัง
1.6 สนับสนุนให้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติราชการ
1.7 ให้ความสำคัญกับการควบคุมตรวจสอบขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมากขึ้น
1.8 ให้ความสำคัญกับประชาชนในการตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
1.9 กำหนดวาระของผู้ดำรงตำแหน่งการบริหาร
1.10 การพัฒนาองค์การเพื่อเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

2. ด้านการให้บริการประชาชน (Citizen Service)
2.1 คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
2.2 พัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะโดยนำระบบ One Stop Service มาใช้อย่างกว้างขวาง
2.3 สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะมากขึ้น
2.4 ให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนให้ทั่วถึงและเป็นธรรม
2.5 จัดตั้งหน่วยงานกลางอำนวยความสะดวก และให้บริการประชาชน
2.6 รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน
2.7 ปรับปรุงสำนักงานให้ทันสมัย สะดวกในการติดต่อ
2.8 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการปฏิบัติงานและให้บริการ

3. ด้านพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการ (Civil Servants)
3.1 ใฝ่รู้ ตื่นตัวในการศึกษาหาความรู้อย่างเสมอ (Alert) โดยเฉพาะความรู้ในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
3.2 สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-Confidence)
3.3 ยืนหยัดในความถูกต้อง (What’s Right)
3.4 คิดใหญ่ (Big Thinking) และทำให้ได้
3.5 มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiatives) ข้าราชการยุคใหม่จะต้องกล้าคิดกล้าทำ กล้าวิพากษ์ และสามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงาน
3.6 จะต้องทำงานเชิงรุก (Proactive)
3.7 ปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ (Continuous Improvement)

บทสรุป
กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูประบบราชการที่ได้นำเสนอดังกล่าว เป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปพัฒนาระบบราชการให้ก้าวไปสู่การเป็นราชการยุคใหม่ และพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ต่อไป ทั้งนี้การปฏิรูประบบราชการให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนในสังคม นับตั้งแต่ผู้บริหารระดับประเทศ ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการ ข้าราชการ สื่อมวลชน ภาคเอกชน และประชาชน ที่จะต้องช่วยกันปฏิรูปให้สำเร็จ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปภาครัฐที่ว่า “เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุข สังคมไทยมีเสถียรภาพ ชาติไทยมีเกียรติภูมิ ได้รับความเชื่อถือ และมีความสามารถสูงในการแข่งขันในเวทีโลก”

4. ข้อเสนอแนะ
ก็ให้ทำตามแนวทางการพัฒนาข้างต้น (เหอๆ จริงๆ คือยังคิดไม่ออก)

ใครจำได้ทั้งหมดนี้ ก็เอา A ไปเลย เพราะถือว่าขั้นเทพแล้ว
--------------------------------------
2. รศ.ดร. มนตรีฯ

กรณีที่ถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้อ่านที่นี่
http://mparu3hm.blogspot.com/2010/09/pa603_21.html

ตัวอย่างคำถาม
ประชาชนเป็นอย่างไร รัฐบาลก็เป็นอย่างนั้น หากพิจารณาพฤติกรรมของพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน มีประเด็นน่าสังเกตุอะไรบ้าง ขอให้วิเคราะห์ให้ชัดเจน และเสนอแนวทางปรับปรุงให้การเมืองไทยมีคุณภาพกว่าที่เป็นอยู่

แนวการตอบ ตอบตามหลักทฤษฎี หรือหลัการตามบทเรียน เช่น
1) พฤติกรรมพรรคการเมือง (อธิบายในแต่ละข้อย่อยๆ ต่อไปนี้ ว่าเป็นอย่างไร)
(ก) ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง... (ข) หาคะแนนเสียงไม่มีสิ้นสุด... (ค) ซื้อสิทธิซื้อเสียงในการเลือกตั้ง...
2) พฤติกรรมนักการเมือง (อธิบายในแต่ละข้อย่อยๆ ต่อไปนี้ ว่าเป็นอย่างไร)
(ก) หาผลประโยชน์ทางการเมือง... (ข) ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง... (ค) ชอบเล่นเกมส์ต่อรองทางการเมือง...
3) พฤติกรรมของรัฐบาลที่ผ่านมา (อธิบายในแต่ละข้อย่อยๆ ต่อไปนี้ ว่าเป็นอย่างไร)
(ก) ใช้อำนาจทางการบริหารประเทศเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่มพวกพ้องที่ส่อไปในทางทุจริตคอรัปชั่น...
(ข) ใช้อำนาจทางการบริหารเข้าไปก้าวก่ายองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมการบริหารของรัฐบาลและการเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐบาล ....
4) พฤติกรรมของรัฐบาลปัจจุบัน
(ก) เป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยใช้วิธีต่อรองทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะเป็นรัฐบาลแบบผสม ไม่มีเอกภาพในการบริหารและการตัดสินใจ.....
(ข) รัฐบาลใช้วาทะกรรมทางการเมือง มากกว่าทำงานบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน จนทำให้เกิดความแตกแยกในตัวนักการเมืองเองหรือประชาชนตามมา

สรุป
1) คุณภาพของประชาชน จะเห็นได้ว่า คุณภาพของชาติมาจากคุณภาพของประชาชนในประเทศและคุณภาพทางการศึกษา
2) ความคิดความเชื่อของประชาชนในชาติ ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะระดับล่าง(รากหญ้า) คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ หรือพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับประชาชน(ตนเอง) การเลือกตั้งเป็นเพียงหน้าที่ เมื่อได้ผู้แทนแล้วก็เป็นเรื่องของผู้แทน โดยไม่สนใจจะติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้แทน หรือคิดเพียงว่า จะยุบสภาพ จะเอาออก หรือจะปฏิวัติเมืองไหร่
3) ค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชน ชอบคนมีเงิน เชิดชูคนมีเงิน เงินไม่มา กาไม่เป็น โดยไม่สนใจว่าเงินที่ได้นั้นมีที่มาอย่างไร

จะเห็นว่า ประชาชนขาดความสนใจ ขาดความตื่นตัว และขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเมือง ถึงจะมีส่วนร่วม ก็เป็นแบบขาดเห็นผลเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมก็ถูกครอบงำหรือปลุกระดมทางความคิดมากกว่าเต็มใจหรือสมัครใจโดยแท้จริง จากการวิเคราะห์ดังกล่าว ชั้ให้เห็นว่า คำกล่าวที่ว่า ประชาชนเป็นอย่างไร รัฐบาลก็เป็นอย่างนั้น ยังสามารถใช้ได้กับสังคมไทยในปัจจุบัน

ส่วนแนวทางการปรับปรุงให้การเมืองไทยมีคุณภาพกว่าที่เป็นอยู่
1. การสร้างหลักประกันทางการเมือง โดยพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องสร้างหลักประกันทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและวางใจได้ว่า ผู้แทนที่เขาเลือกเข้าไปนั้น จะใช้อำนาจทางการบริหารเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและประชาชน บนหลักแห่งความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และเป็นไปด้วยควาวซื้อสัตย์สุจริต และด้วยความมีสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน
2. พรรคการเมืองและนักการเมือง สามารถนำข้อเรียกร้องของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปสู่ระบบการเมือง และกลั่นกรองออกมาเป้นผลสำเร็จในรูปของนโยบาย มาตรการ และแนวทางการจัดการบริหารเพื่อสาธารณะ ให้กระจายไปเป็นโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างทั่วถึง เพียงพอ และเท่าเทียมกัน เป็นพื้นฐานของความยุติธรรม สอดคล้องกับปรัชญาและอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และเพื่อความอยู่รอดของรัฐ
3. การมีส่วนร่วมทงการเมือง ต้องสร้างแนวคิดให้กับประชาชนในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่เฉพาะสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งจนลืมมองข้ามการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะอื่นด้วยหัวใจสำคัญคือ อำนาจทางการเมืองของประชาชน ไม่ใช่เป้นอำนาจของรัฐบาล หรือพรรคการเมือง หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น ประชาชนต้องแสดงบทบาทในการควบคุม ติดตาม กำกับและตรวจสอบระบบการเมืองอยู่เสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าการเมืองไทย จะพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
(เป็นเพียงตัวอย่างนะ ต้องอ่าน/เขียนเพิ่มเติมกันเอง)
--------------------------------------
3. ผศ.ดร.กิตติฯ
--------------------------------------
เหมือนกับที่ทำ Quiz ในห้อง ได้แก่
1. ตัวแบบการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร เป็นพหุนิยมหรือไม่
2. คนไทยรักสงบ ประณีประนอมจริงหรือไม่ จะทำอย่างไรให้คนไทยประณีประนอมกัน
3. จะพัฒนาการเมืองไทยอย่างไร ทั้งส่วนของ "ระบบ" และ "วัฒนธรรม"
--------------------------------------------------------------------------------------------
แนวตอบ
อาจารย์เคยเฉลยในห้อง ว่า เป็นภาคี-รัฐสังคม ส่วนแบบ อำนาจนิยม และเสรีนิยม ให้เลือกเอง
เรื่องนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน แต่ขอแนะนำให้เลือกเพียงแบบเดียว

ตัวอย่างการตอบ ข้อ 1.ตัวแบบการเมืองไทย
1. แบบรัฐราชการ ครอบงำโดยทหารและราชการ ระบบราชการปราศจากการควบคุมหรือกำหนดทิศทางโดยพลังนอกระบบราชการ และมีการแย่งชิงงบประมาณ

2. แบบพหุนิยม สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีการเจรจาอย่างสันติ ประชาธิปไตยเบ่งบานมากขึั้น แต่ก็แบ่งขั้ว แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในครอบครัว ญาติมิตร ชุมชน สังคม และประชาคม

การเมืองไทยในปัจจุบัน อาจเป็นได้ทั้งแบบรัฐราชการ และพหุนิยม เนื่องจากการรัฐประหารในปี 2549 มีการยึดอำนาจของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย (ทักษิณ) เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งการบริหารโดยมี รธน.2550 มีการยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคอื่นๆ จนไม่สามารถดำรงอยู่ได้ คงเหลือเพียงพรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทยเดิม) ที่เป็นผลจากการยุบพรรค เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เป็นรัฐบาลประชาธิปัตต์ เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของประชาชน มีการแบ่งขั้วอำนาจ มีการชุมนุมของประชาชน มีการลดบทบาทนักการเมืองใน รธน.2550 มีการรวมศูนย์อำนาจต่างๆ ไว้ในส่วนกลาง มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นลดน้อยลง มีการต่อรองทางการเมืองของนักการเมือง มีการเรียกร้องต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นการขัดแยังที่ต่างฝ่ายไม่ยอมเจรจากัน เพียงมุ่งหวังการเอาชนะ มีกระบวนการทั้งภายในและภายนอก ใช้อำนาจทั้งทางการเมืองโดยตรงและโดยอ้อมเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากประเทศชาติ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างรัฐราชการและพหุนิยม

3. แบบภาคีรัฐ-สังคม คือ ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจการเมืองไทยในรูปแบนใหม่ที่ให้ความสำคัญระหว่างรัฐบาลกับภาคธุรกิจ ในเรื่องของการริเริ่ม ปรับเปลี่ยน หรือขัดขวางนโยบายทางเศรษฐกิจ หรือมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถควบคุมธุรกิจด้วยตัวของรัฐเพียงอย่างเดียวแบบอามาตยาธิปไตย ตัวอย่างเช่นประเทศไทยได้ก้าวพ้นจุดนั้นมาแล้ว โดยกลุ่มภาคีทางเศรษฐกิจ โดยระบบภาคีธุรกิจจะใช้หลักการของความอิสระของกลุ่มเข้าสัมพันธ์กับรัฐ และให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีระหว่างกลุ่มต่างๆ อาจมีการตั้งองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เป็นต้น

ภาคีรัฐ-สังคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1) ภาคีรัฐ-สังคมแบบเสรี หรือแบบที่มีภาคสังคมเป็นฝ่ายนำ (Liberal Corporatism) มีลักษณะเด่นอยู่ที่ความอิสระ ความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูงของกลุ่มต่างๆ ภาคเอกชนมีบทบาทหลักในการจัดตั้งและดำเนินงานในกลุ่มที่เป็นตัวแทนของเขา และมีบทบาทอยู่ในระบบการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มกับรัฐ ภาคีรัฐ-สังคมแบบเสรีมักพบในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว

2) ภาคีรัฐ-สังคมแบบอำนาจนิยม หรือแบบที่มีรัฐเป็นฝ่ายนำ (Authoritarian Corporatism) มีลักษณะสำคัญอยู่ที่กลุ่มธุรกิจยังต้องพึ่งพิงหรือขึ้นต่อรัฐ หรือมีหน่วยงานของรัฐอุดหนุน หรือให้ความสนับสนุน หรือควบคุมอยู่ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรส่งเสริมของรัฐ ภาคีรัฐ-สังบคมแบบอำนาจนิยมมักพบในประเทศตะวันออกที่ยังไม่พัฒนาหรือประเทศโลกที่ 3

จากการแบ่งแยกเป็น 2 ประเภทดังกล่าว จึงเกิดคำถาม 2 ข้อที่ว่า
1) ไทย อยู่ในแบบไหน
2) ภาคีรัฐ-สังคม ต่างกับความคิดแบบพหุนิยมอย่างไร

แนวตอบ
1. ไทย แม้ว่าจะเป็นประเทศในโลกที่ 3 แต่ไทยกลับมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบภาคีรัฐ-สังคมแบบเสรี เพราะกลุ่มทางธุรกิจมีอำนาจเหนือกว่าและสามรถควบคุมรัฐได้ เป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการ แต่สำหรับชาวบ้าน(ตาดำๆ) คงกระจ่างในเรื่องนี้อยู่แล้วว่า ภาคธุรกิจหรือเงิน มีอำนาจเหนือรัฐมาเป็นเวลานานแล้ววววว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปี ล่าสุดเงินหรือทุนยิ่งมีความสำคัญยิ่งกว่ารัฐด้วยซ้ำไป

2. ภาคีรัฐ-สังคม ต่างกับความคิดแบบพหุนิยม ตรงที่ความคิดแบบพหุนิยมคิดว่า กลุ่มผลประโยชน์จะจัดตั้งกันอย่างสมัครใจ ไม่จำกัดจำนวนและประเภท กลุ่มเหล่านี้แข่งขันกันเพื่อให้ได้นโยบายหรือมาตรการทางกฏหมายตามที่ตนต้องการ โดยรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงหรือรับรองสนับสนุนกลุ่มใดเป็นพิเศษ หรือภาครัฐไม่มีผลประโยชน์และเจตนารมณ์ที่เป็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างกับภาคีรัฐ-สังคม ที่จะมองตรงความสัมพันธ์ แม้จะยอมรับว่ากลุ่มผลประโยชน์มีอิทธิพลต่อนโยบายและมาตรการต่างๆ แต่สำคัญตรงที่รัฐยังอาจกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับภาคสังคม และจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่งกลุ่มต่างๆ ในภาคสังคม โดยกลุ่มธุรกิจมิได้แค่สนับสนุนนโยบาย แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ

ตัวอย่างการตอบ ข้อ 2. คนไทยรักสงบ?
โดยหลักความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานของคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจดี รักสงบ มีความประนีประนอมสูง ในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีสูง การเรียกร้องสิทธิส่วนรวมมีค่อนข้างสูง เกิดปัญหาการแตกแยกทางสังคม เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดปัญหาการเรียกร้อง สร้างข้อแม้ต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้คนไทยกลับมาประนีประนอมกันอีกครั้ง จะต้องเริ่มจากตัวนักการเมือง ชนชั้นนำของประเทส โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดัน หรือการพัฒนาทางการเมือง ชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ ให้เกิดความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การยอมรับในเสียงของประชาชน การสร้างความสมานฉันท์ แนวคิดในการรักชาติ ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนคนไทยหันมารักสงบ และเกิดการประนีประนอมของคนในชาติได้

ตัวอย่างการตอบ ข้อ 3. จะพัฒนาการเมืองไทย?
แนวคิดการพัฒนา ได้แก่
1) พัฒนาโครงสร้างทางการเมือง ได้แก่ (1) การลดอำนาจของนักการเมืองลงจากเดิมที่ รธน.2540 ให้นักการเมืองมีอำนาจมาก ต่อมา รธน.2550 ได้ลดอำนาจนักการเมืองลง และ (2) ปรับโครงสร้างระบบราชการ โดยลดขนาดและยุบเลิกหน่วยงานที่ปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน
2) เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับนักการเมืองและมีการบูรณาการทุกภาคส่วน
3) การกระจายอำนาจทางการเมือง - ตามแนวคิดของ รธน.2540 ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ แต่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ และมีการกระจายอำนาจทางการเมืองลงสู่ท้องถิ่น
4) ธรรมรัฐ สร้างทางเลือกและระบบที่ดี (สังคมดี รัฐบาลดี มีการจัดการที่ดี) โดยมีการนำหลักแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้

การพัฒนาการเมืองไทยในด้านระบบ
การจัดการในด้านระเบียบบริหารราชการไทย การสร้างความเข้มแข็งของระบบราชการไทย รวมไปถึง รธน. โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะส่วน กล่าวคือ การพัฒนาทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง รวมไปถึงระบบราชการ โดยทุกฝ่ายจะต้องอยู่ในหลักอำนาจอธิปไตย ประชาชนมีสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การยอมรับกลไกของ รธน. การทำงานของรัฐบาลด้วยความรับผิดชอบ มีเหตุผลที่จะอธิบายได้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ เป็นต้น

การพัฒนาการเมืองไทยด้านวัฒนธรรม (การให้การศึกษา การให้ข้อมูลข่าวสาร และจริยธรรมของนักการเมือง)
การพัฒนาด้านวัฒนธรรมทางการเมือง การมีส่วนร่วมที่จะกำหนดตัวผู้ปกครอง การมีสิทธิเลือกตั้ง การถอดถอน การตัดสินใจ การวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านหรือสนับสนุน การชุมชนเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ในกรอบของกฏหมาย เป็นต้น รวมไปถึงพรรคการเมือง นักการเมือง ข้าราชการ นักปกครองต้องสร้างความเข้าใจในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง การเคารพในกติกา การมีจริยธรรมของนักการเมือง การสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม ความเสมอภาคของประชาชน ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาการเมืองไทย จำเป็นต้องเริ่มจากการศึกษาของประชาชน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน การศึกษาวิเคราะห์ปัญหา การเชื่อมโยงและประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างการเมืองภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาการเมืองเป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ทำให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศและประชาชนโดยรวม

--------------------------------------
4. อาจารย์อีกหนึ่งท่าน ของห้อง 2 คือ รศ.สุรพันธ์
ให้ทำเฉพาะในห้องตอนเรียน ไม่ออกข้อสอบ
โดยถามว่า "ให้อธิบาย การจัดระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี จนถึงปัจจุบันโดยสังเขป"

ส่วน ดร.สุขุมรัฎฐ์ฯ
คาดว่าน่าจะเป็น 3 เสาหลัก ระบบราชการไทย แต่ก็อย่าลืมอ่านระบบการเมืองด้วยนะ
นอกจากนั้นอย่าลืมอ่านการพัฒนาระบบราชการไทยได้ที่นี่
http://www.opdc.go.th/oldweb/Mission/File_download/22_12_47/reform.pdf
เพราะอาจเป็นคำถามของทั้ง อ.เจษฎา และ ดร.สุขุมรัฎฐฯ ก็เป็นได้

-----------------------------------------------------------
ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบนะครับ หากมีข้อมูลอื่นๆ จะนำลงให้บล็อกนี้ให้อีกนะ
-----------------------------------------------------------
Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น