วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ด้วยระบบ WAI: Web Aids Instruction

วันนี้ ขอนำเสนอเว็บเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ผ่านระบบไหว้ (WAI: Web Aids Instruction ไม่แน่ใจว่าออกเสียงถูกหรือเปล่า) ของโรงเรียนกันทรารมณ์ อ.กันทรารมณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ทำได้ดีมากๆ ขอชมเชย และคลิกเข้าเรียนตามลิงค์ด้านล่างกันได้เลยครับพี่น้องชาว รป.ม. 3 รามฯ หัวหมาก

Web Aids Instruction: WAI เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์

ยังมีวิชาอื่นๆ อีกเพียบ คลิกที่นี่ (สำหรับบุตรหลานและตัวท่านเอง)

นี่ก็อีกเว็บหนึ่งที่ทำไว้ดีมากๆ คลิกที่นี่อ่านกันเลยครับ
-----------------
Tai

PA604,704: FOOD INC บทวิเคราะห์ โดย NONSOUND2009

หลังจากดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องFOOD,Inc. ท่านจะประเมินนโยบายว่าด้วยเรื่องอาหารและเรื่องสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ว่าอย่างไร โดยใช้เกณฑ์อะไรในการประเมิน
----------------------------------
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ก่อนการวิเคราะห์และประเมินฯ

Food, Inc. กลายเป็นสารคดีที่ ?อื้อฉาว? ที่สุดในรอบปี 2009 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากแรงกระเพื่อมในหมู่คนดูที่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่หนังนำเสนออย่างเผ็ดร้อน เสียงสนับสนุนจากนักโภชนาการอาหาร นักเศรษฐศาสตร์ และการฟ้องร้องใหญ่โตของบริษัทผลิตอาหารกว่า 5 ราย ก็กลายเป็นแรงหนุนสำคัญให้ Food, Inc. เป็นหนังสารคดีที่ ?ทุกคน? ควรเข้ามาชมร่วมกันโดยพร้อมหน้า

เนื่องจากผู้กำกับ โรเบิร์ต เคนเนอร์ กำลังจะพาคุณเข้าไปสัมผัสเบื้องลึกเบื้องหลังของธุรกิจอาหาร (ทั้งเนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้) แบบเจาะลึก ลึกขนาดที่เห็นความฟอนเฟะ ไม่น่าอภิรมย์ และชวนให้น้ำย่อยหายไปง่ายๆ

มีการพูดกันมากว่าหลายทศวรรษแล้วว่า ธุรกิจการผลิตอาหารในสหรัฐอเมริกานั้น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล มันถูกกำหนดและวางกรอบโดย ?ตัวเงิน? เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นบริษัทผลิตอาหารเกือบทุกบริษัทจึงให้ความสำคัญกับ ?ปริมาณ? มากกว่า ?คุณภาพ? แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น พวกเขายังคำนึงถึง ?กำไร? มากกว่า ?ความปลอดภัย? ของผู้บริโภค

แต่ Food, Inc. จะไม่ได้บอกกล่าวแค่ว่า อาหารที่เรารับประทานกันอยู่นั้น ไม่ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว หากแต่มันยังตั้งอยู่บนความเอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว ยังรวมไปถึงการกระทำที่ผิดศีลธรรม โดยที่เราๆ ท่านๆ อาจไม่รู้ตัว

เกร็ดภาพยนตร์
- สารคดีเรื่องนี้จะมีผู้บรรยายหลักๆ อยู่ 2 คน หนึ่งคือ เอริค ชลอสเซอร์ นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดี Fast Food Nation (ริชาร์ด ลิงคเลเตอร์ เคยนำไปสร้างเป็นหนังเมื่อ 4 ปีก่อน) และสองคือ ไมเคิล พอลลัน นักข่าวและนักเคลื่อนไหวว่าด้วยธุรกิจอาหารที่ไม่เป็นธรรม ทั้งชลอสเซอร์, พอลลัน หรือแม้แต่ผู้กำกับโรเบิร์ต เคนเนอร์ ไม่มีใครเป็นมังสะวิรัติ เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเผ็ดร้อนในหนังจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากอคติใดๆ ทั้งสิ้น

- โรเบิร์ต เคนเนอร์ ผู้กำกับของสารคดีเรื่องนี้ เกิดในปี 1971 เข้าวงการด้วยการทำหน้าที่ผู้ช่วยตากล้องในหนังหลายเรื่อง แต่ตัวเขากลับสนใจการทำหนังสารคดีมากกว่า จึงหันเหเข้าไปทำรายการและหนังสารคดีที่ออกฉายทางโทรทัศน์ เขาเคยได้รับรางวัลเอมมี่จากสารคดีชุด The American Experience ในปี 2005 สำหรับ Food, Inc. นั้นเป็นสารคดีที่ออกฉายทางโรงภาพยนตร์เรื่องแรกของเคนเนอร์ และพูดได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด

- Food, Inc. เป็นหนังสารคดีขวัญใจนักวิจารณ์ มันได้คะแนนบวกจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ถึง 97% และจากเว็บไซต์ที่รวบรวมผลของนักวิจารณ์อย่าง Metacritic ถึง 80 เต็ม 100 โดยนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า Food, Inc. เป็นหนังที่เปิดข้อมูลที่เชื่อมั่นว่าไม่มีใครเคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับธุรกิจอาหาร มันเป็นหนังสารคดีที่ทั้งตื่นเต้น น่ากลัว แบบเดียวกับที่คุณรู้สึกขณะนั่งดูหนังสยองขวัญ, นักวิจารณ์อีกส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า Food, Inc. เป็นหนังที่ทุกคน ?ควร? เข้าไปดู เพราะนี่คือข้อเท็จจริงที่ประชาคมโลกควรได้มีโอกาสรับรู้ ว่าทุกวันนี้เรากำลังบริโภคอะไรกันอยู่

- มีบริษัทผลิตอาหาร 5-6 บริษัทที่ยื่นฟ้องโรเบิร์ต เคนเนอร์ว่า นำเอาข้อมูลที่บิดเบือนไปเผยแพร่ และมีการหมิ่นประมาทบริษัทเหล่านั้น แต่ตัวเคนเนอร์แก้ต่างว่า ตนไม่ได้บิดเบือนข้อมูลใดๆ และหนังสารคดีเรื่อง Food, Inc. ไม่ได้ทำไปเพื่อต้องการดิสเครดิตใคร เขาเพียงแต่ต้องการความโปร่งใสเท่านั้นเอง

- Food, Inc. ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีล่าสุดในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (แต่ก็ไม่ได้รางวัลอยู่ดี) ก่อนหน้านี้หนังได้คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมมาจาก สมาคมนักวิจารณ์ทางวิทยุและโทรทัศน์ และยังได้เข้าชิงรางวัลสารคดียอดเยี่ยมกว่า 20 สถาบัน
ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องผ่าน “ไมเคิล พอลแลน” และ “อีริค ชโลสเซอร์” บุคคลสองคนที่ติดตามวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมการผลิตอาหารของสหรัฐฯมาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน โดยพวกเขาได้ทำการตรวจสอบอุตสาหกรรมการผลิตอาหารภาคเกษตรกรรม ก่อนจะสรุปว่าเนื้อสัตว์และพืชผักที่ถูกผลิตขึ้นจากอุตสาหกรรมดังกล่าว มีที่มาจากการเอารัดเอาเปรียบและผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อม

หนังสารคดีชื่อดังเรื่องนี้มีโครงเรื่องที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนแรก ทำการตรวจสอบอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ (ไก่,เนื้อวัว และหมู) ซึ่งหนังเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม รวมทั้งปราศจากความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ส่วนที่สอง ทำการสำรวจอุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์และพืชผัก ซึ่งหนังเห็นว่ามีความไม่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ส่วนที่สามและส่วนสุดท้าย หนังพูดถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและกฎหมายของเหล่าบรรษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ ซึ่งขายอาหารราคาถูกแต่เจือปนไปด้วยสารพิษ, ใช้สารเคมีอย่างมากล้น โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงและปุ๋ย รวมทั้งทำงานประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนอเมริกันมีนิสัยในการบริโภคอาหารที่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ข้าพเจ้าใช้เกณฑ์ในการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา ในภาพยนตร์ เรื่องFOOD,Inc. ดังนี้ คือ ประสิทธิภาพ(Efficiency) ความเป็นธรรม(Equity) ความยุติธรรม(Justice) เสรีภาพส่วนบุคคล(Individual Freedom) ซึ่งสามารถประเมินนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกาจากภาพยนตร์ได้ดังนี้

1.ประสิทธิภาพ(Efficiency) คือ การใช้ทรัพยากรอันพึงมีอยู่อย่างจำกัด เช่น เงิน เครื่องมือ คน เวลา เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์อย่างมีประโยชน์สูงสุดแล้วใช้ต้นทุนต่ำที่สุด นโยบายสาธารณะด้านการผลิตอาหารของสหรัฐฯในภาพยนตร์เรื่องนี้หากมองในมุมของบรรษัทหรือในเชิงธุรกิจจะ มีลักษณะ การจัดการ เพื่อ ผลประโยชน์สูงสุดของบรรษัท คือกำไรสูงสุด มีการใช้วิธีการทางธุรกิจ ตามหลักแนวคิดเสรีนิยมใหม่ โดยมองว่าทุกคน มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ก็เป็นความสามารถของแต่ละคน รัฐไม่ควรมีนโยบายเข้าไปก้าวก่ายหรือ แทรกแซงแต่อย่างใด ซึ่งนโยบายสาธารณะด้านการผลิตอาหารของสหรัฐฯในภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งบนหลักการที่กลไกตลาดต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะ ทำการแข่งขันกัน ซึ่งการแข่งขันในตลาดเสรีนิยมใหม่นี้ เป็นการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ เพราะการแข่งขันที่สมบูรณ์นั่นคือการที่มีบรรษัทหลายๆบรรษัทเสนอทางเลือกให้กับลูกค้า หรือว่าผู้บริโภค ให้ได้รับสินค้าหรือบริการ ที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสม เปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็นคอยจัดสรรสร้างดุลยภาพให้ทั้งทางด้านผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้มีความสมดุลกัน ให้หลายๆบรรษัทเสนอหลายๆทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เป็นผู้ตัดสินใจที่จะเลือกสินค้าหรือบริการของใคร ที่เหมาะสมกับตน ผลประโยชน์ทั้งหมดก็ตกสู่ผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์นี่เอง เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่เน้นทุนนิยมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ โดยเป็นการขับเคลื่อนของตลาดทุน จากการระดมสะสมทุนเป็นบรรษัทขนาดใหญ่และกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติเพื่อเป็นการระดมทุนและแบ่งกำไรสร้างอำนาจการต่อรองโดยมีอำนาจทางด้านเงินทุนสูงเพื่อสนับสนุนวิธีการตลาดเสรี(free-market) ที่ใช้เงินทุนเป็นตัวชี้ขาดประสิทธิภาพในการอยู่รอดของบรรษัท กลายเป็นระบบปลาเล็กกินปลาใหญ่ บรรษัทที่อยู่รอดได้กลายเป็นบรรษัทที่มีเงินทุนสูง เกิดการผูกขาดโดยธรรมชาติของเงินทุน กลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งจากในภาพยนตร์ได้แสดงให้เราเห็นว่า เมื่อกลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ มีเงินทุนสูง สามารถที่จะเปลี่ยน วิธีการในการผลิตอาหารจากระบบฟาร์มให้มาอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก โดยไม่สนใจวิธีการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงคุณภาพ เพราะสามารถ ลดต้นทุนการผลิตโดยเปลี่ยนการผลิตให้อยู่ในระบบ สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่นในภาพยนตร์จะเห็นได้ว่า การปลูกข้าวโพดในปัจจุบัน มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการพัฒนาด้านเมล็ดพันธ์ การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ยาฆ่าแมลง การเลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวที่สามารถเลี้ยงให้โตเร็ว และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นการขับเคลื่อนโดยนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลสามารถ ทำให้ผลิตต่ำกว่าต้นทุนได้ เช่นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดจำนวนมาก เหตุที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมากเพราะบรรษัทยักษ์ใหญ่หนุนหลัง โดยมีผลประโยชน์จากการที่รับซื้อข้าวโพดที่ต่ำกว่าทุน นโยบายเกษตรของสหรัฐฯมักโฟกัสไปยังพืชที่เป็นวัตถุดิบ เพราะสามารถกักตุนมันได้ เป็นการบิดเบือนต้นทุนการผลิต ให้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลง และมีการบิดเบือนกระบวนการผลิตอาหาร ทำให้วัตถุดิบเช่นเนื้อสัตว์ที่ใช้ประกอบอาหารมีราคาต่ำลง เป็นผลให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตอาหารในสหรัฐฯผลิตอาหารได้เป็นจำนวนมาก ในราคาที่ต่ำลง ทำให้ขายได้ในราคาถูก เป็นการจูงใจผู้บริโภคในสหรัฐฯ

จากการประเมินนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา หากมองในมุมของทางด้านธุรกิจของเอกชน เป็นการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพกล่าวคือ สามารถผลิตได้มาก ในระยะเวลา และต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยต่ำลงและขายได้มากขึ้น จึงเกิดกำไรอย่างสูง แต่หากมองในมุมกลับกัน การผลิตทางด้านธุรกิจอาหารในสหรัฐฯที่ได้มาซึ่งประสิทธิภาพนั้น ไม่คำนึงหรือสนใจกระบวนการผลิตโดยใช้วิธีการบิดเบือนกลไกทางด้านการตลาด ลดคุณภาพ บิดเบือนกระบวนการผลิตที่ผิดธรรมชาติให้อยู่ในระบบที่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพ เป็นการผลิตที่ไม่มีประสิทธิผล และไม่คำนึงถึงคุณภาพ เป็นการดำเนินนโยบายที่เน้นทุนนิยมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นนโยบายที่สร้างประสิทธิภาพและประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนแต่ไม่สร้างประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยขาดความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก

2.ความเป็นธรรม(Equity) จากการที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการดำเนินนโยบายด้านอาหารและสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาในภาพยนตร์เรื่องFood,Inc.ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะเมื่อขาดหลักการดังกล่าวแล้วนโยบายจึงไม่มีความเป็นธรรม ในภาพยนตร์ได้แสดงให้เราได้เห็นโดยเริ่มตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธ์และการเพาะปลูก เกษตรกรถูกครอบงำและกีดกันโดยบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทุน (ซึ่งในเรื่องคือบรรษัทมอนซานโต้) ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยม ผ่านทางเทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมและนำไปจดสิทธิบัตร แล้วส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยการครอบงำผ่านทางนโยบายของรัฐบาล เมื่อเกษตรกรเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วไม่สามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ใช้เพาะปลูกในรุ่นต่อไปได้อีก จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธ์จากบรรษัทเท่านั้น หากเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ก็จะถูกบรรษัทฟ้องร้องว่าละเมิดสิทธิบัตรซึ่งเกษตรต้องสู้คดี กับบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางด้านเงินทุนสูงสามารถที่จะไปจ้างทนายมืออาชีพที่เก่งๆ รวมไปถึงทีมงานสอบสวนของบรรษัทเองที่มีความเชี่ยวชาญในคดีประเภทนี้อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ต้องใช้เงินส่วนตัวในการสู้คดีเอง โดยในท้ายที่สุดเกษตรก็ต้องเป็นฝ่ายยอมความโยจ่ายค่าปรับเองและพ่ายแพ้เนื่องจากสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ไม่ใช่เฉพาะกรณีของเกษตรกรที่เก็บเมล็ดพันธ์ของบรรษัทเท่านั้นบรรษัทขนาดใหญ่ยังเล่นงานเกษตรกรที่ใช้เมล็ดพันธ์ของตนเอง แต่มีการปนเปื้อนของเมล็ดพันธ์ผ่านทางละอองเกสรจากไร่ใกล้เคียง จนเกษตรกรต้องไปจ้างบุคคลที่รับจ้างทำความสะอาดเมล็ดพันธ์ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าไม่ได้เก็บและมีการปนเปื้อนเมล็ดพันธ์ของบรรษัทขนาดใหญ่นั้น ไม่เพียงเท่านั้นบรรษัทขนาดใหญ่นั้นยังตามไปเล่นงานกับผู้ที่ทำความสะอาดเมล็ดพันธ์ให้เกษตรกรโดยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเกษตรกรไม่ได้ความเป็นธรรมและโดนกีดกันจากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยมีบรรษัทขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

จากการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกานอกจากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายด้านการเกษตรของสหรัฐฯดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้บริโภคของสหรัฐเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเกิดจากนโยบายที่อำนาจรวมไปสู่ศูนย์กลาง และมีกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจนั้น กีดกันผู้ผลิตอาหารในระบบที่แท้จริงนั่นคือเกษตรกร กดขี่คนงานที่ทำงานให้กับบรรษัทเอกชนนั้น และปิดบังผู้บริโภค เพราะพวกเขาไม่สามารถรู้เลยว่าอาหารที่พวกเค้ากินถูกผลิตมาจากแหล่งไหน มีปริมาณสารอาหาร และสารเคมีเจือปนอย่างไร ผู้บริโภคถูกปิดหูปิดตา ไม่รู้ว่าอาหารที่พวกเค้ากินนั้นส่งผลยังไงต่อร่างกาย โดยไม่ให้ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร กรณีเช่นนี้เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในการออกระเบียบ หรือพิจารณาความนั้นมีสายสัมพันธ์หรือเคยทำงานอยู่ในบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์จากการกระทำเหล่านั้นเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในองค์กรต่างๆที่เกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุขของสหรัฐฯเมื่อเกิดข้อพิพาทหรือกรณีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเหล่านั้นก็จะพิจารณาในลักษณะที่เป็นคุณกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งไม่เพียงปิดบังว่ามีอะไรในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ยังพยายามทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เป็นการดำเนินนโยบายที่เข้าข้างบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทั้งที่เป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นเอง และเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐบาล

3.ความยุติธรรม(Justice) เมื่อความเป็นธรรมถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบว่าบรรษัทเอกชนในสหรัฐเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ความยุติธรรมจึงไม่เกิด กล่าวคือบรรษัทขนาดใหญ่ใช้ข้อกฎหมายเป็นการกีดกันทางการค้า เพื่อประโยชน์ของบรรษัทเอง หลบเลี่ยงข้อกฎหมาย และบิดเบือดกระบวนการในการพิจารณากฎ อุตสาหกรรมอาหารได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการหมิ่นประมาทผลิตภัณฑ์ของบริษัทเอกชน แต่ประชาชนผู้บริโภคกับไม่ได้รับการคุ้มครอง จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทเอกชนนั้น ผู้บริโภคกับต้องเรียกร้องความยุติธรรมเอง โดยองค์กรภาครัฐกับเพิกเฉย ผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเอง ทั้งที่บริษัทปิดบังข้อมูลในฉลาก ต้องรอให้เกิดเรื่องจากการกินอาหารก่อน จึงมีการเก็บผลิตภัณฑ์ เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ องค์กรเกี่ยวกับอาหารของสหรัฐฯ(USDA) ก็ได้ออกกฎในการตรวจหาเชื้อปนเปื้อนที่เป็นอันตรายในโรงงานผลิตอาหาร โดยโรงงานไหนไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะสั่งปิดบริษัทผลิตอาหารนั้น เพราะโรงงานยังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอยู่ แต่ก็มีกลุ่มองค์กรเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ เช่นสมาคมผู้ค้าเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง USDA ทันที โดยเบื้องต้นศาลกล่าวว่าUSDA ไม่มีอำนาจในการสั่งปิดโรงงาน เรื่องนี้ก็หมายความว่ายังมีผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนวางขายอยู่ในท้องตลาด โดยที่USDAไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรมเลยสำหรับผู้บริโภค จนผู้บริโภคในสหรัฐผลักดันกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโต้ที่รู้จักกันในชื่อว่ากฎหมายของ เควิน (Kavin’s Law) ที่ให้อำนาจUSDAสั่งปิดโรงงานที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนในอาหารซ้ำๆซากๆ ซึ่งกฎหมายนี้เมื่อพิจาณาแล้วก็สมเหตุสมผลดี แต่จนแล้วจนรอดร่างกฎหมายก็ยังไม่ผ่านสภาฯเลย

จากการประเมิน นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับอาหารและการสาธารณะสุข ของสหรัฐอเมริกา นโยบายไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน เมื่อประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วการดำเนินนโยบายจึงไม่เกิดความยุติธรรมกับประชาชน

4.เสรีภาพส่วนบุคคล(Individual Freedom) เสรีภาพส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นมิได้หากปัจเจกไม่ได้รับความยุติธรรม ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Food,Inc. ได้แสดงให้เห็นในหลายเรื่องถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายด้านอาหารและสาธารณะสุขของสหรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทเอกชน ประชาชนผู้บริโภคถูกลิดรอนและจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานแม้กระทั้งการบริโภคอาหารยังถูกจำกัดวงในการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารให้แคบลง เหลือเพียงไม่กี่บรรษัท ทีเป็นตัวเลือกในการบริโภค ซึ่งบรรษัทที่เหลือก็เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่งกับรัฐบาล รัฐบาลจะออกนโยบายอะไร บรรษัทเหล่านั้นก็ได้รับการคุ้มครอง ผิดกับเสรีภาพของประชาชนในการเลือกรับประทานอาหาร ที่ถูกบรรษัทเหล่านั้นละเมิด โดยการผลิตอาหารที่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารแล้ววางขายตามท้องตลาด แล้วผู้บริโภคกลับไม่ได้รับการคุ้มครองกับภาครัฐ กลายเป็นว่าประชาชนผู้บริโภคกับต้องเลือกที่จะดูแลและคุ้มครองตนเอง เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับผลิตภัณฑ์อาหาร รัฐกับผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นคนเลือกที่จะจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายยังมีวางขายในท้องตลาด โดยไม่สั่งปิดโรงงาน ทางโรงงานก็แก้ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคโดยการใส่สารเคมีฆ่าเชื้อโรคผสมเข้าไปในทุกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีเชื้อ โดยโรงงานไม่ได้แจ้งในฉลากว่ามีการเจือสารเคมีฆ่าเชื้อโรค ถือเป็นการปิดบังและละเมิดสิทธิในการรับรู้ของประชาชน ประชาชนไม่มีทางรู้เลยว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่พวกเขาซื้อนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นไร

ไม่เพียงแต่ประชาชนผู้บริโภคเท่านั้นที่ถูกละเมิดและจำกัดเสรีภาพ เกษตรกรเองยังได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายด้านอาหารของสหรัฐฯ ในเรื่องสิทธิบัตรในการเก็บเมล็ดพันธ์ ซึ่งเมล็ดพันธ์ที่เกษตรกรปลูกเองและเป็นของเขาเอง กับถูกกีดกันไม่ให้เก็บเพื่อนำไปปลูกในรุ่นต่อไป ทั้งๆที่ปลูกในที่ของตนเอง แต่หากมีละอองเกสร พันธ์ของบรรษัทมาปนเปื้อน บรรษัทก็จะฟ้องหาว่าเกษตรกรละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งนโยบายเช่นนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพของสาธารณะ แทนที่เมล็ดพันธ์ทางการเกษตรจะเป็นของสาธารณะ ที่เกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึง ได้และรัฐให้การคุ้มครองและเก็บรักษาพัฒนาเมล็ดพันธ์ กลับกลายเป็นว่าบรรษัทเอกชนได้ฉกฉวยโอกาสนี้ ไปพัฒนาเมล็ดพันธ์และจดสิทธิบัตรป้องกันไม้ให้เกษตรกรเข้าถึงโดยเสรี และรัฐก็เข้าไปคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นซึ่งเป็นประโยชน์กับบรรษัทแต่ไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรเลย

คำตาม บทความดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น เฉพาะของผู้เรียบเรียง ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่อยากได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติม จากผู้อ่านบทความนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มเนื้อหาในส่วนที่ผู้เรียบเรียงยังมองไม่เห็น และเป็นทางเลือกสำหรับทุกคนที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
----------------------------------
เรียบเรียงโดย
NONSOUND๒๐๐๙
----------------------------------
Tai

PA604,704: จริยธรรม

สรุปข้อมูลจากเพื่อน รป.ม. 3 ห้อง 2 รามฯ หัวหมาก
----------------------------------
เรียบเรียงบรรยาย อ.ไชยันต์ 15 ต.ค. 2553
----------------------------------
ทบทวนความรู้
รัฐประศานศาสตร์ คือการบริหารงานราชการ หรือการบริหารรัฐกิจ การบริหารคือการหาวิธีการใช้ทัพยากรทุกประเภทให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เป้าหมายของราชการคือเรื่องการบริการประชาชนเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ การสร้างความพึงพอใจของประชาชนสร้างความอยู่ดีกินดีซึ่งต่างจากธุรกิจเอกชนที่มุ่งกำไรสูงสุด
นโยบายสาธารณะอยู่ตรงเป้าหมาย เป็นการกำหนดผลประโยชน์สาธารณะคือการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะมีทั้งภาคการเมือง(พรรคการเมือง) ภาคเอกชนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภาคประชาชน และภาคราชการ

คำว่า จริยธรรม (Ethics) เป็นคำสมาธิ เกิดจากคำ 2 คำรวมกันคือ “จริย” รวมกับ “ธรรม”
จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ (ราชบัณฑิตยสถาน. 2539 : 216)
ธรรม หมายถึง คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎ กฎเกณฑ์ สิ่งทั้งหลาย หรือสิ่งของ
จริยธรรม หมายถึง การกระทำใดๆหรือพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ควรปฏิบัติที่ดีงามถูกต้องเหมาะสม และเป็นที่นิยมชมชอบหรือยอมรับของสังคมเพื่อความสันติสุขแห่งตนเอง และความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม

แหล่งที่มาของจริยธรรม
1.เกิดจากการเลียนแบบ ขัดเกลา เลี้ยงดูอบรม หล่อหลอม
2.สร้างได้ด้วยตนเอง
3.เกิดจากการศึกษาเรียนรู้จากสังคม
4.เกิดจากค่านิยม
5.เกิดจากการปฏิบัติตามหลักสากลธรรม

จริยธรรม คือสิ่งที่บอกเราว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แบ่งออกเป็นจริยธรรมแบบหน้าที่ กับจริยธรรมแบบคุณธรรม

การที่ข้าราชการยึดมั่นในจริยธรรมในแบบการเมืองทำให้เราสูญเสียจริยธรรมส่วนตัวไป

เช่น การที่ตำรวจคนหนึ่งไม่จับลุงแก่ๆที่ขับสามล้อฝ่าไฟแดง ซึ่งขับรถสามล้อหาเงินเลี้ยงชีพดูแลภรรยาที่พิการ เพราะเห็นใจลุงคนนั้น ลุงบอกตำรวจว่าที่ฝ่าไฟแดงเพราะมองไม่เห็นว่าเป็นไฟแดง ซึ่งผู้คนที่ยืนอยู่แถวนั้นตบมือแซ่ซ้องสรรเสริญว่า ตำรวจที่ดีก็ยังมีอยู่ในสังคมที่ช่วยโดยการไม่ออกใบสั่งหรือยึดใบขับขี่ของลุงคนนั้นซึ่งเป็นการตัดทางทำมาหากิน ซึ่งลุงก็ซาบซึ้งใจ ตำรวจก็ภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนั้นของตน ต่อมาไม่นานมีเหตุการณ์สามล้อฝ่าไฟแดงไปชนกับรถตู้และจักรยานยนต์ที่มีพ่อแม่และลูกตัวน้อยๆที่ขับตามมาก็ชนท้ายรถตู้ คนขับรถสามล้อตายคาที่ คนขับรถตู้ได้รับบาดเจ็บ พ่อแม่ที่ขับรถจักรยานยนต์ตายคาที่ ลูกตัวน้อยๆบาดเจ็บสาหัส ซึ่งพ่อแม่และลูกก็คือคนที่ตบมือให้ตำรวจในวันนั้น เป็นเหตุการณ์ที่อนาจใจมาก หากพิจารณาจากกรณีนี้สาเหตุเกิดจากที่ตำรวจไม่จับหรือยึดใบขับขี่ของลุงเพื่อให้ลุงไปตรวจตาก่อน เป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ในกรณีนี้มองได้ว่าตำรวจคนนี้เป็นคนดี แต่ตำรวจคนนี้เป็นตำรวจที่ไม่ดี ซึ่งข้าราชการที่อลุ่มอล่วยช่วยคนจะเห็นคนที่เป็นหนี้บุญคุณเราชัดมาก แต่ถ้าทำดีเป็นข้าราชการที่ตรงไปตรงมา ประชาชนก็ไม่เคยขอบคุณหรือเคยเห็นหัวเลย เพราะมหาชนไม่มีตัวตนใครก็ไม่รู้ เพราะทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ข้าราชการที่ดีต้องเน้นที่ประโยชน์มหาชน

ซึ่งจริยธรรมส่วนตัวมักจะขัดแย้งกับจริยธรรมสาธารณะเสมอ เช่น

เป็นตำรวจที่ดี แต่เป็นพ่อที่เลว คือจับลูกตัวเองเมื่อลูกทำผิด สามีเลวแต่เป็นพลเมืองดี คือแจ้งจับภรรยาที่ค้ายาบ้า
คนๆหนึ่งเป็นพลเมืองดีแต่เป็นคนเลว เช่นพลเมืองดีที่ช่วยปกป้องชาติ ในเหตุการณ์เดือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันมีนโยบายฆ่าคนยิว ถ้าประชาชนคนใดชี้เบาะแสหรือจับคนยิวได้ถือว่าเป็นพลเมืองดีแต่เป็นคนเลวที่ช่วนส่งเสริมการฆ่าคน
กรณีศึกษา มีชายคนหนึ่งมีความขัดสนต้องใช้เงิน จะไปหยิบยืมใครก็ไม่มีใครให้ยืม จึงไปค้นของในบ้านปรากฏว่าเจอเหรียญเก่าแก่ที่พ่อกับแม่ของเขาทิ้งไว้ให้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีค่าอะไร รู้เพียงว่าต้องการใช้เงินแค่ 15,000.00 บาท โดยคาดหวังว่าจะขายได้ประมาณ 20,000.00 บาท และเมื่อนำไปขายยังร้านรับซื้อของเก่า แต่พอเถ้าแก่เห็นเหรียญก็ทราบได้ทันทีว่า ถ้านำไปขายต่อน่าจะขายได้ถึง 200,000.00 บาท เถ้าแก่จึงถามชายหนุ่มคนนั้นถึง 3-4 ครั้งว่าจะขายแค่ 20,000.00 บาทหรือ ชายหนุ่มนั้นดีใจ ที่ว่าเขาต้องการเงินแค่ 15,000.00 บาท แต่ขายได้ถึง 20,000 บาท เถ้าแก่จึงตกลงรับซื้อเหรียญในราคา 20,000.00 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายกันอย่างสมบูรณ์
1.ในการขายเหรียญนี้ผิดกฎหมายหรือไม่
2.ในการขายเหรียญนี้ผิดจริยธรรมหรือไม่
3.ควรมีการแก้กฎหมายหรือเพิ่มกฎหมายในกรณีนี้หรือไม่


1.ตอบ ในกรณีนี้ไม่ผิดกฎหมายข้อใดทั้งสิ้น ถ้าเป็นในแง่โมฆียะ สำคัญผิดก็ไม่ใช่ ถ้าผิดในแง่สำคัญผิดต้องเป็นลักษณะนี้คือ เถ้าแก่เป็นคนชี้นำ บอกชายหนุ่มว่า “เหรียญนี้ของลื้อเหรอ อั้วว่าได้แค่15,000 บาท ก็บุญแล้ว เอาน่า20,000 บาทอั้วก็ให้ละกัน ถ้าอย่างนี้เถ้าแก่ผิดคือทำให้สำคัญผิดทันที แต่ในกรณีนี้ชายหนุ่มเป็นคนตั้งราคามาเอง จึงไม่ผิดข้อกฎหมายใดๆทั้งสิ้น เรื่องกฎหมายมันชัดเจนตายตัว คือผิดก็ว่าผิดไม่ผิดก็ว่าไม่ผิด
2.ตอบ ในกรณีที่ไม่ผิดจริยธรรมมองว่า เหรียญนี้เป็นสมบัติของชายคนนี้โดยชอบธรรม และเค้าก็ไม่ได้เอาไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เค้าเอาไปขายก็เป็นสิทธิของเขา เค้าเอาไปขายเถ้าแก่โดยไม่ได้ไปบังคับขู่เข็ญให้เถ้าแก่รับซื้อ และเถ้าแก่ก็ไม่ได้ไปบังคับให้ชายคนนี้ขายให้ และชายหนุ่มก็เป็นคนเสนอราคาเอง และดีด้วยซ้ำที่ชายหนุ่มขายได้ในราคา 20,000 บาท ซึ่งได้สูงกว่าราคาที่เขาคาดการณ์ไว้คือ 15,000 บาท เถ้าแก่ก็ไม่ได้ไปกดราคาลงอีกจาก 20,000 บาท และเถ้าแก่ถามย้ำอีก ว่าจะเอาแค่20,000 บาท จริงเหรอ ชายหนุ่มก็ตอบรับว่าใช่ การขายก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์คือผู้ซื้อผู้ขายพอใจได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนหลังการขายทั้งสองฝ่ายจะเอาเงินไปทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา หรือเป็นไปตามกลไกการตลาด การทำธุรกรรมครั้งนี้ก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ซึ่งเถ้าแก่ต้องแบกรับความเลี่ยงในการเก็บเหรียญนี้ไว้ เพราะตลาดในการขายได้มีจำกัดเฉพาะกลุ่มที่เล่นของเก่า และหากบอกราคาที่คาดว่าจะขายได้กับชายหนุ่มคือ 200,000บาท และให้ชายหนุ่มนำไปขายเองในกลุ่มนักเลงของเก่า ก็จะขายได้ไม่ถึง สองแสนบาท คือความเชื่อถือหรือชื่อเสียงของชายหนุ่มไม่เป็นที่ยอมรับในวงการค้าของเก่าเท่ากับเถ้าแก่ เพราะกว่าเถ้าแก่จะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ก็เจ็บ มาเยอะโดนหลอกมาเยอะ คือเถ้าแก่ต้องได้ค่าต้นทุนวิชาชีพ จึงไม่ผิดจริยธรรม

ส่วนฝ่ายที่มองว่าผิดจริยธรรมมองว่าเถ้าแก่ค้ากำไรเกินควร ซื้อมา แค่ 20,000บาทแต่ขายไปถึง 200,000 บาท ได้กำไรถึง 10 เท่า และไม่บอกข้อมูลที่แท้จริงให้กับชายหนุ่มได้รู้ว่าราคาที่แท้จริงของเหรียญนี้ประมาณเท่าไร น่าจะให้ราคาเพิ่มกว่านี้อีกหรือมีราคากลางที่เป็นธรรมกับชายหนุ่ม เป็นการผิดจรรยาบรรณในการค้า คือไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า และเป็นการที่คนรู้มากเอาเปรียบคนไม่รู้ ถ้ามีคนอย่างเถ้าแก่เยอะๆ สินค้าที่ไม่มีกฎหมายควบคุมก็จะมีราคาแพงหมด
ในกรณีนี้ เป็นข้อถกเถียงกันทั้งสองฝ่าย เป็นเหตุให้โยงไปสู่ว่าสมควรที่จะออกกฎหมายมาควบคุมหรือไม่
3.ตอบ ฝ่ายที่เห็นด้วยในการออกกฎหมายบอกว่าเพราะให้เป็นกลางกับทั้งสองฝ่ายและคุ้มครองให้ทั้งสองฝ่ายควบคุมกัน เมื่อมีปัญหาอะไรก็ให้เจ้าหน้าที่เป็นคนมาจัดการ อุดช่องโหว่ของกรณีนี้ เพื่อความชัดเจนทั้งสองฝ่ายและป้องกันการฟอกเงิน ในการที่จะเอาสิ่งของที่ไม่มีค่ามาแปลงให้มีมูลค่ามหาศาล และนำเงินผิดกฎหมายมาฟอก

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่ต้องมีกฎหมายมาควบคุมให้ใช้ระบบสังคมกดดัน เถ้าแก่ให้ไม่เป็นที่ยอมรับ กลุ่มก้อนวิชาชีพนี้จะเป็นคนกดดันกันเอง ให้สมาคมวิชาชีพสร้างมาตรฐานราคากลางเอง ถ้าดึงจรรณยาบรรณมารวมกับกฎหมายมันจะยุ่งยากมาก ถ้ากรณีออกกฎหมายเพื่อชายหนุ่มในสภาในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเถ้าแก่เป็นคนทำผิดกฎหมาย แล้วกรณีอื่นๆที่ตามมาในลักษณะคล้ายกัน ก็จะมีคนทำผิดในกรณีแบบนี้เยอะมาก เป็นการออกกฎหมายที่หยุมหยิม การค้าขายก็จะไม่คล่องตัว เราไม่ควรออกกฎหมายควรปล่อยให้กลไกการตลาดหรือกลไกของสังคมจักการกันเอง เพราะถ้าออกกฎหมายในกรณีนี้ได้ก็จะมีการออกกฎหมายที่จุ๊บจิ๊บ และมันจะมีคนที่อยากจะออกกฎหมายเรื่องนี้เรื่องนั้นเยอะเพื่อประโยชน์ของตนเองไม่ได้มองที่ประโยชน์ของสาธารณะ ในเรื่องกฎหมายที่ใหญ่กว่านี้ คือยังมีสติอยู่ที่ไม่เผลอออกกฎหมายบังคับตายตัวไปเสียทุกเรื่อง จึงไม่สมควรออกกฎหมายในกรณีนี้

คำตอบในกรณีนี้ ไม่มีคำตอบตายตัวแต่ชี้ให้เห็นว่าเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก ถ้าสังคมใดมีความเห็นต่างทางจริยธรรมสูงมันจะมีปัญหามาก (คือมีความเห็นกล้ำกึ่ง50/50) ถ้าเห็นพ้องต้องกันเป็นไปในทางเดียวกันสูงทุกคนในสังคมก็จะอยู่กันได้ปกติสุข

ผลการตัดสินกรณีนี้ ถ้าอาจารย์ไชยันต์เป็นคนรับฟังเหตุผลทั้งสองฝ่ายแล้วและถ้าเปรียบว่าอ.ไชยันต์เป็นศาล ก็จะตัดสินได้ทันทีว่าไม่ผิดจริยธรรม ซึ่งศาลก็ได้ฟังเหตุผลแล้วเพราะไม่มีเกณฑ์ในการประเมินค่าวิชาชีพ ว่าสมควรจะเป็นเท่าไหร่ และสมาคมวิชาชีพค้าของเก่าก็ไม่สามารถแซรกแซงได้ เนื่องจากเถ้าแก่มีความเลี่ยงในการรับซื้อ เพราะกว่าจะหาได้ และกว่าจะขายได้ ต้องแบกรับความเสี่ยง เพราะมีคนเล่นของเก่าเฉพาะกลุ่มและหากมองว่าเถ้าแก่ค้ากำไรเกินควร แล้วถ้ามองไปที่ชายหนุ่มซึ่งเค้าไม้รู้ว่าราคาเหรียญนี้มันเท่าไหร่ และเหรียญนี้ไม่มีค่าอะไรเลยกับชายหนุ่มเป็นเหรียญซึ่งบังเอิญไปค้นเจอ แล้วชายหนุ่มต้องการใช้เงินแค่ 15,000บาท และด้วยความงกก็บวกราคาเพิ่มไป 5,000บาทดื้อๆอะ ชายหนุ่มก็ค้ากำไรเกินควรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ประโยชน์ร่วมกันเพราะต่างคนต่างเก็งกำไรสูง เพราะเส้น อุปสงค์และอุปทานมาตัดในจุดที่พอดีในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการค้าเสรี ขึ้นอยู่กับความพอใจ และการซื้อขายระหว่างชายหนุ่มกับเถ้าแก่จึงเป็นการไม่ผิดจริยธรรมแบบเสรีนิยมคือ 1ไม่มีใครบังคับ2ของนี้เป็นกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของส่วนตัว3พอใจทั้งสองฝ่าย

ไม่มีใครเอาเปรียบใคร ธุรกรรมนี้ทั้งสองฝ่ายพอใจในจุดสูงสุด ไปเอาผิดกับทั้งสองฝ่ายไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่ของความรู้สึกถ้ามองในแง่การมีน้ำใจของเถ้าแก่ว่าทำไมไม่มีน้ำใจเพิ่มราคาให้หน่อย ไม่มีน้ำใจเลย ก็ได้แค่เรียกร้องน้ำใจ แต่ถ้าออกเป็นกฎหมายจะยุ่งยากมาก บ้านเมืองจะวุ่นวาย มันยังสรุปไม่ได้เพราะจริยธรรมมันมีหลายแบบ

เป็นการฝึกวิธีการคิดและวิธีในการใช้เหตุผลในเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม ถกเถียงกัน จริยธรรมเป็นเรื่องที่สังคมต้องตกลงกันว่าบรรทัดฐานมันอยู่ที่จุดไหน
-------------------
เรียบเรียงโดย
NONSOUND๒๐๐๙
-------------------
Tai

PA604,704: วิวัฒนาการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผนฯฉบับที่ 1 -10

สรุปข้อมูลจาก รป.ม. 3 ห้อง 2 รามฯ หัวหมาก
-------------------------------------------------
วิวัฒนาการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผนฯฉบับที่ 1 -10
บรรยายโดย อ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล 9 ตุลาคม 2553
(ให้ดูภาพประกอบการบรรยายหน้าที่ 12 ในหนังสือของอาจารย์ฯเพื่อเพิ่มความเข้าใจและจะเป็นการดีหากเขียนประกอบการบรรยายในหัวข้อนี้)

แผนพัฒนาฯ เป็นนโยบายสาธารณะแห่งชาติ โดยเดิมทีประเทศของเราไม่มีการวางแผนเลยในเวลาทำอะไร เพิ่งเริ่มมีการวางแผนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา เรามีแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกโดยที่เริ่มตั้งแต่รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ฯ ถ้าดูยุดรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ขึ้นมามีอำนาจด้วยการปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้จบการศึกษา จากเมืองนอกเหมือนจอมพล ป.หรือคนอื่นๆที่จบการศึกษามาในยุคนั้น โดยจอมพลสฤษดิ์เรียนจบจากโรงเรียนทหารของเมืองไทย จอมพลสฤษดิ์ได้นำเสนอ โปรโมทแนวทางประชาธิปไตยในรูปแบบของแก คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในสมัยนั้นการเมืองเริ่มนิ่ง จอมพลสฤษดิ์สามารถควบคุมการเมือง การปกครองได้ ในช่วงนั้นประเทศมีการพัฒนาและมีความเจริญค่อนข้างมาก โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งอเมริกาได้ใช้ไทยเป็นฐานทัพในการทำสงครามเวียดนาม และอเมริกาก็เริ่มมีอิทธิพลและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นและเป็นยุคทองในการวางแผนพัฒนาประเทศ

โดยแผนพัฒนาจะมีช่วงการดำเนินการในวาระ 4 ปี เริ่มจากแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ปีพ.ศ. 2504-2509 ซึ่งรูปแบบของแผนพัฒนาฯของไทยได้ลอกแบบของอเมริกามา จึงได้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผน1 แผน จะเน้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก่อน ซึ่งประเทศไทยได้วางโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน ระบบประปา ระบบไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆเพื่อรองรับในการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศ ช่วงนั้นสหรัฐฯได้เข้ามาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยการช่วยทำถนน เช่นถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธินเป็นต้น ซึ่งตอนนั้นมองความเจริญเป็นความเจริญทางวัตถุโดยปรับระบบเศรษฐกิจให้เข้ากับการพัฒนาวัตถุ โดยได้รับแรงหนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งช่วงนั้นแผนฯจะเป็นลักษณะ Top-down Planning ก็คือเป็นแผนที่ส่งตรงมาจากส่วนกลางลงไปที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งเราก็ได้เห็นหน่วยงานที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รพช. (สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท)

ยุคต่อมาแผนพัฒนาฯฉบับที่ 3 พ.ศ.2515-2519 และแผนพัฒนาฯฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524 ในยุคนี้เป็นยุคที่ต่อเนื่องหลังจากที่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้พอสมควรแล้ว เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อมแล้วจึงได้เริ่มมีการตั้งโรงงานในเขตจังหวัดใกล้เคียงกับ กรุงเทพเพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้ามาขายในเมือง โดยช่วงนั้นประเทศไทยได้เปลี่ยนตัวเองเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำสินค้าเข้า พอผลิตได้เยอะขึ้นก็เปลี่ยนมาเป็นการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว แต่ยุคนั้นจะมีความผันผวนทางการเมืองสูง เกิดการประท้วงรัฐบาลของนักศึกษา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาคม2516 เนื่องจากในประชาชนมีรายได้เพิ่มจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จนเกิดชนชั้นกลาง และมีการตั้งมหาวิทยาลัย มากขึ้นทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ประชาชนจึงได้ส่งลูกเข้าเรียนมหาลัย เยาวชนเหล่านี้เมื่อได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจึงมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางอุดมการณ์การปกครองในระบบประชาธิปไตย ในยุคนั้นในต่างประเทศก็เกิดภาวะสงครามเย็น ที่มีการสู้รบกันระหว่างแนวความคิดสังคมนิยมของโซเวียต กับประชาธิปไตยของอเมริกา และเมื่อเห็นว่าในประเทศมีการปกครองภายใต้เผด็จการอำนาจนิยมทหารที่มีการสืบทอดอำนาจ จึงรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล และแนวทางการต่อสู้ของนักศึกษาก็ได้รับชัยชนะ โดยได้โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารลงได้ ต่อมาจึงนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นพลเรือน จึงได้ขึ้นเป็นนายกฯและได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแนวทางเป็นประชาธิปไตยมากในสมัยนั้น ซึ่งช่วงปีพ.ศ.2516-2519 ประชาชนมีเสรีภาพในการปกครองมาก จึงเกิดการรวมตัวเคลื่อนไหวประท้วงไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่ยังมีกลุ่ม ต่างๆที่เรียกร้องสิทธิของตนเช่นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็เกิดจากการเปลี่ยนประเทศจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม จากแผนฯ1 แผนฯ2 ที่สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเปลี่ยนประเทศเข้าสู่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ไม่ได้ไปดูแลภาคเกษตรกรรม ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ก็ต้องการแรงงานเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมนี้ แรงงานคนหนุ่มสาวภาคเกษตรจึงเคลื่อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก คนหนุ่มสาวก็ทิ้งบ้านตนเองที่อยู่ชนบทแล้วก็เข้ามาอยู่รวมกันในเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป การอยู่ในโรงงานกับอยู่ในชนบทมันต่างกัน เพราะการอยู่ในชนบทจะเป็นวิถีชีวิตที่พึ่งพากัน แต่อยู่ในเมืองต้องอยู่อย่างแออัด ซึ่งมีนักทฤษฎีหลายคน ได้ตั้งสมมุติฐานว่า สังคมประชาธิปไตยจะเกิดได้ต้องเป็นสังคมเมือง ต้องเป็นสังคมที่คนรวมกันอยู่แออัด และก็มีความเป็นปัจเจกสูง เวลาโหวตจะได้ไม่มีการซื้อเสียง ซึ่งพวกที่อยู่ในโรงงานจะอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยดี ถูกกดขี่แรงงานจากนายจ้าง กลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงรวมตัวกันประท้วงโดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้สนับสนุน จึงเกิดการเคลื่อนไหวประท้วงในช่วงนี้ถี่มาก ซึงสถิติการประท้วงตั้งแต่ 14 ต.ค.16-6ต.ค. 19 จะเกิดการประท้วงขึ้นเยอะมาก จึงเกิดความไม่พอใจกับประชาชนอีกกลุ่มที่คิดว่าประเทศมีแต่การประท้วงจนไม่มีเวลาไปพัฒนาประเทศแล้วจะไปแข่งกับประเทศอื่นได้อย่างไร ดังนั้นในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 จึงเป็นเหตุการณ์ในลักษณะ ขวาพิฆาตซ้าย คือจะเป็นในลักษณะอนุรักษ์นิยมต่อสู้กับสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ที่เสนอความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ฝ่ายนักศึกษาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กลุ่มนักศึกษาจึงหนีเข้าป่า โดยมีการรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารในป่า ซึ่งในยุคนี้จะมีความผันผวนทางการเมืองเป็นอย่างมาก แต่ในช่วงแผนฯ3 แผนฯ 4 นี้ก็ได้ เริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาด้านสังคม เพราะรัฐบาลเริ่มตระหนักแล้วว่าพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวคงเอาตัวไม่รอด การพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นว่ามีคนแค่กระจุกเดียวที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น แต่ผู้ใช้แรงงานและคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ลืมตาอ้าปากได้ แผนพัฒนฯก็เลยเกลี่ยไปพัฒนาด้านสังคมด้วย ช่างนี้ก็ยังเป็น Top-down Planning ก็คือเป็นแผนที่ส่งตรงมาจากส่วนกลางลงไปที่ส่วนภูมิภาค พอเสร็จสิ้นแผนฯ4 ก็เข้าสู่แผนฯ5 ซึ่งการเมืองเริ่มเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ คือไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเช่น ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง นายกฯมาจากการแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกไม่ใช่เป็นส.ส. และไม่ได้รับเสียงโหวตในสภาฯให้เป็นนายกฯ ซึ่งยุคนี้อยู่ช่วงแผนฯ 5,6,7 และการเมืองเริ่มนิ่ง อยู่ในช่วงสมัยพลเอก เปรมเป็นนายกฯ แต่การเมืองสมัยนี้ก็ยังมีแรงกระเพื่อม เช่นการลอบฆ่านายก,ผู้นำทหาร แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จและพลเอกเปรมสามารถควบคุมการเมืองได้ ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ก็เริ่มให้พื้นที่กับนักการเมืองเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ทหารคุมทั้งหมด โดยมีระบบการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งมากขึ้น การเมืองมีเสถียรภาพมั่นคงมาก เมื่อการเมืองนิ่งเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การมุ่งขยายการพัฒนาชนบท ซึ่งช่วงนั้นแผนฯเริ่มที่จะเป็นลักษณะ Top-down & Bottom Up Planning ก็คือเป็นแผนที่ส่งตรงมาจากส่วนกลางลงไปที่ส่วนภูมิภาค และส่วนภูมิภาคก็ยังมีโอกาสเสนอแนวทางพัฒนาในระดับล่าง ขึ้นไปยังส่วนกลาง แต่ในช่วงพลเอกเปรม นั้นก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ เกี่ยวกับปัญหาน้ำมันแพงในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย พลเอกเปรมจึงแก้ปัญหาโดยออกนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลัง ไม่ให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยรวมไปถึงรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงานเช่นรณรงค์ให้ปิดไฟ ทีวีไม่แพร่ภาพช่วงหัวค่ำที่มีคนดูเยอะ เป็นนโยบายที่ช่วยให้ประหยัดได้จริง

หลังจากช่วงพลเอกเปรม พลเอกชาติชาย ชุณหวัน ก็ได้เข้ามาเป็นนายก โดยเป็นนายกที่ได้รับเสียงโหวตจากสภาเป็นคนแรก โดยใช้สแกนในการหาเสียงว่าถ้าอยากให้เศรษฐกิจดีต้องเลือกพลเอกชาติชายฯ และเมื่อได้เข้ามาเป็นนายยกฯแล้วก็ได้ใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ซึ่งพลเอกชาติชายมีพื้นฐาน ในการเป็นทูตทหารจึงได้เห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆจึงได้นำความรู้ด้านการทูตมาจัดทำนโยบาย ซึ่งเป็นแนวคิดแบบทหารหัวสมัยใหม่ ความเจริญเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้รับผลจากการดำเนินนโยบายนี้และได้รับผลจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ค่าเงิน เยน ของญี่ปุ่นแข็งตัว ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆที่ผลิตในญี่ปุ่นมีต้นทุนและราคาสูงเนื่องมาจากการแข็งตัวของค่าเงินในญี่ปุ่นเอง ญี่ปุ่นจึงแก้ปัญหานี้โดยย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสมัยนั้นญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสุดในภูมิภาคนี้ มีความพร้อมในการวางฐานการผลิตสินค้าของญี่ปุ่น ซึ่งฝีมือทักษะของแรงงานไทย มีความละเอียดและคุณภาพใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น ในยุคนี้ได้เปลี่ยนสินค้าส่งออก จากที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของประเทศกลายมาเป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีการส่งออกสูงมาก เศรษฐกิจในช่วงนี้มีความคล่องตัวสูงเพราะญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตและได้นำเงินมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากและได้มีการขยายโรงงานออกไปตามต่างจังหวัด และขยายถนนเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ ใช้สำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้เป็นการพัฒนาชนบทไปในตัว เป็นการสร้างงานเป็นอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยนั้นก็มีการทุจริตในรัฐบาลเป็นอย่างมาก จนถูกเรียกว่าเป็นการทุจริตแบบบุปเฟ่คาบิเน็ส จนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร และเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากนั้นนายอานันท์ ปันยารชุณ ก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ นายอานันท์ได้เข้ามาโดยการแต่งตั้งแต่ก็ไม่ได้เป็นนายกฯที่เข้ามารักษาการ เหมือนคนอื่นๆ นายอานันท์ได้มีนโยบายปรับปรุงประเทศในหลายๆเรื่องเช่น ทำแท็กซี่มิเตอร์ และแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องเงินทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศได้อย่างเสรี คือเปิดเสรีทางด้านการเงิน ทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศเป็นอย่างมาก แต่เงินที่ไหลเข้ามานั้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อลงทุนสร้างเศรษฐกิจแต่เป็นการไหลเพื่อเข้ามาให้นักลงทุนได้กู้ ซึ่งนักลงทุนในประเทศเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย ทำให้เหมือนเศรษฐกิจพองตัว แต่แท้ที่จริงแล้ว การกู้ส่วนมากจะกู้ไปเพื่อเก็งกำไร โดยการซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในสินค้าที่คิดว่าเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรในอนาคต ปรากฏว่า ต่อมาสินค้าสินค้าเหล่านั้นขายคืนไม่ได้กำไรอย่างที่นักลงทุนคิด เกิดหนี้เสีย ในสมัยรัฐบาลนายกฯเชาวลิต ยงใจยุทธอย่างมาก จนเกิดภาวะที่เรียกว่าฟองสบู่แตก เป็นผลมาจากที่ชนชั้นกลางชนะในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้ชนชั้นกลาง ฮึกเหิมและคิดว่าสามารถกำหนดเศรษฐกิจได้ พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ทำให้รัฐบาลนายกฯเชาวลิตต้องลาออก ชนชั้นกลางมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ต่อมานายกฯชวนก็เข้ามาเป็นรัฐบาล และแก้ปัญหาเรื่องการเงินโดยไปกู้ IMF และอยู่ภายใต้การครอบงำของIMF ซึ่งต้องทำตามนโยบายทางการเงินที่ IMF กำหนด จนรัฐบาลนี้ถูกเรียกว่าเป็นเด็กดีของIMF ภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้สถาบันการเงินและธนาคารมีหนี้สินจำนวนมาก และจะกลายเป็นหนี้เสีย รัฐบาลกลัวว่าสถาบันการเงินเหล่านั้นจะล้ม จึงให้โอนหนี้ของสถาบันการเงินให้เข้าระบบมาเป็นหนี้ของรัฐบาล สร้างความไม่พอใจกับประชาชนและผู้มีเงินฝากในธนาคารเนื่องจากต้องรับภาระหนี้ที่ไม่ได้ก่อนั้นด้วย หนี้เหล่านั้นกลายเป็นหนี้สาธารณะไป ซึ่งเป็นการไม่แฟร์ในการแก้ปัญหาหนี้ แต่รัฐบาลก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งวิกฤตในปี2540 นี้เป็นวิกฤตที่สภาพัฒน์ฯไม่ได้คาดการณ์มาก่อน จึงปรับตัวไม่ทันในเรื่องของการจัดทำแผนฯ ในแผนฯฉบับที่ 8 จึงยึดคนเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนา และมาปรับตัวในแผนฯที่ 9คือเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมโดยเน้นพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากแผนฯที่ผ่านๆมาเน้นการเปิดประเทศ และประเทศได้รับผลกระทบจากกระแสทุนนิยมเป็นอย่างมากทำให้ประเทศปรับตัวไม่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของกระแสทุนนิยม จึงต้องหันมาเน้นแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบ โดยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนี้ใด้ใช้เป็นแนวทางต่อเนื่องจนมาถึงแผนปัจจุบันคือแผนฯที่10 โดยได้มุ่งพัฒนาสู่ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

จะเห็นได้ว่าแผนฯของไทยจะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ในช่วงของการพัฒนาประเทศในช่วงแรก แล้วค่อยๆมากลับลำมาเน้นพัฒนาคนทีหลัง เน้นเรื่องความพอเพียงทีหลังนะคะ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ จะเน้นพัฒนาคนก่อน เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กเทียบไม่ได้กับประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์กลัวประเทศไทยมากเพราะไทยมีทรัพยากรพร้อมทุกอย่าง จึงได้จ้างอาจารย์มหาลัย ในอังกฤษมาวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ต้องเน้นเรื่องการพัฒนาคน เพราะสิงค์โปรไม่มีทรัพยากรอื่นๆมากมายนอกจากทรัพยากรมนุษย์ จึงต้องเน้นพัฒนาคน แต่ถ้าถามว่าเมืองไทยมีศักยภาพดีไหม๊ ซึ่งจริงๆแล้วไทยมีศักยภาพในการพัฒนาดีมากแต่เราต้องมาให้ถูกทาง โดยเรามีวัฒธรรมที่เข็มแข็งในการที่จะก้าวไปข้างหน้า
สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-10

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509
เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนใน สิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐานในรูปแบบของระบบคมนาคมและ ขนส่ง ระบบเขื่อนเพื่อการชลประทานและพลังงานไฟฟ้า สาธารณูปการ ฯลฯ รัฐทุ่มเททรัพยากรเข้าไปเพื่อการปู พื้นฐานให้มีการลงทุนในด้านเอกชนเป็นหลัก

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514
ยึดแนวทางแผน 1 โดยขยายขอบเขตของแผนให้ครอบคลุม ถึงการพัฒนาของรัฐ โดยสมบูรณ์กระจายให้บังเกิดผลไปทั่ว ประเทศ เน้นเขตทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ และมี โครงการ พิเศษนอกเหนือไปจากหน้าที่ปกติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาภาค โครงการเร่งรัด พัฒนาชนบทและโครงการช่วยเหลือชาวนา ฯลฯ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2515-2519
1.รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรักษาอัตราการขยายตัวของปริมาณเงินตรา, รักษาระดับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ, รักษาเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ, ส่งเสริมการส่งออก, ปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้า
2. ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยกระดับการผลิต เร่งรัดการส่งออกและทดแทนสินค้านำเข้า ปรับงบลงทุนในโครงการก่อสร้างมาสนับสนุนการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงการขั้นพื้นฐานที่มีอยู่
3. กระจายรายได้และบริการทางสังคม โดยลดอัตราการเพิ่มประชากร กระจายบริการเศรษฐกิจและสังคมสู่ชนบท ปรับปรุงสถาบันและองค์กรทางด้านเกษตรและสินเชื่อ รักษาระดับราคาสินค้าเกษตร

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524
1. เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขยายการผลิต สาขาเกษตร, ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่ง ออก, กระจายรายได้และการมีงานทำในภูมิภาค, มาตรการ กระตุ้นอุตสาหกรรมที่ซบเซา, รักษาดุลการชำระเงินและการ ขาดดุลงบประมาณ
2. เร่งบูรณะและปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลักของชาติ รวมทั้งการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยเฉพาะที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้และแหล่งแร่, เร่งรัดการปฏิรูปที่ดิน, จัดสรร แหล่งน้ำในประเทศ, อนุรักษ์ทะเลหลวง, สำรวจและพัฒนา แหล่งพลังงานในอ่าวไทยและภาคใต้ฝั่งตะวันออก

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529
1. ยึดพื้นที่เป็นหลักในการวางแผน กำหนดแผนงานและโครง การให้มีผลทางปฏิบัติทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น พื้นที่ เป้าหมายเพื่อพัฒนาชนบท พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้น ที่เมืองหลัก ฯลฯ
2. เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เป็นพิเศษโดยการเร่งระดมเงินออม, สร้างวินัยทางเศรษฐกิจ การเงิน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ปรับ โครงสร้างการเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่ง ออกและกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค, ปรับโครง สร้างการค้าต่างประเทศ และบริการ, ปรับโครงสร้างการผลิต และการใช้พลังงาน ฯลฯ
3. เน้นความสมดุลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศ
4. เน้นการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง กำหนดพื้นที่ เป้าหมาย 286 อำเภอและกิ่งอำเภอ
5. เน้นการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเช่นมีระบบการบริหารการ พัฒนาชนบทแนวใหม่ประกาศใช้ พ.ศ. 2527
6. เน้นบทบาทและการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 พ.ศ.2530-2534
1. เน้นการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของการเงินการคลัง โดยเน้นการระดมเงินออมในประเทศ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และเน้นบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนา
2. เน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานและคุณภาพชีวิต
3. เน้นการเพิ่มบทบาทองค์กรประชาชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. เริ่มแผนหลักการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. ทบทวนบทบาทรัฐในการพัฒนาประเทศ
6. มีแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
7. มุ่งปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาดของประเทศให้กระจายตัวมากขึ้น
8. เน้นการนำบริการพื้นฐานที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
9. พัฒนาเมืองและพื้นที่เฉพาะ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
10. ขยายขอบเขตพัฒนาชนบทครอบคลุมทั่วประเทศ เขตล้าหลัง 5,787 หมู่บ้าน เขตปานกลาง 35,514 หมู่บ้าน และเขตก้าวหน้า 11,612 หมู่บ้าน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 พ.ศ.2535-2539
1. เน้นการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ
2. เน้นการกระจายรายได้ และการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท
3. เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
4. เน้นการพัฒนากฎหมาย รัฐวิสาหกิจ และระบบราชการ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544
เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการวางแผนพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และมุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมทั้ง ปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบแยกส่วนมาเป็นบูรณาการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในปีแรกของแผนฯ ประเทศไทยต้อง ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อคนและสังคมเป็นอย่างมาก จึงต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมั่นคง และลดผลกระทบจากวิกฤตที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
1. การพัฒนาศักยภาพของคน
2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน
3. การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาของภูมิภาคและชนบทเพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
4. การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนา คนและคุณภาพชีวิต
5. การจัดหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. การพัฒนาประชารัฐ เป็นการพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะ และพันธกิจหลักในการเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะ ของคนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
7. การบริหารจัดการเพื่อให้มีการนำแผนพัฒนาฯไปดำเนินการ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติด้วยแนวทางการแปลงแผนไปสู่การ ปฏิบัติ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕–๒๕๔๙) เป็นแผนที่ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย ผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 สรุปได้ว่า ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวสู่ความมั่นคง ความยากจนลดลง ขณะเดียวกันระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นมาก อันเนื่องมาจากการดำเนินการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยการมีหลักประกันสุขภาพที่ มีการปรับปรุงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ และการลดลงของปัญหายาเสพติด
วัตถุประสงค์
(๑) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกัน
(๒) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก
(๓) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยทุกระดับ
(๔) เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง
ลำดับความสำคัญของการพัฒนา
1. การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ
2. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
3. การบรรเทาปัญหาสังคม 4. การแก้ปัญหาความยากจน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)
ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการใน ทุกขั้นตอนของแผนฯ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง

วิสัยทัศน์ประเทศไทย
มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society)คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

พันธกิจ
(1) พัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมคุณธรรมและรอบรู้อย่างเท่าทัน
(2) เสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม
(3) ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(4) พัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เชิญชวนเพื่อนทุกคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยส่งมาแลกเปลี่ยนผ่านทางอีเมล์กลางของห้อง หรือบอร์ดสาธารณะต่างๆของห้อง รปม.3/2 เพื่อเติมเต็มในเนื้อหาและเป็นทางเลือกในการบรรยายข้อสอบของอาจารย์
-----------------
เรียบเรียงโดย
NONSOUND๒๐๐๙
------------------
Tai

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604,704: FOOD INC บทวิเคราะห์ โดย ไข่เน่า

Food, Inc.
โดย ไข่เน่า
----------------------------------------------
“การที่ปัจจุบันเรารับสิ่งที่ทันสมัยเข้ามาในประเทศ อาจจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาในอนาคตก็ได้”

ได้มีโอกาสได้ดูสารคดีเรื่อง Food, Inc.เป็นสารคดีเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารแบบโรงงานในสหรัฐอเมริกา ตอบสนองชีวิตเร่งรีบของอเมริกันชน แต่หารู้ไม่ว่าอาหารสำเร็จรูปที่ตัวเองตักเข้าใส่ปากแต่ละวันนั้นมีกรรม วิธีในการผลิตอย่างไรบ้าง หากท่านดูสารคดีเรื่องนี้แล้ว ท่านอาจจะไม่อยากรับประทานอาหารอีกเลยแม้แต่คำเดียวก็ได้

หนังกล่าวถึงระบบการผลิตอาหาร โดยโรงงานและบริษัทขนาดใหญ่เพียง 4-5 บริษัทในอเมริกา จากเดิมที่มีชาวไร่ชาวนาเป็นหมื่นเป็นแสนคนที่เป็นเอกเทศ เป็นไทแก่ตน ผลิตอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทานกันสดๆ ในท้องถิ่นนั้น

แต่ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครอบ ครองธุรกิจอาหารในสหรัฐฯ เหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น Tyson Foods, Cargill, Monsanto ซึ่งควบคุมการผลิตอาหารในสหรัฐฯ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานประกอบอาหารสำเร็จรูป จนถึงช่องทางการกระจายสินค้าอาหารเหล่านี้ไปตามห้างร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจนถึง มือผู้บริโภค

สารคดีตีแผ่ปัญหาของระบบการผลิตอาหารในสหรัฐฯ โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเพื่อผลิตอาหาร โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด ก่อให้เกิดปัญหาอาหาร ล้นตลาด ทำให้ภาครัฐเเละเอกชนต้องหันไปคิดค้นว่าจะนำอาหารส่วนเกินที่ผลิตออก มาไปทำอะไรดี เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่บริษัทอาหารขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่สุดลูกหูลูกตาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องอาศัยสารเคมีจำนวนมากที่จะสามารถ ควบคุมวัชพืชและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิ ภาพและพืชที่สหรัฐฯ ปลูกมากเป็นอันดับ ต้นๆ คือข้าวโพด

แม้แต่วัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะกินแต่หญ้าเป็นอาหาร เพราะวัวมี 4 กระเพาะ ซึ่งสามารถนำหญ้าที่กินแล้วไปพักไว้ในกระเพาะหนึ่งที่มีความจุประมาณ 45 แกลลอนเพื่อให้แบคทีเรียในกระเพาะได้ทำงานเปลี่ยนเซลลูโลสในหญ้าให้กลายเป็นโปรตีนและไขมันเลี้ยงตัวเองได้ แต่การเลี้ยงวัวด้วยหญ้านั้น มันไม่ได้ทำให้วัวโตเร็ว สหรัฐฯ จึงคิดค้นวิธีที่จะป้อนอาหารวัวด้วยอย่างอื่น ซึ่งปัจจุบันก็คือ ธัญพืช เช่น ข้าวโพด เพราะทำให้วัวอ้วนเร็ว เมื่อประมาณ 75 ปีมาแล้ว วัวที่เข้าโรง ฆ่าสัตว์มีอายุประมาณ 4-5 ปี แต่ปัจจุบัน แค่อายุ 14-16 เดือนก็สามารถเชือดได้แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะการให้วัวกินข้าวโพดนี่เอง

การบังคับให้วัวกินข้าวโพดแทนหญ้า นั้น เป็นการทำลายระบบย่อยอาหารของวัว จนอาจทำให้วัวตายได้ ถ้าไม่ให้ยาปฏิชีวนะ แก่วัวตลอดเวลา เนื่องจากว่าหากวัวได้กิน หญ้า และแบคทีเรียทำหน้าที่ของมัน วัวก็จะผลิตแก๊สภายในกระเพาะซึ่งจะระบายออกมาโดยการเรอ แต่หากวัวได้รับอาหารที่มีแป้งเยอะแต่มีกากใยน้อย กระบวนการย่อยกากก็จะหายไป แต่กระเพาะจะผลิตชั้นผิวของฟองอากาศซึ่งจะเป็นตัวกักกั้นแก๊สในกระเพาะของวัว ฟองอากาศเหล่านี้ จะโป่งพองเป็นลูกโป่ง และจะไปดันปอดของวัว ซึ่งหากไม่หาทางถ่ายอากาศออกมา เพื่อลดความดันในปอดให้วัวแล้ว วัวก็อาจ ขาดอากาศหายใจได้

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การให้ เมล็ดธัญพืชเป็นอาหารแก่วัวเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดการแพร่เชื้อของแบคทีเรียที่ชื่อ E.coli 0157:H7 ในสัตว์ ทั้งนี้เพราะเมล็ดธัญพืช เช่นข้าวโพดจะทำให้กระเพาะของวัวมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะแบค ทีเรียชนิด "อีโคไล" ได้อย่างดี และทำให้มนุษย์ที่ทานเนื้อที่ไม่ได้ทำให้สุกอย่างทั่วถึง อาจได้รับอันตรายถึงตายได้

เช่นในกรณีของเด็กชายวัย 2 ขวบที่ทานแฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่สุกลงไป และเสีย ชีวิตโดยกะทันหัน โดยการติดเชื้อแบคทีเรีย E.coli 0157:H7 จนทำให้คุณแม่ของเด็ก ชายออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาของสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามชื่อลูก ชายของตนว่า 'Kevin's Law' ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่มอบเขี้ยวเล็บให้แก่แผนกการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA-United States Department of Agriculture) มากขึ้นในการสร้างมาตรฐานอาหารของตนเอง ขึ้นมา เพื่อบังคับใช้กับบริษัทหรือโรงงาน ผลิตอาหาร และให้มีอำนาจในการใช้มาตรฐานที่ตนสร้างขึ้นเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบ และสามารถสั่งปิดโรงงานผลิตอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของ USDA ได้*

แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ แต่อย่างใด

นอกจากเนื้อวัวแล้ว สารคดียังกล่าว ถึงการเลี้ยงไก่ในสหรัฐฯ ของเกษตรกรแบบ มีพันธะสัญญากับบริษัทผลิตและแปรรูปไก่รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Tyson Foods ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรสร้างโรงเรือนที่มืดสนิทให้สัตว์ปีกเหล่านี้นับพันตัวอาศัยอยู่ โดยไม่มีช่องระบายอากาศตามธรรมชาติ มีแต่เพียงพัดลมที่คอยเป่าฝุ่นละออง ขนไก่ ฯลฯ ให้ลอยละล่องภายในโรงเรือน แต่ละโรงจะมีความยาวยาวกว่าสนามฟุตบอล และจุไก่ได้ถึงประมาณ 25,000 ตัวต่อโรง การก่อสร้างโรงเรือนแต่ละโรงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 200,000 ดอลลาร์

การบังคับให้เกษตรกรสร้างโรงเรือน ที่ปิดสนิทมืดมิด ก็เพื่อที่จะให้ไก่เคลื่อนไหวน้อยที่สุด จะได้ไม่สูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ แต่หากเกษตรกรรายใดปฏิเสธที่จะไม่ทำโรงเรือนแบบดังกล่าว ก็มีสิทธิที่จะไม่ได้รับการต่อสัญญาจากทางบริษัท

ไก่ทั้งหลายได้แต่กินอาหารตลอดทั้งวัน โรงเลี้ยงไก่ที่มีขนาดใหญ่แต่กลับมีไก่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ทำให้ไก่ไม่มีพื้นที่เดินไปมามากพอ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขาเล็กๆ ทั้งสองของตัวเองไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้อีกต่อไป และการที่ผู้บริโภคมักชอบรับประทานเนื้อไก่ ก็ทำให้บริษัทที่ผลิตไก่คิดค้นวิธีเปลี่ยนพันธุกรรมไก่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะ ส่วนหน้าอก ไก่ปัจจุบันจึงมักน้ำหนักตัวมากกว่าไก่ที่เกษตรกรเลี้ยงกันเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วเป็น 2 เท่าโดยใช้เวลาเลี้ยงแค่ครึ่งหนึ่งของเมื่อก่อนเท่านั้น ไก่ตายในโรงเรือน อยู่ทุกวันและเหยียบย่ำอุจจาระของเสียของตัวเองอยู่ไปมา ทำให้เกิดโรคเท้าเปื่อย ในสัตว์ปีกอยู่บ่อยๆ ไก่ที่ติดโรคในโรงเรือน ก็มักจะได้รับยาปฏิชีวนะอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึงว่ามนุษย์ที่บริโภคไก่เหล่านี้ก็ได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สารคดีเรื่อง Food, Inc นี้เล่าถึงด้านมืดของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่ไม่ได้ถกถึงประเด็นที่ว่าพืชตกแต่งพันธุกรรมนั้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลดีผลเสีย ต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง เพราะผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในด้านผลกระทบระยะยาวนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

แต่สิ่งที่สารคดีนำเสนอก็คือประเด็น ปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอรายใหญ่ของโลกกับเกษตรกรรายย่อยในสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นมุมมองเดียวกันกับผู้เขียน เพราะประเด็นที่ผู้เขียนมองว่าสำคัญมากมาโดยตลอด ก็คืออำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านการเกษตรที่เข้ามาควบคุมชีวิตของเกษตรกรรายย่อย ควบคุมปัจจัยการผลิต เงินทุน รายได้ของเกษตรกร จนเกษตรกรขาดความเป็นอิสรภาพทั้งในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตของตน

ตั้งแต่มีการคิดค้นเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุญาตให้เอกชนสามารถ จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตได้ ทั้งที่การจดทะเบียนเป็นเจ้าของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ไม่เคยปรากฏ มาก่อนในอดีต บริษัทเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโออย่างมอนซานโต้ (Monsanto) จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชจีเอ็มโอของตน เช่น ถั่วเหลือง จีเอ็มโอ Round Up Ready Soybean

ซึ่งต้านทานต่อยากำจัดวัชพืชของมอนซาน โต้ คือเมื่อฉีดยากำจัดวัชพืชลงไปในแปลง วัชพืชทั้งหลายจะตายหมด ยกเว้นต้นถั่วเหลืองจีเอ็มโอนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศสหรัฐฯ (และขณะนี้ได้แพร่ขยายไปจนถึงบราซิล อาร์เจนตินา และจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกแล้ว) ได้เพาะปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มโอ Round Up Ready กันมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากมอนซานโต้ก็จะต้องมีการเซ็นข้อตกลงระหว่างกัน ว่าเกษตรกรจะไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต้ไว้ปลูกในปีต่อไป

นอกจากนี้ มอนซานโต้ยังตั้งศูนย์รับข้อมูลจากเกษตรกร ที่ต้องการแจ้งให้มอนซานโต้ทราบว่าเกษตรกรเพื่อนบ้านรายใดของตนเก็บเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอของมอนซานโต้ไว้ทำพันธุ์เอง หรือปลูกในฤดูกาลถัดไป โดยมอนซานโต้เรียกศูนย์ดังกล่าวว่า Support Center โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งที่จะแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้มอนซานโต้ไปตรวจสอบได้อย่างสะดวกสบาย เบอร์โทรของศูนย์เป็นเบอร์โทรฟรี เจ้าหน้าที่ของมอนซานโต้จะไม่เห็นเบอร์โทรของผู้โทร และจะได้ก็เพียงข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับเกษตรกรที่ละเมิดสิทธิบัตรของทางบริษัทเท่านั้น

เว็บไซต์ของมอนซานโต้อธิบายถึงเหตุผลในการต้องปกป้องสิทธิบัตรและดำเนินคดีกับเกษตรกรที่ละเมิดสิทธิบัตรของตนว่า ทางบริษัทลงทุนทำวิจัยใช้เงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปีในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของเมล็ดพันธุ์พืชให้ได้ผล ผลิตสูงขึ้น จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน อีกประการหนึ่งก็คือการอนุญาตให้เกษตรกรบางรายเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เอง ก็จะไม่เป็นการยุติธรรมต่อเกษตรกรรายอื่นที่ซื่อสัตย์ ซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี เพราะถ้าเปรียบเทียบระหว่างเกษตรกร 2 รายที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเท่ากัน ต้นทุน เท่ากัน รายได้เท่ากัน แต่รายหนึ่งจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ส่วนอีกรายหนึ่งไม่ยอมซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ ก็จะได้กำไรจากการไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปีไปแล้ว แถมยังสามารถนำเงินที่ประหยัดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ไปลงทุนทางการเกษตรด้านอื่น ได้ผลกำไรงอกเงยเพิ่มขึ้นอีก อย่างนี้มอนซานโต้มองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อตัวเกษตรกรด้วยกันเอง

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป เป็นวิธีปฏิบัติที่มีมาอย่างช้านานแล้ว ในหมู่เกษตรกรทั่วโลก และไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมทางเทคนิคของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีปฏิบัติทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่เช่นกัน แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเกษตรกรทางตอนใต้ของประเทศก็คัดเเยก เมล็ดพันธุ์และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

แต่ในปี ค.ศ.1970 รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Plant Variety Protection Act (PVPA) 1970 อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้ แต่ยังคงให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อไปได้อยู่ จนมาถึงกฎหมาย PVPA 1994 ที่เพิ่มอำนาจให้บริษัทเอกชนครอบครองเป็นเจ้าของสิทธิเหนือเมล็ดพันธุ์ที่ตนพัฒนาขึ้นมาได้แต่เพียงผู้เดียว และห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพืชไว้ทำพันธุ์เองหรือจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาตอีกต่อไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

การที่มอนซานโต้บังคับให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ด้วยเกรงว่าเกษตรกรจะเก็บของเก่าไว้ทำพันธุ์เองไปเรื่อยๆ จนทางบริษัทขาดทุนนั้น อาจจะเป็นความวิตกมากเกินกว่าเหตุ จริงอยู่ทางบริษัทอาจมีรายได้น้อยลงจากการไม่สามารถขายเมล็ดพันธุ์ได้ทุกปี แต่ถ้าสินค้าของทางบริษัทมีคุณภาพดี ก็ไม่น่าจะกังวลอะไรมากนัก เพราะคงจะมีเกษตรกรหลายรายที่ผลิตเพื่อการค้าและต้องการจะใช้แต่เมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง และยินดีจะเสียเงินเพื่อการนี้ทุกปีอยู่แล้ว

ปัญหาก็คือการแพร่กระจายของเมล็ดจีเอ็มโอกับพืชสายพันธุ์ตามธรรมชาติ เนื่องจากไร่นาของเกษตรกรอยู่ติดกัน เมล็ดของจีเอ็มโออาจจะตกไปอยู่ในไร่ของคนที่ไม่ได้ใช้จีเอ็มโอ หรือในกรณีที่ใช้รถเกี่ยวร่วมกันด้วยความไม่รู้โอกาสที่มีการปนเปื้อนของเมล็ดจีเอ็มโอ ในกรณีดังกล่าว หาก เกษตรกรไม่ได้ตั้งใจจะใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่กลับปรากฏว่าพืชที่ตนปลูกเป็นจีเอ็มโอแล้ว จะทำอย่าง่ไร

ดูสารคดีแล้วก็ทำให้นึกถึงอนาคตของคนไทยที่ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงของสารพิษ สารปนเปื้อนและความไม่มั่นคงทางด้านความปลอดภัยในอาหารที่ตนต้องรับประทานอยู่ทุกวัน คนวัยทำงาน ส่วนใหญ่ที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบไม่สามารถดูแลตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่สามารถซื้อผักอินทรีย์หรือผักปลอดสารพิษมาปรุงเองได้ทุกมื้อทุกวัน จึงยังคงต้องฝากท้องไว้กับร้านค้าร้านอาหารนอกบ้านหรืออาหารถุงอยู่บ่อยๆ
หากต้องการซื้อหมูหรือไก่ตามห้าง เราก็คงพอจะเดากันได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทไหน ซึ่งมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหมู เนื้อไก่ในประเทศ หากเราซื้อตามตลาดสดเราจะมั่นใจได้อย่างไรในเรื่องคุณภาพของเนื้อสัตว์นั้น ว่าสะอาดปลอดภัย

จะมีคนไทยสักกี่คนที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้และไม่สนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ถ้าการทำวิจัยและพัฒนาแล้วส่งผลประโยชน์แค่กลุ่มคนไม่กี่คนแล้วส่งผลกระทบกับคนเป็นร้อยล้านคนก็สู้อยู่อย่างเดิมดีกว่า

“การที่ปัจจุบันเรารับสิ่งที่ทันสมัยเข้ามาในประเทศอาจจะทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตในอนาคตก็ได้”
---------------------------------------------
ผู้เขียนไม่สามารถจำรายละเอียดของหนังได้ทั้งหมดต้องขอขอบคุณ คุณ วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ ในการให้รายละเอียดของหนังเรื่องนี้
http://gotomanager.com/news/details.aspx?id=86267
---------------------------------------------
ที่มา http://gotoknow.org/blog/dekkaset/392018
---------------------------------------------
Tai

PA604,704: ทำวิจัยเพื่อใคร" สิ่งที่นักวิจัยต้องรู้ สู่นโยบายสาธารณะที่ดีต่อสังคม

"ทำวิจัยเพื่อใคร" สิ่งที่นักวิจัยต้องรู้ สู่นโยบายสาธารณะที่ดีต่อสังคม
----------------------------------------------
นักวิจัยไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในสังคมได้ ด้วยการวิจัยเชิงนโยบาย และการกำหนดนโยบายที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการเสวนาเรื่อง "บทบาทของนักวิจัยไทยต่อการจัดการความรู้และนโยบายสาธารณะ" โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมฟังด้วย

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการทำวิจัยเชิงนโยบายว่าเพื่อศึกษาขนาดของปัญหา งบประมาณที่ต้องใช้ และความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะต้องมีวิธีประเมินที่ไม่ใช่แค่ความคุ้มค่าที่เป็นตัวเงินหรืออิมแพ็คแฟคเตอร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และความยินยอมหรือความต้องการของประชาชนด้วย

การทำวิจัยเชิงนโยบายยังช่วยพิสูจน์สมมติฐานได้ เช่น นโยบายช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจนจริงหรือไม่ หรือทำวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบข้างเคียงจากการดำเนินโครงการตามนโยบาย เช่น การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนการทำวิจัยเพื่อศึกษาว่านโยบายนั้นมีประสิทธิผลหรือไม่ เช่น การเก็บภาษีมลพิษ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ หรือนโยบายการเพิ่มสวัสดิการแก่คนจน แล้วคนจนสามารถเข้าถึงสวัสดิการเหล่านั้นหรือไม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำวิจัย โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือ เราทำวิจัยเพื่อใคร เช่น ถ้าเราวิจัยเรื่องคุณภาพข้าว ถ้าเป็นเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ผลจะตกอยู่กับเกษตรกร ถ้าทำวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดข้าว เครื่องจักร ผู้ได้ประโยชน์คือโรงสี ถ้าวิจัยเรื่องมาตรฐานข้า พ่อค้าหรือกระทรวงพาณิชย์จะได้ประโยชน์ ถ้าทำเรื่องอาหารปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ประโยชน์ ส่วนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์

"นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เมื่อจะทำวิจัยต้องถามก่อนว่าใครจะเป็นคนนำไปใช้ แล้วใครจะได้ประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์จะคืนกำไรสู่สังคมอย่างไร และใครคือผู้เสียประโยชน์ ซึ่งบางครั้งการทำงานวิจัยให้กระทรวงต่างๆ โดยใช้โจทย์ของเขา มันไม่ได้ช่วยสังคมให้ดีขึ้น แต่ช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่หากเราทำงานวิจัยโดยที่โจทย์วิจัยเป็นของเราเอง เราสามารถเลือกทำวิจัยให้แก่คนที่ด้อยกว่าในสังคมได้ดีขึ้น และทำวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชนได้" ศ.ดร.มิ่งขวัญ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ถึงแม้จะไม่ได้วิจัยเชิงนโยบายโดยตรง แต่งานวิจัยที่ได้ก็มีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะการกำหนดนโยบายสาธารณะจำต้องใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก นโยบายด้านโรคระบาด นโยบายด้านความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้จากงานวิจัยเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว

ส่วน ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงบทบาทของนักวิจัยต่อการจัดการความรู้และนโยบายสาธารณะว่า นักวิจัยมีส่วนช่วยในกระบวนการถอดความรู้ ตีความ และอธิบายให้เกิดความเข้าใจแพร่หลายยิ่งขึ้น นักวิจัยเองก็จะได้ความรู้ใหม่ หากมีคำถามหรือความไม่แน่ใจเกิดขึ้น ก็สามารถนำไปวิจัยต่อเพื่อให้ได้คำตอบ และนักวิจัยยังต้องทำหน้าที่จัดการความรู้ และทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม โดยอาจร่วมมือกับนักวิจัยด้านสังคมหรือนักวิจัยในชุมชน ฉะนั้นจึงต้องมีนักวิจัยหลายประเภทและทำงานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทำวิจัยนั้นเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริงของชาวบ้าน
---------------------------------------------
ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000146302
---------------------------------------------
Tai

PA604,704: กินเปลี่ยนโลก ของฝากจากเวที “ปากท้องและของกินฯ”

กินเปลี่ยนโลก
http://www.food4change.in.th/
ตอนที่ 22 ของฝากจากเวที “ปากท้องและของกินฯ”
เขียนโดย บุณย์ตา วนานนท์
วันพุธที่ ๐๗ เมษายน ๒๕๕๓

หันมาสนใจเรื่องปากท้องที่เชื่อมโยงไปถึง “จริยธรรมและการเมือง” เพื่อให้ผู้คนที่แตกต่างหลายได้เห็นแง่มุมต่างๆ จากอาหารที่เราพบพานและกินมัน โดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษฯ ได้กล่าวในวันแถลงข่าวก่อนการจัดงานว่า อาหารไม่ได้แยกออกจากโครงสร้าง ความคิด และคุณค่า และในปัจจุบันอาหารกลายเป็นอุตสาหกรรมอาหาร มันกลายเป็นการเมืองเพราะไม่ใช่แค่จะขายแต่ทำให้เราต้องเชื่อว่ามันดี มีประโยชน์ แต่อีกทางหนึ่งก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันเป็นสารพิษเคลือบน้ำตาล เพราะไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมทำอะไรกับอาหาร และรัฐไม่มีอำนาจไปตรวจสอบได้

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์อาวุโสด้านมานุษยวิทยาซึ่งเป็นโต้โผใหญ่และดารานำคลิ๊ป “อร่อยแน่..คุณเอ๊ย” สารดีเด่นในการจัดเสวนาครั้งนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเมืองในโลกโลกาภิวัตน์จะสลับซับซ้อนมาก ถ้ามองแค่อาหารในจานก็จะไม่เกิดสติปัญญา ต้องมองย้อนกลับไปยังสายพานการผลิต และถ้าเห็นมากขึ้นเราคงไม่ยอมง่ายๆ ซึ่งพอเราไม่ยอมรัฐก็ต้องไปตรวจสอบ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจริยธรรมการผลิต ถ้าเราเป็นผู้บริโภคที่มีสติ เราจะรู้ทันและเข้ามาต่อลอง และเลิกเป็นผู้บริโภคที่แสนดีที่เชื่อฟังการโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัท ซึ่งการนำเรื่องอาหารมาวางบนโต๊ะแล้วเปิดวงคุยกันจะทำให้คนที่เคยกินเคยชิมมีความรู้และเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นการเลิกล้มการผูกขาดความรู้โดยนักวิชาการเพียงอย่างเดียวมาเป็นการเปิดเสรีทางความรู้ของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

ในวันงานวันแรก หลังการกล่าวเปิดงานและการบรรยายพิเศษเรื่อง “อาหาร บ้านเกิด และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม : เปรียบเทียบระหว่างชาวอเมริกันเชื้อสายลาวในมลรัฐไอแลนด์และอีนูเยค เอสกิโม” โดย ศ.ดร.วรรณี แอนเดอร์สัน ที่นำเราไปพบภาพของเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของวิถีการบริโภคอาหารของผู้คนในอีนูเยคเอสกิโมจากกฎหมายรัฐมีออกมาควบคุมให้ลดจำนวนล่ากวางคาลิบูลงจากเดิม 5 ตัวเป็น 2 ตัว ต่อครัวเรือน และนำเนื้อสเต็กมาแจกจ่ายซึ่งเป็นอาหารที่ชาวเอสกิโมไม่ชอบกิน ขณะที่ชาวอเมริกันเชื้อสายลาวในมลรัฐไอร์แลนด์เองซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกจัดสรรให้เข้ามาใช้ชีวิตและมีวิถีการบริโภคแบบถิ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่นำเอาอาหารตามวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นชิน อย่างข้าวเหนียว และปลาร้า มาสู่ประเพณีงานบุญในวัดที่พวกเขาก่อตั้ง

ซึ่งทั้ง 2 กรณีศึกษานี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญคือ อะไรคืออาหาร และอะไรคืออาหารที่เราจะกิน ซึ่งก็พบว่า วัฒนธรรมเป็นแนวกำหนดว่าอะไรคืออาหารที่มนุษย์ในสังคมชุมชนนั้นนำมาบริโภค ซึ่งวัฒนธรรมอาหารนั้นผันแปรไปตามเงื่อนไขอื่นๆ ดังกรณีศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้นักมานุษยวิทยาได้ลงไปทำงานเก็บศึกษาข้อมูลและจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐในการจัดการความขัดแย้งจากระดับนโยบายที่เกิดขึ้นมาภายหลังการดำรงอยู่ของชุมชนเอสกิโมไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน และการเปิดพื้นที่ของอัตตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองในไอร์แลนด์ที่ตกอยู่ในภาวการณ์พลัดพราก (displace) จากวัฒนธรรมอาหารจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

เวทีสำคัญในหอประชุมใหญ่ต่อจากรายการนี้ คือ “การเมืองโลกว่าด้วยอาหาร” ชื่อเรื่องดูเหมือนใหญ่โตระดับโลกแต่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวชวนขนลุกเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ

เริ่มเข้าเรื่องเศรษฐกิจการเมืองโลกเสรีนิยมใหม่ของอาหาร โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยตระกูล จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่พาเราไปรู้จัก David Harvey (2005) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่นิยามความหมาย “เสรีนิยมใหม่” ว่า

เสรีนิยม ใหม่ (Neo-liberalism) เป็น ทฤษฏีเกี่ยวกับปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เสนอว่าความ เป็นอยู่ของมนุษย์สามารถพัฒนาดีที่สุดได้ด้วยการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบ การมีทักษะและอิสรเสรีภายใต้กรอบการบริหารทางสถาบัน (Institutional framework) ที่มีความ แข็งแกร่งด้านกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตลาดเสรี และการค้าเสรี โดยบทบาท ของรัฐคือการสร้างสรรค์และรักษากรอบการบริหารทางสถาบันที่สอด คล้องเหมาะสมกับการปฏิบัติการเหล่านั้น (แปลจากสไลด์โดยทีมงาน)

อ.สุรัตน์ ได้วิเคราะห์ว่าเสรีนิยมใหม่เป็นฐานความคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกปัจจุบันซึ่งแท้จริงแล้วรัฐมีบทบาทในการเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้บรรษัททำงานได้ง่ายขึ้นในทุกระดับตั้งแต่การเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในรัฐ การเจรจาระดับทวิภาคี พหุภาคี จนไปถึงในระดับภูมิภาค โดยใช้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อคุ้มครองและผูกขาดสินค้าเทคโนโลยีเพื่อระบบการผลิตอาหารอุตสาหกรรม ที่เรารู้จักกันดีในนามของพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)

ระบบทรัพย์สินทางปัญญา เป็น ทุนนิยมขั้นที่สูงที่สุด ว่าด้วยการเป็นเจ้าของ เมล็ดพันธุ์ ซึ่งวัตถุดิบขั้นพื้นฐานในการผลิตอาหาร ที่สร้างผลประโยชน์และกำไรสุทธิให้กับบรรษัทเจ้าของสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์พืช

ภาพสะเทือนใจฉันใน Food inc ตอนหนึ่งผลุบโผล่มาในห้วงนั้น Mo - นักทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ชาวอเมริกันที่ถูกตรวจสอบรายงานการเงินและรายชื่อเพื่อนเกษตรกรที่เขาให้บริการทั้งหมด ราวกับนักโทษอาชญากรซึ่งในที่สุดต้องยอมความเพราะไม่มีเงินจ้างทนายคุ้มครองตนเอง แพ้คคีต่อบรรษัทมอนซานโต้เจ้าของเมล็ดข้าวโพดจีเอ็มโอในที่สุด มอนซานโต้อาศัยกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งถูกสร้างขึ้นมาภายหลังความสัมพันธ์ที่มีมาเนิ่นนานในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตของ Mo และเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไว้ปลูกใช้เองได้มาตลอดชีวิตซึ่งได้รับคุ้มครองสิทธิเกษตรในกฎหมายเดิมทำไม่ได้อีกต่อไปเมื่อจีเอ็มโอ กฎหมายใหม่ คือกฎหมายสิทธิบัตรที่เกษตรกรเองไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิของตนในการปกป้องการปนเปื้อนและแพร่ระบาดยีนที่ปลิวข้ามมากับละอองเกสรข้าวโพดจากที่ไกลนับเป็นไมล์ในเวลา 24 ชั่วโมง

ฉันดูสไลด์ที่ อ.สุรัตน์นำมาอธิบายผลกระทบของจีเอ็มโอด้านการผลิต “ผลทางการศึกษาพบว่าจีเอ็มโอไม่ได้เพิ่มผลผลิตขึ้นได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ในทางตรงกันข้าม ถั่วเหลืองจีเอ็มโอกลับมีผลผลิตลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองธรรมชาติ และความล้มเหลวที่เห็นประจักษ์ชัดจากตัวเลขของเกษตรกรอินเดียนับแสนหลายจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอ ซึ่งนอกจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอที่ทำให้ต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าดินยังเสื่อมสภาพ และลดรายได้ลงจากเดินถึง 40%”

แล้วไง? สุดท้ายเราก็ยังถูกหลอกให้กินน้ำมันถั่วเหลืองทรานส์จีเอ็มโอด้วยเหตุผลทางสุขภาพ หรือแนวโน้มในอนาคตคนไทยเราอาจจะได้กินน้ำมันจากเมล็ดฝ้ายจีเอ็มโอเพราะราคาถูกกว่าและมีวัตถุดิบมากมายอยู่ในประเทศไทยแม้กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้มีการปลกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์! ขณะที่ทางเลือกอื่นที่ยังมีอยู่กลับถูกเบียดขับและไม่ได้เป็นที่รับรู้จากสื่อสารธารณะเข้าไปทุกที!?

นึกถึง Food inc. อยู่ อ.ไพลิน กิตติเสรีชัย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. วิทยากรท่านต่อมาก็เอยถึงมันออกมาดังๆ ว่า ถ้าเราดู Food inc จะเข้าใจการนำเสนอที่นำทฤษฎีเชิงวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศมาอภิปราย

หลังยุคล่าอาณานิคมซึ่งฟากอังกฤษเคยมีบทบาทในการควบคุมอาหารโดยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้าขายวัตถุดิบอาหาร เป็นตัวเร่งให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าในประเทศอาณานิคมโดยผ่านพ้นไป และเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่หลังสงครามโลกฟากอเมริกาเข้ามามีบทบาทและควบคุมระบบการผลิตอาหารได้มากขึ้นทั้งการสร้างกฎกติการะหว่างประเทศและอาศัยเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของผู้คนให้หันมาบริโภคอาหารอุตสาหกรรมมากขึ้น จนพี่โรนัล แมคโดนัล กลายเป็นบุคคลที่เด็กทั่วโลกรู้จักดีเป็นอันดับ 2 รองจากซนตาคลอส เท่านั้น

อาจารย์ไพลินพาผู้คนทั้งห้องประชุมไปดูภาพการอุดหนุนการผลิตอาหารอุตสาหกรรมที่ทำให้เรารู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เพราะสาเหตุนี้เองที่ทำให้อาหารสำเร็จรูปทั้งหลายมีราคาถูกกว่าอาหารสด
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นไปได้เลย

ฉันดูสไลด์ของอาจารย์แล้วเตลิดไปนึกถึงฉากสำคัญใน Food inc. ที่ครอบครัวอเมริกันครอบครัวหนึ่งพยายามเดินหาผักผลไม้สดไปกินแทนอาหารฟาสต์ฟู้ดเพราะความห่วงกังวลในปัญหาสุขภาพจากโรคอ้วนและเบาหวาน แต่พวกเขาไม่สามารถทำได้ ภาพการบำบัดกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนในอเมริกา ที่ทำให้ย้อนคิดกลับไปมากับเด็กๆ ในบ้านเรา ภาพเด็กเล็กที่ตายจากการท้องเสียและถ่ายเป็นเลือดหลังกินเบอร์เกอร์จนแม่ของเขาต้องกลายมาเป็นนักกิจกรรม ...

ฉันถูกดึงออกจากห้วงคำนึงนั้นอีกครั้งเมื่อ อ.ไพลิน เอ่ยถึง ปีเตอร์ ชไมเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกคาโนลาอันโด่งดังจากการณีแพ้คดีมอนซานโต้ เพราะมีคาโนล่าจีเอ็มโอปนเปื้อนในแปลงคาโนล่าอินทรีย์ของเขา ด้วยแนวทางการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐ ว่า “โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกในผืนดินของตน ไม่ว่าจะปลิวมาตกหรือมากับละอองเกสร ยกเว้นในกรณีของเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมอันถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร....”

ขณะที่ผู้คนคนทั่วโลกกลับเห็นว่าชไมเซอร์เองน่าจะเรียกร้องสิทธิที่เสียหายจากการขายผลผลิตตัวเองไม่ได้ แต่ทำไงได้กฎหมายใหม่ของสหรัฐได้คุ้มครองเอกสิทธิ์ของบรรษัทในยีนจีเอ็มโอไว้มั่นคงแล้ว

ฉันพอรู้ช่องทางหาแหล่งอาหารดี ปลอดภัย และขบวนการผลิตยังรักษาสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรเคยไม่แยแสต่อการคุกคามของบรรษัทอาหารอุตสาหกรรมที่นับวันรุกคืบเข้ามากำหนดรูปแบบการกินอยู่และมีอิทธิพลอย่างมากในการออกกฎกติกาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบรรษัทที่ไม่สนใจแม้คำเรียกร้องต่ำสุดในสิทธิผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารจากการพิจารณาจากฉลาก ด้วยข้ออ้างที่ว่า ลูกค้าคนไทยไม่สนใจหรอกว่ามันจะเป็นจีเอ็มโอหรือไม่อย่างไร ขอให้อาหาร (อุตสาหกรรม) ถูกเข้าไว้เป็นใช้ได้นั้น แต่หากเล่นกันในระดับกฎหมายและนโยบายประเทศเรื่องการอนุญาตปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ฉันหวั่นกลัวเพื่อนที่ปลูกข้าวปลูกผักของให้ฉันกินจะตกที่นั่งลำบากอย่าง Mo และชไมเซอร์เข้าสักวัน!
---------------------------------------------------------
ที่มา: http://www.food4change.in.th/index.php/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-22-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5-%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AF.html
---------------------------------------------------------
Tai

PA604,704: ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย และบทวิเคราะห์ FOOD INC

ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย
รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ

โดยภาพรวมแล้วชาวอเมริกันปัจจุบันกว่าสองในสามนั้นมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 โดยที่ราวหนึ่งในสามของผู้ใหญ่มะกันนั้น อ้วน ข้อมูลดังกล่าวได้จาก Pam Belluck ที่กล่าวในบทความเรื่อง Obesity Rates Hit Plateau in U.S., Data Suggest เมื่อวันที่ 13 เดือนมกราคม 2010 ในเว็บ http://www.nytimes.com

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองภาพยนตร์เรื่อง Supersize Me ก็เคยกล่าวว่า หนึ่งในสามของชาวอเมริกัน อ้วน ซึ่งแสดงว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้น โรคอ้วนได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของมหามิตรไปแล้วอย่างไม่มีทางช่วย

ปรากฏการณ์นี้นักข่าวมะกันหลายสำนักข่าวได้เริ่มวิเคราะห์ว่า นโยบายการบริหารประเทศที่เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของประเทศในปัจจุบัน ได้สร้างความขัดแยังกันโดยสิ้นเชิงต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สภาวะโภชนาการและสุขภาพของประชาชน และไม่น่าเกินจริงถ้าจะกล่าวว่า เพื่อนมะกันกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เนื่องจากการที่รัฐบริหารระบบการผลิตอาหารของประเทศผิดเพี้ยนไป

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน และนำมาสู่การคำนวณเชิงประชดประชันว่า เบอร์เกอร์แต่ละชิ้นนั้นประชาชนซื้อได้ในราคาถูกว่าสลัดผักหนึ่งชาม โดยเขียนเป็นบทความบนอินเตอร์เนตชื่อ Shocking Graphic Reveals Why a Big XXX Costs Less Than a Salad (ขออภัยต้องใช้คำว่า xxx แทนชื่อการค้า เพื่อความสงบในชีวิต)

ก่อนจะพูดถึงประเด็นหลักที่เป็นต้นเหตุของการที่ราคาเบอร์เกอร์ถูกกว่าสลัดนั้น แน่นอนที่มันต้องมีเหตุผลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเมื่อคิดดี ๆ จะเห็นว่าเวลาเกษตรกรเก็บผักและผลไม้นั้นเขาต้องลงทุนในกระบวนการจ้างคนและเครื่องจักรในการเก็บที่ขึ้นกับช่วงฤดูกาลของปี เพราะผักและผลไม้นั้นไม่ได้ทำได้ทั้งปี (ประเด็นนี้ต่างกับเกษตรกรไทย) ในขณะที่การเชือดสัตว์ซึ่งทำได้ทุกวันเวลาเพราะสามารถกำหนดตารางได้แน่นอน จึงมีต้นทุนการผลิตถูกกว่า

นอกจากนี้ ผลผลิตเช่นเนื้อสัตว์ยังสามารถเก็บรักษาระหว่างการขนส่งง่ายกว่าผักผลไม้ เพราะเนื้อสัตว์สามารถแช่แข็งแล้วส่งไปถึงปลายทางได้โดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ต่างกับผักผลไม้ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงระหว่างการส่งไปขายยังสถานที่ที่ไกลจากแหล่งผลิต เช่น ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์อุณหภูมิต่ำไม่ถึงจุดแช่แข็ง และต้องมีก๊าซไนโตรเจนเพื่อชะลอการสุก ซึ่งเป็นรักษาคุณภาพของผลิตผลให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด สาเหตุนี้จึงมีคนแก้ปัญหาด้วยการนำกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมมาใช้ ตัวอย่างคือการผลิตมะเขือเทศที่ไม่เหี่ยว เป็นต้น

ได้มีผู้รู้ที่เป็นเอกชนพยายามหาทางตีแผ่ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐสภาสหรัฐฯ ในเรื่องการอุดหนุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรแบบไม่ควรเป็น ก่อนอื่นขอให้ดูรูปต่อไปนี้


ในรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายคือ ผลที่เกิดจากการอนุมัติงบประมาณอย่างมหาศาลตามรัฐบัญญัติที่เรียกว่า Farm Bill เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอาหารในโรงเรียนของเด็กอเมริกัน ในแง่ของการกระจายงบสู่การผลิตองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นอาหารของเด็กนักเรียน

เห็นได้ว่างบส่วนใหญ่มาก ๆ (73.8%) นั้นหล่นใส่เกษตรกรกลุ่มที่ผลิต เนื้อ นม ไข่ โดยเริ่มจากกลุ่มที่ทำการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมเกษตร (Agrobusiness) คือ ผู้ผลิตข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งใช้เป็นอาหารของสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อนำเนื้อมาบริโภคและนมไปทำผลิตภัณฑ์นม เหลือเพียงเศษเสี้ยวคือ 13.23% ตกกับชาวนาที่ผลิตธัญญพืช และแทบไม่เหลือเลย (0.37%) ให้แก่ลูกเมียน้อยอย่างชาวสวนผู้ผลิตผักและผลไม้ ผู้เขียนไม่ทราบว่าในบ้านเรามีการวิเคราะห์ลักษณะนี้บ้างหรือยัง ถ้ามีการทำแล้วก็อยากทราบว่า ผลออกมาเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร

จากการเอาข้อมูลดังกล่าวมาทำเป็นรูปปิรามิดแล้ววางคู่กับ Food Pyramid (ที่บ้านเรานำมาปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสม แล้วทำการกลับหัวเป็นหาง เรียกว่า ธงโภชนาการ) ก็จะมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยว่าหลายอย่างมันตรงกันข้ามกัน อีกทั้งมีข้อมูลว่า รัฐบาลอเมริกันนั้นได้ซื้อผลิตผลที่อยู่ในนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว ได้แก่ เนย นม เนื้อหมู เนื้อวัว ไปช่วยในโครงการคล้ายกับที่บ้านเราเรียกว่าโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งข้อมูลประการนี้ Physicians Committee for Responsible Medicine (http://www.pcrm.org/magazine) ได้กล่าวประชดว่า รัฐไม่ได้ถูกกำหนดให้ซื้ออาหารครบห้าหมู่แก่นักเรียน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องกำหนดเองว่าองค์ประกอบของมื้ออาหารที่เลี้ยงเด็กควรมีคุณค่าโภชนาการอย่างไรถึงครบ ดังนั้นรัฐจึงซื้อแต่องค์ประกอบของอาหารที่รัฐอุดหนุนส่งให้โรงเรียน

รูปปิรามิดคนละเรื่องนี้อยู่ในเว็บของ The Consumerist (http://consumerist.com) ซึ่งออนไลน์เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ (2510) เอง โดยมีคำอธิบายสั้น ๆ ว่า “นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมคุณ (ชาวอเมริกัน) ถึงอ้วน”

ส่วนในหนังสือพิมพ์ออนไลน์คือ New York Times กล่าวเสริมเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับรูปดังกล่าวว่า “คงต้องขอบคุณพวกหน้าม้ามืออาชีพ (lobbyist) ในความสำเร็จของการโน้มน้าวให้วุฒิสมาชิกอเมริกันอนุมัติงบประมาณให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ผลิตอาหารที่ประชากรอเมริกันควรบริโภคแต่น้อย” เพราะเมื่อดูจาก Food pyramid แล้ว ก็ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมอาหารจานด่วนพวกเบอร์เกอร์นั้นราคาถูกกว่าสลัดผัก

มีภาพยนต์เรื่องหนึ่งซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Academy Award (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยนำมาฉายในเมืองไทย) ชื่อเรื่องคือ Food Inc. ซึ่งสามารถหาซื้อหรือ download มาดูได้ถ้าต้องการ

ผู้เขียนดูภาพยนต์นี้แล้วคร่าว ๆ พอสรุปได้ว่า เป็นภาพยนต์ที่ทำให้อยากกินอาหารมังสวิรัติไปเลย ในภาพยนต์เรื่องนี้ตอนหนึ่งกล่าวถึงครอบครัวอเมริกันที่มีรายได้น้อยว่า เงินที่มีน้อยอยู่แล้วนั้นต้องใช้ซื้อแฮมเบอร์เกอร์กินประทังชีวิต เพราะมันถูกกว่าซื้อผักผลไม้สดมากิน ทั้งที่รู้ว่าผักและผลไม้สดนั้นเป็นของดีเพราะหน่วยงานด้านโภชนาการของสหรัฐก็พยายามกรอกหูประชาชนเรื่อง Food pyramid เหมือนกระทรวงสาธารณสุขไทยบอกให้ประชาชนกิน ผักผลไม้ครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง เช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ราคาอาหารของชาวอเมริกันนั้นผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็น David Leonhardt ได้เขียนบทความเรื่อง What’s Wrong With This Chart ใน http://economix.blogs.nytimes.com เมื่อวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2009 และได้สรุปจากรูปกราฟที่นำมาแสดงต่อไปนี้ว่า นับแต่ปี 1978 อาหารที่ไม่ส่งเสริมให้สุขภาพดีมีราคาถูกลงราว 33% ในขณะที่ผักและผลไม้ซึ่งมีหลักฐานในการส่งเสริมให้สุขภาพดีนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นถึงกว่า 40% ตัวอย่างเช่นราคาส้มเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในปัจจุบัน

หลักฐานว่าราคาที่ถูกลงของอาหารที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะโภชนาการเกินมีผลชัดเจนต่อสุขภาพประชาชนคือ น้ำหนักโดยเฉลี่ยของวัยรุ่นอเมริกันอายุ 18 ปีในปัจจุบันมากกว่าค่าเฉลี่ยของวัยรุ่นอายุเดียวกันเมื่อปลายช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 15 กิโลกรัม ในขณะที่สตรีอายุเกิน 60 ปี ในปัจจุบันมีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มอายุเดียวกันในช่วงปี 1970 ถึง 20 กิโลกรัม และไม่น่าประหลาดใจที่ผู้ชายนั้นแน่กว่าเสมอ เพราะตัวเลขน้ำหนักชายมะกันปัจจุบันที่มากกว่าชายมะกันในอดีตก็อยู่ 25 กิโลกรัม

แน่นอนที่ปัจจัยทำให้แต่ละคนอ้วนนั้นมีหลายอย่าง แต่แน่ ๆ อาหารและโภชนาการก็อยู่ในอันดับต้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นปัจจัยของโครงการอาหารกลางวันที่รัฐหวังว่าจะทำให้สุขภาพของเด็กวัยรุ่นดีคือ น้ำหนักไม่เกิน แต่ความผิดเพี้ยนที่กล่าวข้างต้นนั้นก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว Jill Richardson ได้เขียนบทความเป็นคำถามว่า Are School Lunches Setting Kids Up for Obesity and Poor Nutrition? ในเว็บ http://www.alternet.org/health/145803/ โดยหวังว่าอาจกระตุ้นให้ประธานาธิบดีโอบามาจัดการแก้ไขปัญหานี้ก่อนจะสายมากไปกว่านี้

สำหรับประเทศไทยนั้น คงจะหวังให้ใครมาคิดแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะแค่แก้ปัญหาการขาดแคลนผ้าตัดเสื้อยังแก้ไม่ค่อยได้เลย ประชาชนยังต้องใส่แต่เสื้อที่ใช้ผ้าสีซ้ำซาก ไม่เหลืองก็แดง พอใส่สีน้ำเงินก็หาว่ามีสปอนโง่หนุนหลังอีก เซ็งเป็ดเลย
------------------------------------------------
ที่มา: ที่มา http://www.greenworld.or.th/columnist/gooflife/546 ทำไมชาวอเมริกันจึงตุ้ยนุ้ย โดย รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ
------------------------------------------------
Tai

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Learning English : เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ แบบบ้านๆ

หากเพื่อนๆ ต้องการเพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษจากบลอกนี้ ก็คลิกตามลิงค์ต่างๆ ต่อไปนี้ได้เลยครับ
---------------------------------------
1. English Tense : ว่ากันด้วยเรื่อง หลักของ Tense ต่างๆ ที่จำไม่ค่อยได้
2. เรียนภาษาอังกฤษจากสุภาษิตสากล 3 ภาษา
3. How to improve an English language: วิธีทำให้เก่งภาษาอังกฤษ
4. เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ด้วยระบบ WAI
5. เว็บนี้ก็น่าเรียน มีตัวอย่างข้อสอบกรมวิเทศน์สหการด้วย (เก่า)
6. เว็บนี้เจ๋งมาก จาก Longdo มีเสียงพากษ์ด้วย คลิกเลย
---------------------------------------
Tai

English Tense : ว่ากันด้วยเรื่อง หลักของ Tense ต่างๆ ที่จำไม่ค่อยได้

เรียน เพื่อนๆ รป.ม.3 รามคำแหง หัวหมาก ทุกท่าน
ปวดหัวกับเรื่องเรียนกันมาเยอะแล้ว มาฝึกจำ Tense กันดีกว่า
(ไม่แน่ใจว่าจะทำให้หายปวดหัว หรือปวดหัวยิ่งกว่าเดิม)
พอดีไปเก็บตกมาจากที่เจ้านายที่ทำงานที่ใจดีมาก สอนฟรีในตอนเที่ยงครึ่งถึงบ่ายโมงครึ่งทุกวัน
-----------------------------------------
Tense ปกติในภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่
1. Present tense ปัจจุบันกาล
2. Past tense อดีตกาล
3. Future tense อนาคตกาล

ในแต่ละ Tense จะประกอบด้วย Tense ย่อยอีก 3 ถึง 4 ประเภท ได้แก่
1) Simeple tense
2) Perfect tense
3) Continuous tense
4) Perfect Progressive tense
-----------------------------------------
มีรายละเอียด ดังนี้ (โปรดท่องจำให้ขึ้นใจเลยนะ ถ้าอยากเก่งภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องสนใจตัวอย่างประโยค)
*** เจ้านายเน้นให้ท่องจำ เพราะจำเป็นมากๆ ***
-----------------------------------------
1. Present tense
1.1 Present Simple tense [V1]
ใช้ในกรณีต่อไปนี้
1.1.1 ข้อความที่พูดเป็นจริงเสมอทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ถ้า subject หรือประธานเป็นเอกพจน์บุรษที่ 3 กริยาต้องเติม s)
1.1.2 ข้อความที่พูดเป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย สม่ำเสมอ อาจเกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และเลยไปถึงอนาคต อาทิเช่น every..., daily..., weekly...
1.1.3 ใช้ในรูป future tense กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ โดยมี adv of time เป็นตัวขยายประโยค เช่น is going to..., is to...
1.1.4 เมื่ออยู่ในรูป Condition (ประโยคเงื่อนไข) เช่น If I see him I will tell him.
1.1.5 ใช้ในประโยคอุทาน

1.2 Present Perfect tense [have,has]+V3
1.2.1 เป็นเหตุการณ์ที่กระทำในอดีตแต่ยังมีผลต่อมาถึงปัจจุบัน โดย...
Past tense: เหตุการณ์จบไปแล้วในอดีตและไม่มีอะไรที่จะพูดถึงอีก
Present Perfect tense: เหตุการณ์จบไปแล้วในอดีตแต่ผลยังสนใจจะพูดถึงอยู่
1.2.2 ใช้กับประโยคที่เป็นประธานของประโยคจะต้องมีชีวิตอยู่หรือยังปรากฏอยู่ **ถ้าประธานตายไปแล้ว หรือหายไปแล้วจะต้องใช้ Past tense แทน
1.2.3 เหตุการณ์นั้นเพิ่งสิ้นสุดลง ขยายด้วย just, aleady, recently, lately now และ finally
1.2.4 ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปในอนาคต จะต้องมีระยะเวลาปรากฎอยู่ด้วย (ถ้าไม่มีระยะเวลา จะต้องใช้ Present Perfect continuous แทน)

1.3 Present continuous tense [Be + Ving]
1.3.1 ใช้กับกริยาที่แสดงการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลง แสดงอนาคต
1.3.2 Be + [Die (ตาย) หรือ Dine (กิน) หรือ Eat (กิน) หรือ Have (ดื่ม กิน สนุก ทำให้)] + ing
1.3.3 is going แสดงอนาคต เช่น He is going to be married in June.
1.3.4 แต่ถ้าเหตุการณ์ที่กล่าวถึงอนาคตในอดีต ก็เป็นรูปอดีต (งงมั้ย) เช่น He was going to answer back, but he was stopped by his mother. (แปล: เขาเคยกำลังตอบกลับไป แต่ถูกแม่มาขัดจังหวะหรือมาหยุดไว้ก่อน)

1.4 Present Perfect Progressive tense (have, has) + been + Ving
ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน และอาจดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีระยะเวลาระบุเอาไว้ (ถ้ามีระยะเวลาระบุเอาไว้ ต้องใช้ Present Perfect tense แทน)

2. Past tense
2.1 Past simple tense [V2]

...ยังมีต่อ...
--------------------------------------
Tai

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604: การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ3

เรียน เพื่อน รป.ม. 3 หัวหมาก
พอดีค้นเจอในเว็บของ ม.รามฯ เรื่องการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ เลย ลงให้โหลดไปอ่านกัน เป็นไฟล์ PDF
--------------------------------
รายวิชา PA370 การกำหนดและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ (Public Policy Formulation and Analysis)
* ในการอ่านตำราออนไลน์ท่านจำเป็นต้องใช้โปรแกรม Adobe Reader หรือโปรแกรม FoxIT Reader จิ๋วแต่เจ๋ว
--------------------------------
ปก
คำนำ : Introduction
สารบัญ : Content
บทที่ 1 : นโยบายสาธรณะกับสังคมศาสตร์
บทที่ 2 : แนวทางการศึกษานโยบายสาธารณะ
บทที่ 3 : ค่านิยมกับการวิเคราะห์นโยบาย
บทที่ 4 : การวิเคราะห์ปัญหา
บทที่ 5 : การวิเคราะห์วัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย
บทที่ 6 : การวิเคราะห์ทางเลือกนโยบาย
บทที่ 7 : การวิเคราะห์เชิงมหภาค
บทที่ 8 : การริเริ่มและกำหนดนโยบาย
บทที่ 9 : การนำนโยบายไปปฏิบัติ
บทที่ 10 : การประเมิน
บทที่ 11: การล้มเลิกนโยบาย
บรรณานุกรม : Reference
---------------------------------
แหล่งข้อมูล : คลิกเข้าอ่านจากแหล่งข้อมูลที่นี่
---------------------------------
Tai

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรียนภาษาอังกฤษจากสุภาษิตสากล 3 ภาษา

วันนี้ มาเรียนภาษาอังกฤษจากการอ่านสุภาษิตสากล 3 ภาษากัน (บางส่วน)
-------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก หนังสือสุภาษิตสากล 3 ภาษา โดย สนพ.ทฤษฎี
จินตนา เฉลิมชัยกิจ เจ้าของและผู้จัดการ
พิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อ เมษายน 2542
ราคาเล่มละ 40 บาท
-----------------------------------------------
ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ:
สุภาษิตสากล 3 ภาษา. - - พิมพ์ครั้งที่ 3. -- กรุงเทพฯ : ทฤษฎี, 2542, 160 หน้า.
1. สุภาษิตและคำพังเพย. I. ชื่อเรื่อง. 398.9
ISBN: 974-7802-53-8
-----------------------------------------------
คงจะได้แค่ 2 ภาษานะ เพราะอีกภาษาเป็นภาษาจีน
มีทั้งหมด 10 หมวด ลองอ่านดูนะ เผื่อสนใจฉบับเต็มก็ลองหาซื้อมาอ่านกันเอง
1. การศึกษาและการทำงาน (Study and Work)

There is no satiety in study.
ไม่มีจุดจบสำหรับการเรียนรู้

He who will not learn when he is young will regret it when he is old.
ผู้ที่ไม่เล่าเรียนเมื่อยังเยาว์ ย่อมจะเสียดายยามวัยชรา
... ยังมีต่อ...
-----------------------------------------------
2. ความรู้และประสบการณ์ (Knowledge and Experience)

Knowledge is power.
ความรู้คืออำนาจ

The storehouse of wisdom is stocked with proverbs.
คลังแห่งความฉลาด มักจะเต็มไปด้วยสุภาษิต
...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
3. เวลาและโอกาส (Time and Opportunity)

Time and tide wait for no man.
เวลาและวารีไม่มีคอยใคร

No hand can make the clock strike for me the hours that are passed.
เวลาที่ผ่านไปแล้ว ย่อมเรียกกลับคืนไม่ได้

He the gains time gains all things.
ผู้ซึ่งได้เวลาก็เหมือนได้ทุกสิ่ง

Everything can be bought except time.
ทุกสิ่งซื้อหาได้ ยกเว้นเวลา

Fools look to tomorrow, and wise men use tonight.
คนโง่คิดถึงพรุ่งนี้ แต่คนฉลาดจะได้คืนนี้ให้เป็นประโยชน์

... ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
4. ความขยันและธุรกิจ (Diligence and Business)

Economy is the art of making the most of life.
การประหยัดเป็นศิลปะการสร้างชีวิต

Thrift is not only a great virtue, but also a great revenue.
ความมัธยัสถ์มิได้เป็นเพียงคุณสมบัติที่ดีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นรายได้ที่มหาศาลด้วย

Money is a good servant, but a bad master.
เงินตราเป็นผุ้รับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว

National progress is the sum of individual industry, energy and uprightness, as national decay is of individual idleness, selfishness and vice.
ความก้าวหน้าของชาติ ก็คือผลพวงของความซื่อตรง อุตสาหะ พยายามอย่างเต็มกำลังของประชาชนแต่ละคน และความเสื่อมของชาติ ก็เป็นผลมาจาก ความเลวร้าย เห็นแก่ตัวและเกียจคร้านของประชาชนแต่ละคนด้วย

Economy is itself a great income.
การประหยัด โดยตัวมันเองแล้วก็คือรายได้ที่มากมายนั่นเอง

Some people are masters of money, and some are slaves.
คนบางคนเป็นนายเงินตรา และบางคนก็เป็นทาสเงินตรา

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
5. มิตรภาพและความรัก (Friendship and Love)

True friendship lasts for ever.
มิตรภาพที่แท้ย่อมทนนานนิรันดร์

The most precious of all possessions is a wise and loyal friend.
เพื่อนที่ฉลาดและจริงใจมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆ

Nothing is better than a loyal friend.
ไม่มีสิ่งใดจะดียิ่งกว่าเพื่อนที่จริงใจ

Fire is the test of gold, adversity of friendship.
ไฟทดสอบทอง ความทุกข์ยากทดสอบมิตร

A friend in need is a friend indeed.
มิตรในยามยากคือมิตรแท้

No better relation than a prudent and faithful friend.
มิมีสัมพันธ์ใดดีไปกว่า สัมพันธ์จากเพื่อนที่ฉลาดรอบคอบและจริงใจ

We can live without a brother, but not without a friend.
เราอาจจะขาดพี่น้องได้ แต่ขาดเพื่อนไม่ได้

Friendship is like wine -- the older the better.
มิตรภาพเปรียบเสมือนเหล้าหรือไวน์ ยิ่งเก่ายิ่งดี

A brother is a friend given by nature.
พี่น้องคือเพื่อนที่ธรรมชาติให้มา

No man is the whole of himself; his friends are the rest of him.
ไม่มีใครจะเป็นคนสมบูรณ์ ส่วนที่ขาดของเขามักจะอยู่กับเพื่อน

When you make new friends, don't forget the old ones.
ได้เพื่อนใหม่อย่าหลงลืมเพื่อนเก่า

One enemy is too many, and a hundred friends too few.
ศัตรูเพียงหนึ่งคนนั้นก็นับว่ามาก มิตรเป้นร้อยก็ยังนับว่าน้อย

Friendship is a plat which must be often watered.
มิตรภาพก็เหมือนต้นไม้ ต้องคอยหมั่นให้น้ำเสมอ

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
6. บุคลิกภาพและความสำเร็จ (Character and Accomplishment)

The only worthwhile achievement of man are those which are socially useful.
ความสำเร็จของคนเราที่ถือว่ามีคุณค่าอย่างแท้จริง คือความสำเร็จที่มีประโยชน์ต่อสังคม

A man can't ride your back unless it's bent.
ไม่มีใครจะขี่หลังท่านได้ถ้าหลังท่านไม่งอ (การกดขี่จะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการยอมจำนน)

Only the person who has faith in himself is able to be faithful to others.
มีเพียงคนที่เชื่อมั่นในตนเองเท่านั้นที่จะได้รับความเชื่อถือจากคนอื่น

Opinions should be formed with great caution -- and changed with greater.
การมีความคิดเห็นต้องมีอย่างระมัดระวังและถ้าจะเปลี่ยนแปลงยิ่งต้องระวังเพิ่มขึ้น (ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น)

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
7. โชคและชีวิต (Life and Luck)

Men at some time are masters of their fates.
บางครั้งคนเราก็เป็นนายโชคชะตา

Seize this day ! Begin now ! Each day is a new life. Seize it. Live it. For in today already walks tomorrow.
จงเริ่มเสียวันนี้ ทุกวันคือชีวิตใหม่ จงฉวยเอาวันนี้ให้ได้ เพราะในวันนี้พรุ่งนี้ได้คืบคลานมาแล้ว

Life is like music. It must be composed by ear, feeling and instinct, not by rule.
ชีวิตเปรียบเสมือนบทเพลง ที่จะต้องแต่งขึ้นมา จากหู จากความรู้สึกและสัญชาตญาณ มิใช่มาจากกฎเกณฑ์ใดๆ หรือข้อบังคับใดๆ

The world is a looking-glass, and gives back to every man reflection of his own face.
โลกนี้คือกระจกสะท้อนตัวเรา

I like the dreams of the future better than the history of the past.
เข้าพเจ้าชอบจินตนาการถึงอนาคต มากกว่าระลึกถึงประวัติศาสตร์แห่งอดีต

I have but one counsel for you -- be your own master.
คำแนะนำประการเดียวที่ข้าพเจ้าจะมีแก่ท่านก็คือ จงเป็นนายของตัวท่านเอง

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
8. คำพังเพยของชาวตะวันตก (Western Maxim)

If the blind guide the blind, both shall fall into a pit.
ถ้าให้คนตาบอดนำทางคนตาบอดด้วยกัน ก็ย่อมมีแต่จะพากันไปตกหลุม

Every kingdom divided against itself is brought to desolation ; and every city or house divided against itself shall not stand.
บ้าน เมือง หรืออาณาจักรที่แตกแยก ย่อมล่มสลายในที่สุด

True affluence is not needing anything.
ความร่ำรวยที่แท้จริง ก็คือการรู้จักเพียงพอ

...ยังมีต่อ..
------------------------------------------------
9. คำคมและอารมณ์ขัน (Humour and Wit)

May the best of this year be the worst of next.
ขอให้สิ่งที่ดีที่สุดของปีนี้เป็นสิ่งที่เลวที่สุดของปีหน้าเถิด

Humour has been well defined as "thinking in fun while feeling in earnest".
นิยามของอารมณ์ขันก็คือ "การคิดให้เห็นขันแม้ในยามที่รู้สึกว่าเป็นจริงเป็นจัง"

When you sit with a nice girl for two hours you think it's only a minute. But when you sit on a hot stove for a minute you think it's two hours. That's relativity.
เมื่อท่านนั่งอยู่กับสาวงามสองชั่วโมง ท่านมักจะรู้สึกว่ามันเป็นเพียงชั่วขณะนาที แต่เมื่อท่านนั่งบนเตาไฟร้อนเพียงชั่วขณะนาที ท่านกลับรู้สึกว่ามันยาวนานเป็นสองชั่วโมง นี่แหละคือหลักการแห่งสัมพัทธภาพ (ทฤษฎีสัมพัทธ์ของไอน์สไตน์)

The only function of economic forecasting is to make astrology look respectable.
หน้าที่เพียงประการเดียวของการพยากรณ์เกี่ยวกับเงินทอง ก็คือการทำให้คำทำนายของหมอดูน่าเชื่อถือขึ้น

For a man to become a poet he must be in love, or miserable.
ผู้ที่จะเป็นกวีได้ ต้องมีประสบการณ์ด้านความรักหรือความทุกข์มาก่อน

Experience is the name everyone gives to the mistakes.
ประสบการณ์ คือชื่อที่คนทุกคนมักตั้งให้กับความผิดพลาดของตน

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
10. ภาคผนวก (Appendix)

คำที่มักสะกดผิดบ่อยๆ (Words Often Misspelled)
accept ยอมรับ
accessible เข้าถึงได้
accommodate อำนวยความสะดวก
acquaint ทำให้คุ้นเคย
adequate พอเพียง
adherent พรรคพวก
adjourment การเลื่อนไป
aisle ทางเดินระหว่างแถวที่นั่ง
analyze วิเคราะห์
appreciate ชื่นชม
argument การโต้เถียง
bachelor ชายโสด
bankruptcy การล้มละลาย
basis ฐาน
beggar ขอทาน
beginning การเริ่มต้น
believe เชื่อ
beneficial มีประโยชน์
brilliant สุกใส
brutality ความโหดเหี้ยม
bulletin แถลงการณ์
bureau สำนักงาน
calendar ปฏิทิน

...ยังมีต่อ...
------------------------------------------------
อ่านวิธีปรับปรุงให้เก่งภาษาอังกฤษที่นี่
------------------------------------------------
Tai

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

PA604: แนวสอบ 2 นโยบายสาธารณะ

แนวข้อสอบ วิชา นโยบายสาธารณะและการนำนโยบายไปปฏิบัติ
ดร. ศศิชา สืบแสง น.อ.วรวุธ เรียบเรียง )
-----------------------------------------
คำจำกัดความที่สำคัญ

1. ความหมายและแนวความคิด
นโยบายสาธารณะคือ สิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ (Dye) ในส่วนที่จะกระทำครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดของรัฐบาล ทั้งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบางโอกาส การกระทำของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือรัฐบาลภายใต้สิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ปัญหาอุปสรรคและโอกาส และนโยบายที่นำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนประกอบด้วย goal/objective/purpose (Friedrich)

2. องค์ประกอบของนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
- กิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ
- การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรกิจกรรมเพื่อตอบสนองค่านิยมของสังคม
- ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
- การกระทำที่มีแบบแผน ระบบ และกระบวนการอย่างชัดเจน
- มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายเพื่อประชาชนจำนวนมาก
- เป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำให้ปรากฏเป็นจริง
- มีผลลัพธ์ในการ แก้ไขปัญหาที่สำคัญของสังคม
- เป็นการตัดสินที่จะกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก
- การต่อรองหรือประนีประนอมระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
- ครอบคลุมทั้งกิจกรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ
- ก่อให้เกิดผลทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคม
- เป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

3. ความสำคัญของนโยบายสาธารณะ
ประการแรก ต่อผู้กำหนดนโยบาย : จะได้รับความเชื่อถือและความนิยมจากประชาชน ส่งผลให้รัฐบาลดังกล่าวมีโอกาสในการดำรงอำนาจในการบริหารประเทศยาวนานขึ้น

ประการที่สอง ต่อประชาชน : เมื่อมีการนำนโยบายไปปฏิบัติและได้ผลตามเป้าประสงค์ ก็จะทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ประการที่สาม ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศของรัฐบาล ประกอบด้วย :การพัฒนาประเทศ ตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาที่สำคัญของประชาชน จัดสรรค่านิยมทางสังคม ความเป็นธรรมในสังคม สร้างความเสมอภาคในโอกาสแก่ประชาชน การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน การกระจายความเจริญไปสู่ชนบท การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความมั่นคงของประเทศ การเจริญสัมพันธภาพระหว่างประเทศ รักษาผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคและทั่วถึง การพัฒนาชุมชนเมือง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และการพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพมั่นคง

4. นโยบายสาธารณะกับระบอบการเมือง
4.1 ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม
การตัดสินใจในนโยบายขึ้นอยู่กับความเห็นชอบหรือความพอใจส่วนตัวของผู้ปกครองเป็นสำคัญ
4.2 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ในการปกครองแบบประชาธิปไตยจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย

5. แนวทางการศึกษานโยบายสาธารณะ
5.1 การศึกษานโยบายตามแนวทางรัฐศาสตร์
จุดมุ่งเน้น คือเนื้อหาสาระของนโยบาย, ข้อเสนอแนะสำหรับนโยบาย เช่นเรื่อง นโยบายสิ่งแวดล้อม สวัสดิการการศึกษา หรือการพลังงาน ความโดดเด่นคือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะนั่นเอง
5.2 การศึกษานโยบายตามแนวทางรัฐประศาสนศาสตร์
ให้ความสนใจเกี่ยวกับความคิดเชิงทฤษฎี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายและความสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเรื่องการวิเคราะห์ผลผลิตนโยบาย และผลกระทบของนโยบายสาธารณะว่าสอดคล้องกับเป้าประสงค์หรือไม่

6. แผน (Plan) คือ รูปธรรมของนโยบายที่ประกอบด้วยมาตรการและกิจกรรมต่างๆที่ทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติปรากฏเป็นจริง และเป็นผลผลิตของการวางแผน มีความสัมพันธ์ตามภาพ ต่อไปนี้

7. การวางแผนโดยมุ่งความพอใจระดับหนึ่ง (Satisfying Planning)
7.1 ทำการเปลี่ยนแปลงจำนวน และขนาด จากนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นอยู่ให้น้อยที่สุด
7.2 เพิ่มการใช้ทรัพยากรเพื่อการวางแผนให้น้อยที่สุด
7.3 ทำการวางแผนโดยให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์การให้น้อยที่สุด เพื่อลดการต่อต้านจากบุคลากรภายในองค์การ

8. การวางแผนโดยมุ่งผลตอบแทนที่ดีที่สุด(Optimizing Planning)
8.1 ใช้ทรัพยากรน้อยในการบรรลุเป้าประสงค์ขององค์การ
8.2 ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด
8.3 เพื่อให้ได้รับความสมดุลระหว่างผลประโยชน์และต้นทุน ให้มากที่สุด

9. การวางแผนโดยมุ่งการปรับตัวขององค์การ (Adaptivizing Planning)
มุ่งเน้นการวางแผนแบบนวัตกรรม ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยมุ่งการปรับตัวขององค์การอย่างสร้างสรรค์ คือ
9.1 ความสำเร็จของแผนขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของนักบริการในกระบวนการวางแผน มิใช่การใช้แผน
9.2 มุ่งเน้นการออกแบบองค์การและการจัดการเพื่อลดความต้องการในอนาคตที่จะต้องวางแผนซ้ำรอยอดีต 9.3 นักวางแผนเกี่ยวกับอนาคต จำแนกได้ 3 ลักษณะคือ ความแน่นอน ความไม่แน่นอน และการเพิกเฉย ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้ ต้องมีการวางแผนที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ตามสภาพการณ์ของอนาคต

10. ความหมายของการวางแผน
การวางแผน หมายถึง กระบวนการในการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและวิธีการเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ทีกำหนดไว้ วัตถุประสงค์ขององค์การคือ ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์จะให้บังเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของเวลาในอนาคตที่ต้องการ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ 3 ประการ คือ
10.1 เป็นการตัดสินใจที่กระทำล่วงหน้าก่อนที่การกระทำตามแผนจะเกิดขึ้นจริง
10.2 เป็นการตัดสินใจที่พึ่งพาซึ่งกันและกันและเป็นชุดของการตัดสินใจที่เป็นระบบ
10.3 เป็นกระบวนการตัดสินใจเพื่อการบรรลุสิ่งที่พึงประสงค์ในอนาคต

องค์ประกอบและคุณลักษณะสำคัญของการวางแผน

11. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
หมายถึง การวางแผนระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ข้อมูลในการวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ และการกำหนดชุดของกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อให้องค์การอยู่ในฐานะที่ดีที่สุด มีความพร้อมและสมรรถนะที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักการพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนกลยุทธ์ คือ
11.1 การกำหนดเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ขององค์การให้ชัดเจน
11.2 การกำหนดฐานคติสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
11.3 การคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต
11.4 การเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม

12. การวางแผนบริหาร (Managerial Planning)
หมายถึง การนำแผนกลยุทธ์มากำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ในแต่ละปีต้องบรรลุวัตถุประสงค์อะไรบ้าง กระทำอย่างไร สามารถวัดระดับความสำเร็จได้ โดยครอบคลุมเรื่องงบประมาณที่ใช้ตามแผน โดยมีเป้าหมายรวมขององค์การที่ทุกหน่วยงานจะต้องยึดถือร่วมกัน
13. การวางแผนปฏิบัติการ (Operational Planning)
หมายถึง เป็นการวางแผนระยะสั้น ทุกขั้นตอนจะต้องสามารถประเมินหรือวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน
กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การและของหน่วยงานแต่ละส่วน พร้อมทั้งรายละเอียดในการใช้ทรัพยากรและขั้นตอนการปฏิบัติทุกั้นตอนอย่างชัดเจน

14. ความสัมพันธ์ระหว่างภารกิจการวางแผนกลยุทธ์ การวางแผนบริหาร และการวางแผนปฏิบัติการ

15. กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลของนโยบายสาธารณะ
มุ่งการอธิบาย (Explain) มากกว่าการแสวงหาข้อเสนอแนะ (prescribe) ค้นคว้าสาเหตุของการกำหนดนโยบายและต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และเป็นการทดสอบเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุและผลของนโยบายสาธารณะ ซึ่งระบบสังคม ระบบการเมือง และนโยบายสาธารณะ ต่างมีความสัมพันธ์แบบโต้ตอบซึ่งกันและกัน

ระบบสังคม ระบบการเมือง นโยบายสาธารณะ

16. กรอบการวิเคราะห์ระบบนโยบาย
ความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้งหมดในระบบมีลักษณะเป็นวิภาษวิธีโดยธรรมชาติ กล่าวคือ ในทางปฏิบัติแล้วทั้งมิติวัตถุวิสัย และอัตวิสัย ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบาย และระบบนโยบายก็เป็นวัตถุวิสัย ที่สังเกตได้จากการกระทำและผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

17. กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงระบบ
การเมืองดำรงอยู่เป็นระบบเสมือนหนึ่งชีวิตการเมือง มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางการเมืองกับสิ่งแวดล้อมเป็นพลวัตร และก่อให้เกิดผลผลิตที่สำคัญ คือ นโยบายสาธารณะ

ความสัมพันธ์เชิงพลวัตรระหว่างสิ่งแวดล้อม ระบบการเมือง และนโยบายสาธารณะ

18. นโยบายมุ่งเน้นขอบเขตเฉพาะด้าน (Sectoral Policies)
หมายถึง การจำแนกนโยบายตาม sector ต่างๆ มีลักษณะสำคัญคือ มีครอบคลุม มีความชัดเจนของมาตรการในแต่ละด้าน การแสดงเจตจำนงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และมีองค์การที่จะรับผิดชอบโดยตรง เช่น
ด้านการเมือง ผลักดันการปฏิรูปการเมือง การจัดตั้งศาลปกครอง ด้านการบริหาร ปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

19. นโยบายที่มุ่งเน้นสถาบันที่กำหนดนโยบาย (Institutional Policies)
จะพิจารณาจากสถาบันที่กำหนดนโยบายเป็นสำคัญ โดยสถาบันที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสามารถแบ่งได้เป็น

สถาบันนิติบัญญัติ ในรูปของพระราชบัญญัติ
สถาบันบริหาร เสนอนโยบายในรูปกฎหมาย หรือ มติคณะรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติ
สถาบันตุลาการ อยู่ในรูปของการพิพากษาคดีของศาลฎีกา

20. นโยบายมุ่งเน้นเนื้อหาสาระ (Substantive Policies)
เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะกระทำ หรือตัดสินใจกระทำ อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ (Benefits) หรือต้นทุน
(Costs) ต่อประชาชน หรืออาจทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียเปรียบ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีส่วนได้ส่วยเสียเป็นสำคัญ เป็นนโยบายที่รัฐบาลกระทำอยู่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น นโยบายการสร้างทางด่วนในเขตกรุงเทพและ และการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

21. นโยบายมุ่งเน้นขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedural Policies)
เกี่ยวข้องกับวิธีการในการดำเนินนโยบาย ว่าจะดำเนินการอย่างไร (how) และใครจะเป็นผู้ดำเนินการ (who) จะครอบคลุมองค์การที่จะต้องรับผิดชอบ ขั้นตอน การบังคับใช้ กระบวนการ และระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มาตรการบรรลุเป้าประสงค์ เช่น นโยบายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

22. นโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับโดยรัฐ (Regulatory Policies)
มุ่งเน้นการกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล ก่อให้เกิดผลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และจะมีลักษณะจำกัดการใช้ประโยชน์ของประชาชนบางกลุ่ม เช่น การควบคุมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ไฟ การพนัน ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุการขับขี่รถจักรยานยนต์

23. นโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับตนเอง (Self-regulatory Policies)
คล้ายกับนโยบายมุ่งเน้นการควบคุมกำกับโดยรัฐ แต่ที่ต่างกันคือ จะมีลักษณะของการส่งเสริมการปกป้องผลประโยชน์ และความรับผิดชอบของกลุ่มตน จากการที่รัฐบาลอนุญาตให้รวมกลุ่มเพื่อทำหน้าที่ในการ
ควบคุมตนเอง เช่น สภาทนายความ แพทยสภา จากนั้น รัฐบาลจะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละกลุ่มไว้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พระราชบัญญัติทนายความ เป็นต้น
24. นโยบายมุ่งเน้นการกระจายผลประโยชน์ (Distributive Policies)
เกี่ยวข้องกับการจัดสรรบริการ หรือผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนบางส่วนอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้รับผลประโยชน์อาจเป็นระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล องค์การ หรือระดับสังคมบางส่วนก็ได้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม ธุรกิจบางประเภทที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผลผลิตทางการเกษตร ลำไย ลองกอง ปัญหาราคาน้ำมันการทำประมง

25. นโยบายมุ่งเน้นการกระจายความเป็นธรรม (Redistributive Policies)
ความพยายามของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรความมั่งคั่ง รายได้ ทรัพย์สิน และสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม ระหว่างคนที่มั่งมี (the haves) และกลุ่มที่คนยากจน (the have-nots) หรือระหว่างกรรมกรและนายทุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี เกิดการกระจายรายได้ หรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ธนาคารเพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและ สหกรณ์การเกษตร การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

26. นโยบายมุ่งเน้นเชิงวัตถุ (Material Policies) การจัดหาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มบุคคล หรือเกิดข้อเสียเปรียบแก่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบ เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงชุมชนแออัด

27. นโยบายมุ่งเน้นเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Policies) เสริมสร้างคุณค่าทางจิตใจ ให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายสันติภาพ (peace) ความรักชาติ (patriotism) และความเป็นธรรมทางสังคม (social justice)

28. นโยบายมุ่งเน้นลักษณะเสรีนิยม (Liberal Policies) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มความคิดก้าวหน้า เห็นคุณค่า ความเสมอภาค ยุติธรรม ขจัดความยากจน ยกระดับการศึกษา เปิดเสรีข่าวสาร/การเงิน/โทรคมนาคม

29. นโยบายมุ่งเน้นลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservative Policies) แนวคิดนโยบายมุ่งเน้นลักษณะอนุรักษ์นิยมมักอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม (Elites) เกรงสูญเสียประโยชน์หรืออภิสิทธิ์ (privileges)

30. นโยบายมุ่งเน้นสินค้าสาธารณะ (Policies Involving Public Goods)
การกำหนดสินค้าที่ไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มผู้รับประโยชน์ออกจากนโยบายได้ เพราะสินค้าสาธารณะประโยชน์จะตกกับประชาชนทุกคน เช่น การควบคุมการจราจร มลพิษ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการเมกะโปรเจ็ก

31. นโยบายมุ่งเน้นสินค้าเอกชน (Policies Involving Private Goods)
สินค้าเอกชนแบ่งแยกกลุ่มผู้รับประโยชน์ลงเป็นหน่วยย่อยได้ สามารถเก็บค่าใช่จ่ายอันเนื่องมาจากผู้รับประโยชน์โดยตรงได้ เช่น ค่าเก็บขยะของเทศบาล บริการไปรษณีย์ ประกันสังคม
ตัวแบบนโยบายสาธารณะ

32. ตัวแบบชนชั้นนำ (Elite Model)
ชนชั้นปกครองที่มีอำนาจการตัดสินใจนโยบายสาธารณะอย่างเด็ดขาด จะยึดถือความพึงพอใจหรือค่านิยมของตนเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจนโยบาย โดยประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เช่น นโยบายการเปิดเสรีทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511ดังแผนภาพ

33. ตัวแบบดุลยภาพระหว่างกลุ่ม (Group Equilibrium Model)
ผู้กำหนดนโยบายจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อความกดดันของกลุ่ม ได้แก่ การต่อรอง (Bargaining) การประนีประนอม (Compromising) ระหว่างความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอิทธิพลและผลประโยชน์ โดยนักการเมืองจะพยายามที่จะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเสียงข้างมากเพื่อให้การประนีประนอมประสบผลสำเร็จโดยง่าย เช่น พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518ดังภาพ

34. ตัวแบบเชิงระบบ (System Model)
สิ่งมีชีวิตต้องทำงานอย่างเป็นระบบ (System function) ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เฉพาะและจะต้องสอดประสานกัน ชีวิตการเมืองประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมือง (Political System) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่อยู่ล้อมรอบระบบการเมือง นโยบายสาธารณะ ตัวผลผลิตของระบบการเมือง (Political Outputs) ซึ่งเกิดจากอำนาจในการจัดสรรค่านิยมหรืออำนาจ ของระบบการเมือง เช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนผลสะท้อนกลับ คือ มาตรการปราบปรามผู้ละเมิดกฎหมาย ดังภาพ

35. ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model)
นโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการปกครองท้องถิ่น และสถาบันพรรคการเมือง นโยบายจะไม่มีผลเป็นนโยบายสาธารณะ จนกว่านโยบายนั้นจะได้รับความเห็นชอบ ถูกนำไปปฏิบัติ โดยใช้บังคับโดยสถาบันราชการที่รับผิดชอบ และสถาบันทางการเมืองมีบทบาทในการกำหนดแบบแผน เช่น การปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น นโยบายการเงินการคลัง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

36. ตัวแบบกระบวนการ (Process Model)
กระบวนการและพฤติกรรมทางการเมือง คือ ศูนย์กลางของการศึกษานโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ถูกกำหนด และนำไปปฏิบัติภายใต้กรอบความคิดตัวแบบกระบวนการทั้งสิ้น แต่จะมีความครอบคลุมแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของสังคม โดยจะเริ่มจาก การจำแนกลักษณะปัญหา เช่น นายกญี่ปุ่นประกาศยุบสภา จากการไม่ผ่านกฎหมายการแปรรูปการไปรษณีย์

37. ตัวแบบหลักเหตุผล (Rational Model)
เป็นการวิเคราะห์ในฐานะที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม ที่ยึดหลักเหตุผล คือ นโยบายที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม โดย จะไม่มีการใช้นโยบายที่ต้นทุนสูงกว่าผลประโยชน์ ผู้ตัดสินใจนโยบายควรเลือกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด ความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่บรรลุและคุณค่าที่ต้องเสียไป มีค่าเป็นบวก และมีค่ามากกว่าทางเลือกนโยบายอื่น

38. ตัวแบบการเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน (Incremental Model)
การกระทำกิจกรรมของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากอดีตโดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพียงบางส่วน หรือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีลักษณะ อนุรักษ์นิยม ยอมรับความชอบธรรมของนโยบายที่มีมาก่อน เหมาะสมทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง กรณีที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของสังคม จะเป็นการง่ายสำหรับรัฐบาลในสังคมพหุ ที่จะดำเนินโครงการที่มีอยู่เดิมมากกว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนงานใหม่ๆ เช่น การบริหารองค์การต่างๆของภาครัฐ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

39. กระบวนการก่อรูปนโยบายสาธารณะ
• การก่อรูปนโยบาย (Policy Formation)
• การกำหนดทางเลือกและการตัดสินใจ (Policy alternative development & Policy decision-making)
• การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy implementation)
• การประเมินผลนโยบาย (Policy evaluation)

40. การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย
ทราบถึงลำดับความสำคัญของนโยบายที่ต้องจัดทำ และการเลือกใช้นโยบายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของทางเลือกนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติให้ประสบผลสำ ควรมีคุณลักษณะ ความครอบคลุมประเด็นปัญหานโยบาย สอดคล้องกับค่านิยมของสังคม ชัดเจนและความเป็นไปได้ สมเหตุสมผลสอดคล้องกับทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ สอดคล้องทางการเมือง และกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสม

ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนโยบาย
41. ทฤษฎีหลักการเหตุผล (rational/comprehensive theory) ประกอบด้วย
1) ปัญหาที่สามารถจำแนกออกจากปัญหาอื่นได้ หรือเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นได้อย่างมีความหมาย
2) มีความรู้ความเข้าใจ เป้าประสงค์(goals) ค่านิยม(values) หรือวัตถุประสงค์(objectives) และจัดลำดับตามความสำคัญของแต่ละกรณี
3) การตรวจสอบทางเลือกต่างๆในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน
4) การตรวจสอบผลลัพธ์ทั้งทางด้านต้นทุน ผลประโยชน์ ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง
5) การเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นของทางเลือกแต่ละทาง
6) เลือกทางเลือกและผลลัพธ์ที่จะต้องตอบสนองต่อ เป้าประสงค์ ค่านิยมหรือวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์การ

42.ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน (the incremental theory) ประกอบด้วย
1) พิจารณาเป้าประสงค์และวิเคราะห์เชิงประจักษ์ร่วมกัน มากกว่าการที่จะแยกพิจารณาในแต่ละประเด็น
2) พิจารณาเฉพาะบางทางเลือกที่จะใช้ ซึ่งจะแตกต่างไปจากนโยบายเดิมเพียงเล็กน้อย
3) การประเมินผลทางเลือก จะกระทำเฉพาะเพื่อพิจารณาผลลัพธ์ที่สำคัญของทางเลือกบางทางเลือกเท่านั้น
4) ปัญหาที่เผชิญอยู่นั้น ผู้ตัดสินใจจะต้องทำการนิยามปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง
5) ไม่มีการตัดสินใจเพียงครั้งเดียวหรือทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเพียงทางเดียว
6) เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากวิธีการอื่นๆ และนำไปสู่สภาพปัจจุบันที่ดีกว่า รวมทั้งช่วยแก้ไขความไม่สมบูรณ์ทางสังคมให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการพิจารณาเป้าประสงค์ของสังคมในอนาคต

43.ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก(mixed scanning)
Etzioni เห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินใจสามารถใช้ประโยชน์จากทั้ง ทฤษฎีหลักการเหตุผล และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เหมาะสมสำหรับผู้ตัดสินใจนโยบายที่มีขีดความสามารถต่างกัน และเหมาะสมกับธรรมชาติที่แตกต่างกันของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

44. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบาย ดังนี้
1) ค่านิยม องค์การ วิชาชีพ บุคคล นโยบาย และอุดมการณ์
2) ความสัมพันธ์กับนักการเมือง การมีอิสระในการออกเสียง กฏระเบียบในการควบคุมสมาชิกพรรค
3) ผลประโยชน์ของเขตเลือกตั้ง ประชาชนมีอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของนักการเมืองในเขตของตนโดยตรง
4) มติมหาชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ
5) ประโยชน์ของสาธารณะชน ความขัดแย้งกลุ่มผลประโยชน์ การแบ่งสรรผลประโยชน์

45.รูปแบบของการตัดสินใจนโยบาย
1) การต่อรอง (Bargaining) เป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ทำการเจรจาเพื่อปรับเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกันให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับในการนำนโยบายไปปฏิบัติแบ่งเป็น 3 ประการคือ การต่อรองทางลับ การให้รางวัล และการประนีประนอม
2) การโน้มน้าว (Persuasion) ความพยายามที่จะทำให้กลุ่มการเมืองเชื่อมั่นในความถูกต้องต่อข้อเสนอนโยบายของตน และแสวงหาการสนับสนุนโดยปราศจากการปรับเปลี่ยนข้อเสนอของตน
3) คำสั่ง (Command) เป็นความสัมพันธ์ตามลำดับขั้น ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา แสดงถึงการใช้อำนาจของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า เพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาจใช้การให้รางวัล และการลงโทษเป็นเครื่องมือในการสั่งการให้ได้ผล
การนำนโยบายไปปฏิบัติ

46. ความหมายของการนำโยบายไปปฏิบัติ
หมายถึง การนำการตัดสินใจนโยบายที่ได้กระทำไว้ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ หรือ การนำนโยบายหรือแผนงานไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ

47. ความสำคัญของการนำนโยบายไปปฏิบัติ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ
1) จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ตัดสินใจนโยบาย
2) ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
3) จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยปฏิบัติ
4) มุ่งเน้น ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร เนื่องมาจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
5) ความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
6) เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

48. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ
1) แหล่งที่มาของนโยบาย (source of policy) แถลงการณ์หรือคำสั่งของฝ่ายบริหาร การประกาศใช้กฎหมาย ข้าราชการระดับสูง ผู้มีหน้าที่ในการริเริ่มการก่อรูปนโยบาย คำวินิจฉัยของศาล
2) ความชัดเจนของนโยบาย (Clarity of policy) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะส่งเสริมให้มีความสอดประสานกัน และมีประสิทธิภาพ โดยความชัดเจนของวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับ การระบุสภาพปัญหาครบถ้วน กำหนดผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการประเมินทรัพยากรที่ต้องใช้อย่างเหมาะสม
3) การสนับสนุนนโยบาย (support for policy) เป็นสิ่งจำเป็น แต่มิใช่เงื่อนไข ที่เพียงพอสำหรับการที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ โดยมีปัจจัยคือ ความสนใจของผู้ริเริ่มนโยบายและกลุ่มผลประโยชน์
4) ความซับซ้อนในการบริหาร (complexity of administration) จะทำให้นโยบายเบี่ยงเบนจากเดิม มีการประเมินผล การกำหนดเป้าประสงค์ ปัจจัยกระตุ้น สิ่งจูงใจผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ
5) สิ่งจูงใจสำหรับผู้ปฏิบัติ (incentives for implementers) ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ
6) การจัดสรรทรัพยากร (resource allocation) ทรัพยากรอย่างจำกัด การใช้ต้องคำนึงถึงการจัดลำดับ ความสำคัญของแผนงานและโครงการ รวมถึงกลยุทธ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตระหนักถึงประโยชน์หรือต้นทุนที่ไม่ได้คาดไว้ หรือ ที่เรียกว่า “ผลกระทบภายนอก” ด้วย
ตัวแบบการนำนโยบายไปปฏิบัติ

49. ตัวแบบสหองค์การในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดย Carl E.Van Horn และ Donald S. Van Meter สนใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ การวัดผลการปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนสำคัญในการวิเคราะห์

50. ตัวแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัย นำเสนอโดย George C. Edwards (1980)
ปัจจัยดังในแต่ละด้าน ทั้งส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นอุปสรรคต่อกัน เป็นกระบวนการพลวัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆมากมาย

51. ตัวแบบการกระจายอำนาจ พัฒนาโดย G. Shabbir Cheema & Dennis A.Rondinelli (1983)
สามารถทำการประเมินผลการกระจายอำนาจได้ 2 แบบคือ พิจารณาจากพื้นฐานของวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนโยบายของรัฐบาล และการประเมินผลงานจากผลกระทบทางสังคมและผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น

52. ตัวแบบกระบวนการ(The Policy-Program-Implementation Process, PPIP) Ernest R. Alexander
ตัวแบบกระบวนการจะแสดงความต่อเนื่องของกระบวนการตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นตอนปัจจัยกระตุ้น(เป้าประสงค์) จนถึงการพัฒนานโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ แต่ละขั้นตอนเชื่อมโยงด้วย “จุดเชื่อมโยง” ซึ่งเป็นตัวประสานความซับซ้อนของปัจจัยเชิงปฏิสัมพันธ์

53. ตัวแบบทั่วไปของ Daniel A Mazmanian และ Paul A. Sabatier (1989)
1) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับความยากง่ายของปัญหา ปัญหาเชิงเทคนิค พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย สัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ขอบเขตของความต้องการในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับสมรรถนะของกฎหมาย คือ ความชัดเจนและแน่นอน ความสอดคล้องกับทฤษฎีเชิงสาเหตุและผล งบประมาณ การบูรณาการ ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ โอกาสเข้าถึงโครงการโดยบุคคลภายนอก 3) กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ดังนี้ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี การสนับสนุนจากสาธารณชน
ทัศนคติ ทรัพยากร การสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ความผูกพันและทักษะเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
4) ขั้นตอนในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนี้
(1) ผลผลิตนโยบาย (การตัดสินใจ) เกี่ยวกับหน่วยงานที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ
(2) การปฏิบัติตามของกลุ่มเป้าหมายตามการตัดสินใจนโยบาย
(3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการตัดสินใจของหน่วยปฏิบัติ
(4) การรับรู้ผลกระทบของผู้ตัดสินใจ
(5) การประเมินผลของระบบการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อการปรับปรุง

54. การนำนโยบายไปปฏิบัติและการประเมินผล
1) ระดับมหภาค จะครอบคลุมองค์ประกอบระหว่างองค์การและผู้กำหนดนโยบาย
2) การประเมินผลโครงการระดับมหภาค ให้ความสนใจในการตีความหมายการนำนโยบายไปปฏิบัติในด้านความเห็นร่วมกันและการปฏิบัติความว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
3) ระดับจุลภาค ให้ความสนใจต่อหน่วยปฏิบัติ

55. ปัญหาและอุปสรรคในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
หลักการที่นำนโยบายไปปฏิบัติประสบผลสำเร็จ
1) ถ้ามีทรัพยากรใหม่แต่แนวทางปฏิบัติคลุมเครือ ต้องมีการตีความนโยบายให้ชัดเจน
2) ถ้ามีทรัพยากรใหม่และมีแนวทางปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง เป้าประสงค์ของบุคคลภายในองค์การจะลดความสำคัญลง
3) ถ้าทรัพยากรไม่เพียงพอ และแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน ต้องสร้างกิจกรรมให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสมัครใจที่จะปฏิบัติ เป็นการสร้างพลังความมุ่งมั่น

ความล้มเหลวในการนำนโยบายไปปฏิบัติอาจเกิดจาก
1) การเลือกกลยุทธ์การนำนโยบายไปปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
2) การเลือกหน่วยปฏิบัติและกลไกในการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
3) การเลือกเครื่องมือและวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ที่มา: http://www.geocities.ws/worawut47/policyshort.doc
-------------------------------------------------
Tai