วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

PA604: การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจนโยบาย1

การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจนโยบาย
อ้างอิงจาก : ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และดร.ศศิชา สืบแสง
---------------------------------------------------
1. การกำหนดทางเลือกนโยบาย
การพัฒนาและการกำหนดทางเลือกนโยบายจะกระทำควบคู่ไปกับการพยากรณ์เกี่ยวกับผลลัพธ์และคุณค่าของทางเลือกนโยบายแต่ละทางเลือกให้ชัดเจน
การศึกษาการพัฒนาและการกำหนดทางเลือกนโยบาย พิจารณาได้จากปัจจัยต่อไปนี้
1. คุณลักษณะสำคัญของทางเลือก
2. การแสวงหาทางเลือกนโยบาย
3. การกลั่นกรองทางเลือกนโยบาย
4. การตรวจสอบทางเลือกนโยบาย
-----------------
1. คุณลักษณะสำคัญของทางเลือกนโยบาย ได้แก่ * การสร้างสรรค์ (creativity) หมายถึง การนำสิ่งใหม่ไปปรากฏให้เป็นจริง * นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การนำสิ่งใหม่ไปสู่การใช้ประโยชน์
2. การแสวงหาทางเลือกนโยบาย จำแนกได้ดังนี้ 1) การพิจารณาระหว่างทางเลือกที่ควรกระทำและไม่ควรกระทำ 2) การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม
ทางเลือกนโยบายไม่จำเป็นต้องบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการเดียวกัน ดังนั้น การค้นหาทางเลือกนโยบายจึงอาจเกี่ยวข้องกับแนวทางพิจารณา 2 ประการคือ 1) การจำแนกลำดับชั้นของแนวทางแก้ไข 2) การตรวจสอบแนวทางแก้ไขตามที่ได้จัดลำดับชั้นไว้
3. การกลั่นกรองทางเลือกนโยบาย มักเป็นกระบวนการที่มีการกระทำซ้ำๆเพื่อให้มั่นใจว่าทางเลือกนโยบายแต่ละทางเลือกมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ กระบวนการในการกลั่นกรองนโยบายที่ใช้กันทั่วไป คือ กระบวนการประเมินผล เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อนของนโยบาย
4. การตรวจสอบทางเลือกนโยบาย ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ด้านต้นทุนและผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดจากการนำทางเลือกนโยบายไปปฏิบัติ ใครคือผู้รับผลประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากทางเลือกนโยบายนั้น การกระจายของผลกระทบที่ไม่คาดหมาย

ข้อดีของ การเปรียบเทียบทางเลือกนโยบาย จะกระตุ้นให้เกิดความคิดในการดัดแปลงทางเลือกนโยบาย เพื่อให้ได้ทางเลือกที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งการดัดแปลงทางเลือกดังกล่าวเท่ากับการกำหนดทางเลือกนโยบายใหม่นั้นเอง

2. ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนโยบาย
2.1 ทฤษฎีหลักการเหตุผล (rational/comprehensive theory)
2.2 ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน (the incremental theory)
2.3 ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก (mixed scanning)
---------------------------
2.1 ทฤษฎีหลักการเหตุผล ประกอบด้วย
1) ผู้ตัดสินใจต้องเผชิญกับปัญหาที่สามารถจำแนกออกจากปัญหาอื่นได้ หรืออย่างน้อยต้องสามารถพิจารณาเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นได้อย่างมีความหมาย
2) ผู้ตัดสินใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เป้าประสงค์(goals) ค่านิยม(values) หรือวัตถุประสงค์(obectives) ที่ผู้ตัดสินใจต้องคำนึงถึงและสามารถทำให้การพิจารณาปัญหามีความชัดเจนและจัดลำดับตามความสำคัญของแต่ละกรณี
3) การตรวจสอบทางเลือกต่างๆในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน
4) การตรวจสอบผลลัพธ์ทั้งทางด้านต้นทุน ผลประโยชน์ ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง
5) การเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นของทางเลือกแต่ละทาง
6) ผู้ตัดสินใจจะเลือกทางเลือกและผลลัพธ์ของแต่ละทางเลือกที่จะต้องตอบสนองต่อ เป้าประสงค์ ค่านิยมหรือวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์การ มุ่งเน้นการตัดสินใจเพื่อการบรรลุเป้าประสงค์สูงสุด

2.2 ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน เป็นทฤษฎีที่มีลักษณะของการพรรณนาความเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล การตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือการเพิ่มเติมจากนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัด สาระสำคัญของทฤษฎี พิจารณาจากองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
1) การพิจารณาในการเลือกเป้าประสงค์หรือวัตถุประสงค์ และการวิเคราะห์เชิงประจักษ์ จะกระทำโดยพิจารณาร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าการที่จะแยกพิจารณาในแต่ละประเด็น
2) ผู้ตัดสินใจจะพิจารณาเฉพาะทางเลือกบางทางเลือกที่จะใช้ ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแตกต่างไปจากนโยบายเดิมเพียงเล็กน้อย
3) การประเมินผลทางเลือกแต่ละทางเลือก จะกระทำเฉพาะเพื่อพิจารณาผลลัพธ์ที่สำคัญของทางเลือกบางทางเลือกเท่านั้น
4) สำหรับปัญหาที่ผู้ตัดสินใจกำลังเผชิญอยู่นั้น ผู้ตัดสินใจจะต้องทำการนิยามปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง
5) ทฤษฎีนี้ถือว่าไม่มีการตัดสินใจเพียงครั้งเดียวหรือทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเพียงทางเดียว
6) การตัดสินใจโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากวิธีการอื่นๆ และนำไปสู่สภาพปัจจุบันที่ดีกว่า รวมทั้งช่วยแก้ไขความไม่สมบูรณ์ทางสังคมให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการพิจารณาเป้าประสงค์ของสังคมในอนาคต

2.3 ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก Etzioni เห็นว่า การตัดสินใจโดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงบางส่วนจะสะท้อนให้เห็นประโยชน์ของกลุ่ม และองค์การที่มีอำนาจสูงสุดในสังคม แต่ผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่ด้อยสิทธิ (the underprivileged) และกลุ่มที่ไม่มีบทบาททางการเมืองจะถูกละเลย
ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก จะเปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินใจสามารถใช้ประโยชน์จากทั้ง ทฤษฎีหลักการเหตุผล และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึกมีความเหมาะสมสำหรับผู้ตัดสินใจนโยบายที่มีขีดความสามารถต่างกัน
แนวคิดของ Etzioni ช่วยให้ผู้สนใจศึกษา เข้าใจข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า การตัดสินใจอาจจะแปรผันไปตามขนาดของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ทั้งในด้านขอบเขตและผลกระทบ และกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างกันอาจจะเหมาะสมกับธรรมชาติที่แตกต่างกันของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

3. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบาย ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบาย พิจารณาได้จาก 1) ค่านิยม 2) ความสัมพันธ์กับนักการเมือง 3) ผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้ง 4) มติมหาชน 5) ประโยชน์ของสาธารณะชน มีรายละเอียด ดังนี้
1) ค่านิยม เป็นผลมาจากกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมและการเมือง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อและค่านิยมของผู้ตัดสินใจนโยบาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ลักษณะของค่านิยมที่มีผลต่อการตัดสินในนโยบาย ได้แก่ (1) ค่านิยมขององค์การ (2) ค่านิยมด้านวิชาชีพ (3) ค่านิยมส่วนบุคคล (4) ค่านิยมด้านนโยบาย และ (5) ค่านิยมด้านอุดมการณ์
2) ความสัมพันธ์กับนักการเมือง ความจงรักภักดีต่อพรรคการเมืองของนักการเมืองแต่ละพรรค มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายของนักการเมืองเหล่านี้. รูปแบบของระบอบการเมือง มีผลต่อการแสดงบทบาทของสมาชิกพรรค ดังนี้ (1) รูปแบบการแบ่งแยกอำนาจ สมาชิกมีอิสระที่จะออกเสียงตามมติของพรรคหรือไม่ก็ได้ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของสมาชิกพรรคได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ถ้าสมาชิกพรรคไม่มีความจงรักภักดีต่อพรรคสมาชิกสามารถออกเสียงลงมติได้โดยอิสระ โดยที่พรรคก็ไม่มีอำนาจลงโทษสมาชิกที่ออกเสียงลงมติในรัฐสภาตรงกันข้ามกับมติพรรค (2) รูปแบบควบอำนาจ พรรคการเมืองรูปแบบนี้ จะมีกฎ ระเบียบในการควบคุม กำกับพฤติกรรมของสมาชิกพรรคอย่างเข้มงวด เพราะการใช้สิทธิออกเสียงของสมาชิกในพรรคมีผลต่อความอยู่รอดของฝ่ายบริหาร ดังนั้น มติของพรรคจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตาม
3) ผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้ง มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ตัดสินใจนโยบายมาก เนื่องจาก ประชาชนในเขตเลือกตั้งมีอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของนักการเมืองในเขตเลือกตั้งของตนโดยตรง
4) มติมหาชน ผู้ตัดสินใจนโยบายจะต้องให้ความสนใจต่อมติมหาชน ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่ออนาคตทางการเมืองของผู้ตัดสินใจนโยบายอย่างคาดไม่ถึงได้
5) ประโยชน์ของสาธารณชน เป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญของนโยบายสาธารณะ การพิจารณาลักษณะของผลประโยชน์สาธารณะ จำแนกได้เป็น 3 ประการ คือ
(1) พิจารณาจากนโยบายในแต่ละด้านว่ามีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์มากหรือไม่ หรืออาจพิจารณาจากผลประโยชน์โดยตรงของกลุ่มผลประโยชน์แต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ คือ ผลประโยชน์สาธารณะ
(2) แนวทางที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งสรรผลประโยชน์อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ผลประโยชน์สาธารณะ
(3) พิจารณาจากความต้องการขององค์การและระเบียบวิธีปฏิบัติการ จะเป็นตัวแทนการสร้างประโยชน์ที่สมดุล หรือเพื่อการแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะมีผลต่อการประนีประนอมต่อการก่อรูปนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ จุดเน้นในประเด็นนี้จะมุ่งที่กระบวนการมากกว่าเนื้อหาของนโยบาย

4 รูปแบบของการตัดสินใจนโยบาย
4.1 การต่อรอง (Bargaining) เป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ทำการเจรจาเพื่อปรับเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกันให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับในการนำนโยบายไปปฏิบัติ การต่อรอง แบ่งเป็น 3 ประการ คือ 1) การต่อรองทางลับ 2) การให้รางวัล 3) การประนีประนอม
4.2 การโน้มน้าว (Persuation) ความพยายามที่จะทำให้กลุ่มการเมืองเชื่อมั่นในความถูกต้องต่อข้อเสนอนโยบายของตน เป็นการแสวงหาการสนับสนุนโดยปราศจากการปรับเปลี่ยนข้อเสนอของตน
4.3 คำสั่ง (Command) เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ตามลำดับขั้น ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการแสดงถึงการใช้อำนาจของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า เพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาจใช้การให้รางวัล และการลงโทษเป็นเครื่องมือในการสั่งการให้ได้ผล

การประกาศใช้นโยบาย
1. องค์ประกอบของการพิจารณาการประกาศใช้นโยบาย
2. กลยุทธ์การประกาศใช้นโยบาย

องค์ประกอบการประกาศใช้นโยบาย
- พิจารณากลยุทธ์ในการนำไปปฏิบัติในกระบวนการกำหนดนโยบาย
- พิจารณาความเป็นไปได้ทางการเมืองโดยคิดเชิงกลยุทธ์
- ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการวางแผนปฏิบัติ
- เชิญนักวิเคราะห์ร่วมในกระบวนการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

กลยุทธ์การประกาศใช้นโยบายองค์ประกอบพื้นฐานกลยุทธ์ทางการเมือง
1. การประเมินผลและอิทธิพลความเป็นไปได้ทางการเมือง
2. กลยุทธ์ในเวทีทางการเมือง
2.1 สร้างความร่วมมือจากกลุ่มอื่น (co-optation)
2.2 ประนีประนอม (compromise)
2.3 ใช้สำนวนโวหารทางการเมือง (rhetoric)
2.4 การผลักดันนโยบาย (heresthetics)

แหล่งอ้างอิง : http://www.geocities.com/worawut47/policyexam.doc
----------------------------
อ่านแนวทางการวิเคราะห์นโยบายที่นี่

อ่านตัวแบบนโยบายสาธารณะ ได้ที่นี่

นโยบายสาธารณะแบบเต็มๆ
----------------------------
Tai

อ่านวิชาการ รป.ม. ทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น